ถาม – ในช่วงหลังๆมานี้ ปรากฏว่ามีคนบางกลุ่มนิยมกล่าวนินทาว่าร้ายต่อบรรดาผู้รู้ และนักเผยแผ่อิสลาม และมีการจำแนกแจกแจง จัดท่านเหล่านั้นว่าอยู่กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ แนวทางนั้นแนวทางนี้..ท่านมีความเห็นอย่างไรกับปรากฏการณ์นี้?
التفاصيل
> > > > ถาม – ในช่วงหลังๆมานี้ ปรากฏว่ามีคนบางกลุ่มนิยมกล่าวนินทาว่าร้ายต่อบรรดาผู้รู้ และนักเผยแผ่อิสลาม และมีการจำแนกแจกแจง จัดท่านเหล่านั้นว่าอยู่กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ แนวทางนั้นแนวทางนี้..ท่านมีความเห็นอย่างไรกับปรากฏการณ์นี้? ตอบ – อัลหัมดุลิลลาฮฺ.. อัลลอฮฺตะอาลา ทรงใช้ให้มีความยุติธรรม และกระทำการดี และทรงห้ามปรามการอยุติธรรม การกระทำที่ชั่วร้ายน่ารังเกียจ และการขัดแย้งบาดหมาง.. พระองค์ทรงแต่งตั้งท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ให้ทำหน้าที่เฉกเช่นบรรดาศาสนทูตท่านอื่นๆก่อนหน้าท่าน นั่นคือการเชิญชวนไปสู่การให้เอกภาพ และทำการเคารพอิบาดะฮฺอัลลอฮฺตะอาลาเพียงพระองค์เดียว.. ทรงใช้ให้ท่านดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม และทรงห้ามสิ่งที่ตรงกันข้ามกับข้อกำชับใช้เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการเคารพสักการะสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากอัลลอฮฺตะอาลา การขัดแย้ง แตกแยก และการเบียดเบียนสิทธิของปวงบ่าว แต่ในยุคนี้ ปรากฏว่ามีผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้รู้ เป็นผู้เชิญชวนสู่การประกอบการดี ได้มีพฤติกรรมนิยมชมชอบการกล่าวนินทาว่าร้ายพี่น้องของเขาที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ เป็นนักเผยแผ่ และครูอาจารย์ โดยที่พวกเขากระทำการเหล่านั้นอย่างลับๆในวงสนทนาของพวกเขา หรือบันทึกเทปไว้แล้วเผยแพร่ให้ผู้คนได้รับรู้ หรืออาจจะกระทำการดังกล่าวอย่างโจ่งแจ้งในการบรรยายตามมัสยิดต่างๆ..ซึ่งแนวทางเหล่านี้ ล้วนขัดกับสิ่งที่อัลลอฮฺตะอาลาและเราะสูลของพระองค์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กำชับใช้อย่างสิ้นเชิงในหลายๆแง่มุมด้วยกัน เช่น ประการแรก : พฤติกรรมเหล่านั้นถือเป็นการเบียดเบียนสิทธิของผู้อื่นซึ่งเป็นมุสลิม อีกทั้งยังเป็นผู้รู้ เป็นนักเผยแผ่อิสลาม ซึ่งได้ทุ่มเทเสียสละเพื่อการเชิญชวนนำพาผู้คนสู่หนทางที่ถูกต้องในเรื่องอะกีดะฮฺหลักศรัทธา และแนวทางปฏิบัติ อีกทั้งยังมีส่วนในการจัดการเรียนการสอน บรรยายเผยแพร่วิชาความรู้ทางศาสนา และเขียนตำรับตำราที่มีประโยชน์มากมาย ประการที่สอง : พฤติกรรมเยี่ยงนี้นำมาซึ่งความแตกแยกร้าวฉานในหมู่พี่น้องมุสลิม ทั้งๆที่มุสลิมควรที่จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และห่างไกลจากความแตกแยก การด่าทอกันไปมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาดุอาตนักเผยแผ่ที่โดนโจมตีว่าร้ายเหล่านั้นก็เป็นที่รู้กันดีว่าอยู่ในแนวทางของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ และต่อต้านการทำบิดอะฮฺอุตริกรรมต่างๆ ตอบโต้และเปิดโปงแผนการร้ายของผู้เชิญชวนสู่การกระทำบิดอะฮฺ.. ซึ่งเราไม่เห็นประโยชน์ของพฤติกรรมเหล่านั้น นอกจากการสร้างความปิติยินดีแก่บรรดาศัตรูอิสลามผู้ปฏิเสธศรัทธา