البحث

عبارات مقترحة:

الحي

كلمة (الحَيِّ) في اللغة صفةٌ مشبَّهة للموصوف بالحياة، وهي ضد...

الوهاب

كلمة (الوهاب) في اللغة صيغة مبالغة على وزن (فعّال) مشتق من الفعل...

الرفيق

كلمة (الرفيق) في اللغة صيغة مبالغة على وزن (فعيل) من الرفق، وهو...

ทำไมต้องอิสติฆฟาร?

التايلاندية - ไทย / Phasa Thai

المؤلف ซุฟอัม อุษมาน ، อุษมาน อิดรีส
القسم مقالات
النوع نصي
اللغة التايلاندية - ไทย / Phasa Thai
المفردات الرقائق والمواعظ
อธิบายความสำคัญของการอิสติฆฟาร หรือถ้อยคำที่มุสลิมใช้ในการขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ อธิบายตัวอย่างจากประวัติศาสตร์ของเหล่าศาสนทูต ด้วยหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺ พร้อมทั้งคำแนะนำสำนวนต่างๆ ที่ใช้ในการกล่าวอิสติฆฟาร

التفاصيل

ทำไมต้องอิสติฆฟาร ?لماذا نستغفر ؟ซุฟอัม อุษมานصافي عثمانทำไมต้องอิสติฆฟาร ?ตามเดิมคำว่า อิสติฆฟาร ในภาษาอาหรับหมายถึง การขอให้อัลลอฮฺปกปิดและอภัยโทษให้กับบาปและความผิดที่บ่าวได้กระทำลงไป อุละมาอ์บางท่านเช่น อิบนุ ก็อยยิม อธิบายว่า อิสติฆฟารคือการกลับตัวหรือการเตาบะฮฺ นั่นคือการขอให้อัลลอฮฺอภัยโทษ ลบล้างบาป ขจัดพิษภัยและร่องรอยของมันให้หมด พร้อมกับขอให้พระองค์ปกปิดมันไว้ (ดู มะดาริจญ์ อัส-สาลิกีน 1:307)ความสำคัญของอิสติฆฟารเห็นชัดเจนยิ่ง จากการที่พระองค์อัลลอฮฺได้ระบุถึงไว้อย่างมากมายและด้วยสำนวนที่หลากหลายในพระดำรัสของพระองค์ บางครั้งด้วยสำนวนสั่งใช้ เช่นในสูเราะฮฺ อัล-มุซซัมมิล อายะฮฺที่ 20, สูเราะฮฺ ฮูด อายะฮฺที่ 3 บางครั้งด้วยการชื่นชมผู้อิสติฆฟาร เช่นในสูเราะฮฺ อาล อิมรอน อายะฮฺที่ 17 และ 135  และบางครั้งด้วยการบอกเล่าว่าทรงอภัยโทษให้กับผู้ที่กล่าวอิสติฆฟาร เช่นในสูเราะฮฺ อัน-นิสาอ์ อายะฮฺที่ 110 (ดู ญามิอฺ อัล-อุลูม วัล-หิกัม ของ อิบนุ เราะญับ 2:407) ในขณะที่หะดีษซึ่งเกี่ยวข้องกับอิสติฆฟารนั้นมีมากมายจนนับแทบไม่ถ้วน (ดู อัล-อัซการ ของ อัน-นะวะวีย์ หน้า 504)โดยหลักๆ แล้วคุณค่าและความสำคัญของอิสติฆฟารพอสรุปได้ดังนี้ (1) อิสติฆฟารเป็นเครื่องหมายของตักวา มีบางอายะฮฺในอัลกุรอานที่อัลลอฮฺได้กล่าวถึงคุณลักษณะต่างๆ ของมุตตะกีน หรือบรรดาผู้ยำเกรงต่อพระองค์ โดยระบุอิสติฆฟารเป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่ชัดเจนของพวกเขา (ดู อาล อิมรอน : 15-17, อัซ-ซาริยาต : 15-18)  (2) อิสติฆฟารเป็นเครื่องป้องกันจากการลงโทษของอัลลอฮฺ ในอัลกุรอานอัลลอฮฺได้ตรัสว่า «وَمَا كَانَ اللّهُ لِيُعَذِّبَهُمْ وَأَنتَ فِيهِمْ وَمَا كَانَ اللّهُ مُعَذِّبَهُمْ وَهُمْ يَسْتَغْفِرُونَ» (الأنفال : 33 )ความว่า และอัลลอฮฺจะไม่ลงโทษพวกเขาในขณะที่มีเจ้า(มุหัมมัด)อยู่ระหว่างพวกเขา และอัลลอฮฺจะไม่ลงโทษพวกเขาทั้งๆ ที่พวกเขานั้นได้อิสติฆฟารโองการนี้ได้พูดถึงบรรดาพวกมุชริกีนมักกะฮฺที่ปฏิเสธการเชิญชวนของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม และเยาะเย้ยท่านด้วยการเรียกร้องให้ท่านนำการลงโทษของอัลลอฮฺมาให้พวกเขาเห็น แต่อัลลอฮฺก็มิได้ทรงลงโทษพวกเขาในทันทีทันใดทั้งนี้เพราะเหตุที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม อยู่พร้อมกับพวกเขา และตัวพวกเขาเองนั้นถึงแม้จะเหยียดหยามท่านนบีอย่างไร ก็ล้วนรู้อยู่แก่ใจว่าการกระทำนั้นเป็นสิ่งที่เลวทราม และกลัวอยู่ลึกๆ ว่าอัลลอฮฺจะลงโทษพวกเขาจริง จึงได้กล่าวอิสติฆฟารต่ออัลลอฮฺ นี่คือความหมายของประโยคที่ว่า "และอัลลอฮฺจะไม่ลงโทษพวกเขาทั้งๆ ที่พวกเขานั้นได้อิสติฆฟาร" การอิสติฆฟารของพวกเขาเป็นเหตุป้องกันไม่ให้อัลลอฮฺส่งการลงโทษของพระองค์ลงมา (ดู ตัฟซีร อัส-สะอฺดีย์ หน้า 297)มีรายงานจากเศาะหาบะฮฺบางท่านกล่าวว่า มนุษย์ทั้งหลายมีมูลเหตุแห่งความปลอดภัยจากการลงโทษอยู่สองประการ นั่นคือ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม และการอิสติฆฟาร ท่านนบีนั้นได้จากไปแล้ว ในขณะที่อิสติฆฟารจะยังคงอยู่จนถึงวันกิยามะฮฺ (ดู ตัฟซีร อัต-เฏาะบะรีย์ 2:381) (3) อิสติฆฟารเป็นสาเหตุของการบรรเทาความลำบากและเพิ่มปัจจัยยังชีพ  อัลลอฮฺได้ตรัสว่า «وَأَنِ اسْتَغْفِرُواْ رَبَّكُمْ ثُمَّ تُوبُواْ إِلَيْهِ يُمَتِّعْكُم مَّتَاعاً حَسَناً إِلَى أَجَلٍ مُّسَمًّى وَيُؤْتِ كُلَّ ذِي فَضْلٍ فَضْلَهُ» (هود : 3 )ความว่า และจงอิสติฆฟารต่อพระผู้อภิบาลของพวกท่านและจงเตาบะฮฺต่อพระองค์ แล้วพระองค์จะทรงประทานความสุขสบายที่งดงามจนถึงวาระที่กำหนด และจะทรงประทานความประเสริฐให้กับผู้ที่สมควรได้รับตามนั้นนี่เป็นคำสั่งให้อิสติฆฟารจากบาปทั้งหลายที่ผ่านมา พร้อมกลับตัวกลับตนสู่อัลลอฮฺในอนาคตและยืนหยัดเช่นนี้ตลอดไป ซึ่งผลบุญของการกระทำดังกล่าวคือการที่อัลลอฮฺจะทรงประทานการยังชีพที่ดีในโลกนี้จนสิ้นอายุขัย และจะทรงประทานความประเสริฐตามที่สมควรได้รับในโลกหน้า (ดู ตัฟซีร อิบนุ กะษีร 2:537)คำสั่งในทำนองเดียวกันนี้ท่านนบีนูหฺ และ นบีฮูด อะลัยฮิมัสสลาม ได้เคยเชิญชวนประชาชาติของท่านมาแล้ว โดยได้บอกให้พวกเขาทราบว่าการอิสติฆฟารจะเป็นเหตุให้อัลลอฮฺประทานความกว้างขวางของริสกีและปัจจัยยังชีพจากพระองค์แก่พวกเขา อัลกุรอานกล่าวถึงการเชิญชวนของนบีสองท่านนี้ว่า«فَقُلْتُ اسْتَغْفِرُوا رَبَّكُمْ إِنَّهُ كَانَ غَفَّاراً، يُرْسِلِ السَّمَاء عَلَيْكُم مِّدْرَاراً، وَيُمْدِدْكُمْ بِأَمْوَالٍ وَبَنِينَ وَيَجْعَل لَّكُمْ جَنَّاتٍ وَيَجْعَل لَّكُمْ أَنْهَاراً» (نوح : 10-12 )ความว่า แล้วฉัน(นบีนูหฺ)ก็กล่าวแก่พวกเขาว่า จงอิสติฆฟารต่อพระผู้อภิบาลของพวกท่านเถิด แท้จริงพระองค์ทรงเป็นผู้ที่อภัยยิ่ง แล้วพระองค์จะประทานให้มีฝนชุกมาจากฟ้า  จะทรงประทานทรัพย์สมบัติและลูกหลาน จะทรงทำให้มีสวนไม้และสายน้ำมากมายแก่พวกท่าน«وَيَا قَوْمِ اسْتَغْفِرُواْ رَبَّكُمْ ثُمَّ تُوبُواْ إِلَيْهِ يُرْسِلِ السَّمَاء عَلَيْكُم مِّدْرَاراً وَيَزِدْكُمْ قُوَّةً إِلَى قُوَّتِكُمْ وَلاَ تَتَوَلَّوْاْ مُجْرِمِينَ» (هود : 52 )ความว่า (นบีฮูดได้กล่าวว่า) โอ้ เผ่าของฉัน จงอิสติฆฟารต่อพระผู้อภิบาลของพวกท่าน แล้วจงเตาบะฮฺต่อพระองค์เถิด แล้วพระองค์จะประทานให้มีฝนชุกแก่พวกท่าน และจะทำให้ความแข็งแกร่งของพวกท่านเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก และอย่าได้เมินหลังให้พระองค์เช่นเหล่าอาชญากร(4) อิสติฆฟารเป็นตัวกระตุ้นให้ลดและขจัดปัจจัยของการทำบาป การทำบาปอย่างเป็นประจำแม้จะเป็นบาปเล็กๆ ถือว่ามีอันตรายใหญ่หลวงยิ่ง พฤติกรรมเช่นนี้ถูกเรียกว่า "อิศรอร" ซึ่งหมายถึงการนิ่งเงียบ (ไม่ยอมละ) จากบาปและละทิ้งการอิสติฆฟาร (ดู ตัฟซีร อัต-เฏาะบะรีย์ 4:97)การอิสติฆฟารเป็นประจำจะทำให้พฤติกรรมที่ถูกเรียกว่า อิศรอร นั้นหมดความหมาย เช่นที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้สอนว่า "ไม่มีการ อิศรอร พร้อมๆ กับการ อิสติฆฟาร แม้ว่าเขาจะทำบาปครั้งแล้วครั้งเล่าถึงวันละเจ็ดสิบครั้งก็ตาม" (บันทึกโดย อบู ดาวูด หมายเลข 1514, อิบนุ กะษีร กล่าวว่าเป็นหะดีษหะสัน ดู ตัฟซีรของท่าน 1:499)และนี่ก็คือคุณลักษณะแห่งผู้ตักวาอีกประการหนึ่งที่อัลลอฮฺได้ตรัสในอัลกุรอานว่า «وَالَّذِينَ إِذَا فَعَلُواْ فَاحِشَةً أَوْ ظَلَمُواْ أَنْفُسَهُمْ ذَكَرُواْ اللّهَ فَاسْتَغْفَرُواْ لِذُنُوبِهِمْ وَمَن يَغْفِرُ الذُّنُوبَ إِلاَّ اللّهُ وَلَمْ يُصِرُّواْ عَلَى مَا فَعَلُواْ وَهُمْ يَعْلَمُونَ» (آل عمران : 135 )ความว่า และบรรดาผู้คนที่เมื่อกระทำสิ่งเลวทรามหรือก่อความอธรรมแก่ตัวพวกเขาเองแล้ว พวกเขาจะรำลึกถึงอัลลอฮฺและอิสติฆฟารต่อบาปต่างๆ ของพวกเขา และมีผู้ใดอีกเล่าที่จะอภัยโทษนอกเหนือไปจากอัลลอฮฺ พวกเขาจะไม่ดำเนินอยู่บนบาปที่พวกเขากระทำทั้งๆ ที่พวกเขารู้ความหมายของโองการนี้คือ พวกเขาจะขออภัยโทษจากบาปและกลับตัวสู่อัลลอฮฺทันที และจะไม่ดำเนินอยู่บนบาปนั้นหรือนิ่งเงียบไม่ยอมปลดตัวเองออกจากมัน และหากความผิดบาปได้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกพวกเขาก็จะขออภัยโทษอีก (ดู ตัฟซีร อิบนุ กะษีร เล่มเดิม)(5) อิสติฆฟารเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่อัลลอฮฺจะประทานอภัย ในหะดีษกุดสีย์บทหนึ่งอัลลอฮฺได้ตรัสว่า "โอ้ มนุษย์ผู้เป็นลูกแห่งอาดัม แท้จริงเจ้าจะไม่วอนขอและไม่หวังต่อข้า เว้นแต่ข้าจะอภัยโทษให้เจ้าต่อบาปที่อยู่กับตัวเจ้าโดยข้าจะไม่สนใจเลย(ว่ามันจะมากมายแค่ไหนก็ตาม) โอ้ มนุษย์ผู้เป็นลูกแห่งอาดัม หากบาปของเจ้ามากมายก่ายกองจนเกือบล้นฟ้า แล้วเจ้าก็วอนขออภัยต่อข้า ข้าก็จะอภัยให้โดยไม่สนใจเลย(ว่ามันจะมากมายแค่ไหน) โอ้ มนุษย์ผู้เป็นลูกแห่งอาดัม หากเจ้ามาหาข้าด้วยบาปที่เต็มเกือบเท่าพื้นปฐพี แล้วเจ้าเข้าพบข้าโดยที่ไม่มีการตั้งภาคีใดๆ กับข้า ข้าก็จะเข้าหาเจ้าด้วยการอภัยโทษที่เต็มเท่าพื้นแผ่นดินนี้เช่นเดียวกัน" (อัต-ติรมิซีย์ : 3540, อิบนุ เราะญับกล่าวว่า หะดีษนี้ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับสายรายงาน กล่าวคือเป็นหะดีษที่ใช้ได้ ดู ญามิอฺ อัล-อุลูม วัล-หิกัม 2:400)ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า "ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺผู้ซึ่งชีวิตข้าอยู่ในพระหัตถ์แห่งพระองค์ หากพวกเจ้าไม่มีการพลาดพลั้งทำบาปเลย แน่แท้อัลลอฮฺจะทรงให้พวกเจ้าสูญสิ้นไป และพระองค์ก็จะทรงนำชนกลุ่มอื่นที่ทำบาปให้มาสืบทอดแทนพวกเจ้า พวกเขาจะกล่าวอภัยโทษต่ออัลลอฮฺและพระองค์ก็จะทรงอภัยให้เขา" (มุสลิม : 2749)เพราะอิสติฆฟารมีความสำคัญเยี่ยงนี้ อัลลอฮฺจึงสอนให้บรรดานบีรู้จักการอิสติฆฟาร นับตั้งแต่นบีอาดัม อะลัยฮิสสลาม จนถึงท่านนบี มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ทั้งหมดล้วนได้ทำแบบอย่างที่ดียิ่งในการอิสติฆฟารขออภัยโทษจากพระผู้อภิบาลของพวกเขา ดัชนีต่อไปนี้แสดงให้เห็นตัวอย่างเกี่ยวกับการอิสติฆฟารของนบีบางท่าน ที่มีระบุใน อัลกุรอาน : - อิสติฆฟารของนบีอาดัม อะลัยฮิสสลาม (อัล-บะเราะเราะฮฺ : 37, อัล-อะอฺรอฟ : 23)- นบีนูหฺ อะลัยฮิสสลาม (ฮูด : 47)- นบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 128, อิบรอฮีม : 41)- นบีมูซา อะลัยฮิสสลาม (อัล-อะอฺรอฟ : 151, 155, อัล-เกาะศ็อศ : 16)- นบีดาวูด อะลัยฮิสสลาม (ศอด : 24)- นบีสุลัยมาน อะลัยฮิสสลาม (ศอด : 35)- นบียูนุส อะลัยฮิสสลาม (อัล-อันบิยาอ์ : 87)ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เองได้ทำแบบอย่างที่สมบูรณ์เกี่ยวกับอิสติฆฟาร ท่านจะกล่าวอิสติฆฟารมากที่สุดกว่าคนอื่นๆ (อัน-นะสาอีย์ ใน อะมัล เยาม์ วัล ลัยละฮฺ : 10215) โดยจะกล่าวอิสติฆฟารไม่น้อยกว่า 70-100 ครั้งในแต่ละวัน (อัล-บุคอรีย์ : 6307, อัน-นะสาอีย์ ใน อะมัล เยาม์ วัล ลัยละฮฺ : 10205) บางทีเศาะหาบะฮฺได้นับจำนวนการกล่าวอิสติฆฟารในวงสนทนาแต่ละครั้งของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ถึงหนึ่งร้อยครั้ง (อบู ดาวูด : 1516, อัต-ติรมิซีย์ : 3434, อิบนุ มาญะฮฺ : 3814, เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ : 3486) ข้อเท็จจริงทางหลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของอิสติฆฟาร และไม่ควรอย่างยิ่งที่ผู้เป็นมุสลิมจะเฉยเมยและไม่มีอาการตอบสนองต่อความสำคัญของมัน ด้วยการนิ่งดูดายไม่สนต่อความผิดบาปที่ก่อตัวและพอกพูนขึ้นทุกวันๆ โดยมิพักจะนึกถึงอัลลอฮฺและกล่าวขออภัยโทษต่อพระองค์ ทั้งๆ ที่การอิสติฆฟารนั้นไม่ใช่สิ่งที่ยากเย็นแสนเข็ญแต่อย่างใดเลยอย่างน้อยสำนวนอิสติฆฟารเช่น أَسْتَغْفِرُ اللهَ وَأَتُوْبُ إِلَيْهِ "อัสตัฆฟิรุลลอฮฺ วะอะตูบุ  อิลัยฮิ" (หมายความว่า ฉันขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺและฉันขอกลับตัวสู่พระองค์) ควรจะเป็นสิ่งที่ติดปากของพวกเราทุกคนทุกที่ทุกเวลา และหากเป็นไปได้ควรศึกษาและท่องจำสำนวนอิสติฆฟารที่มีระบุในหะดีษต่างๆ ซึ่งท่านนบีได้สอนให้เรากล่าวตามวาระต่างๆ เช่น(1) สำนวนที่ใช้กล่าวก่อนให้สลามในละหมาด (อัล-บุคอรีย์ : 799)«اللّٰهُمَّ إِنِّي ظَلَمْتُ نَفْسِي ظُلْمًا كَثِيرًا، وَلَا يَغْفِرُ الذُّنُوبَ إِلَّا أَنْتَ، فَاغْفِرْ لِي مَغْفِرَةً مِنْ عِنْدِكَ، وَارْحَمْنِي إِنَّك أَنْتَ الْغَفُورُ الرَّحِيمُ»(2) สำนวนที่ใช้กล่าวทุกเช้า-เย็น ที่เรียกว่า สัยยิดุล อิสติฆฟาร หรือ แม่บทแห่งการกล่าวอิสติฆฟารนั่นเอง (อัล-บุคอรีย์ : 6306)«اللّٰهُمَّ أَنْتَ رَبِّي لَا إِلٰهَ إِلَّا أَنْتَ، خَلَقْتَنِي وَأَنَا عَبْدُكَ وَأَنَا عَلَى عَهْدِكَ وَوَعْدِكَ مَا اسْتَطَعْتُ، أَعُوذُ بِكَ مِنْ شَرِّ مَا صَنَعْتُ، أَبُوءُ لَكَ بِنِعْمَتِكَ عَلَيَّ، وَأَبُوءُ لَكَ بِذَنْبِي، فَاغْفِرْ لِي