البحث

عبارات مقترحة:

المحيط

كلمة (المحيط) في اللغة اسم فاعل من الفعل أحاطَ ومضارعه يُحيط،...

العالم

كلمة (عالم) في اللغة اسم فاعل من الفعل (عَلِمَ يَعلَمُ) والعلم...

القوي

كلمة (قوي) في اللغة صفة مشبهة على وزن (فعيل) من القرب، وهو خلاف...

อิสลามศาสนาแห่งสันติภาพ

التايلاندية - ไทย / Phasa Thai

المؤلف อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกียา ، ซุฟอัม อุษมาน
القسم كتب وأبحاث
النوع نصي
اللغة التايلاندية - ไทย / Phasa Thai
المفردات الدعوة إلى الإسلام - تعريف الإسلام
หนังสือ "อิสลามศาสนาแห่งสันติภาพ" ซึ่งเรียบเรียงโดย ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยฟาฏอนี) เป็นหนังสือที่อธิบายมุมมองหลักของอิสลามว่าด้วยสันติภาพ ทั้งในแง่ของความเชื่อ หลักปฏิบัติ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ และประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมกับผู้ไม่ใช่มุสลิม

التفاصيل

อิสลามศาสนาแห่งสันติภาพ คำนำผู้แปล คำนิยม คำนิยม คำนิยม คำนำผู้เขียน บทนำ สันติภาพ ในมิติของชื่อและสัญลักษณ์ สันติภาพ ในมิติของหลักความเชื่อ และหลักปฏิบัติทางศาสนบัญญัติ สันติภาพ ในมิติของความสัมพันธ์กับชนต่างศาสนิก อัลกุรอาน แหล่งบังเกิดของสันติภาพ บทส่งท้าย  อิสลามศาสนาแห่งสันติภาพโดย : ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียาถอดความ : ซุฟอัม อุษมาน จัดพิมพ์โดยสำนักงานความร่วมมือเพื่อเผยแพร่และสอนอิสลามอัร-ร็อบวะฮฺ กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย คำนำผู้แปลต้นฉบับเดิมของหนังสือเล่มนี้เป็นบทความวิชาการภาษาอาหรับที่นำเสนอโดย ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีวิทยาลัยอิสลามยะลา ในการสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ หัวข้อ “อิสลามและสันติภาพ” จัดโดย วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระหว่างวันที่ 16-17 สิงหาคม 2003 และได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยผู้เขียนอีกครั้งเพื่อแปลเป็นภาษาไทยและจัดพิมพ์เป็นเล่มสำหรับเผยแพร่แก่สังคมทั่วไปเนื้อหาของบทความได้นำเสนอคำชี้แจงหลายประการเกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพในอิสลามในมิติต่างๆทุกระดับ ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นการยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของอิสลามที่ถูกประทานลงมาจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อให้เป็นศาสนาแห่งสันติภาพ และเป็นการลบล้างข้อกล่าวหาและความเข้าใจผิดของบรรดาผู้ที่ไม่รู้ถึงข้อเท็จจริงของอิสลามว่ามีสันติภาพเป็นแกนหนึ่งของหลักคำสอนอันบริสุทธิ์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้สามารถที่จะสื่อถึงเจตนารมณ์อันบริสุทธ์ของอิสลาม และของผู้เขียนที่ได้ทุ่มเทกายใจเพื่อนำสัจธรรมแห่งอิสลามมาเผยแผ่ให้สังคมได้รับรู้ และมุ่งมั่นเพื่อนำเสนอและสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในรูปลักษณ์ของอิสลามทั้งในระดับภูมิภาคและประชาคมระหว่างประเทศเสมอมา อย่างน้อยที่สุดการนำเสนอ “อิสลาม ศาสนาแห่งสันติภาพ” คงเพียงพอที่จะยืนยันถึงความคิดและสำนึกของผู้เขียนที่แสดงออกถึงความรักและจิตที่ใฝ่สันติภาพ ซึ่งปรากฏให้เห็นชัดเจนในความอุตสาหะและความตั้งใจที่จะฟื้นฟูและนำสิ่งที่ดีสู่สังคมโดยรวมตลอดมาผู้แปลรู้สึกยินดีที่ได้มีส่วนในการเผยแพร่หนังสือเล่มนี้ โดยได้รับความไว้วางใจจากผู้เขียนให้ถอดความและเรียบเรียงเป็นภาษาไทย หากมีข้อผิดพลาดประการใดในการสื่อความหมาย ผู้แปลมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะรับฟังคำชี้แนะจากทุกท่านด้วยความจริงใจขออัลลอฮฺทรงประทานการชี้นำและความสำเร็จ แด่ผู้ใฝ่หาสันติภาพทุกท่าน !ผู้แปล คำนิยมโดย นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์จุฬาราชมนตรีเราต้องยอมรับว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศในเวลานี้ ได้ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อศาสนาอิสลามอย่างยิ่ง และดูเหมือนว่าความเข้าใจผิดเหล่านี้ จะขยายวงกว้างขึ้นตามลำดับ ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในความเข้าใจผิดต่อศาสนาอิสลามนั้น เราคงไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า นอกเหนือจากการใส่ไคล้จากนักวิชาการและผู้มีอคติกับอิสลามแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากมุสลิมเอง อันเนื่องจากการตีความคำสอนอิสลามผิดพลาดอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ภาพของศาสนาอิสลามซึ่งเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ กลับกลายเป็นศาสนาแห่งความก้าวร้าว ความรุนแรง และไร้เหตุผลโดยข้อเท็จจริงแล้ว ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติภาพโดยแท้ เพราะนอกเหนือจากพระนามหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้าเอกองค์อัลลอฮฺ ผู้บริสุทธิ์และสูงส่งยิ่ง จะมีพระนามหนึ่งว่า “พระองค์ผู้ทรงศานติ” (อัสลาม) แล้ว ชื่อของศาสนา “อิสลาม” ก็ยังมีความหมายว่า “สันติภาพ” และชื่อของผู้นับถือศาสนาคือ “มุสลิม” ก็มีความหมายในแง่ของการเป็น “ผู้ใฝ่หาสันติ” นอกจากนั้นยังมีข้อความจากคัมภีร์อัลกุรอาน และวจนะของท่านศาสดาอีกมากมายที่กล่าวถึงแนวคิดในเรื่องสันติภาพอย่างไรก็ตาม จากกระแสความคิดที่มองศาสนาอิสลามอย่างมีอคติเช่นนี้ หน้าที่ในการชี้แจง ทำความเข้าใจกับสังคมคงเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคน และดูเหมือนว่าการปฏิบัตภารกิจอันสำคัญนี้ ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีวิทยาลัยอิสลามยะลา ได้กระทำหน้าที่อันสำคัญนี้ได้ด้วยดีมาตลอด การเรียบเรียงเอกสารชื่อ “อิสลามศาสนาแห่งสันติภาพ” เล่มนี้ นับเป็นหนังสือทางวิชาการอีกเล่มหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน แม้ต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้จะเขียนเป็นภาษาอาหรับ ซึ่งสามารถตีพิมพ์ จำหน่ายจ่ายแจกแก่พี่น้องมุสลิมได้ทั่วโลก แต่ทางวิทยาลัยอิสลามยะลาก็ยังได้ทำเป็นฉบับภาษาไทยอีกฉบับหนึ่งด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่สังคมไทย ทั้งมุสลิมและไม่เป็นมุสลิม จะได้เข้าใจคำสอนของศาสนาอิสลามได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่อง “แนวคิดเรื่องสงครามและสันติภาพ” ท่ามกลางสภาพสังคมที่มีความมืดบอดทางสติปัญญา หนังสือเล่มนี้จะเป็นคบเพลิงที่ไม่เฉพาะให้ความสว่างแก่ปัญญาของผู้คนเท่านั้น แต่จะเป็นคบเพลิงที่คอยไล่แมลงร้ายที่คอยรบกวนและเป็นอันตรายอีกทางหนึ่งด้วยความวิริยะอุตสาหะของ ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา ที่ได้เรียบเรียงหนังสืออย่างเป็นระบบ ดีทั้งในแง่ความคิด เนื้อหา การอ้างอิงตามหลักวิชาการ จึงเป็นงานที่ควรแก่การยกย่องอย่างยิ่งสุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งและขอพรจากเอกองค์อัลลอฮฺ ขอให้หนังสือเล่มนี้ได้มีส่วนอันสำคัญ ในการสร้างความเข้าใจหลักการของศาสนาอิสลามที่ถูกต้องให้แก่สังคมไทยและสังคมโลก และมีส่วนอันสำคัญยิ่งในการเสริมสร้างสันติภาพและความรัก ความสามัคคี ให้เกิดขึ้นแก่คนในชาติ จนสามารถสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ตามอุดมการณ์ที่อิสลามได้วางไว้. คำนิยมโดย นายวินัย(มัรวาน) สะมะอุนรองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยผมได้อ่านข้อเขียนของ ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา เรื่อง “อิสลามศาสนาแห่งสันติภาพ” ด้วยความชื่นชม และรู้สึกยินดีที่พี่น้องมุสลิมทั่วโลกได้มีข้อเขียนอันบริสุทธิ์เช่นนี้ อ้างอิงในความจริงใจที่มีต่อสังคมประเทศและสังคมโลกผมหวังว่า ผู้ที่ไม่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในคำสอนของอิสลาม และกลุ่มชนที่ตีความอิสลามไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับความเป็นจริง จะได้เข้าใจหลักคำสอนที่แท้จริง อันจักสลายอคติต่ออิสลามและมุสลิม ที่มีมิจฉาชนบางกลุ่มพยายามสร้างขึ้นอย่างเป็นระบบ และขยายอคตินั้นให้แพร่หลายในสังคมมนุษยชาติซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจผิดต่อศาสนาอิสลามและต่อสังคมดังกล่าว.25/5/142512/7/2004 คำนิยมโดย ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีมผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักจุฬาราชมนตรีสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศในเวลานี้ ส่งผลต่อการสร้างความรูสึกและทัศนคติของประชาชนทั่วไปต่อศาสนาอิสลามอย่างเห็นได้ชัด ความรู้สึกและทัศนคติเหล่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากการได้รับข้อมูลข่าวสารที่ผิดพลาด ทั้งนี้อาจจะมาจากการบิดเบือน เพื่อสร้างทัศนคติที่ไม่ดีให้เกิดขึ้นแก่พี่น้องมุสลิมและศาสนาอิสลามเมื่อต้นปีนี้ ผมได้รับหนังสือเล่มหนึ่งจากวิทยาลัยอิสลามยะลา ชื่อ “สารสันนิบาตโลกมุสลิมถึงประชาชนชาวอเมริกัน” เป็นหนังสือที่ได้แก้ไขความเข้าใจที่ผิดพลาดได้อย่างดียิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวกับข้อเสนอขององค์การที่ประชุมประเทศอิสลาม OIC (Organizatioan of Islamic Conference) ที่เสนอให้สหประชาชาติกำหนดให้ปี 2001 เป็นปีแห่งการ “เสวนาระหว่างอารยธรรม” ซึ่งสวนทางกับแนวคิดของนักวิชาการตะวันตกที่เห็นว่า ยุคนี้เป็นยุคแห่ง “ความขัดแย้งระหว่างอารยธรรม”ผมได้อ่านงานเขียนเรื่อง “อิสลามศาสนาแห่งสันติภาพ” ของ ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอาหรับแล้ว รู้สึกชื่นชมเป็นอย่างยิ่งในความรู้ ความสามารถ และความตั้งใจจริงของท่าน ผมมีความรู้สึกว่า หากผู้อ่านได้อ่านหนังสือเล่มที่ผมกล่าวข้างต้น หนังสือเล่มนี้จะยิ่งขยายความแนวคิดในประเด็นต่างๆ ที่กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในบรรดานักวิชาการมุสลิมหลายท่านในประเทศไทย ผมคิดว่า ท่าน ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา เป็นแบบอย่างที่ดีของนักวิชาการท่านหนึ่ง ทั้งนี้ไม่เฉพาะแต่ความโดดเด่นและชัดเจนในทางวิชาการเท่านั้น แต่การวางตัวและการทำงานทางวิชาการด้วย ความวิริยะอุตสาหะของท่านนั้น ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมมุสลิมและสังคมไทยโดยส่วนรวมได้อย่างยิ่ง และน่าจะเป็นแบบอย่างแก่นักวิชาการมุสลิม ในการทำงานรับใช้ศาสนา สังคม และประเทศชาติที่สุดนี้ ผมขอให้กำลังใจในการทำงานของท่านตลอดไป และขอพรจากพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ขอให้หนังสือเล่มนี้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่พี่น้องมุสลิม และแก่ประชาชนทั่วไป สมตามเจตนารมณ์และอุดมการณ์อิสลาม.15/7/2004 คำนำผู้เขียน (ในการจัดพิมพ์ครั้งที่สอง)อัลหัมดุลิลลาฮฺ ขอกล่าวสดุดีเอกองค์อัลลอฮฺ ผู้ทรงบริสุทธิ์และสูงส่งยิ่ง ที่ได้ประทานโอกาสในการจัดพิมพ์หนังสือ “อิสลามศาสนาแห่งสันติภาพ” เป็นครั้งที่สอง หลังจากที่ได้รับความสนใจอย่างดียิ่งในการจัดพิมพ์ครั้งแรกที่ผ่านมา ในการจัดพิมพ์ครั้งที่สองนี้ ผู้เขียนได้แก้ไขเพิ่มเติมสาระและเนื้อหาที่มีความสำคัญอีกเกือบครึ่ง โดยหวังเพื่อเพิ่มความเข้าใจในแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับสันติภาพในอิสลามให้แก่ผู้อ่านทุกท่านได้มากยิ่งขึ้นในการจัดพิมพ์ครั้งที่สองนี้ ผู้เขียนใคร่ขอกล่าวคำขอบคุณแก่ท่านจุฬาราชมนตรี อาจารย์สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์, อาจารย์วินัย สะมะอุน, และ ศาสตราจารย์ ดร.อิมรอน มะลูลีม เป็นอย่างสูง ที่ได้ร่วมกันให้คำนิยมอันทรงคุณค่าแก่หนังสือเล่มนี้รวมทั้ง ขอขอบคุณบรรดาอุละมาอฺ และคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน อาทิ โต๊ะครูหะยีอับดุลรอฮฺมาน จะปะกียา, อาจารย์สมาน มาลีพันธุ์, ดาโต๊ะนิเดร์ วาบา, รองศาสตราจารย์ ดร.อารง สุทธาศาสน์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิสมาแอ อาลี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์ บารู, อาจารย์อาศิส พิทักษ์คุมพล, อาจารย์อิสมาแอ ดะอาล๊ะ, อาจารย์อรุณ บุญชม, อาจารย์อรุณ วันแอเลาะ, อาจารย์อับดุลเราะห์มาน อับดุลสมัด, อาจารย์วิสุทธิ บิลล่าเต๊ะ, อาจารย์นิมุขตาร์ วาบา, ดร.อาฮามัดอูมาร์ จะปะเกีย, ดร.อับดุลฮาลีม ไซซิง, อาจารย์นิรันดร์ พันทรกิจ, อาจารย์ซอและห์ ตาเละ ที่ได้กรุณาสละเวลาเพื่ออ่านและแสดงความคิดเห็น อีกทั้งยังได้ให้คำเสนอแนะอันมีค่า เพิ่มความสมบูรณ์ให้กับหนังสือเล่มนี้มากขึ้นไปอีกผู้เขียนหวังว่าหนังสือ “อิสลามศาสนาแห่งสันติภาพ” เล่มนี้ สามารถให้ความเข้าใจแก่ผู้อ่านทุกท่านในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพในอิสลามได้เป็นอย่างดี และขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันสร้างสันติภาพให้เกิดกับโลกใบเล็กๆ ใบนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงการสร้างสันติภาพเฉพาะในโลกนี้ก็ตาม เพราะโดยความจริงแล้ว สันติภาพในอิสลามคือสันติภาพทั้งในโลกนี้และโลกหน้าขอเอกองค์อัลลอฮฺ ทรงตอบแทนความดีงามแก่ ผู้แปล คณะบรรณาธิการผู้ตรวจทาน มูลนิธิฟื้นฟูมรดกอิสลามภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(ประเทศไทย) และผู้ที่มีส่วนร่วมในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ และขอพระองค์ทรงประทานให้หนังสือเล่มนี้เป็นคุณประโยชน์ และเป็นเหตุแห่งการประทานทางนำแด่ผู้อ่านที่ใฝ่หาสันติภาพอันแท้จริงทุกท่าน.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียาอธิการบดีวิทยาลัยอิสลามยะลา25/5/142512/7/2004 บทนำแท้จริงมวลการสรรเสริญเป็นอภิสิทธิ์แห่งอัลลอฮฺ เรากล่าวสรรเสริญ วอนขอความช่วยเหลือและขอลุแก่โทษแด่พระองค์ เราขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺให้ปลอดพ้นจากความชั่วร้ายของอารมณ์ใฝ่ต่ำและการกระทำอันโสมม ผู้ใดที่อัลลอฮฺประทานทางนำแก่เขา แน่นอน ไม่มีผู้ใดทำให้เขาหลงผิดได้ และผู้ใดที่อัลลอฮฺทรงให้เขาหลงผิด แน่นอน ไม่มีผู้ใดทำให้เขาได้รับทางนำเช่นกัน ขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรแก่การนอบน้อมภักดีและมอบตน นอกจากอัลลอฮฺผู้ทรงเอกะและปราศจากการตั้งภาคี และขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวและศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ ขออัลลอฮฺทรงประทานพร ความสันติสุขและความประเสริฐ แด่ท่าน ศาสนทูตมุหัมมัด บรรดาเครือญาติ และสาวกของท่าน ตลอดจนผู้ดำเนินรอยตามท่านและยึดมั่นในเส้นทางของท่าน จวบจนวันปรโลกนับตั้งแต่เหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 โลกยังคงดำเนินอยู่กับผลกระทบและข้อกล่าวอ้างต่างๆ ที่เป็นผลพวงจากเหตุการณ์ดังกล่าว เหตุการณ์ซึ่งเป็นที่รับไม่ได้ของทุกฝ่ายได้กลายเป็นข้ออ้างที่ใหญ่ที่สุดสำหรับผู้เป็นปฏิปักษ์กับอัลลอฮฺในการปะทุไฟแห่งการทำสงครามอันยืดเยื้อยาวนานและการปราบปรามกลุ่มองค์กรอิสลามต่างๆ ซึ่งรวมทั้งสถาบันการศึกษาอิสลามทุกระดับ ไม่เว้นแม้แต่เหล่ามุสลิมที่เคร่งครัดในศาสนาของพวกเขา และไม่ยอมจำนนตนเว้นแต่ต่อพระผู้เป็นเจ้าแห่งความเอกะและเปี่ยมด้วยคุณลักษณ์แห่งสันติ ด้วยวิธีการกล่าวหาใส่ร้ายว่าเป็นผู้ก่อการร้าย และถูกขึ้นบัญชีว่ากลุ่มของพวกเขาเป็นที่ต้องเฝ้าระวังและเป็นอันตรายต่อสังคมโลก ซึ่งจำเป็นต้องกำจัดให้สิ้นอย่างถอนรากถอนโคน (ขออัลลอฮฺทรงปกป้องช่วยเหลือด้วยเถิด)ปัจจุบัน ได้มีคำหนึ่งผุดขึ้นมาในสังคมโลก นั่นคือคำว่า “อิสลาโมโฟเบีย” อันหมายถึงโรคกลัวอิสลาม โดยอาศัยตัวกลางผ่านสื่อต่างๆ ของพวกตะวันตกเป็นตัวการแพร่กระจาย บางครั้งด้วยวิธีการกระพือข่าวให้ดูใหญ่โต และบางโอกาสด้วยวิธีการบิดเบือนความจริง กล่าวหาใส่ร้าย และกุเรื่องขึ้นมาเองนับเป็นกฎเกณฑ์ดั้งเดิมของอัลลอฮฺประการหนึ่ง นั่นคือการส่งบรรดาศาสนทูตลงมาด้วยความเที่ยงแท้ และให้ผู้ละเมิด ตลอดจนบรรดาผู้อยุติธรรมแสดงปฏิกิริยาเป็นปฏิปักษ์กับศาสนาและเหล่าศาสนทูตของอัลลอฮฺ และปรึกษาหารือระหว่างกันด้วยท่าทีหยิ่งยโส ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นสำหรับผู้ที่เดินบนเส้นทางแห่งแสงสว่างและการชี้นำจากพระผู้เป็นเจ้า นอกเสียจากจำเผชิญหน้า ด้วยการประกาศ ความจริง ชี้แจงทางนำ และสร้างสันติภาพ รวมทั้งโต้แย้งความเท็จ ชำระสิ่งบิดเบือน ขจัดข้อกล่าวหา และยับยั้งการละเมิดที่อยุติธรรมให้สิ้นอัลลอฮฺได้ให้ความมั่นใจแก่ผู้ใกล้ชิดพระองค์ว่า แท้จริงแล้วอุบายต่างๆ ของมารร้ายนั้นอ่อนแอนัก และแผนการต่างๆ ของผู้อหังการถึงแม้จะยิ่งใหญ่และยาวนานเพียงใด ก็จะไม่เป็นผลกับใครนอกจากต้องกลับไปก่อผลเสียกับตัวเองในที่สุดอีกกฎเกณฑ์หนึ่งที่ปรากฏในอัลกุรอานคือ﴿وَيَمْكُرُوْنَ وَيَمْكُرُ اللهُ وَاللهُ خَيْرُالمْاَكِرِيْنَ﴾(الأنفال : 30)“พวกเขาได้วางแผนร้าย อัลลอฮฺเองก็ทรงวางแผน และอัลลอฮฺนั้นทรงเป็นผู้เยี่ยมที่สุดในหมู่ผู้วางแผน” (8:30) เป็นสิ่งที่มีผลอันล้ำลึกในชีวิตแห่งการปะทะกันระหว่างความเที่ยงแท้และความเท็จ ซึ่งกลุ่มพวกของมารร้ายในหมู่ผู้ปฏิเสธที่อยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายในโลกนี้ทำตนโอ้อวด พวกเขาได้ร่วมมือกันจัดการและวางแผนเพื่อขัดขวางเส้นทางแห่งอัลลอฮฺ แต่เบื้องหลังพวกเขานั้นมีอัลลอฮฺที่ทรงรอบรู้ถึงอุบายเหล่านั้น และได้เตรียมแผนการเพื่อทำลายเล่ห์เพทุบายของพวกเขาโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัวแท้จริงหน้าที่ของบรรดาศาสนทูตและผู้เผยแผ่ทั้งหลายคือการเปิดเผยสัจธรรมให้เป็นที่ประจักษ์ และพวกเขาก็ได้ทำหน้าที่นั้นอย่างสมบูรณ์แล้วในอดีต เหลือเพียงแต่เราที่ต้องทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ ในสมัยที่สื่อต่างๆ ในโลกถูกควบคุมโดยกลุ่มพวกที่ไม่สบายใจต่อความยิ่งใหญ่และการเปิดกว้างของอิสลาม จึงได้ใช้วิธีการทุกรูปแบบเพื่อเบี่ยงเบนภาพลักษณ์และความเป็นสันติของอิสลาม และยังได้ทำให้วิถีชีวิตมุสลิมหันเหออกจากรากฐานอันดั้งเดิม นั่นคือ อัลกุรอาน และ ซุนนะฮฺ(วิถีชีวิตและจริยวัตรของท่านศาสนทูตมุหัมมัด ขอความจำเริญและความสันติจงมีแด่ท่าน)ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงมีความยินดีที่จะนำเสนอบทความนี้ในหัวข้อ “อิสลาม ศาสนาแห่งสันติภาพ” เพื่อขจัดภาพลักษณ์อันเลวร้ายที่บดบังอิสลามอยู่ โดยฝีมือการปั้นแต่งและกุขึ้นของพวกตะวันตกบางพวกที่ไม่หวังดีต่อชาวโลก ด้วยการกล่าวหาอย่างเคียดแค้นผ่านสื่อสารสนเทศและงานวิชาการที่แพร่กระจายไปทั่วโลก พร้อมกันนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอภาพลักษณ์ที่แท้จริงอันงดงามของอิสลาม ดังที่อัลลอฮฺได้ประทานลงมาเป็นวิวรณ์แห่งพระองค์ และเช่นที่ท่านศาสนทูต(ขอความจำเริญและความสันติมีแด่ท่าน)ได้ปฏิบัติไว้เป็นแบบอย่าง เพื่อให้ชาวมุสลิมและศาสนิกอื่นได้ทราบและทำความเข้าใจถึงอุดมการณ์และการพิทักษ์ปกป้องของอิสลามต่อสันติภาพของมนุษย์ และการรับประกันในความปลอดภัยและสิทธิของพวกเขา ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด สุดท้ายคือการชี้แจงถึงข้อห้ามที่เน้นหนักไม่ให้ใช้ความคลั่งสุดโต่ง ก่อความรุนแรง และการละเมิดรุกรานในทุกรูปแบบบทความนี้ต้องการที่จะสื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่า อิสลามและสันติภาพเป็นคู่แฝดที่แยกออกจากกันมิได้ และมิได้เป็นสิ่งใดนอกจากสองด้านของเหรียญอันเดียว เริ่มแรกด้วยการเน้นย้ำที่ชื่อเรียกและสัญลักษณ์ของอิสลาม และประจักษ์ขึ้นอีกเมื่อมองในมิติของหลักความเชื่อและศาสนบัญญัติ สุดท้ายก็ตอกย้ำให้เห็นชัดเจนโดดเด่นมากขึ้นอีกในมิติของการสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิมก็ตาม โดยมีคำเรียกร้องในตอนท้ายให้ทุกคนปฏิบัติตามความพอพระทัยของพระเจ้าผู้ทรงสร้างและผู้ทรงเปี่ยมสันติ เพื่อรับการชี้นำของอัลกุรอานสู่เส้นทางแห่งสันติภาพ เป็นสันติภาพแห่งความเมตตาในสองภพ เพื่อรับผลตอบแทนเป็นสวรรค์วิมานอันสันติ ในวันที่เข้าเฝ้าพระองค์ด้วยสันติ และคำทักทายระหว่างกันในสวรรค์คือการกล่าว “สลาม” คำพูดแห่งความศานติทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ผู้เขียนไม่ได้กล่าวโดยใช้ความลำเอียงหรือกล่าวอ้างโดยปราศจากข้อมูลที่เชื่อถือได้ ทว่าได้ยืนยันและอ้างด้วยหลักฐานจากคำสั่งสอนของอิสลาม และความเป็นจริงที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันที่สามารถพิสูจน์ได้ โดยใคร่ขอเชิญชวนทุกท่านได้โปรดพิจารณาสิ่งที่ผู้เขียนจะอธิบายต่อไป สันติภาพ ในมิติของชื่อและสัญลักษณ์นับเป็นสิ่งที่ปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ว่าอิสลาม คือ ศาสนาที่ดำรงไว้ซึ่งความกรุณาปรานี เป็นคำสอนแห่งสันติภาพ และครรลองอันเที่ยงตรง ไม่มีผู้ใดที่โต้แย้งในสัจธรรมดังกล่าว เว้นแต่ผู้ที่ไม่ประสา และไม่รู้จริงในคำสอนของอิสลาม ผู้มีอคติหรือผู้โอหังที่ไม่ยอมรับความจริงและไม่ยอมจำนนต่อหลักฐาน ในฐานะของมุสลิมคนหนึ่งผู้เขียนไม่เคยพบคำสอนหรือศาสนาใด ๆ บนโลกนี้ที่ยึดมั่นในเรื่องสันติภาพทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ที่สมบูรณ์และประเสริฐมากกว่าที่ปรากฏในคำสอนของอิสลาม สันติภาพที่แท้จริงจะไม่เกิดขึ้นยกเว้นด้วยครรลองแห่งอิสลามเท่านั้น จึงใคร่ขอถือโอกาสเชิญชวนผู้อ่านผู้มีเกียรติทุกท่านให้ศึกษาทำความเข้าใจ พร้อมน้อมรับอิสลามเป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิตอันแท้จริงอิสลามคือชื่อของความศานติสิ่งหนึ่งที่สามารถยืนยันว่า อิสลามคือศาสนาแห่งสันติภาพ คือ การที่อัลลอฮฺขนานนามศาสนานี้ว่า “อิสลาม” อันมีรากศัพท์จากคำว่า “อัส-สิลมฺ” อันหมายถึง “สันติภาพ” ดังที่พระองค์ได้มีดำรัสว่า ﴿إِنَّ الدِّيْنَ عِنْدَ اللهِ الإسْلاَمُ﴾ ( آل عمران : 19)ความว่า แท้จริงศาสนาแห่งอัลลอฮฺคืออิสลาม (3:19)อัลลอฮฺยังได้ตรัสไว้อีกว่า﴿وَمَنْ يَبْتَغِ غَيْرَ الإسْلاَمِ دِيْناً فَلَنْ يُقْبَلَ مِنْهُ وَهُوَ فِي الآخِرَةِ مِنَ الخْاَسِرِيْنَ﴾ (آل عمران : 85)ความว่า และผู้ใดแสวงหาศาสนาอื่นนอกเหนือจากอิสลามแล้ว แน่แท้ การงานของเขาย่อมจะไม่ถูกรับ และในปรโลกเขาจะอยู่ในหมู่ผู้ขาดทุน (3:85)ผู้ใดที่ไตร่ตรองโองการดังกล่าวจะพบว่า สันติภาพในศาสนาอิสลาม คือ สันติภาพที่จะไม่พบกับความขาดทุนและความโศกเศร้าในภายหลังไม่ว่าจะเป็นบนโลกนี้หรือโลกหน้า ไม่เพียงเท่านั้น อัลลอฮฺยังได้ขนานนามผู้ที่ยึดมั่นในศาสนานี้ว่า “มุสลิมีน” ตั้งแต่ยุคศาสนทูตคนก่อนๆ จนถึงศาสนทูตคนสุดท้ายคือมุหัมมัด ผู้กำเนิดในปี ค.ศ. 570 (ขอความจำเริญและความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ดังที่ปรากฏในอัลกุรอานว่า﴿مِلَّةَ أَبِيْكُمْ إِبْرَاهِيْمَ هُوَ سَمَّاكُمُ الْـمُسْلِمِيْنَ مِنْ قَبْلُ وَفِي هَذَا لِيَكُوْنَ الرَّسُوْلُ شَهِيْداً عَلَيْكُمْ وَتَكُوْنُوْا شُهَدَاءَ عَلىَ النَّاسِ﴾ (الحج : 78)ความว่า คือศาสนาของบิดาแห่งพวกเจ้านั่นคืออิบรอฮีม(อับราฮัม) พระองค์ทรงขนานชื่อพวกเจ้าว่า “มุสลิมีน” ทั้งในคัมภีร์ก่อนๆ และในคัมภีร์(อัลกุรอาน)นี้ เพื่อรอซูล(ศาสนทูต)จะได้เป็นสักขีแก่พวกเจ้า และพวกเจ้าจะได้เป็นสักขีพยานแก่มวลมนุษย์ (22:78)การได้รับขนานนามเช่นนี้เป็นสิ่งที่ท่านศาสนทูตมุหัมมัด (ขอความจำเริญและความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ได้ตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ปรากฏให้เห็นในคำประกาศของท่านว่า “ฉันเป็นมุสลิม”[1] และในวจนะของท่านอีกบทหนึ่งซึ่งมีความว่า “ผู้ใดที่ขานเรียกผู้อื่นแบบญาฮิลียะฮฺ(ด้วยคำพูดดูถูกเหยียดหยามผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นวงศ์ตระกูล สีผิว ชั้นวรรณะ เชื้อชาติ และอื่นๆ ซึ่งขัดกับหลักศาสนาอิสลาม) แน่แท้ว่าเขาต้องได้รับโทษในไฟนรก” ได้มีคนถามท่านศาสนทูตว่า “โอ้ ท่านผู้เป็น ศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ ถึงแม้ว่าเขาจะถือศีลอดและละหมาดแล้วก็ตามกระนั้นหรือ?” ท่านตอบว่า “ใช่ ถึงแม้ว่าเขาจะถือศีลอดและละหมาดแล้วก็ตาม ดังนั้นพวกท่านจงเรียกด้วยชื่อที่อัลลอฮฺได้ขนานให้พวกเขาว่า มุสลิมีน(ผู้นับถืออิสลามและมอบตนต่ออัลลอฮฺ) มุอฺมินีน(ผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ) โอ้ ผู้เป็นบ่าวของอัลลอฮฺ”[2]ด้วยเหตุนี้ มุสลิมจะมีรู้สึกว่ามีเกียรติและภาคภูมิใจ หากเขาถูกเรียกด้วยชื่ออันทรงเกียรตินี้เพราะเป็นชื่อที่ถูกประทานโดยองค์อภิบาลแห่งสากลจักรวาลท่านศาสนทูต(ขอความจำเริญและความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ยังได้กล่าวไว้อีกความว่า “ความดีต่างๆ จะปรากฏเป็นตัวตนในวันปรโลก ละหมาดจะปรากฏตัวและกล่าวว่า โอ้อัลลอฮฺฉันคือละหมาด อัลลอฮฺตอบว่า เจ้าได้ดำรงอยู่ในความดี และการบริจาคทานจะปรากฏพร้อมกล่าวว่า โอ้อัลลอฮฺฉันคือการบริจาคทาน อัลลอฮฺตอบว่า เจ้าได้ดำรงอยู่ในความดี หลังจากนั้นการถือศีลอดก็ปรากฏพร้อมกล่าวว่า โอ้อัลลอฮฺฉันคือการถือศีลอด อัลลอฮฺตอบว่า เจ้าได้ดำรงตนอยู่ในความดี หลังจากนั้นความดีทุกประเภทก็จะปรากฏตัวและอัลลอฮฺได้ตอบรับว่า เจ้าได้ดำรงอยู่ในความดี และอิสลามก็จะปรากฏตัวพร้อมกล่าวว่า โอ้อัลลอฮฺ พระองค์คือ อัส-สลาม ผู้เปี่ยมด้วยสันติ และฉันคืออิสลาม อัลลอฮฺจึงตอบว่า เจ้าได้ดำรงอยู่ในความดี ณ วันนี้ข้าพร้อมที่จะรับและให้โดยใช้เจ้าเป็นเกณฑ์ และอัลลอฮฺได้มีดำรัสว่า﴿وَمَنْ يَبْتَغِ غَيْرَ الإسْلاَمِ دِيْناً فَلَنْ يُقْبَلَ مِنْهُ وَهُوَ فِي الآخِرَةِ مِنَ الخْاَسِرِيْنَ﴾ (آل عمران : 85)ความว่า ‘และผู้ใดแสวงหาศาสนาอื่นนอกเหนือจากศาสนาอิสลามแล้ว แน่แท้การงานของเขาย่อมจะไม่ถูกรับ และในปรโลกเขาจะอยู่ในหมู่ผู้ขาดทุน’ (3:85) ”[3]อิสลาม คือศาสนาที่อัลลอฮฺทรงโปรดปรานและประทานให้เป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิตสำหรับบ่าวผู้ใฝ่คุณธรรมทั้งหลายของพระองค์ อัลลอฮฺทรงพอพระทัยบรรดาผู้ที่ยึดมั่นในอิสลามทั้งในโลกนี้และโลกหน้า พระองค์ได้ตรัสในอัลกุรอานว่า﴿اليَوْمَ أَكْمَلْتُ لَكُمْ دِيْنَكُمْ وَأَتْمَمْتُ عَلَيْكُمْ نِعْمَتِيْ وَرَضِيْتُ لَكُمُ الإِسْلاَمَ دِيْناً﴾ (المائدة : 3)ความว่า วันนี้(หมายถึง ณ วันชุมนุมที่ทุ่ง อะเราะฟะฮฺ ในพิธีหัจญ์ปีสุดท้ายของชีวิตท่าน ศาสนทูตมุหัมมัด) ข้าได้ทำให้ศาสนาของพวกเจ้าสมบูรณ์แล้ว และข้าได้มอบการประทานของข้าแก่พวกเจ้าอย่างครบถ้วน และข้าพอใจให้อิสลามเป็นศาสนาของพวกเจ้า (5:3) ดังนั้นจึงเป็นที่ประจักษ์ว่า ท่านศาสนทูตมุหัมมัด (ขอความจำเริญและความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) มิได้จากโลกนี้ไป เว้นแต่ได้นำบทบัญญัติแห่งอิสลามมาเผยแพร่แก่มวลมนุษย์ไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดแล้ว ความครบถ้วนและความสมบูรณ์แบบของบทบัญญัติอิสลาม เป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วต่อการสถาปนาสันติภาพทั้งในโลกนี้และโลกหน้าอิสลามคือการนอบน้อมมอบตนแก่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลสากลจักรวาล ตามตัวอย่างที่ปรากฏในคำสั่งของอัลลอฮฺแก่ท่านศาสนทูต อิบรอฮีม(อับราฮัม)ว่า﴿إِذْ قَالَ لَهُ رَبُّهُ أَسْلِمْ قَالَ أَسْلَمْتُ لِرَبِّ العَالَمِيْنَ﴾(البقرة : 131)ความว่า (จงรำลึกเถิด โอ้ มุหัมมัด) ขณะที่องค์อภิบาลของอิบรอฮีมได้กล่าวแก่เขาว่า จงมอบตนเถิด เขากล่าวว่าข้าได้มอบความภักดีแก่องค์อภิบาลแห่งสากลจักรวาลแล้ว (2:131)นี่คือศาสนาของอิบรอฮีมผู้ซึ่งเป็นปฐมบิดาแห่งศานสนทูตทั้งสาม คือ มูซา(โมเสสของยิว) อีซา(เยซูของคริสต์) และมุหัมมัด(ขอความสันติจงมีแด่ทั้งสี่ท่าน) ศาสนาอิสลามอันบริสุทธิ์และชัดเจน เป็นศาสนาที่อิบรอฮีมได้สั่งเสียให้แก่บรรดาลูกหลานของท่านให้ยึดปฏิบัติและเจริญรอยตาม และผู้ประเสริฐสุดในบรรดาลูกหลานของท่าน คือท่านศาสนทูตมุหัมมัด บุตร อับดุลลอฮฺ (ขอความจำเริญและความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ผู้เป็นศาสนทูตคนสุดท้าย ที่ได้ทำหน้าที่เชิญชวนและเผยแพร่อิสลามสู่มนุษยชาติ อิสลามคือผลพวงแห่งดุอาอฺ(คำวิงวอน) ที่อิบรอฮีมได้วอนขอต่ออัลลอฮฺดังที่ปรากฏในอัลกุรอานว่า﴿رَبَّنَا وَاجْعَلْنَا مُسْلِمَيْنِ لَكَ وَمِنْ ذُرِيَّتِنَا أُمَّةً مُّسْلِمَةً لَّكَ وَأَرِنَا مَنَاسِكَنَا وَتُبْ عَلَيْنَا إِنَّكَ أَنْتَ التَّوَّابُ الرَّحِيْمُ، رَبَّنَا وَابْعَثْ فِيْهِمْ رَسُوْلاً مِّنْهُمُ يَتْلُوْ عَلَيْهِمْ آيَاتِكَ وَيُعَلِّمُهُمُ الكِتَابَ وَالحِكْمَةَ وَيُزَكِّيْهِمْ إِنَّكَ أَنْتَ الْعَزِيْزُ الْحَكِيْمُ﴾ (البقرة : 128- 129)ความว่า โอ้องค์อภิบาลแห่งเรา ขอพระองค์ทำให้เราทั้งสอง(อิบรอฮีม และบุตรชายของท่าน นั่นคือ อิสมาอีล) เป็นผู้นอบน้อมต่อพระองค์ และโปรดให้มีขึ้นจากลูกหลานของพวกเรา ซึ่งประชาชาติที่นอบน้อมต่อพระองค์ และโปรดแสดงแก่เราซึ่งพิธีการทำหัจญ์ของพวกเรา และโปรดอภัยโทษแก่พวกเรา แท้จริงพระองค์เป็นผู้อภัยโทษ ทรงเอ็นดูเมตตา ขอพระองค์ให้บังเกิดในหมู่พวกเขา(คือลูกหลานของเราทั้งสอง)ซึ่งศาสนทูตจากพวกเขาเอง ให้เขาอ่านดำรัสของพระองค์แก่พวกเขา ให้เขาสอนพวกเขาซึ่งมหาคัมภีร์และวิทยความรู้ และให้เขาขัดเกลาพวกเขา แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงเดชานุภาพและเป็นผู้ทรงยิ่งด้วยความปรีชา (2:128-129) อัลลอฮฺยังได้มีดำรัสอีกว่า﴿بَلَى مَنْ أَسْلَمَ وَجْهَهُ للهِ وَهُوَ مُحْسِنٌ فَلَهُ أَجْرُهُ عِنْدَ رَبِّهِ وَلاَ خَوْفٌ عَلَيْهِمْ وَلاَ هُمْ يَحْزَنُوْنَ﴾ (البقرة : 112)ความว่า หาใช่ตามที่ชาวยิวและคริสต์กล่าวอ้างแต่อย่างใดไม่ ผู้ใดที่มอบใบหน้าของเขา(หมายถึงชีวิตและร่างกาย)ให้แก่อัลลอฮฺ และขณะเดียวกันเขาก็เป็นผู้กระทำความดีแล้วไซร้ เขาจะได้รับรางวัลของเขา ณ พระผู้เป็นเจ้าของเขา และไม่มีความกลัวใดๆ แก่พวกเขา และพวกเขาทั้งหลายก็จะไม่เสียใจ (2:112)ดังนั้นการยอมมอบชีวิตของตนต่ออำนาจแห่งพระเจ้าผู้ทรงเอกะ โดยการปฏิบัติตามแนวทางของท่านศาสนทูตมุหัมมัด(ขอความจำเริญและความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) คืออิสลามอันเที่ยงแท้ที่จะทำให้บังเกิดความสันติสุขอันแท้จริง ที่ไม่มีความหวาดกลัวและความเสียใจทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า แท้จริงคงไม่มีผู้ใดบนหน้าแผ่นดินนี้ ที่จะอับจนยิ่งไปกว่าผู้ที่ไม่เคยรับรู้รสสัมผัสความสงบทางจิตใจจากการได้เคารพภักดีอัลลอฮฺและมอบตนต่อพระองค์ ด้วยเหตุนี้ ปวงบ่าวของอัลลอฮฺทั้งหลาย จงสดับต่อคำสั่งเสียของอัลลอฮฺที่ได้ประทานดำรัสว่า﴿فَلْيَعْبُدُوْا رَبَّ هَذَا الْبَيْتِ الَّذِيْ أَطْعَمَهُمْ مِنْ جُوْعٍ وَآمَنَهُمْ مِنْ خَوْفٍ﴾ (قريش : 3-4)ความว่า ดังนั้น จงให้พวกเขาเคารพภักดีพระเจ้าแห่งบ้าน(กะอฺบะฮฺ)หลังนี้เถิด ผู้ทรงให้อาหารแก่พวกเขาจนรอดพ้นจากความหิว และทรงให้ความปลอดภัยแก่พวกเขาให้พ้นจากความหวาดกลัว (106:3-4)ช่างเป็นสันติภาพและสันติสุขที่เลิศเลอเหลือเกิน !!คำทักทายแห่งสันติภาพสิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องยืนยันความมุ่งมั่นของอิสลามในการสร้างสันติภาพ คือ การกำหนดให้ “สลาม” เป็นคำที่ใช้ในการทักทายระหว่างศรัทธาชนทั้งบนโลกนี้และโลกหน้า คำนั้น คือ “อัสลามุอะลัยกุม วะเราะหฺมะตุลลอฮฺ” ซึ่งมีความหมายว่า ความสันติสุขและความโปรดปรานแห่งอัลลอฮฺจงมีแด่ท่าน อิสลามยังได้กำชับให้บรรดามุสลิมกล่าวคำทักทายที่เปี่ยมความประเสริฐนี้ทุกครั้งที่เจอกันหรือยามเข้าบ้าน อัลลอฮฺได้ตรัสว่า﴿فَإِذَا دَخَلْتُمْ بُيُوْتاً فَسَلِّمُوا عَلَى أَنْفُسِكُمْ تَحِيَّةً مِنْ عِنْدِ اللهِ مُبَارَكَةً طَيِّبَةً﴾ (النور : 61)ความว่า เมื่อยามใดที่พวกเจ้าจะเข้าบ้านก็จงกล่าวสลามให้กับ(พี่น้องของ)พวกเจ้า เป็นคำทักทายจาก(การชี้แนะของ)อัลลอฮฺอันจำเริญและประเสริฐยิ่ง (24:61)ท่านศาสนทูต(ขอความจำเริญและความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ได้กล่าวไว้ในวจนะของท่านบทหนึ่งมีความว่า “พวกท่านจะไม่ได้เข้าสวรรค์จนกว่าพวกท่านจะเป็นผู้ศรัทธา พวกท่านจะไม่เป็นผู้ศรัทธาจนกว่าจะมีความรักเอื้ออาทรกัน พึงรู้เถิด ฉันจะบอกถึงการกระทำอย่างหนึ่งซึ่งหากพวกท่านปฏิบัติเป็นนิจแล้ว จะเกิดความรักเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน จงโปรยสลามในหมู่พวกท่าน”[4] ท่านยังได้กล่าวไว้อีกความว่า “จงโปรยสลาม แล้วพวกท่านจะพบกับความสันติ ”[5] และท่านยังได้กล่าวไว้อีกความว่า “ผู้ที่ตระหนี่ที่สุด คือ ผู้ที่ตระหนี่ในการให้สลาม”[6] ในวจนะของท่านอีกบทหนึ่งมีความว่า “ผู้ที่คู่ควรที่สุดสำหรับ(การใกล้ชิด)อัลลอฮฺคือผู้ที่เริ่มสลามก่อน”[7]อัล-หะสัน อัล-บัศรีย์ ปราชญ์มุสลิมแห่งศตวรรษที่สองผู้เรืองนามได้กล่าวว่า “การให้สลามถือเป็นการกระทำโดยการสมัครใจ(ไม่บังคับ)แต่การตอบรับสลาม ถือเป็นศาสนกิจที่บังคับในศาสนา”[8] ในการทักทายกันอิสลามไม่ได้กำชับให้กล่าวสลามเท่านั้น แต่ยังกำหนดให้มีการจับมือ เพื่อทำให้สลามมีความหมายมากยิ่งขึ้น ตามที่ อัล-บัรฺรออฺ อิบนุ อาซิบ ได้กล่าวไว้ความว่า “ส่วนหนึ่งของการทักทาย(การให้สลาม)ที่สมบูรณ์ คือ การจับมือมิตรสหายของท่าน”[9] ยิ่งไปกว่านั้น อิสลามได้ส่งเสริมให้มีการโอบกอดระหว่างสองคนหากเป็นการพบกันหลังจากการพรากจากกันเป็นเวลานาน ทั้งนี้เพื่อแสดงถึงความรักระหว่างกัน เพราะความรักคือแก่นแห่งคำสอนในอิสลาม และเป็นแก่นแห่งสันติภาพ แม้กระทั่งกับบรรดาคนที่ไร้คุณธรรมที่พยายามแพร่กระจายความชั่วร้ายและหายนะ ดังที่อัลลอฮฺได้มีดำรัสว่า ﴿وَإِذَا خَاطَبَهُمُ الْجَاهِلُوْنَ قَالُوا سَلاَماً﴾ (الفرقان : 63)ความว่า และเมื่อใดที่พวกโง่เขลาพูดจา(ไม่ดี)กับพวกเขา(หมายถึงบ่าวผู้ใกล้ชิดของพระองค์) พวกเขาจะกล่าวตอบด้วยสลาม(คำพูดที่ดีอันเปี่ยมด้วยศานติ) (25:63)อัลลอฮฺได้สอนท่านศาสนทูตมุหัมมัด(ขอความจำเริญและความสันติสุขจงมีแด่ท่าน)ในขณะที่ท่านแสดงความไม่พอใจต่อการกระทำของผู้ที่ไม่ศรัทธาว่า﴿فَاصْفَحْ عَنْهُمْ وَقُلْ سَلاَمٌ فَسَوْفَ يَعْلَمُوْنَ﴾(الزخرف : 89)ความว่า ดังนั้นจงให้อภัยแก่พวกเขา