البحث

عبارات مقترحة:

الخلاق

كلمةُ (خَلَّاقٍ) في اللغة هي صيغةُ مبالغة من (الخَلْقِ)، وهو...

المؤمن

كلمة (المؤمن) في اللغة اسم فاعل من الفعل (آمَنَ) الذي بمعنى...

المليك

كلمة (المَليك) في اللغة صيغة مبالغة على وزن (فَعيل) بمعنى (فاعل)...

รู้จักอิสลามจากอิสลาม

التايلاندية - ไทย / Phasa Thai

المؤلف ริฎอ อะหมัด สมะดี ، ทีมงานภาษาไทย เว็บอิสลามเฮ้าส์
القسم مقالات
النوع نصي
اللغة التايلاندية - ไทย / Phasa Thai
المفردات الدعوة إلى الإسلام - تعريف الإسلام
อธิบายข้อสงสัยที่อาจจะเกิดขึ้นของหลายๆ คนแม้ว่าจะเป็นมุสลิมหรือมิใช่มุสลิม ที่มักจะมีปัญหาในการเข้าใจเหตุผลของหลักการอิสลามบางประการ เช่นการ ตำหนิมุสลิมเมื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับความเชื่อต่อหลักการ อิสลามบางเรื่อง เช่น การทำลายรูปเจว็ด การไว้เครา การแต่งกายของมุสลิมะฮฺโดยเฉพาะการปิดใบหน้า การประกอบพิธีหัจญ์ หรืออื่นๆ ซึ่งผู้วิพากษ์วิจารณ์มักจะเป็นผู้ที่ยอมรับหลักการอิสลามตรงนี้ไม่ได้

