البحث

عبارات مقترحة:

الحليم

كلمةُ (الحليم) في اللغة صفةٌ مشبَّهة على وزن (فعيل) بمعنى (فاعل)؛...

المقتدر

كلمة (المقتدر) في اللغة اسم فاعل من الفعل اقْتَدَر ومضارعه...

อย่าโกรธ

التايلاندية - ไทย / Phasa Thai

المؤلف ซุฟอัม อุษมาน
القسم مقالات
النوع نصي
اللغة التايلاندية - ไทย / Phasa Thai
المفردات فضائل الأخلاق
หนึ่งในสามสิบบทเรียนอิสลามสำหรับเยาวชนและผู้เริ่มต้น ด้วยวิธีการอธิบายที่ง่ายๆ และพร้อมด้วยหลักฐาน.

التفاصيل

ความโกรธเป็นอาการที่แสดงออกถึงการไร้ความยับยั้งสติอารมณ์ ชั่วครู่ชั่วขณะที่มีอาการโกรธอาจจะก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงที่ไม่เหมาะสมโดยไม่ทันได้รู้สึกตัว เมื่อใดที่อาการโกรธหายไปและรู้สึกตัวอีกครั้ง ความเสียใจก็จะเกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่ยับยั้งตนแสดงความก้าวร้าวหรือก่อความเสียหายในขณะที่ตนมีอาการโมโหโกรธา ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงสั่งให้ระวังนิสัยชอบโกรธ เพราะมักจะเป็นภัยต่อมนุษย์มากกว่าให้คุณประโยชน์ การระงับความโกรธบางครั้งก็ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ ดังนั้นผู้ที่สามารถยับยั้งตนและระงับความโกรธได้จึงถือเป็นผู้ที่มีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้มีความว่า “ผู้ที่แข็งแกร่งนั้นไม่ใช่ผู้ที่สามารถล้มคู่ต่อสู้ได้ แต่ผู้ที่แข็งแกร่งคือผู้ที่สามารถควบคุมตัวเองได้ในยามโกรธ” (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ และมุสลิม) การระงับความโกรธจึงเป็นลักษณะของผู้ศรัทธาและผู้ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ พระองค์ได้สาธยายถึงคุณลักษณะของบุคคลเหล่านี้ว่า الَّذِينَ يُنفِقُونَ فِي السَّرَّاء وَالضَّرَّاء وَالْكَاظِمِينَ الْغَيْظَ وَالْعَافِينَ عَنِ النَّاسِ وَاللهُ يُحِبُّ الْمُحْسِنِينَ (سورة آل عمران:134)  “คือบรรดาคนที่ใช้จ่ายให้ทานทั้งในยามสุขและยามทุกข์ อีกทั้งระงับความโมโหโกรธาและให้อภัยแก่คนอื่น แท้จริงแล้วอัลลอฮฺทรงรักบรรดาผู้ที่กระทำความดีงาม” (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อาล อิมรอน: 134) อาการโกรธเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้นจึงต้องระวังตนอยู่เสมอ โดยเฉพาะคนที่มีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ซึ่งอาจจะสร้างความเดือนร้อนให้กับผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผล เป็นที่เข็ดขยาดของคนอื่น และไม่มีผู้ใดอยากใกล้ชิด ครั้งหนึ่งได้มีผู้ชายคนหนึ่งมาขอให้ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ     อะลัยฮิ วะสัลลัม ตักเตือนเขา ท่านรอซูลได้สั่งเขาว่า “ท่านจงอย่าโกรธ” ท่านได้ทวนเช่นนั้นหลายครั้งว่าอย่าโกรธ (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์) เพราะอาการโกรธเกือบจะไม่เป็นผลดีใดๆ เลยต่อตัวมนุษย์ เป็นอาการที่เกิดจากการยุแหย่ล่อลวงของชัยฏอน ผู้ที่มีอาการเช่นนั้นจึงต้องหาวิธีเพื่อระงับความโกรธเสีย ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้แนะนำวิธีการระงับความโกรธโดยให้กล่าวคำว่า أَعُوْذُ بِاللهِ مِنَ الشَّيْطَانِ الرَّجِيْمِ “อาอูซุ บิลลาฮฺ มินัช ชัยฏอนิร รอญีม” ความหมายคือ “ข้าขอให้อัลลอฮฺช่วยคุ้มครองให้พ้นจากการล่อลวงของชัยฏอน” (รายงานโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม) ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ยังได้กล่าวไว้อีกมีความว่า “พึงรู้เถิดว่าความโกรธคือถ่านไฟที่อยู่ในใจของมนุษย์ พวกท่านไม่เห็นดอกหรือว่าตาของเขาแดงก่ำและกรามของเขาพองโต เพราะฉะนั้นใครที่มีอาการเช่นนั้นให้เขารีบไปอาบน้ำวูฎูอฺ (อาบน้ำละหมาด)” (รายงานโดย อัต-ติรมิซีย์) นอกจากนี้ผู้ที่สามารถระงับความโกรธจะได้รับผลตอบแทนที่ดีจากอัลลอฮฺในวันอาคิเราะฮฺ เช่นที่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้มีความว่า “ผู้ใดที่ระงับความโกรธไว้ในขณะที่เขาสามารถปะทุมันออกมาได้ ในวันกิยามะฮฺอัลลอฮฺจะเรียกเขาท่ามกลางผู้คนมากมาย และให้เขาเลือกจะเอานางสวรรค์คนใดก็ได้ตามใจเขา” (รายงานโดย อัต-ติรมิซีย์) - ข้อคิดที่ได้รับจากบทเรียน 1.ความโกรธเป็นอาการที่ไม่พึงประสงค์ เพราะแสดงออกถึงความไร้สติซึ่งสามารถสร้างความเดือดร้อนและความเสียหายทั้งต่อตัวเองและผู้อื่นได้  2.การระงับความโกรธเป็นบุคลิกลักษณะของผู้ศรัทธาและยำเกรงต่ออัลลอฮฺ เป็นสิ่งที่พระองค์รักใคร่ 3.ความโกรธเป็นการยุแหย่ล่อลวงของชัยฏอน ผู้ที่มีอาการโกรธจึงควรขอให้อัลลอฮฺคุ้มครองเขาให้พ้นจากมัน 4.การระงับความโกรธได้ถือเป็นความแข็งแกร่งของจิตใจ 5.ถ้ามีอาการโกรธอย่างถึงที่สุดให้แก้ด้วยการอาบน้ำละหมาด ถ้ายังไม่หมดอีกก็ให้รีบละหมาดเพื่อให้ใจสงบขึ้น 6.ผู้ที่สามารถระงับความโกรธจะได้รับผลตอบแทนที่ดีจากอัลลอฮฺในวันอาคิเราฮฺ - คำถามหลังบทเรียน 1. ท่านคิดว่าความโกรธมีผลเสียต่อตัวเองและผู้อื่นอย่างไรบ้าง? 2.เวลาที่ท่านโกรธ ท่านมีวิธีแก้อย่างไรบ้าง? กรุณายกตัวอย่าง