فَإِنَّهُ لَا يَغْفِرُ الذُّنُوبَ إِلَّا أَنْتَ»(3) สำนวนที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม มักจะกล่าวบ่อยในวงสนทนาของท่าน (อบู ดาวูด : 1516, อัต-ติรมิซีย์ : 3434, อิบนุ มาญะฮฺ : 3814, เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ : 3486)«رَبِّ اغْفِرْ لِي وَتُبْ عَلَيَّ، إِنَّكَ أَنْتَ التَّوَّابُ الْغَفُورُ»(4) สำนวนที่ใช้กล่าวเมื่อเสร็จจากการพูดคุยหรือที่เรียกว่า กัฟฟาเราะตุล มัจญ์ลิส (อัต-ติรมิซีย์ : 4333, เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ : 6192)«سُبْحَانَكَ اللّٰهُمَّ وَبِحَمْدِكَ، أَشْهَدُ أَنْ لَا إِلٰهَ إِلَّا أَنْتَ، أَسْتَغْفِرُكَ وَأَتُوبُ إِلَيْكَ»ในคัมภีร์อัลกุรอานเองก็มีสำนวนต่างๆ ของอิสติฆฟารให้เราได้เลือกปฏิบัติหรือสับเปลี่ยนสำนวนได้ เพื่อเป็นการกระตุ้นไม่ให้เบื่อหน่ายกับสำนวนที่ใช้กล่าวเพียงอันเดียว (ดู สูเราะฮฺ อาล อิมรอน : 16, 147, 193, อัล-อะอฺรอฟ : 23, อิบรอฮีม : 41, อัล-อันบิยาอ์ : 87, อัล-มุมินูน : 109, 118, อัล-เกาะศ็อศ : 16, อัล-หัชร์ : 10)  อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการกล่าวอิสติฆฟารให้ติดปากเสมอ ไม่ว่าจะด้วยสำนวนใดก็ตาม หากไม่สามารถที่จะท่องจำสำนวนที่ยาวๆ ก็เป็นการเพียงพอด้วยการกล่าวสั้นว่าๆ أَسْتَغْفِرُ اللهَ وَأَتُوْبُ إِلَيْهِ "อัสตัฆฟิรุลลอฮฺ วะอะตูบุอิลัยฮิ"นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ง่ายมากๆ อีกประการหนึ่ง แต่น้อยคนที่สามารถปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอได้ จึงควรอย่างยิ่งที่เราต้องมุ่งมั่นฝึกฝนและเอาจริงเอาจังเพื่อแบบฉบับแห่งคำสอนของพระผู้เป็นเจ้าอันงดงามนี้ได้กลายเป็นเสมือนเครื่องประดับติดกายเราอยู่ตลอดเวลา เพื่อการยกย่องจากอัลลอฮฺและการอภัยโทษต่อความผิดบาปที่เกิดขึ้นกับเราทุกคนโดยยากที่จะหลีกเลี่ยงได้พ้นแม้จะพยายามสุดความสามารถแค่ไหนก็ตาม ท่ามกลางโลกอันวุ่นวายและเต็มไปด้วยสิ่งยั่วยวนให้หลงผิดและกระทำบาปต่อพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์ยังมีอิสติฆฟารเป็นของขวัญจากอัลลอฮฺ ที่จะใช้เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้บาปมาปกคลุมหัวใจจนมิด ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะยับยั้งการลงโทษจากพระองค์ผู้ทรงเกรียงไกรตามที่ได้ทรงสัญญาไว้กับเรา ขออัลลอฮฺประทานความช่วยเหลือ อามีน

المرفقات

2

ทำไมต้องอิสติฆฟาร?
ทำไมต้องอิสติฆฟาร?