التفاصيل

> > > > ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ   รู้จักอิสลามจากอิสลาม   หลายๆ คนแม้ว่าจะเป็นมุสลิมหรือมิใช่มุสลิม มักจะมีปัญหาในการเข้าใจเหตุผลของหลักการอิสลามบางประการ ผมเคยได้ยินคนที่ตำหนิมุสลิมเมื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับความเชื่อต่อหลักการอิสลามบางเรื่อง เช่น การทำลายรูปเจว็ด การไว้เครา การแต่งกายของมุสลิมะฮฺโดยเฉพาะการปิดใบหน้า การประกอบพิธีหัจญ์ หรืออื่นๆ ซึ่งผู้วิพากษ์วิจารณ์มักจะเป็นผู้ที่ยอมรับหลักการอิสลามตรงนี้ไม่ได้ แม้กระทั่งมุสลิมบางคนที่อาจพลั้งปากและกล่าวเหมือนผู้ปฏิเสธอิสลาม เช่น ทำอย่างนี้ได้อย่างไรมันน่าเกลียด ทั้งๆ ที่สิ่งที่กล่าวว่าน่าเกลียดนั้นเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺทรงบัญญัติไว้ ก็ดูเหมือนเกลียดสิ่งที่อัลลอฮฺบัญญัตินั่นแหละ ซึ่งเป็นการปฏิเสธหลักการอิสลามอย่างสิ้นเชิง พอกลับมาวิเคราะห์ว่าทำไมคนเหล่านี้จึงมองหลักการอิสลามในแง่ที่ไม่ดี เราจะเห็นว่าคนเหล่านี้ส่วนมากจะศึกษาอิสลามโดยยึดตัวเองเป็นบรรทัดฐาน รองรับสิ่งที่ถูกต้องหรือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง อันจะก่อให้ผลการวิเคราะห์ของคนเหล่านี้ย่อมขึ้นอยู่กับอารมณ์ของตนเอง โดยที่ไม่คำนึงถึงความถูกต้องตามบรรทัดฐานของอิสลาม ก็เป็นธรรมดาสำหรับคนที่ไม่ได้เรียนรู้เหตุผลของอิสลามเกี่ยวกับการบูชาเจว็ดหรือวัตถุอื่นจากอัลลอฮฺ แต่อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องตำหนิมุสลิมที่ทำลายรูปเจว็ดดังที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอัฟกานิสถาน ถ้าหากคนเหล่านี้ได้ศึกษาอิสลามและเรียนรู้เหตุผลของอิสลามเกี่ยวกับ การห้ามบูชาเจว็ด ก็จะต้องเข้าใจว่าทำไมอิสลามใช้ให้มุสลิมทำลายเจว็ด ทั้งนี้ทั้งนั้น การทำลายเจว็ดก็ยังมีหลักการและกรอบที่ต้องคำนึงถึงจึงจะมีข้ออนุมัติ โดยพื้นฐานแล้วการทำลายรูปเจว็ดนั้นเป็นการกระทำที่ไม่มีความขัดแย้ง ระหว่างนักปราชญ์อิสลามว่าเห็นชอบอย่างยิ่ง แต่หากทำลายแล้วมีผลร้ายเกิดขึ้นมากกว่าผลชั่วร้ายแห่งการตั้งภาคีหรือบูชาเจว็ดนั้น การทำลายเจว็ดก็จะไม่เป็นสิ่งที่อนุมัติแต่อย่างใด อาทิ ที่ท่านนบีอยู่ในเมืองมักกะฮฺ 13 ปี ทั้งๆ ที่มีรูปเจว็ดแขวนอยู่ในกะอฺบะฮฺสามร้อยกว่าตัว แต่การทำลายเจว็ดในขณะนั้นไม่ใช่วัตถุประสงค์สำคัญ เพราะการบูชาเจว็ดนั้นถูกปลูกฝังในจิตใจจนกระทั่งเจว็ดมีความยิ่งใหญ่ในหัวใจของชาวมักกะฮฺมากกว่าเจว็ดที่แขวนอยู่ในกะอฺบะฮฺ ท่านนบีจึงทำงานเผยแผ่ศาสนาสั่งสอนความจริงเพื่อทำลายเจว็ดที่อยู่ในจิตใจ ก่อนที่จะทำลายเจว็ดที่แขวนอยู่ในกะอฺบะฮฺ นอกเหนือจากนั้นมุสลิมสามารถทำลายเจว็ดก็ต่อเมื่อมีอำนาจและสิทธิในการปกครองแผ่นดิน เสมือนผู้บูชาเจว็ดมีสิทธิของตนในการประกาศความเชื่อต่อเจว็ดด้วยการสร้างเจว็ดหรือการเปิดเผยการบูชาเจว็ดตามสถานที่สาธารณะ ทั้งๆ ที่การประพฤตินี้ไม่เป็นที่อนุญาตในความเชื่อของมุสลิม แต่มุสลิมต้องยอมรับในอำนาจของผู้อื่น เพราะศาสนาอิสลามไม่มีการบังคับเกี่ยวกับความเชื่อหรือความศรัทธา ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ว่า ﴿لاَ إِكْرَاهَ فِي الدِّينِ﴾ (البقرة : 256 ) ความว่า “ไม่มีการบังคับใดๆ ในเรื่องศาสนา” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 256)   เพราะฉะนั้นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำลายเจว็ดจะเป็นข้อบังคับสำหรับมุสลิมที่เชื่อในหลักการอิสลาม แต่สำหรับผู้บูชาเจว็ดและไม่นับถือศาสนาอิสลามก็จะไม่มีข้อบังคับใดๆ ต่อเขา นอกจากนำเสนอและเชิญชวนด้วยหลักฐานและเหตุผล ในทำนองเดียวกันอิสลามสั่งสอนให้คำนึงถึงผลสำเร็จในการปราบปรามความชั่ว อาทิเช่น การประณามศาสนาอื่นไม่เป็นที่อนุญาต เพราะอาจก่อให้ผู้นับถือศาสนาอื่นนั้นประณามอิสลาม ดังที่อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า ﴿وَلاَ تَسُبُّواْ الَّذِينَ يَدْعُونَ مِن دُونِ اللهِ فَيَسُبُّواْ اللهَ عَدْواً بِغَيْرِ عِلْمٍ﴾ (الأنعام : 108 ) ความว่า “และพวกเจ้าจงอย่าประณามผู้วิงวอนอื่นจากอัลลอฮฺ เพราะอาจจะทำให้พวกเขาเหล่านั้นประณามอัลลอฮฺ ซึ่งเป็นการละเมิดโดยไร้ความรู้” (อัล-อันอาม 108)             แต่การวิพากษ์วิจารณ์และวิเคราะห์ศาสนาในเชิงวิชาการไม่เป็นสิ่งที่น่าตำหนิแต่อย่างใด หากการพาดพิงถึงศาสนาอื่นๆ นั้นอยู่ในกรอบการพูดจาที่สุภาพเรียบร้อย ซึ่งอิสลามให้โต้เถียงศาสนิกอื่นด้วยวิจารณญาณและความสุขุม ดังที่อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า ﴿وَلَا تُجَادِلُوا أَهْلَ الْكِتَابِ إِلَّا بِالَّتِي هِيَ أَحْسَنُ﴾ (العنكبوت : 46 ) ความว่า “และพวกเจ้าอย่าโต้เถียงชาวคัมภีร์ด้วยวิถีใดๆ นอกจากวิถีที่ดียิ่ง” (อัล-อันกะบูต 46)   และพระดำรัสของอัลลอฮฺที่ตรัสไว้ว่า ﴿ادْعُ إِلِى سَبِيلِ رَبِّكَ بِالْحِكْمَةِ وَالْمَوْعِظَةِ الْحَسَنَةِ وَجَادِلْهُم بِالَّتِي هِيَ أَحْسَنُ﴾ (النحل : 125 ) ความว่า “และสูเจ้าจงเชิญชวนสู่แนวทางของพระผู้อภิบาลของเจ้าด้วยวิทยปัญญา และคำตักเตือนที่สวยงาม และจงโต้เถียงพวกเขาด้วยวิธีที่ดียิ่งกว่า” (อัน-นะห์ลฺ 125)               เมื่อศึกษาหลักการอิสลามเกี่ยวกับการเผยแผ่และนำเสนอแล้ว ก็จะเข้าใจอิสลามอย่างถ่องแท้ และจะมีความกระจ่างต่อพฤติกรรมของผู้เป็นมุสลิมและหลักการของอิสลามที่แท้จริง ในขณะเดียวกันก็จะสามารถเข้าใจหลักการอิสลามโดยไม่ปะปนกับความรู้สึกส่วนตัว เพราะมีผู้คนที่จะให้คำนิยามต่อหลักการบางประการด้วยวิสัยทัศน์ของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลและกระบวนการของหลักการนั้นๆ อาทิเช่น ผู้บูชาเจว็ดที่ต้องการเปิดเผยหลักความเชื่อต่อเจว็ดของตนและให้ผู้อื่นเคารพเจว็ดนั้นด้วย ซึ่งตามหลักศรัทธาของอิสลามแล้ว การที่เชื่อในเจว็ดจะทำให้ผู้คนสิ้นสภาพความเป็นมุสลิม แต่อิสลามก็ยังคงให้สิทธิแก่ผู้บูชาเจว็ดเลือกศาสนาของตนโดยไม่บังคับ และสั่งสอนให้มุสลิมใช้วิธีเชิญชวนที่นิ่มนวล ทั้งๆ ที่การบูชาเจว็ดเสมือนเป็นการประณามพระผู้เป็นเจ้าของมุสลิม ดังนั้นผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมจำเป็นต้องคำนึงถึงมุมมองนี้ เพื่อจะเข้าใจเหตุผลของหลักการอิสลามในเรื่องนี้             อัลกุรอานได้สั่งใช้ให้มุสลิมทำความดีกับบิดามารดาเสมอต้นเสมอปลาย ถึงแม้ว่าบิดามารดาจะเป็นผู้ตั้งภาคีกับอัลลอฮฺหรือคะยั้นคะยอให้บุตรเชื่อ เหมือนตนอัลกุรอานให้แยกแยะระหว่างความเป็นพ่อแม่กับความเป็นผู้ตั้งภาคีกับอัลลอฮฺ(มุชริก) นั่นแสดงถึงความยุติธรรมของอิสลามอย่างชัดเจน แต่ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมบางกลุ่มต้องการให้มุสลิมยอมรับและให้เกียรติในสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนต่อหลักศรัทธาของอัลอิสลามอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นเมื่ออธิบายหลักการอิสลามในเรื่องนี้ จะเห็นว่าการตำหนิมุสลิมที่ได้ทำลายรูปเจว็ดที่อยู่ภายใต้อำนาจของมุสลิมนั้น เหมือนเป็นการตำหนิหลักศรัทธาของอิสลามนั่นเอง และเป็นที่น่าแปลกประหลาดว่าผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมได้เปรียบเทียบกรณีดังกล่าว กับสิทธิของผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมถ้าทำลายมัสยิดที่อยู่ภายใต้การปกครองของเขาว่ามุสลิมก็ตำหนิมิได้เช่นกัน !! ความประหลาดเกิดจากการเปรียบเทียบที่ไม่มีเหตุไม่มีผล เพราะเจว็ดที่ได้รับความศรัทธาจากคนกลุ่มหนึ่ง ถ้ามีการปฏิบัติศาสนกิจต่อเจว็ดนั้นภายใต้การปกครองของมุสลิม มุสลิมก็จะไม่บังคับให้กลุ่มนั้นทำลายเจว็ดของเขา แต่หากเจว็ดนั้นไม่ได้ถูกใช้และอยู่ในสถานที่สาธารณะในดินแดนของมุสลิม ตามหลักศาสนาก็ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะปล่อยให้เจว็ดปรากฏในสังคมมุสลิมแต่อย่างใด แต่สำหรับอาคารมัสยิดที่อยู่ในดินแดนศาสนาอื่นไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะอาคารมัสยิดมิได้ก่อความเสียหายแต่อย่างใดกับศาสนาอื่น และยังเป็นอาคารที่ถูกใช้ในเชิงสันติสุขและบูรณะสังคมให้ดีขึ้น จึงเป็นความอยุติธรรมที่จะนำมัสยิดซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการให้เอกภาพแด่พระผู้เป็นเจ้าและเป็นสถาบันแห่งการส่งเสริมศีลธรรมไปเปรียบเทียบกับเจว็ดที่อยู่ตามเขาตามทะเลทรายและต้องการอนุรักษ์ไว้เพราะเป็นมรดกโลกดังที่เคยถูกอ้าง             ในเหตุการณ์การทำลายพุทธรูปที่อัฟกานิสถาน ที่ถูกสร้างในตัวภูเขาแห่งเมืองกันดาฮา ซึ่งชาวพุทธในประเทศนั้นไม่มีแม้แต่คนเดียว  ชาวอัฟกานิสถานที่เคร่งครัดในหลักการอิสลามได้พิจารณาและเห็นว่าเจว็ดนี้อยู่ในสถานที่สาธารณะโดยไม่มีกลุ่มชนที่เชื่อในศาสนาพุทธมาปฏิบัติศาสนกิจอย่างเป็นทางการ จึงไม่มีเหตุผลที่จะปล่อยเจว็ดนี้ เพราะมันขัดกับหลักศรัทธาของมุสลิมอย่างชัดเจน แต่สหประชาชาติและสถาบันแห่งสิทธิมนุษยชนได้ออกมาประณามการกระทำของชาวอัฟกานิสถาน นักข่าวที่ไปสัมภาษณ์ผู้นำรัฐบาลตอลิบันที่ออกคำสั่งทำลายเจว็ดนั้นว่ามี ความเห็นอย่างไรต่อเสียงสะท้อนของสถาบันต่างๆ ที่ได้ประณามการกระทำดังกล่าว ผู้นำตอลิบันได้ยิ้มและตอบว่า ในประเทศอัฟกานิสถานมีคนป่วยที่ด้อยโอกาสในการรักษาดูแลจนกระทั่งเสียชีวิตไปหลายสิบราย ไม่เห็นมีสถาบันสิทธิมนุษยชนเดือดร้อนต่อคนเหล่านั้นเลย