البحث

عبارات مقترحة:

القدير

كلمة (القدير) في اللغة صيغة مبالغة من القدرة، أو من التقدير،...

التواب

التوبةُ هي الرجوع عن الذَّنب، و(التَّوَّاب) اسمٌ من أسماء الله...

المتين

كلمة (المتين) في اللغة صفة مشبهة باسم الفاعل على وزن (فعيل) وهو...

ผู้ประสบความสำเร็จ (ตอนที่ 2 จบ)

التايلاندية - ไทย / Phasa Thai

المؤلف ซุฟอัม อุษมาน
القسم مقالات
النوع نصي
اللغة التايلاندية - ไทย / Phasa Thai
المفردات الفضائل
บทความต่อเนื่องจากเรื่อง "ผู้ประสบความสำเร็จ ตอนที่ 1" พร้อมบทสรุปในตอนท้าย

التفاصيل

  4. ซิกรุลลอฮฺ ซิกรุลลอฮฺ คือการกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ เป็นอะมัลที่แทบไม่ต้องลงทุนลงแรงแต่อย่างใดเลย ทว่ากลับมีคุณค่าแก่ผู้ศรัทธาอย่างมหาศาล อัลกุรอานได้สนับสนุนให้มุอ์มินกล่าวระลึกถึงอัลลอฮฺทุกช่วงเวลา เพราะเป็นการแสดงว่าเขามีความผูกพันกับอัลลอฮฺอยู่ตลอดเวลา และจะเห็นได้ว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ทำตัวอย่างในการซิกรุลลอฮฺแก่ประชาชาติของท่านไว้อย่างสมบูรณ์ โดยที่ท่านได้สอนบทดุอาอ์ต่างๆ ในทุกอิริยาบท ไม่ว่าจะยืน จะนั่ง จะนอน จะลุก จะเดิน ฯลฯ ทั้งนี้เพราะการซิกรุลลอฮฺจะทำให้มนุษย์สำนึกตนว่าเขามีพระผู้อภิบาลที่คอยดูแลเอาใจใส่เขาทุกเวลา ทำให้เขาได้ขอบคุณพระองค์และหมั่นทำตามสิ่งที่พระองค์สั่งใช้ ซึ่งจะกลายเป็นกุญแจแห่งความดีงามที่จะไขสู่ความสำเร็จตามที่อัลลอฮฺได้สัญญาไว้นั่นเอง อัลลอฮฺได้ตรัสถึงผลแห่งการระลึกถึงพระองค์ว่า «فَاذْكُرُوا آلاءَ اللَّهِ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ» ความว่า “ดังนั้น พวกเจ้าจงระลึกถึงนิอฺมัต/คุณความดีของอัลลอฮฺเถิด เพื่อว่าพวกเจ้าจะประสบความสำเร็จ” (อัล-อะอฺรอฟ : 69) «يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِذَا لَقِيتُمْ فِئَةً فَاثْبُتُوا وَاذْكُرُوا اللَّهَ كَثِيرًا لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ» ความว่า “โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อพวกท่านเจอข้าศึก ก็จงยืนหยัดให้มั่น(ในการต่อสู้) และจงกล่าวระลึกถึงอัลลอฮฺให้มาก เพื่อว่าพวกเจ้าจะประสบความสำเร็จ” (อัล-อันฟาล : 45) «فَإِذَا قُضِيَتِ الصَّلاةُ فَانْتَشِرُوا فِي الأرْضِ وَابْتَغُوا مِنْ فَضْلِ اللَّهِ وَاذْكُرُوا اللَّهَ كَثِيرًا لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ» ความว่า “และเมื่อการละหมาดได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว พวกเจ้าก็จงแยกย้ายกันไปตามแผ่นดินของอัลลอฮฺเพื่อขวนขวายความประเสริฐของพระองค์ และจงกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺให้มาก เพื่อว่าพวกเจ้าจะประสบความสำเร็จ” (อัล-ญุมุอะฮฺ : 10) «قَدْ أَفْلَحَ مَنْ تَزَكَّى، وَذَكَرَ اسْمَ رَبِّهِ فَصَلَّى» ความว่า “แท้จริงผู้ที่ย่อมจะประสบความสำเร็จ คือผู้ที่ขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ และกล่าวระลึกถึงพระนามของอัลลอฮฺ และได้ทำการละหมาด” (อัล-อะอฺลา : 14-15)   5. ขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ อัลลอฮฺได้ตรัสถึงเรื่องนี้ว่า «قَدْ أَفْلَحَ مَنْ تَزَكَّى، وَذَكَرَ اسْمَ رَبِّهِ فَصَلَّى» ความว่า “แท้จริงผู้ที่ย่อมจะประสบความสำเร็จ คือผู้ที่ขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ และกล่าวระลึกถึงพระนามของอัลลอฮฺ และได้ทำการละหมาด” (อัล-อะอฺลา : 14-15) «قَدْ أَفْلَحَ مَنْ زَكَّاهَا، وَقَدْ خَابَ مَنْ دَسَّاهَا» ความว่า “แท้จริงผู้ที่ขัดเกลามัน(จิตใจ)ให้บริสุทธิ์ย่อมประสบความสำเร็จ และแท้จริงผู้ที่ทำให้มันโสโครกย่อมประสบความเสียหาย” (อัช-ชัมส์ : 9-10)   6. การเตาบัต การเตาบัตคือการขอให้อัลลอฮฺลบล้างความผิดและบาป ที่อาจจะเป็นเหตุทำให้มนุษย์ต้องถูกลงโทษในนรก การเตาบัตจึงเป็นหนทางแห่งการหลุดพ้นจากความผิดและประสบความสำเร็จได้เข้าสวนสวรรค์ อัลลอฮฺได้ตรัสว่า «وَتُوبُوا إِلَى اللَّهِ جَمِيعًا أَيُّهَا الْمُؤْمِنُونَ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ» ความว่า “และจงเตาบัตต่ออัลลอฮฺเสียทั้งหมดเถิด โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย เพื่อว่าพวกเจ้าจะประสบความสำเร็จ” (อัน-นูร : 31) «فَأَمَّا مَنْ تَابَ وَآمَنَ وَعَمِلَ صَالِحًا فَعَسَى أَنْ يَكُونَ مِنَ الْمُفْلِحِينَ» ความว่า “ดังนั้น แม้นผู้ใดได้เตาบัต ได้ศรัทธาและปฏิบัติความดีงาม(ทดแทนความผิด) ย่อมที่เขาจะเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ประสบความสำเร็จ” (อัล-เกาะศ็อศ : 67)   7. รักษาตนจากความตระหนี่ คุณลักษณะแห่งความตระหนี่คือสันดานที่ส่อถึงจิตใจอันคับแคบ และอาจจะบ่งบอกถึงความละโมบโลภมากด้วยซ้ำ ถึงแม้จะมองโดยผิวเผินแล้วความตระหนี่จะไม่ให้โทษใดๆ แต่โดยความเป็นจริงคุณลักษณะเช่นนี้ถือเป็นสิ่งที่น่าละอายเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการไม่สำนึกในบุญคุณของพระผู้อภิบาลที่ทรงประทานนิอฺมัตมากมายให้กับบ่าว แต่เขากลับหยิ่งยะโสและไม่ยอมใช้จ่ายตามหน้าที่และความรับผิดชอบที่พระองค์ได้กำหนดเหนือตัวเขา ทั้งๆ ที่ความมั่งมีที่เขาเป็นเจ้าของนั้นล้วนมาจากพระองค์ทั้งสิ้น เพื่อสนับสนุนให้มนุษย์เอาชนะนิสัยเสียในด้านนี้พระองค์อัลลอฮฺจึงกำหนดว่าความสำเร็จนั้นจะประสบแก่ผู้ที่สามารถรักษาตนจากความตระหนี่ถี่เหนียว พระองค์ได้ตรัสในอัลกุรอานถึงสองที่ด้วยกันว่า «وَمَنْ يُوقَ شُحَّ نَفْسِهِ فَأُولَئِكَ هُمُ الْمُفْلِحُونَ» ความว่า “และแม้นผู้ใดได้รับการปกป้องความตระหนี่ในใจเขา ดังนั้น พวกเขาเหล่านั้นแหล่ะคือผู้ที่ประสบความสำเร็จ” (อัล-หัชร์ : 9, อัต-ตะฆอบุน : 16)   8. สั่งเสียในความดี ยับยั้งความชั่ว คุณลักษณะนี้เป็นประการที่อยู่ในขอบเขตของการทำเพื่อส่วนรวม เป็นแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้สังคมมนุษย์ปลอดภัยจากสิ่งไม่พึงปรารถนา หากเราทั้งหลายปฏิบัติตามคำสั่งนี้กันอย่างจริงจัง แน่แท้ความดีงามทั้งหลายก็จะปรากฏ ทว่าความเป็นจริงที่น่าเศร้าสลดก็คือ เรายัง้ขาดคุณสมบัติแห่งความสำเร็จในข้อนี้อีกมาก สังคมของเราในปัจจุบันจึงเต็มไปด้วยความเน่าเฟะของศีลธรรมและจริยธรรม ซึ่งส่งผลคุกคามสันติสุขในการดำเนินชีวิตของเราทุกคนอย่างยากที่จะหนีพ้น อัลลอฮฺได้ตรัสถึงความสำคัญของการสั่งเสียในความดีและยับยั้งความชั่วว่า «وَلْتَكُنْ مِنْكُمْ أُمَّةٌ يَدْعُونَ إِلَى الْخَيْرِ وَيَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَيَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنْكَرِ وَأُولَئِكَ هُمُ الْمُفْلِحُونَ» ความว่า “และจงให้มีกลุ่มพวกหนึ่งในระหว่างพวกเจ้าที่คอยเรียกร้องเชิญชวนสู่ความดีงาม สั่งเสียให้กระทำความดี และยับยั้งไม่ให้ประพฤติความชั่ว และพวกเขาเหล่านั้นแหล่ะคือผู้ที่ประสบความสำเร็จ” (อาล อิมรอน 104)     ผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากจะพูดถึงคุณลักษณะแห่งความสำเร็จแล้ว ในทางตรงข้ามอัลกุรอานยังได้ระบุถึงคุณลักษณะของผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จไว้ด้วย ทั้งนี้เพื่อตักเตือนให้มนุษย์ใช้เป็นบทเรียนและระวังตนไม่ให้อยู่ในข่ายของคุณลักษณะเหล่านี้ สิ่งแรกที่เป็นคุณลักษณะของผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จคือการปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮฺ การไม่สำนึกต่อบุญคุณของพระองค์ และการเคารพอิบาดะฮฺสิ่งอื่นนอกจากพระองค์ เช่นที่พระองค์ได้ตรัสว่า «وَمَنْ يَدْعُ مَعَ اللَّهِ إِلَهًا آخَرَ لا بُرْهَانَ لَهُ بِهِ فَإِنَّمَا حِسَابُهُ عِنْدَ رَبِّهِ إِنَّهُ لا يُفْلِحُ الْكَافِرُونَ» ความว่า “และแม้นผู้ใดที่ร้องขอจากสิ่งเคารพอื่นพร้อมกับอัลลอฮฺโดยหาได้มีหลักฐานใดๆ แก่เขาเลยไม่ ดังนั้น แท้จริงการคิดบัญชีเขาย่อมจะเป็นสิทธิของพระผู้อภิบาลเขา แท้จริงแล้วผู้ปฏิเสธศรัทธานั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ” (อัล-มุอ์มินูน : 117) «وَأَصْبَحَ الَّذِينَ تَمَنَّوْا مَكَانَهُ بِالأمْسِ يَقُولُونَ وَيْكَأَنَّ اللَّهَ يَبْسُطُ الرِّزْقَ لِمَنْ يَشَاءُ مِنْ عِبَادِهِ وَيَقْدِرُ لَوْلا أَنْ مَنَّ اللَّهُ عَلَيْنَا لَخَسَفَ بِنَا وَيْكَأَنَّهُ لا يُفْلِحُ الْكَافِرُونَ» ความว่า “และแล้วบรรดาผู้ที่หวังจะเป็นเหมือนเขา(หมายถึงปรารถนาจะร่ำรวยเหมือนกับกอรูน)เมื่อวันวานนั้นได้กล่าวว่า ‘โอ้ เจ้าไม่ได้ดูดอกหรือว่าอัลลอฮฺได้ประทานริสกีอย่างกว้างขวางแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์จากหมู่บ่าวของพระองค์ และทรงกำหนดริสกี(เพียงเล็กน้อยแก่บ่าวคนอื่นๆ ตามความประสงค์ของพระองค์) และหากแม้นไม่ใช่เพราะพระองค์ได้เมตตาเราแล้วไซร้ แน่แท้ พระองค์ก็คงทำให้เราต้องถูกธรณีสูบ(เหมือนกอรูน) เจ้าไม่ได้ดูดอกหรือว่าบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธานั้นไม่ประสบความสำเร็จ’” (อัล-เกาะศ็อศ : 82)   ในจำนวนลักษณะของผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จคือ ผู้ที่กล่าวอ้างในสิ่งที่อัลลอฮฺไม่ได้บัญญัติ โดยที่พระองค์ได้ตราการกระทำเช่นนี้ว่าเป็นความอธรรมและการก่ออาชญากรรม ซึ่งทั้งสองประการนี้เข้าข่ายคุณลักษณะของผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จทั้งสิ้น พระองค์ได้ตรัสว่า «وَمَنْ أَظْلَمُ مِمَّنِ افْتَرَى عَلَى اللَّهِ كَذِبًا أَوْ كَذَّبَ بِآيَاتِهِ إِنَّهُ لا يُفْلِحُ الظَّالِمُونَ» ความว่า “และผู้ใดเล่าที่จะอธรรมมากไปกว่าผู้ที่กล่าวอ้างต่ออัลลอฮฺด้วยความเท็จหรือได้กล่าวโกหก(ไม่ยอมรับ)ต่อโองการของพระองค์ แท้จริงแล้วผู้อธรรมทั้งหลายนั้นไม่ประสบความสำเร็จ” (อัล-อันอาม : 21) « قُلْ إِنَّ الَّذِينَ يَفْتَرُونَ عَلَى اللَّهِ الْكَذِبَ لا يُفْلِحُونَ» ความว่า “จงกล่าวเถิด แท้จริงผู้ที่กล่าวอ้างความเท็จต่ออัลลอฮฺนั้นไม่ประสบความสำเร็จ” (ยูนุส : 69) «وَلا تَقُولُوا لِمَا تَصِفُ أَلْسِنَتُكُمُ الْكَذِبَ هَذَا حَلالٌ وَهَذَا حَرَامٌ لِتَفْتَرُوا عَلَى اللَّهِ الْكَذِبَ إِنَّ الَّذِينَ يَفْتَرُونَ عَلَى اللَّهِ الْكَذِبَ لا يُفْلِحُونَ» ความว่า “และอย่าได้กล่าวในสิ่งที่ลิ้นของพวกเจ้าได้ให้คุณลักษณะอย่างโป้ปดมดเท็จว่าสิ่งนี้อนุมัติและสิ่งนี้ไม่อนุมัติ เพื่อพวกเจ้าจะกล่าวอ้างต่ออัลลอฮฺด้วยความเท็จ แท้จริงบรรดาผู้ที่กล่าวอ้างต่ออัลลอฮฺด้วยความเท็จนั้นไม่ประสบความสำเร็จ” (อัน-นะห์ลุ : 166) «فَمَنْ أَظْلَمُ مِمَّنِ افْتَرَى عَلَى اللَّهِ كَذِبًا أَوْ كَذَّبَ بِآيَاتِهِ إِنَّهُ لا يُفْلِحُ الْمُجْرِمُونَ» ความว่า “ดังนั้นผู้ใดเล่าที่จะอธรรมมากไปกว่าผู้ที่กล่าวอ้างต่ออัลลอฮฺด้วยความเท็จหรือกล่าวโกหก(ไม่ยอมรับ)ต่อโองการของพระองค์ แท้จริงแล้วผู้ก่ออาชญากรรมนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ” (ยูนุส : 17)   ในขณะเดียวกัน ความอธรรมโดยทั่วไปซึ่งอยู่ในรูปของความผิดบาปก็เป็นคุณลักษณะแห่งความเสียหายอยู่แล้ว อัลลอฮฺได้ตรัสถึงผู้ที่อธรรมว่า «إِنَّهُ لا يُفْلِحُ الظَّالِمُونَ» ความว่า “แท้จริง ผู้อธรรมทั้งหลายนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ” (อัล-อันอาม : 135, ยูสุฟ : 23, อัล-เกาะศ็อศ : 37)   ประการที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่อัลลอฮฺได้เตือนให้เรารู้ว่าเป็นคุณลักษณะของผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จคือ การเล่นไสยศาสตร์ อันเป็นสิ่งที่แพร่ระบาดในสังคมมนุษย์แม้กระทั่งในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคแห่งเทคโนโลยี เราก็ยังพบว่ามนุษย์ยังยึดถือและพึ่งพาสิ่งเหล่านี้ หนำซ้ำเครื่องมือต่างๆ อันทันสมัยในปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้เป็นสื่อเผยแพร่ความงมงายและพฤติกรรมที่เลวร้ายเหล่านี้ให้ยิ่งระบาดหนักเข้าไปใหญ่ จนกระทั่งมีการโฆษณาผ่านทีวี อินเตอร์เน็ต ให้บริการผ่านมือถือ ฯลฯ กลายเป็นธุรกิจใหญ่โต (ขออัลลอฮฺทรงปกป้องเราจากความชั่วร้ายเหล่านี้ด้วยเถิด) อัลลอฮฺได้เล่าถึงเรื่องราวของนบีมูซา อะลัยฮิสสลาม กับนักไสยศาสตร์ในยุคของท่านว่า «قَالَ مُوسَى أَتَقُولُونَ لِلْحَقِّ لَمَّا جَاءَكُمْ أَسِحْرٌ هَذَا وَلا يُفْلِحُ السَّاحِرُونَ» ความว่า “มูซาได้กล่าวว่า ‘พวกเจ้ากล่าวต่อความสัจจริงที่ได้มายังพวกเจ้าว่าเป็นไสยศาสตร์กระนั้นหรือ? นี่หรือไสยศาสตร์? ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วบรรดานักไสยศาสตร์ทั้งหลายนั้นไม่ประสบความสำเร็จ’” (ยูนุส : 77) «وَأَلْقِ مَا فِي يَمِينِكَ تَلْقَفْ مَا صَنَعُوا إِنَّمَا صَنَعُوا كَيْدُ سَاحِرٍ وَلا يُفْلِحُ السَّاحِرُ حَيْثُ أَتَى» ความว่า “(โอ้ มูซา)จงขว้างสิ่งที่อยู่ในมือขวาของเจ้า มันจะกลืนกินสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้น แท้จริงสิ่งที่พวกเขาสร้างนั้นเป็นกลแห่งไสยศาสตร์ และนักไสยศาสตร์จะไม่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่เขาทำ” (ฏอฮา : 69)   สรุป ความสำเร็จในนิยามของพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาลผู้ทรงสร้างมนุษย์นั้นมีความหมายที่กว้างขวางและครอบคลุมชีวิตทั้งในโลกนี้และโลกหน้า พระองค์ได้เน้นถึงความสำเร็จอันแท้จริงที่ยิ่งใหญ่นั่นคือความสำเร็จในอาคิเราะฮฺ ในขณะที่ไม่ได้ทรงละเลยสิ่งที่มนุษย์ปรารถนาในรูปของความสำเร็จในโลกนี้เลย ทางนำของพระองค์เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการขวนขวายความสำเร็จที่มั่นคงได้ไม่ว่าจะเป็นในระยะสั้นช่วงที่มีชีวิตในโลกหรือในระยะยาวหลังจากที่สิ้นลมหายใจ โดยภาพรวม คุณลักษณะแห่งความสำเร็จที่อัลลอฮฺได้อธิบายไว้คือการประพฤติตนบนพื้นฐานแห่งตักวาและหมั่นปฏิบัติคุณงามความดี โดยการปฏิบัติตามแนวทางของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม สองประการนี้ครอบคลุมทุกอิริยาบทและกิจกรรมในการดำรงชีวิตของผู้ศรัทธาทุกคน ส่วนในระดับของรายละเอียดปลีกย่อยนั้น มีบางพฤติกรรมที่อัลลอฮฺได้เน้นว่าเป็นคุณลักษณะพิเศษของผู้ที่จะประสบความสำเร็จ คือ การซิกรุลลอฮฺอย่างสม่ำเสมอในทุกช่วงเวลา การเตาบัตขออภัยโทษจากอัลลอฮฺ การขัดเกลาจิตใจให้ผุดผ่อง และการไม่เป็นคนที่มีความตระหนี่ถี่เหนียว สิ่งเหล่านี้ ถ้าสังเกตดูแล้วจะพบว่ามีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน แยกจากกันแทบจะไม่ได้ นอกจากนี้ ในระดับของความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม คุณลักษณะแห่งความสำเร็จที่ขาดเสียไม่ได้คือการทำหน้าที่สั่งเสียและช่วยกันสนับสนุนในความดี พร้อมทั้งยับยั้งและหักห้ามจากความชั่วทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยที่จะสร้างให้สังคมอุดมสันติสุขและเป็นฐานแห่งความสำเร็จของมนุษย์ในโลกนี้ก่อนที่จะพบกับความสำเร็จในโลกหน้าด้วยซ้ำไป อีกด้านหนึ่ง อัลกุรอานได้เตือนให้เรารู้ถึงคุณลักษณะบางประการแห่งความเสียหายใหญ่หลวง เป็นอุปสรรคไม่ให้มนุษย์ประสบความสำเร็จ นั่นก็คือ การปฏิเสธอัลลอฮฺ การกล่าวอ้างความเท็จต่อพระองค์ ซึ่งพระองค์ถือว่าเป็นความอธรรมและถึงระดับการก่ออาชญากรรมเลยทีเดียว และประการสุดท้ายคือการหมกมุ่นและเชื่อในไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อศรัทธาของมนุษย์และเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดแจ้งกับองค์ผู้อภิบาล วัลลอฮุ อะอฺลัม ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนควรพิจารณาและใคร่ครวญประการต่างๆ เหล่านี้ เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างจริงจัง หากปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จตามที่อัลลอฮฺได้สัญญาไว้ และขอให้เชื่อว่าทุกสิ่งที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จเหล่านี้ไม่ได้อยู่นอกเหนือความสามารถของเราเลยแม้แต่น้อย ขออัลลอฮฺทรงประทานความช่วยเหลือ อามีน  

المرفقات

1

ผู้ประสบความสำเร็จ (ตอนที่ 2 จบ)