บรรดามุนาฟิก และกลุ่มบิดอะฮฺที่หลงผิด ที่คอยจ้องทำลายอิสลาม ประการที่สาม : พฤติกรรมเช่นนี้ เป็นการสนับสนุนช่วยเหลือพวกเซคคิวลาร์ พวกนิยมตะวันตก และแนวคิดอันบิดเบือนอื่นๆ ที่ชื่นชอบการใส่ร้ายจับผิดบรรดานักเผยแผ่อิสลามในสิ่งที่พวกเขาเขียนหรือพูดออกมาอยู่เป็นนิจ ซึ่งการที่คนเหล่านั้นมีส่วนในการเพิ่มช่องโหว่ให้ศัตรูอิสลามได้โจมตีพี่น้องของเขาที่เป็นผู้รู้หรือนักเผยแผ่ หรือคนอื่นๆ ถือเป็นการละเมิดสิทธิแห่งความเป็นพี่น้องในอิสลามอันพึงมียิ่ง ประการที่สี่ : พฤติกรรมเหล่านั้นทำให้เกิดความบาดหมางร้าวฉานขึ้นในใจผู้คนทั่วไป โดยเฉพาะในหมู่ผู้รู้ กลุ่มนักเผยแผ่ด้วยกันเอง เป็นการแพร่กระจายคำโกหกมดเท็จ และข่าวลือที่ไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ทำให้เกิดการนินทาว่าร้าย การสาดโคลน ใส่ไคล้ระหว่างกัน และยังเป็นการเปิดประตูแห่งความชั่วร้ายต่างๆนาๆสำหรับผู้ที่มีจิตใจอ่อนแอต่ำช้า ที่คอยจับจ้องหาโอกาสสร้างฟิตนะฮฺ ความเคลือบแคลงสงสัย และคอยสร้างความเดือดร้อนแก่บรรดาผู้ศรัทธา ประการที่ห้า : สิ่งที่พูดต่อๆกันไปอย่างแพร่หลาย หลายต่อหลายเรื่องไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เป็นเพียงการสันนิษฐานหรือคิดไปเอง ซึ่งมีชัยฏอนคอยหลอกล่อ กระซิบกระซาบ อัลลอฮฺตะอาลา ตรัสว่า يَا أَيُّهَا الذِّيْنَ آمَنُوا اجْتَنِبُوا كَثِيْراً مِنَ الظَنِّ إِنَّ بَعْضَ الظَنِّ إِثْمٌ وَلا تَجَسَّسُوا وَلا يَغْتَب بَعْضُكٌمْ بَعْضاً “โอ้ ศรัทธาชนทั้งหลาย พวกเจ้าจงปลีกตัวให้พ้นจากส่วนใหญ่ของการสงสัย แท้จริงการสงสัยบางอย่างนั้นเป็นบาป และพวกเจ้าอย่าสอดแนม และพวกเจ้าอย่าได้นินทาซึ่งกันและกัน” อัลหุญุรอต : 12 ถือเป็นการจำเป็นที่มุอ์มินผู้ศรัทธาจะต้องคิดในแง่ดีกับคำพูดของพี่น้องมุสลิมให้มากที่สุด ชาวสลัฟบางท่านได้กล่าวว่า “ท่านอย่าได้คิดในแง่ร้ายกับคำพูดของพี่น้องมุสลิม ตราบใดที่ท่านสามารถเข้าใจมันไปในทางที่ดีได้” ประการที่หก : ประเด็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากการอิจญฺติฮาดของผู้รู้บางท่าน ในเรื่องที่เป็นที่ยอมรับทางวิชาการว่าเป็นประเด็นที่เปิดให้ทำการอิจญฺติฮาดได้ หากผู้รู้ท่านนั้นเป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยเงื่อนไขของการอิจญฺติฮาด ก็ไม่สมควรที่ท่านจะถูกตำหนิติเตียน หรือว่ากล่าวโจมตีอย่างรุนแรง หากผู้ใดไม่เห็นด้วยกับทัศนะของท่าน ก็ควรที่จะตอบโต้กันด้วยมารยาทที่ดีงาม ปราศจากการโจมตีอย่างก้าวร้าว เหน็บแนมเชือดเฉือนด้วยคำพูดที่ทำให้เจ็บปวด เพราะคำพูดที่รุนแรงก้าวร้าวนั้น จะทำให้เกิดการต่อต้าน และหันหลังให้แก่ความถูกต้อง ทั้งนี้ เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งสัจธรรมความถูกต้องอย่างเร็วไว และห่างไกลจากการกระซิบกระซาบ การยุแหย่ของชัยฏอนมารร้าย.. และต้องระวัง ไม่กล่าวโจมตีตัวบุคคล และเจตนาของเขา หรือเพิ่มเติมคำพูดอันไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เองในกรณีเช่นนี้ ท่านก็พูดเพียงแต่ว่า “ทำไมถึงมีกลุ่มคนกล่าวเช่นนั้นเช่นนี้” (โดยที่ท่านไม่ได้ระบุตัวบุคคล) สิ่งที่ฉันอยากจะตักเตือนกลุ่มคนเหล่านั้น ที่ชอบกล่าวร้ายนินทาผู้รู้ หรือนักเผยแผ่อิสลาม