และจงกล่าวสลาม(คำพูดที่มีแต่ความศานติ) ต่อไปพวกเขาจะได้รู้(ถึงผลกรรมของพวกเขา) (43:89) ท่านศาสนทูตได้นำคำสอนของอัลลอฮฺมาใช้ในการปฏิบัติจริงของท่าน ดังตัวอย่างที่ปรากฏในรายงานหนึ่งว่า มีชายชาวยิวกลุ่มหนึ่งขออนุญาตเข้าหาท่าน พวกเขาได้กล่าวว่า “อัส-สามุ อะลัยกุม” หมายถึง ความตายมาถึงแก่ท่าน แทนที่จะกล่าวว่า “อัสลามุอะลัยกุม” ซึ่งเป็นการกล่าวสลามที่อิสลามกำหนดให้ใช้เป็นคำทักทายระหว่างกัน ท่านหญิง อาอิชะฮฺผู้เป็นภรรยาของท่านศาสนทูตซึ่งอยู่ใกล้ๆ ได้ยินดังนั้นจึงตอบไปว่า “หามิได้ ทว่าสำหรับพวกเจ้าต่างหากที่ต้องพบกับตายและการสาปแช่ง” ท่านศาสนทูตได้ยินเช่นนั้น จึงห้ามอาอิชะฮฺว่า “แท้จริง อัลลอฮฺทรงชอบให้ใช้ความอ่อนโยนในการทำทุกสิ่งทุกอย่าง” อาอิชะฮฺถามท่านว่า “ท่านไม่ได้ยินสิ่งที่คนเหล่านั้นกล่าวหรอกหรือ?” ท่านศาสนทูตตอบนางว่า “ฉันก็ตอบไปแล้วอย่างไรเล่า ว่า วะอะลัยกุม (หมายถึง พวกท่านก็เช่นเดียวกัน)” [10]อัลลอฮฺได้บอกถึงจุดยืนของมุสลิมต่อผู้ไร้ศีลธรรมจรรยาว่า﴿وَإِذَا سَمِعُوا اللَّغْوَ أَعْرَضُوْا عَنْهُ وَقَاْلُوْا لَنَا أَعْمَالُنَا وَلَكُمْ أَعْمَالُكُمْ سَلاَمٌ عَلَيْكُمْ لاَ نَبْتَغِي الْجَاهِلِيْنَ﴾(القصص :55)ความว่า และเมื่อพวกเขาได้ยินเรื่องไร้สาระ พวกเขาก็ผินหลังออกห่างจากมัน และกล่าวว่า การงานของพวกเราก็จะได้แก่เรา และการงานของพวกท่านก็จะได้แก่พวกท่าน ศานติแด่พวกท่าน เราจะไม่ขวนขวาย(เป็นเพื่อนและสังสรรค์กับ)บรรดาผู้ไร้ปัญญา (28:55)ละหมาด ที่แห่งการแสวงหาสันติภาพ อิสลามยังได้กำหนดให้ การกล่าวสลามเป็นรุก่น(หลักปฏิบัติที่ต้องกระทำ)ประการหนึ่งในละหมาด และการละหมาดจะเป็นโมฆะหากปราศจากสลาม การละหมาดคือการปฏิบัติศาสนกิจที่เริ่มต้นด้วยตักบีรฺ(การกล่าว อัลลอฮุอักบัรฺ)และสิ้นสุดด้วยการให้สลาม ในขั้นตอนสุดท้ายของภารกิจละหมาด ผู้ละหมาดจะให้สลามแด่พี่น้องของเขา และบรรดามลาอิกะฮฺ(เทวทูต)ที่อยู่เรียงรายเคียงข้างเขาทั้งซีกซ้ายและขวา หลังจากที่พวกเขาต้องพรากจากกันในระยะเวลาสั้น ๆ ช่วงที่เขาอุทิศตนสู่การใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้าขณะที่เขาอยู่ในละหมาดและเพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการปฏิบัติสลามอย่างกว้างขวาง อิสลามจึงกำหนดให้สลามเป็นส่วนหนึ่งของการกล่าวซิกรฺ(การรำลึกถึงอัลลอฮฺ) ที่ท่านศาสนทูต(ขอความจำเริญและความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) และประชาชาติของท่านกล่าวอยู่เป็นประจำ หลังจากการละหมาดห้าเวลา ด้วยถ้อยคำว่า اللَّهُمَّ أَنْتَ السَّلاَمُ، وَمِنْكَ السَّلاَمُ، تَبَارَكْتَ يَا ذاَ الْجَلاَلِ وَالإِكْرَامِความว่า โอ้อัลลอฮฺ พระองค์คือผู้เปี่ยมด้วยสันติ และจากพระองค์เท่านั้นจึงบังเกิดสันติภาพ ทรงเปี่ยมด้วยความประเสริฐเถิด โอ้ ผู้ทรงไว้ซึ่งความเกรียงไกรและความการุณ[11]สวรรค์ วิมานแห่งความสันติจากการนำเสนอมาข้างต้น เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ไม่ว่าชื่อและ สัญลักษณ์ของศาสนาอิสลาม รูปแบบของการทักทาย หลักปฏิบัติหนึ่งที่ต้องกระทำในละหมาด การซิกรฺ(การกล่าวถ้อยคำรำลึกถึงอัลลอฮฺ)หลังการละหมาดและการดุอาอฺ(ขอพร) ล้วนแล้วแต่ส่งเสริมและเอื้อต่อการสถาปนาและถักทอสันติภาพให้บังเกิดขึ้นทั่วพื้นพิภพ มุสลิมผู้มอบตนต่อพระผู้เป็นเจ้า จึงเป็นผู้ที่สมควรได้รับการยกย่องด้วยสรวงสวรรค์ในวันอาคิเราะฮฺ(ปรโลก)ที่การทักทายของชาวสวรรค์ คือ การกล่าวสลาม อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า ﴿تَحِيَّتُهُمْ يَوْمَ يَلْقَوْنَهُ سَلامٌ وَأَعَدَّ لَهُمْ أَجْراً كَرِيماً﴾ (الأحزاب : 44)ความว่า คำทักทายของพวกเขาในวันที่พวกเขาพบพระองค์คือ การกล่าวสลาม และพระองค์ทรงเตรียมรางวัลอันมีเกียรติไว้ให้แก่พวกเขาแล้ว (33:44)อัลลอฮฺได้ตรัสอีกว่า﴿وَقَالَ لَهُمْ خَزَنَتُهَا سَلامٌ عَلَيْكُمْ طِبْتُمْ فَادْخُلُوهَا خَالِدِينَ﴾ (الزمر : 73)ความว่า และผู้เฝ้าประตูสวรรค์ จะกล่าวแก่พวกเขาว่า ความศานติจงมีแด่พวกท่าน พวกท่านเป็นผู้จำเริญ ดังนั้นจงเข้าไปในสวรรค์ เป็นผู้พำนักอยู่ตลอดกาลในนั้นเถิด (39:73)﴿سَلامٌ قَوْلاً مِنْ رَبٍّ رَحِيمٍ﴾ (يس : 58)ความว่า (พวกเขาจะได้รับ)คำกล่าวสลาม(อันเปี่ยมศานติ) เป็นดำรัสหนึ่งจากพระเจ้าผู้ทรงเมตตายิ่ง (36:58)﴿لا يَسْمَعُونَ فِيهَا لَغْواً وَلاَ تَأْثِيماً إلاَّ قِيلاً سَلاماً سَلاماً﴾ (الواقعة : 25-26)ความว่า (ในสวนสวรรค์นั้น)พวกเขาจะไม่ได้ยินคำพูดที่ไร้สาระและเป็นบาป เว้นแต่คำกล่าวว่า สลาม! สลาม!(ศานติ! ศานติ!) (56:25-26)แม้กระทั่งสวรรค์เองก็ยังมีชื่อว่า “วิมานแห่งความสันติ” อัลกุรอานได้ระบุไว้ว่า﴿لَهُمْ دَارُ السَّلامِ عِنْدَ رَبِّهِمْ وَهُوَ وَلِيُّهُمْ بِمَا كَانُوا يَعْمَلُونَ﴾ (الأنعام : 127)ความว่า สำหรับพวกเขานั้น คือ วิมานแห่งความสงบปลอดภัย(ดารุสลาม) ณ พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา และพระองค์ทรงเป็นผู้คุ้มครองพวกเขาด้วยสิ่งที่พวกเขาได้ปฏิบัติ (6:127)ด้วยใจที่รักในสันติภาพ และถวิลหาความสงบสันติดังที่ถูกสัญญาไว้ว่ามีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมในสวนสวรรค์ เราพบว่าชาวมุสลิมในบางประเทศจึงได้ตั้งชื่อเมืองของพวกเขาว่า “ดารุสสลาม” หรือ “ดารุล อามาน” ตัวอย่างเช่น ฟาฏอนี ดารุสสลาม, บรูไน ดารุสสลาม, เคดาห์ ดารุลอามาน (รัฐหนึ่งของประเทศมาเลเซีย หมายถึงเมืองแห่งความสงบสันติและปลอดภัย) และเมืองหลวงของประเทศแทนซาเนีย ซึ่งมีชื่อว่า ดารุสสลาม เช่นกันนี่คือสันติภาพในอิสลามที่ช่างมีอยู่มากมายนัก เป็นสันติภาพที่แสนสวยงามและสมบูรณ์แบบที่สุด สันติภาพทั้งในโลกนี้และโลกหน้า สันติภาพในด้านชื่อและคุณลักษณะ สันติภาพในด้านสัญลักษณ์และการทักทาย สันติภาพในการขอพรและกล่าวรำพันกับองค์ผู้เป็นเจ้า สันติภาพแห่งอัลลอฮฺ สันติภาพของบรรดาเทวทูตและมนุษย์ทั้งมวล สันติภาพ ในมิติของหลักความเชื่อ และหลักปฏิบัติทางศาสนบัญญัติสัญชาติญาณดั้งเดิมที่สำคัญประการหนึ่งของมนุษย์ ซึ่งอัลลอฮฺได้ทรงกำหนดไว้ คือ การที่หัวใจถวิลหาสันติภาพ มนุษย์ทุกคนล้วนต้องการใช้ชีวิตบนโลกนี้อย่างสันติและมีความสุข ดั้งนั้น อิสลามจึงไม่กำหนดสันติภาพให้จำกัดอยู่เพียงแค่ในมิติทางชื่อและสัญลักษณ์เท่านั้น หากแต่ได้หยั่งรากลึกเข้าไปเกี่ยวข้องกับหลักความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนบัญญัติอีกด้วย ทั้งนี้อิสลามได้สถาปนาสันติภาพเป็นสุดยอดแห่งหลักการศรัทธาและจุดสูงสุดของการให้ความเคารพและสดุดีองค์อภิบาล กล่าวคืออิสลามได้บัญญัติคำว่า “สลาม” เป็นหนึ่งในพระนามของอัลลอฮฺ พระองค์ผู้ทรงสร้างจักรวาล ดังที่มีระบุในอัลกุรอานว่า ﴿هُوَ اللَّهُ الَّذِي لا إِلَهَ إِلاَّ هُوَ الْمَلِكُ الْقُدُّوسُ السَّلامُ الْمُؤْمِنُ الْمُهَيْمِنُ الْعَزِيزُ الْجَبَّارُ الْمُتَكَبِّرُ سُبْحَانَ اللَّهِ عَمَّا يُشْرِكُونَ﴾ (الحشر: 23) ความว่า พระองค์คืออัลลอฮฺ ซึ่งไม่มีพระเจ้าอื่นใด(ที่ควรต้องมอบการภักดีให้)นอกจากพระองค์ ผู้ทรงอำนาจสูงสุด ผู้ทรงบริสุทธิ์ ผู้ทรงเปี่ยมด้วยสันติ ผู้ทรงคุ้มครอง ผู้ทรงพิทักษ์ปกป้อง ผู้ทรงอำนาจยิ่ง ผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงความยิ่งใหญ่ มหาบริสุทธิ์องค์อัลลอฮฺจากสิ่งที่พวกเขาตั้งภาคีต่อพระองค์ (59:23)อัลลอฮฺได้ขนานนามพระองค์ด้วยชื่อแห่งความสันติ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้บรรดาศรัทธาชนถวิลหา มอบความรักแด่สันติภาพพร้อมกับกำหนดให้สันติภาพเป็นเป้าหมายสูงสุดของการดำเนินชีวิต ดังนั้นผู้ใดที่รักสันติภาพผู้นั้นย่อมต้องรักอัลลอฮฺและเป็นที่รักของพระองค์ และผู้ใดที่ตั้งตัวเป็นศัตรูสันติภาพ เขาจึงเป็นศัตรูของอัลลอฮฺ อย่างแน่แท้อิสลามคือสันติภาพสากลสันติภาพในอิสลามมิใช่เป็นกระบวนทัศน์ที่อยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ส่วนตัว ชนชาติหรือประเทศชาติใดเป็นการเฉพาะ หากแต่เป็นศาสนบัญญัติแห่งสากล เป็นระบบที่ครอบคลุม เป็นธรรมนูญอันอมตะที่ควบคู่และสอดคล้องกับผู้คนในพื้นโลก เหล่าศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺได้ร่วมกันก่อร่างสร้างประภาคารแห่งสันติภาพและความสงบสุขบนโลกนี้ในทุกยุคทุกสมัย ในที่สุดสันติภาพก็ได้บังเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์เบ็ดเสร็จด้วยสารแห่งมุหัมมัดผู้เป็นศาสนทูตคนสุดท้าย(ขอความจำเริญและความสันติสุขจงมีแด่ท่าน)ดังที่ท่านได้มีวจนะไว้ความว่า “อุปมาการเป็นศาสนทูตของฉันและศาสนทูตท่านอื่นๆ ในยุคก่อนหน้าฉัน ประหนึ่งชายคนหนึ่งที่สร้างบ้านอย่างสวยงามสมบูรณ์ เพียงแต่ขาดอิฐอีกก้อนหนึ่ง ณ มุมหนึ่งของบ้านหลังนั้น ผู้คนทั้งหลายได้เดินเวียนรอบ ๆ บ้านหลังนั้นและตะลึงในความสวยงามของมัน พร้อมกับกล่าวว่า ‘หากมีอิฐอีกก้อนตรงนี้ ( ณ มุมที่ยังขาดอยู่ แน่นอนบ้านหลังนั้นจะสวยงามโดยไม่มีที่ติเลยทีเดียว)’ ฉันนี่แหละคืออิฐก้อนนั้น และฉันคือผู้ปิดท้ายบรรดาศาสนทูต”[12] ด้วยเหตุนี้ สารแห่งฟากฟ้าจึงได้จบสมบูรณ์แล้ว การเป็น ศาสนทูตของท่านนบีมุหัมมัด(ขอความจำเริญและความสันติสุขจงมีแด่ท่าน)ได้ทำให้อิสลามเป็นศาสนาที่ครบถ้วนและเป็นคำสอนที่สร้างสันติภาพอันครอบคลุมและยั่งยืนให้กับมนุษยชาติ เพื่อการสร้างสันติให้ปวงมนุษย์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้าอย่างแท้จริงในอัลกุรอานได้กล่าวถึงคำวิงวอนของท่านศาสนทูตอิบรอฮีม ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความตระหนักของท่านในเรื่องของสันติภาพว่า﴿وَإِذْ قَالَ إِبْرَاهِيمُ رَبِّ اجْعَلْ هَذَا بَلَداً آمِناً وَارْزُقْ أَهْلَهُ مِنَ الثَّمَرَاتِ مَنْ آمَنَ مِنْهُمْ بِاللَّهِ وَالْيَوْمِ الْآخِرِ ﴾ (البقرة : 126)ความว่า และจงรำลึกถึงขณะที่อิบรอฮีมได้วิงวอนว่า ข้าแต่องค์อภิบาลแห่งข้า ได้โปรดทำให้สถานที่นี้(ดินแดนมักกะฮฺ)เป็นเมืองที่ปลอดภัย และโปรดประทานปัจจัยยังชีพแก่ชาวเมืองด้วยผลไม้ต่างๆ ให้กับผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันปรโลกในหมู่พวกเขา (2:126)หากพิจารณาบทวิงวอนดังกล่าวแล้ว จะพบว่าประการแรกที่ ศาสนทูตอิบรอฮีมในฐานะผู้บุกเบิกและก่อตั้งนครมักกะฮฺได้ตระหนักและให้ความสำคัญคือความสงบสุขในดินแดนมักกะฮฺ จากรากฐานความสงบสุขดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลตามมา นั่นคือความประเสริฐและเพิ่มพูนทางด้านปัจจัยยังชีพและพืชผล รวมทั้งการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและทรัพยากร เรื่องราวของอิบรอฮีมและอิสมาลีลนั้นเพียงพอแล้วที่จะชี้ให้เห็นว่าอิสลามเป็นศาสนาแห่งความสันติ และหากเราได้ไตร่ตรองความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับนครมักกะฮฺ อันเป็นดินแดนที่อิบรอฮีมและอิสมาอีลได้ร่วมกันสร้างฐานขึ้นมา และยังได้กลายเป็นเมืองหลวงแห่งอิสลามจวบจนถึงบัดนี้ นครมักกะฮฺได้รับขนานนามว่าเป็นดินแดนแห่งความสงบ เช่นที่ปรากฏในดำรัสของอัลลอฮฺว่า ﴿وَهَذَا الْبَلَدِ الْأَمِينِ﴾ (التين : 3)ความว่า และขอสาบานด้วยดินแดนอันสงบสุขแห่งนี้ (95:3)ผู้ใดก็ตามที่เข้าพำนักอยู่ ณ ดินแดนแห่งนี้ เขาจะได้รับการคุ้มครองและปลอดภัย นี่คือสัญลักษณ์แห่งอิสลามและข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นในวิถีชีวิตของประชาชาติมุสลิม อัลลอฮฺได้ตรัสว่า﴿أَوَلَمْ يَرَوْا أَنَّا جَعَلْنَا حَرَماً آمِناً وَيُتَخَطَّفُ النَّاسُ مِنْ حَوْلِهِمْ أَفَبِالْبَاطِلِ يُؤْمِنُونَ وَبِنِعْمَةِ اللَّهِ يَكْفُرُونَ﴾ (العنكبوت : 67)ความว่า พวกเขาไม่ได้ดูดอกหรือ ว่าแท้จริงเราได้ทำให้(มักกะฮฺ)เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่สงบสุข ในขณะที่ผู้คนรอบๆ พวกเขากลับถูกรุกรานอยู่เสมอ หรือพวกเขาศรัทธาต่อความเท็จ และได้ปฏิเสธคุณของอัลลอฮฺ? (29:67)เช่นเดียวกันกับคำประกาศของศาสนทูตยูซุฟ(โยเซฟ)แก่ครอบครัวของท่านที่ปรากฏในอัลกุรอานว่า﴿وَقَالَ ادْخُلُوا مِصْرَ إِنْ شَاءَ اللَّهُ آمِنِينَ﴾ (يوسف : 99)ความว่า และเขา(นบียูซุฟ)ได้กล่าวว่า ‘พวกท่านจงเข้ามาในอียิปต์โดยปลอดภัยเถิด หากเป็นประสงค์ของอัลลอฮฺ’ ” (12:99)สันติภาพในอิสลามยังปกคลุมด้วยความเมตตาและความประเสริฐ อัลลอฮฺได้มีดำรัสแก่ศาสนทูตมุหัมมัด(ขอความจำเริญและความสันติสุขจงมีแด่ท่าน)ว่า﴿وَمَا أَرْسَلْنَاكَ إِلاَّ رَحْمَةً لِلْعَالَمِينَ﴾ (الأنبياء : 107)ความว่า และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด นอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่สากลโลก” (21:107)อัลลอฮฺได้ส่งศาสนทูตของพระองค์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเผื่อแผ่ความเมตตาแก่สากลโลก พระองค์ไม่ได้ตรัสว่า “เป็นความเมตตาแก่มวลมุสลิมเท่านั้น” ที่เป็นเช่นนี้ เพื่อให้ท่านศาสนทูตได้นำมนุษย์ทั้งมวลสู่ทางนำ และไม่มีผู้ใดที่ได้รับทางนำนี้เว้นแต่ผู้ที่พร้อมจะรับมัน นั่นคือบรรดาผู้เคารพภักดี ถึงแม้ว่าเมตตาแห่งพระองค์ผู้เป็นเจ้าจะกว้างขวางครอบคลุมมนุษยชาติทั้งหมดก็ตามสารแห่งอิสลามที่นำมาโดยท่านศาสนทูตจึงเป็นความเมตตาแก่มนุษยชาติทั้งมวล และจะยั่งยืนตราบจนวันสิ้นโลก ความเมตตาคือแก่นแห่งความรัก และมันก็ครอบรวมทั้งสากลโลก ท่านศาสนทูตได้กล่าวไว้มีความว่า “จงเมตตาต่อผู้ที่อยู่บนหน้าแผ่นดิน แล้วพระองค์ผู้อยู่บนชั้นฟ้าจะเมตตาเจ้า” [13] “อัลลอฮฺจะไม่ทรงเมตตาผู้ใดที่ไม่มีความเมตตาแก่มวลมนุษย์” [14]อิสลามจึงเป็นศาสนาแห่งความเมตตาที่เป็นของขวัญจากฟากฟ้า คำสอนที่เผื่อแผ่ความเมตตาแก่ชาวโลก และความผาสุกอันนิรันดร์กาล ตราบใดที่มนุษย์ยึดมั่นในศาสนบัญญัติของอัลลอฮฺและทางนำของท่านศาสนทูตมุหัมมัด ผู้ซึ่งประกาศว่าผู้ศรัทธาเป็นพี่น้องที่ต้องให้ความรักซึ่งกันและกัน เกื้อกูลและให้ความช่วยเหลือในสิ่งที่ดี แข่งขันในการกระทำการกุศล ใฝ่เรียนรู้ในศาสตร์และวิทยาการ ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสร้างสันติภาพแก่พี่น้องของเขาและมนุษยชาติทั้งมวล โดยยึดมั่นในคำสอนของอัลลอฮฺที่ได้ตรัสไว้ว่า﴿إِنَّمَا الْمُؤْمِنُونَ إِخْوَةٌ فَأَصْلِحُوا بَيْنَ أَخَوَيْكُمْ وَاتَّقُوا اللَّهَ لَعَلَّكُمْ تُرْحَمُونَ﴾ (الحجرات : 10)ความว่า แท้จริง เหล่าศรัทธาชนคือพี่น้องกัน ดังนั้นพวกเจ้าจงไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันระหว่างพี่น้องของพวกเจ้า และจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิด เผื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความเมตตา” (49:10)อีกทั้งต้องยึดมั่นในคำสอนของท่านศาสนทูต(ขอความจำเริญและความสันติสุขจงมีแด่ท่าน)ที่ได้สั่งไว้ความว่า “พวกท่านจงเป็นบ่าวของอัลลอฮฺภายใต้ความรู้สึกที่เป็นพี่น้องกัน”[15] มุสลิมทุกคนยึดมั่นในคำสอนของท่านที่กล่าวไว้ความว่า “มุสลิมคือผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งความปลอดภัยแก่บรรดามุสลิมด้วยกันทั้งด้วยลิ้น(คำพูด) และมือ(การกระทำ)ของเขา”[16] ท่านได้กล่าวไว้ช่วงหัจญ์อำลา(หัจญ์วิดาอฺ)ว่า “พึงรู้เถิด ฉันจะบอกพวกเจ้าถึงคุณสมบัติของมุอฺมิน(ผู้ศรัทธา) มุอฺมินคือผู้ที่นำมาซึ่งความสันติมายังมนุษย์ทั้งทรัพย์สินและชีวิตของเขา มุสลิมคือผู้ที่นำมาซึ่งความปลอดภัยยังมนุษย์จากภัยลิ้น(คำพูด) และมือ(การกระทำ)ของเขา มุญาฮิด(นักต่อสู้) คือ ผู้ที่ทุ่มเทและเอาชนะตัวเองเพื่อเคารพเชื่อฟังอัลลอฮฺ มุฮาญิรฺ(ผู้อพยพ) คือ ผู้ที่ละทิ้งความผิดพลาดและการกระทำที่เป็นบาปทั้งปวง”[17]ท่านได้กล่าวเพื่อยืนยันถึงความสัมพันธ์ฉันพี่น้องกับศาสนทูตคนก่อนๆ ว่า “บรรดานบีต่างก็เป็นพี่น้องต่างมารดา(ต่างบทบัญญัติ)กัน แต่มีหลักศาสนาอันเดียวกัน”[18]ท่านได้ประณามทุกการกระทำที่จะนำไปสู่การต่อสู้ห้ำหั่นหรือต้นเหตุของการข่มขู่คุกคามด้วยการกล่าวไว้ความว่า “ผู้ใดที่พกพาอาวุธเพื่อประทุษร้ายเรา เขาผู้นั้นไม่ใช่ส่วนหนึ่งของพวกเรา”[19] ท่านยังได้กล่าวอีกว่า “พวกท่านอย่าได้ชี้หน้าเพื่อนพี่น้องของท่านด้วยอาวุธ เพราะเขาไม่รู้ว่าบางทีชัยฏอน(มารร้าย)จะช่วยกระตุกมือของเขา(ให้ก่อเหตุฆาตกรรม) ซึ่งเป็นเหตุให้เขาต้องตกอยู่ในหุบเหวของนรก”[20]ท่านศาสนทูตยังได้ย้ำให้ประชาชาติของท่านตระหนักในเรื่องสันติภาพและปกป้องจากความวุ่นวาย สิ่งเลวร้ายและความไม่ชอบ โดยที่ท่านกล่าวไว้ความว่า “โอ้มนุษย์ พวกท่านอย่าได้ปรารถนาที่จะประจันหน้ากับเหล่าศัตรู พวกท่านจงขอจากอัลลอฮฺให้รอดพ้น(จากศัตรู) แต่หากพวกท่านหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพบพวกเขา ก็จงอดทนและหนักแน่นในจุดยืนด้วยเถิด”[21]และหนึ่งในบทขอพรของท่านศาสนทูตเมื่อเห็นจันทร์เสี้ยวช่วงต้นเดือนคือ اللَّهُمَّ أَهْلِلْهُ عَلَيْنَا بِالأَمْنِ وَالإِيْمَانِ وَالسَّلاَمَةِ والإِسْلاَمِ رَبِّيْ ورَبُّكَ اللهُ มีความว่า “โอ้ องค์ผู้อภิบาลแห่งเรา ขอพระองค์ทรงทำให้มัน(เดือนใหม่)มาเยือนเราพร้อมด้วยความศานติและอีมาน(ความศรัทธา) อีกทั้งด้วยความปลอดภัยและอิสลาม พระเจ้าของข้าและของเจ้าคืออัลลอฮฺ”[22]สันติภาพในหลักศาสนบัญญัติส่วนหนึ่งของวัตถุประสงค์สำคัญของศาสนบัญญัติในอิสลาม