แต่กลับเป็นเดือดเป็นแค้นเพราะก้อนหินที่ถูกทำลาย การให้สัมภาษณ์แบบนี้ ผู้ฟังที่ไม่ใช่มุสลิมหรือมีอคติกับมุสลิมอยู่แล้วย่อมจะเข้าใจว่าผู้นำ มุสลิมคนนี้ดูถูกศาสนาอื่น แต่ข้อเท็จจริงคือมุสลิมเมื่อกล่าวถึงเรื่องศาสนานั้นเป็นการยืนยันในหลักการศาสนาอิสลามของตน โดยไม่เจตนาที่จะดูถูกหรือประณามผู้อื่น ก็เช่นชาวพุทธเมื่อยืนยันในหลักการของตัวเองว่า “พุทธเจ้าเห็นว่าประเด็นพระเจ้ามีหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญในชีวิตของมนุษย์ และย่อมไม่ส่งผลกระทบต่อการหนีพ้นจากความทุกข์” ซึ่งความเชื่อนี้เป็นการดูถูกอัลลอฮฺและหลักศาสนาอิสลามโดยสิ้นเชิง หรือคำพูดของชาวพุทธที่สอนว่า “มนุษย์ต้องรู้คุณของคำสั่งสอนของพุทธเจ้า เพื่อบรรลุความสำเร็จในโลกนี้และโลกหน้า” ประโยคนี้ทั้งๆ ที่เป็นคำสั่งสอนของพุทธศาสนา แต่ก็เป็นการดูถูกบรรดาศาสดาอื่นๆ ที่เป็นครูและผู้นำสู่คุณธรรมเช่นกัน นั่นคือแง่คิดหรือมุมมองที่มีอคติ แต่เราอยู่ในโลกนี้ต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน และมีความเห็นใจในเหตุผลของมุมมองแต่ละฝ่าย โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นแต่อย่างใด ในทำนองเดียวกัน ปัญหาหลายปัญหาในสังคมอาจเกิดขึ้นจากการที่ไม่เห็นใจกันในเรื่องหลักการของศาสนา เช่น คนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามและมีความเชื่อว่าการดื่มสุรา ขายสุรา หรือแม้กระทั่งเปิดซ่องค้าประเวณี ไม่ผิดกฎหมายและไม่เป็นข้อห้ามอย่างเด็ดขาดในศาสนาของตน แต่ได้นำสิ่งดังกล่าวมาเปิดเผยและส่งเสริมในชุมชนหรือหมู่บ้านที่มีประชากรมุสลิมเป็นส่วนมาก จึงทำให้ศีลธรรมในสังคมมุสลิม(ตามความเชื่อของมุสลิม)ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง เพราะมุมมองมุสลิมต่อปัญหาการดื่มสุราไม่เหมือนมุมมองของศาสนาอื่นอย่างที่รู้กัน จากตัวอย่างดังกล่าว จะเห็นว่าปัญหาหลายปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อถูกวิเคราะห์โดยไร้การพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะองค์ประกอบแห่งความเชื่อของผู้อื่นที่เกี่ยวพันกับปัญหานั้นๆ ย่อมจะทำให้การวิเคราะห์ปัญหามีความคลาดเคลื่อน ผลสรุปจากการพูดคุยกับพี่น้องผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน อยากให้ผู้อ่านมีวิจารณญานและการวินิจฉัยต่อปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับศาสนา อย่างมีเหตุมีผล และอย่าให้การกระทำของมนุษย์คนหนึ่งคนใดเป็นโฆษกที่จะแถลงจุดยืนของศาสนานั้นๆ เพราะทุกศาสนาย่อมมีแหล่งข้อมูลทางวิชาการที่สามารถศึกษากันได้ และอย่าให้อคติหรือความเชื่อของตัวเองเป็นอุปสรรคในการตรวจสอบความจริงหรือ ค้นหาความถูกต้อง มนุษย์ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันในด้านศาสนา แต่โดยแน่นอนย่อมมีสติปัญญาเหมือนกันทุกคน และมนุษย์ต้องใช้ชีวิตเพื่อประสบสัจธรรม และต้องดิ้นรนเพื่อยึดมั่นในสัจธรรม   ที่มา : วารสารร่มเงาอิสลาม ตุลาคม 2548 คัดมาจาก  //islaminthailand.org/dp6/?q=node/35