ก็คือให้พวกเขาเตาบัตกลับตัวต่ออัลลอฮฺตะอาลาเสีย กับสิ่งที่มือของพวกเขาได้ขีดเขียนลงไป หรือที่ลิ้นของพวกเขากล่าวออกมา ที่เป็นบ่อเกิดแห่งฟิตนะฮฺ สร้างความบาดหมางใจระหว่างผู้คน ทำให้เกิดความขัดแย้ง โกรธเคือง และสูญเสียเวลาที่ควรนำไปใช้ศึกษาหาความรู้ที่เป็นประโยชน์ หรือชักชวน เชิญชวนสู่หนทางของอัลลอฮฺตะอาลา เพราะมัวแต่สนใจแต่ “เขาว่ากันว่า” หรือ “คนนั้นว่า” หรือการวิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้ และใช้เวลาไปกับการจ้องจับผิดผู้อื่น เพื่อหยิบยกมาโจมตี และฉันขอแนะนำให้พวกเขาไถ่ความผิดในสิ่งที่พวกเขากระทำลงไป ด้วยการเขียนหรือด้วยสื่ออื่นๆ ที่เป็นการประกาศว่าพวกเขากลับตัวกลับใจจากสิ่งที่ได้ทำลงไปแล้ว และให้สิ่งที่ยังติดค้างอยู่ในความเข้าใจของคนทั่วไปจากคำพูดของพวกเขานั้นได้มลายหายไป.. และให้พวกเขามุ่งมั่นสู่การงานที่ยังผลให้เขาเข้าหาอัลลอฮฺตะอาลามากขึ้น และเป็นคุณประโยชน์ต่อปวงบ่าว.. และให้ระมัดระวัง ไม่รีบกล่าวหุก่มผู้ใดว่าเป็นกาฟิร หรือฟาสิก หรือทำการหุก่มผู้อื่นว่ากระทำบิดอะฮฺโดยปราศจากหลักฐานและมูลความจริง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “ผู้ใดกล่าวแก่พี่น้องของเขาว่า โอ้ กาฟิร แน่นอนว่า ไม่คนใดก็คนหนึ่งจากทั้งสองคนนั้นคือกาฟิร” หะดีษเศาะฮีหฺ สำหรับผู้ที่เชิญชวนไปสู่สัจธรรม และผู้ศึกษาความรู้ศาสนา เมื่อปรากฏว่ามีข้อสงสัยในคำพูดของผู้รู้ หรือใครก็ตาม จำเป็นที่เขาจะต้องกลับไปหาอุละมาอ์ผู้รู้ที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริง และทำให้หายเคลือบแคลงสงสัย ดังที่อัลลอฮฺตะอาลา ตรัสไว้ว่า وَإِذَا جَاءَهُمْ أَمْرٌ مِنَ الأَمْنِ أَوِ الخَوْفِ أَذَاعُوا بِهِ وَلَوْ رَدُّوْهُ إلى الرَسُوْلِ وَإلى أُولي الأَمْرِ مِنْهُمْ لَعَلِمَهُ الذِّيْنَ يَسْتَنْبِطُوْنَهُ مِنْهُمْ وَلَوْلا فَضْلُ اللهِ عَلَيكُمْ وَرَحْمَتُهُ لاتَّبَعْتُمُ الشَيْطانَ إلا قَليلاً “และเมื่อมีเรื่องหนึ่งเรื่องใดมายังพวกเขา จะเป็นความปลอดภัยก็ดี หรือความกลัวก็ดี พวกเขาก็จะแพร่มันออกไป และหากว่าพวกเขาให้มันกลับไปยังเราะสูล และยังผู้ปกครองการงานในหมู่พวกเขาแล้ว แน่นอนบรรดาผู้ที่วินิจฉัยมันในหมู่พวกเขาก็ย่อมรู้มันได้ และหากมิใช่ความเมตตาของอัลลอฮฺที่มีต่อพวกเจ้าแล้ว แน่นอน พวกเจ้าก็คงปฏิบัติตามชัยฏอนไปแล้ว นอกจากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” อันนิสาอ์ : 83 ขออัลลอฮฺตะอาลา ทรงให้สภาพความเป็นอยู่ของบรรดามุสลิมทั้งปวงดีขึ้น และทรงรวมจิตใจและการงานของพวกเขาให้ยึดมั่นอยู่บนตักวา และขอทรงประทานเตาฟีกแก่บรรดาอุละมาอ์ผู้รู้ทั้งหลาย รวมไปถึงบรรดาดุอาตนักเผยแผ่สัจธรรม เพื่อให้ยืนหยัดอยู่ในแนวทางที่พระองค์ทรงพอพระทัย และเป็นคุณประโยชน์ต่อปวงบ่าวของพระองค์.. และขอพระองค์ให้พวกเขามีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหนทางแห่งฮิดายะฮฺ และห่างไกลจากความขัดแย้ง แตกแยก.. และให้พวกเขามีส่วนส่งเสริมสัจธรรมความถูกต้อง และกำจัดสิ่งมดเท็จบิดเบือน แท้จริงพระองค์ทรงพระปรีชาญาณ وصلى الله وسلم على نبينا محمد وآله وصحبه ، ومن اهتدى بهداه إلى يوم الدين จากหนังสือรวมฟัตวา และงานเขียน ของเชค อับดิลอะซีซ บิน บาซ เราะหิมะฮุลลอฮฺ เล่ม 7 หน้า 311