คือ การปกป้องรักษาปัจจัยห้าประการ นั่นคือ ศาสนา เกียรติศักดิ์ศรี สติปัญญา ทรัพย์สมบัติ และชีวิต ดังนั้นอิสลามจึงได้กำหนดกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานหลัก อันนำไปสู่การปกป้องปัจจัยทั้งห้าประการดังกล่าวเพื่อการสร้างสันติภาพที่แท้จริง กฎที่ว่าคือ«دَرْءُ الْمَفَاسِدِ أَوْلـٰى مِنْ جَلْبِ الْمَصَالِحِ»หมายถึง การป้องกันและขจัดภัยพิบัติหรือความหายนะ มีความสำคัญและต้องมาก่อนการแสวงหาผลประโยชน์[23]กฎอีกข้อหนึ่งที่ปรากฏในวจนะของท่านศาสนทูตซึ่งได้กล่าวว่า «لاَ ضَرَرَ وَلاَ ضِرَارَ»ความว่า “อย่าให้มีการกระทำที่เป็นภัยต่อตัวเอง และการกระทำที่เป็นภัยต่อผู้อื่น”[24]การหลีกเลี่ยงภัยและการไม่ก่อความเลวร้ายในชีวิตของปัจเจกบุคคล สังคมส่วนรวม และในระดับประชาคมระหว่างประเทศจึงนับเป็นสันติภาพที่แท้จริงคงไม่มีหลักคำสอนในศาสนาใด หรือระบบสังคมไหนในโลกนี้ที่กำหนดให้มีความสันติภาพในภาคปฏิบัติและยังได้กำหนดให้สันติภาพเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์และหลักศาสนบัญญัติ เฉกเช่นที่อิสลามได้กำหนดไว้แก่ผู้ที่ประกอบพิธีหัจญ์ ณ นครมักกะฮฺ ทั้งนี้ผู้ใดที่มีความประสงค์ประกอบพีธีหัจญ์ และเนี้ยต(ตั้งใจ)ทำหัจญ์แล้ว นับแต่วินาทีนั้นเป็นการห้ามสำหรับเขาทำการตัดเล็บ โกนผม เด็ดใบไม้ ตัดต้นไม้ ฆ่าสัตว์ ล่าสัตว์หรือกระทำการใด ๆ ที่สร้างความเดือดร้อนหรือความไม่พอใจแก่ผู้อื่น ไม่ว่าด้วยการกระทำหรือวาจาของเขา ไม่อนุญาตให้โต้ตอบใดๆ แม้ในขณะที่ประจันหน้ากับฆาตกรที่ฆ่าบิดาผู้บังเกิดเกล้าของเขาก็ตาม อัลกุรอานได้ระบุไว้ว่า﴿ فَمَنْ فَرَضَ فِيهِنَّ الْحَجَّ فَلا رَفَثَ وَلا فُسُوقَ وَلا جِدَالَ فِي الْحَجِّ ﴾ (البقرة : 197)ความว่า ดังนั้นผู้ใดที่เริ่มปฏิบัติหัจญ์ในเดือน(ที่กำหนด)เหล่านั้นแล้ว เขาต้องไม่มีการเกี้ยวพาราสี(หรือสนองกำหนัด) ไม่มีการละเมิด ไม่มีการทะเลาะวิวาทใดๆ ในเวลาทำหัจญ์ (2:197)ด้วยเหตุที่เขาได้กระทำการอิหฺรอม(การตั้งเจตนาในใจเมื่อเริ่มทำหัจญ์) ทำให้เขาเป็นผู้นำสันติภาพไม่เฉพาะแก่ตัวเขาเองเท่านั้น หากยังรวมถึงบรรดาสิ่งรอบข้างตัวเขา ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือต้นไม้ก็ตามเช่นเดียวกันกับการถือศีลอด ผู้ใดที่ถือศีลอด เขาจำเป็นต้องอดกลั้นระงับอารมณ์ของเขา พร้อมสงบเสงี่ยมเจียมวาจา(ไม่โต้ตอบ) ดังที่ท่านศาสนทูต(ขอความจำเริญและความสันติสุขจงมีแด่ท่าน)ได้กล่าวไว้ความว่า “การถือศีลอดเปรียบเสมือนกำแพง(ที่คอยสกัดกั้นมิให้เข้านรก)หากผู้ใดที่ถือศีลอด เขาผู้นั้นอย่าได้กระทำสิ่งที่ไร้สาระและอย่าได้โกรธเคือง หากมีคนด่าทอหรือประทุษร้ายเขา ขอให้ตอบว่า ‘ฉันกำลังถือศีลอด’”[25]ซะกาต หลักประกันสังคมเพื่อการสร้างสันติภาพการจ่ายซะกาตถือเป็นบทบัญญัติหนึ่งในอิสลามที่ให้ความสำคัญกับสันติภาพ นั่นคือการปลดปล่อยห่วงโซ่ความยากจนและโรคภัยไข้เจ็บ ซะกาตคือหนึ่งในหลักการอิสลามทั้งห้าประการ ท่านศาสนทูต(ขอความจำเริญและความสันติสุขจงมีแด่ท่าน)ได้กล่าวไว้ความว่า “นอกเหนือจากซะกาตแล้ว ยังมีช่องทางอีกมากมายที่มุสลิมต้องบริจาคทรัพย์สมบัติของเขา”[26] ด้วยเหตุนี้ อิสลามจึงไม่ให้การยอมรับ หากมีคนหนึ่งคนใดในสังคมประสบความหิวโหย ถึงแม้ว่าคนๆนั้นไม่ใช่มุสลิมก็ตาม อิสลามถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องให้หลักประกันเรื่องปากท้องแก่สมาชิกทุกคนในสังคม ดังที่ท่านศาสนทูต(ขอความจำเริญและความสันติสุขจงมีแด่ท่าน)ได้กล่าวไว้ความว่า “ไม่ใช่ผู้ศรัทธาต่อฉัน ถ้าผู้ใดนอนยามค่ำคืนในสภาพที่อิ่มหนำ ในขณะที่เพื่อนบ้านใกล้เคียงของเขากำลังหิวโหย ทั้งๆ ที่เขารู้เห็น”[27]คำว่าเพื่อนบ้านจะรวมทั้งที่เป็นมุสลิมและที่ไม่ใช่มุสลิมมีรายงานจากท่านมุญาฮิด นักปราชญ์มุสลิมในศตวรรษที่สองว่า ครั้งหนึ่งท่านได้นั่งอยู่กับอับดุลลอฮฺ อิบนุ อัมรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา สาวกท่านหนึ่งของท่านศาสนทูต ในขณะที่เด็กรับใช้ของท่านกำลังชำแหละเนื้อแพะอยู่นั้น ท่านอับดุลลอฮฺได้กล่าวแก่เด็กรับใช้ของท่านว่า “เมื่อใดที่ชำแหละเสร็จ เจ้าจงนำไปให้แก่เพื่อนบ้านชาวยิวของเราก่อน” พลันมีผู้ถามขึ้นว่า “เอาไปให้ชาวยิวอย่างนั้นหรือ?” ท่านอับดุลลอฮฺตอบว่า “ฉันได้ยินท่านศาสนทูตสั่งเสียบ่อยๆ ว่าให้ทำดีกับเพื่อนบ้าน จนพวกเราคิดว่า ท่านอาจจะให้เพื่อนบ้านสามารถรับมรดกจากเราได้” [28]เป็นที่ทราบกันดีว่า หนึ่งในจำนวนผู้ที่สามารถรับซะกาตได้นั้น คือ ชาวกาฟิรฺ(ผู้ไม่ใช่มุสลิม)ที่ประสงค์จะรับอิสลาม เหล่านักวิชาการอิสลามต่างก็ยอมรับว่า อนุญาตให้รับของขวัญจากบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นพวกไหน แม้กระทั่งกับพวกที่ทำสงครามต่อสู้กับมุสลิมก็ตาม[29]สันติภาพในอิสลามจะไม่จำกัดเฉพาะเพื่อนบ้านที่เป็นมนุษย์เท่านั้น หากแต่ยังครอบคลุมถึงสัตว์ หรือแม้แต่สุนัขที่อิสลามถือว่าเป็นสัตว์ที่สกปรก(นะญิส) หญิงนางหนึ่งต้องเข้านรก ด้วยสาเหตุที่นางจับขังและทรมานแมวจนตาย ดังความหมายของหะดีษว่า “หญิงนางหนึ่งต้องเข้านรก ด้วยสาเหตุจากแมวตัวหนึ่งที่นางจับขังไว้ โดยที่นางไม่ให้อาหารและไม่ปล่อยให้มันหาอาหารเอง จนกระทั่งแมวตัวนั้นตายเพราะความหิว”[30]ในขณะเดียวกันประตูสวรรค์จะต้อนรับชายคนหนึ่งและการอภัยโทษของอัลลอฮฺได้แผ่ถึงชายผู้นั้น เนื่องจากเขามีความเมตตาให้น้ำแก่สุนัขตัวหนึ่งที่กำลังเลียดินเพื่อประทังความกระหาย ดังปรากฏในหะดีษที่รายงานโดย อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ความว่า “ในขณะที่ชายคนหนึ่งกำลังเดินอยู่บนถนน เขารู้สึกกระหายน้ำเป็นอย่างยิ่ง และได้พบบ่อน้ำแห่งหนึ่ง จึงได้ปีนลงไปดื่มน้ำจากบ่อนั้นแล้วกลับออกมา พลันพบกับสุนัขตัวหนึ่งที่กำลังกระหายน้ำจนต้องเลียดินเพื่อประทังความกระหาย ชายคนนั้นรำพึงว่า สุนัขตัวนี้กระหายน้ำเหมือนกับฉันที่กระหายน้ำเมื่อครู่นี้ เขาจึงลงไปในบ่ออีกครั้งและใช้รองเท้าของเขาตักน้ำ และใช้ปากคาบรองเท้าที่มีน้ำอยู่นั้นขึ้นมา และรินน้ำให้แก่สุนัขตัวนั้น อัลลอฮฺทรงตอบแทนในการกระทำของเขา พระองค์ได้ยกโทษให้แก่เขา” บรรดาสาวกของท่านได้ถามว่า “พวกเราได้รับการตอบแทนเนื่องจาก(ทำความดีให้แก่)สัตว์ด้วยกระนั้นหรือ?” ท่านศาสนทูต(ขอความจำเริญและความสันติสุขจงมีแด่ท่าน)ตอบว่า “การทำดีต่อทุกสิ่งที่หัวใจยังมีชีวิต จะได้รับผลตอบแทน”[31]นี่คือตัวอย่างสันติภาพอันครอบคลุมในอิสลาม สันติภาพที่หยั่งรากลึกในจิตใจ และถูกเผยออกมาด้วยการกระทำอันเปี่ยมด้วยความกรุณา เอื้ออาทรและความอ่อนโยน สันติภาพที่ขจรขจายไปทั่วทุกมุมโลกด้วยความหมายที่แฝงอยู่ทั้งหมดของมัน บรรดาผู้ดำรงไว้ซึ่งสันติภาพจะได้รับการยกย่องและผลตอบแทนในสรวงสวรรค์อันสูงส่ง สันติภาพที่ก่อให้เกิดความสงบสุขมายังมวลมนุษย์และประเทศชาติบ้านเมือง และเป็นเหตุให้อัลลอฮฺยกย่องสรรเสริญและตอบแทนผู้รักสันติภาพในวันแห่งการตัดสิน สันติภาพ ในมิติของความสัมพันธ์กับชนต่างศาสนิกสู่สันติภาพและการร่วมมือกันหลักสำคัญประการหนึ่งที่อิสลามได้กำหนดไว้สำหรับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ คือ ความสงบสุข ความศานติ และความมั่นคง ความสัมพันธ์ของศาสนาอิสลามกับศาสนาอื่นไม่ว่าในระดับปัจเจกบุคคลหรือระดับประเทศ คือความสัมพันธ์ในรูปของการทำความรู้จัก การเกื้อกูลกัน การเผยแผ่และทำความดี ไม่ใช่ความสัมพันธ์ในรูปของการปะทะต่อสู้ ก่อการร้าย หรือบ่อนทำลาย หากเราได้พิจารณาคำสอนต่างๆ ของอิสลาม ย่อมต้องประจักษ์ว่าพื้นฐานแห่งคำสอนอิสลาม คือ การเชิญชวนมวลมนุษย์ทั้งหมดสู่การสร้างความผาสุกและสันติภาพอันเที่ยงแท้และครอบคลุมทุกสิ่งในโลกนี้และโลกหน้า ในโลกนี้คือความสงบสันติและความมั่นคงในชีวิต และในโลกหน้าคือความผาสุกในสวนสวรรค์ซึ่งเป็นที่พำนักที่เต็มไปด้วยความสันติอันยั่งยืนอัลลอฮฺได้ตรัสว่า ﴿وَلْتَكُنْ مِنْكُمْ أُمَّةٌ يَدْعُونَ إِلَى الْخَيْرِ وَيَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَيَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنْكَرِ وَأُولَئِكَ هُمُ الْمُفْلِحُونَ﴾ (آل عمران: 104)ความว่า และจงให้มีในหมู่พวกเจ้าซึ่งประชาชาติหนึ่งที่เชิญชวนสู่ความประเสริฐ สั่งเสียในเรื่องความดี และห้ามปรามจากความชั่ว และพวกเขาเหล่านั้นคือบรรดาผู้ที่ได้รับความสำเร็จ (3:104)ความประเสริฐที่หมายถึงในโองการข้างต้น คือ อิสลาม ซึ่งเป็นระบอบแห่งการดำเนินชีวิตสำหรับมนุษยชาติอัลกุรอานได้เชิญชวนมนุษย์ทั้งมวลสู่การตอบรับอิสลาม อันเป็นหนทางสู่ความสำเร็จ และเป็นหนทางสู่การสร้างสันติภาพร่วมกันทั้งในโลกนี้และโลกหน้า แต่ด้วยประสงค์แห่งองค์อภิบาล เราพบว่ามีมนุษย์บางส่วนได้ปฏิเสธคำเชิญชวนนี้ และไม่ยอมรับหลักการร่วมมือเพื่อให้เกิดสันติภาพแห่งอิสลามที่ครอบคลุมทั้งสองโลก กระนั้นก็ตาม ถึงแม้ว่ามนุษย์ไม่ได้ยอมรับอิสลามเสียทุกคน แต่อิสลามก็ยังได้เชิญชวนมวลมนุษย์ทั้งหมดสู่การทำความรู้จักและช่วยเหลือกันในเรื่องคุณประโยชน์และคุณธรรม เพื่อให้เกิดสันติภาพในบริบทย่อยเฉพาะสำหรับโลกนี้อีกด้วยอัลกุรอานได้กำหนดขอบเขตของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ว่า﴿يَا أَيُّهَا النَّاسُ إِنَّا خَلَقْنَاكُمْ مِنْ ذَكَرٍ وَأُنْثَى وَجَعَلْنَاكُمْ شُعُوباً وَقَبَائِلَ لِتَعَارَفُوا إِنَّ أَكْرَمَكُمْ عِنْدَ اللَّهِ أَتْقَاكُمْ إِنَّ اللَّهَ عَلِيمٌ خَبِيرٌ﴾ (الحجرات : 13)ความว่า โอ้มวลมนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง(หมายถึงสร้างมาจากอาดัมและเฮาวาอฺ(อีฟ)ผู้เป็นมนุษย์ชายหญิงคู่แรก) และให้พวกเจ้าเป็นกลุ่มพวกและหมู่เหล่า เพื่อพวกเจ้าจะได้สร้างความรู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติที่สุดในระหว่างพวกเจ้า ณ อัลลอฮฺ คือผู้ที่ยำเกรง(ต่อพระองค์)มากที่สุด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วนยิ่ง (49:13) การทำความรู้จักกันในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ไม่ว่าจะแตกต่างทางชาติพันธุ์ สัญชาติ สีผิว และภาษา มีนัยยะที่ลึกกว่าเพียงแค่การรู้จักชื่อเพียงผิวเผิน ทว่าเป็นการทำความรู้จักที่จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนคุณประโยชน์แห่งความดีงามอันสูงส่งและให้เกิดความช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างกันและเพื่อสร้างความหมายของการทำความรู้จักที่มีเป้าประสงค์อันยิ่งใหญ่นี้ ย่อมต้องการธรรมชาติแห่งความสัมพันธ์ที่สันติและเอื้ออำนวย ด้วยวิธีการแข่งขันมุ่งมั่นปฏิบัติเพื่อความยำเกรงและใฝ่เกียรติอันสูงส่ง ยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคล กลุ่มชนและเชื้อชาติสู่ระดับการแลกเปลี่ยนอันเป็นเป้าประสงค์ นั่นคือ “การทำความรู้จักซึ่งกันและกัน” และ “การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์” ด้วยความหมาย นัยยะทั้งหมดและขอบเขตอันกว้างขวางของมัน ดังนั้น ถ้าหากยิ่งบรรลุถึงเป้าประสงค์ของการแลกเปลี่ยนความรู้จัก และการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างหมู่มนุษย์ทุกระดับได้มากเพียงใด ก็ยิ่งสามารถอุดช่องว่างแห่งการต่อสู้และความขัดแย้งที่เป็นเหตุแห่งการห้ำหั่นและละเมิดรุกราน อันจะก่อให้เกิดการเผชิญหน้าและนำมาซึ่งความหายนะแก่สังคมมนุษย์ได้มากเพียงนั้น ด้วยเหตุนี้การทำความรู้จักกันระหว่างมวลมนุษย์ด้วยเป้าประสงค์เช่นนี้คือสาเหตุใหญ่ที่จะนำสันติภาพมาสู่สังคมมนุษย์ อัลลอฮฺได้ตรัสในอัลกุรอานว่า ﴿ وَتَعَاوَنُوا عَلَى الْبِرِّ وَالتَّقْوَى وَلا تَعَاوَنُوا عَلَى الإثْمِ وَالْعُدْوَانِ وَاتَّقُوا اللَّهَ إِنَّ اللَّهَ شَدِيدُ الْعِقَابِ﴾(المائدة : 2)ความว่า และจงช่วยเหลือเกื้อกูลกันในความดีและการยำเกรง และอย่าได้ร่วมมือช่วยเหลือในการทำบาปและการละเมิด และจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้หนักหน่วงในการลงโทษ (5:2)ธรรมชาติของการรู้จักกันจะนำไปสู่การเกื้อกูลกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่หลากหลาย อิสลามได้วางเงื่อนไขการช่วยเหลือเกื้อกูลที่เป็นเป้าประสงค์บนหลักของการทำดีและการยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้า ทั้งสองหลักนี้เป็นจุดรวมของความดีงามและสันติภาพสำหรับมวลมนุษย์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ในขณะที่การช่วยเหลือกันในการกระทำผิดบาปและการละเมิดที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งระหว่างผู้คนในโลกนั้นเป็นที่ต้องห้ามในอิสลาม เพราะทั้งสองประการคือเหตุแห่งความชั่วร้ายและหายนะทั้งหลายที่นำไปสู่สงคราม การแตกแยก และจุดไฟแห่งการปะทะที่จะทำลายสันติภาพและความสงบสุขของมนุษยชาติในที่สุดจากที่กล่าวมา เป็นที่ชัดเจนว่าพื้นฐานเดิมของความสัมพันธ์ระหว่างประชาชาติมุสลิมกับประชาชาติอื่นนั้น คือ สันติภาพ ส่วนสงครามและการต่อสู่นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง ด้วยมูลเหตุและปัจจัยที่มีผู้อื่นรุกรานและละเมิดพวกเขาและศาสนาของพวกเขาสันติภาพเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดให้มีกับทุกคน ไม่ใช่เพราะเป็นเพียงผลของการยอมรับศรัทธาเท่านั้น หากแต่มันเป็นพื้นฐานเดิมที่มีหลักฐานว่าต้องไม่ละเมิดรุกราน ในขณะที่สงครามถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อพิทักษ์ปกป้องสิทธิเสรีภาพในการเชิญชวนเรียกร้องของอิสลาม และขจัดภัยที่คุกคามบรรดาผู้นับถืออิสลาม เป็นการประกันเส้นทางแห่งการเชิญชวนสู่อิสลามที่ชูธงแห่งความเมตตาและสันติภาพ อีกทั้งเพื่อปกป้องเสรีภาพของมวลมนุษย์ในการนับถืออิสลามเป็นศาสนาและระบอบการดำเนินชีวิตด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่ด้วยการบังคับขู่เข็ญ อัลลอฮฺได้ตรัสว่า﴿لا إِكْرَاهَ فِي الدِّينِ قَدْ تَبَيَّنَ الرُّشْدُ مِنَ الْغَيِّ فَمَنْ يَكْفُرْ بِالطَّاغُوتِ وَيُؤْمِنْ بِاللَّهِ فَقَدِ اسْتَمْسَكَ بِالْعُرْوَةِ الْوُثْقَى لا انْفِصَامَ لَهَا وَاللَّهُ سَمِيعٌ عَلِيمٌ﴾ (البقرة: 256)ความว่า ไม่มีการบังคับใน(การนับถือ)ศาสนา(อิสลาม) แท้จริงทางนำนั้นได้ประจักษ์ชัดจากความคดเคี้ยวแล้ว ดังนั้นหากผู้ใดได้ปฏิเสธความจอมปลอมและศรัทธาต่ออัลลอฮฺแล้วไซร้ แสดงว่าเขาได้ยึดกับปมเชือกอันแน่นหนาแล้ว และมันจะไม่มีวันหลุดจากไป และอัลลอฮฺทรงเป็นผู้ได้ยินและรู้ยิ่ง (2:256)เป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดในประวัติศาสตร์อิสลามว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในรัฐอิสลามมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ที่จะเลือกนับถือศาสนาใดก็ได้ ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์อิสลามอันยาวนานว่ามีการบังคับขู่เข็ญให้ชาวยิว ชาวคริสต์ หรือคนอื่นๆ ให้หันมานับถืออิสลาม ข้อเท็จจริงนี้เป็นที่ยอมรับกัน แม้แต่ในหมู่ศาสนิกอื่น อาทิเช่น ธอมัส อาร์โนลด์ นักบูรพาคดีชาวอังกฤษผู้หนึ่งที่ได้กล่าวว่า “เราไม่เคยได้ยินว่ามีความพยายามใดๆ ที่เป็นแผนการเพื่อใช้บังคับผู้อื่นที่ไม่ใช่มุสลิมให้ยอมรับอิสลาม หรือว่ามีการบังคับข่มขู่โดยมีจุดหมายเพื่อกำจัดศาสนานั้นๆ” [32]สันติภาพกับสงครามเป็นสิ่งที่ทุกคนล้วนยอมรับว่า นับตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน สงครามไม่เคยห่างหายไปจากโลก อิสลามเป็นศาสนาที่กำเนิดขึ้นท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยการปะทะต่อสู้และสงครามระหว่างมนุษยชาติ จึงต้องคำนึงถึงความเป็นจริงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ตราบใดที่โลกต้องปะปนด้วยกลุ่มมนุษย์อันหลากหลายด้วยอารมณ์ ความรู้สึกและความต้องการอันไร้ขอบเขต และตราบใดที่ความรู้สึกเช่นนี้ ยังคุกรุ่นอยู่ในจิตใจของมนุษย์ ไม่ว่าในระดับปัจเจกชนหรือสังคมก็ตาม แน่นอนที่สุดว่าจะต้องมีความขัดแย้งอันนำไปสู่สงครามได้ในบางกรณี ด้วยเหตุนี้ สงครามจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และเป็นวิธีการที่น่ายกย่องหากมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านผู้รุกราน ยับยั้งความอยุติธรรม พิทักษ์สัจธรรมและยื่นมือเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถูกกดขี่ สงครามในลักษณะเช่นนี้จึงเป็นการจุดประกายความดีแก่มวลมนุษย์ ในขณะเดียวกันหากเกิดสงครามโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความพินาศแก่โลก กดขี่ข่มเหงผู้ที่อ่อนแอ ปล้นและยึดครองทรัพยากรและความมั่งคั่งของชนชาติอื่น สงครามในลักษณะนี้เป็นสงครามที่ต้องได้รับการประณามสาปแช่ง เพราะไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์แห่งความชั่วร้ายของสังคมเท่านั้น หากแต่เป็นสื่อแห่งความหายนะของชาวโลกทั้งมวล ขออัลลอฮฺทรงคุ้มครองด้วยเถิดด้วยเหตุนี้อิสลามจึงยอมรับในกระบวนทัศน์พื้นฐานที่ว่าด้วยสงคราม โดยถือว่าเป็นสิ่งที่อนุมัติหากเป็นการปกป้องพิทักษ์สัจธรรม รักษาความสงบสันติ และยับยั้งความอยุติธรรม การข่มขู่ และการละเมิดรุกราน อัลลอฮฺทรงมีดำรัสว่า﴿وَلَوْلا دَفْعُ اللَّهِ النَّاسَ بَعْضَهُمْ بِبَعْضٍ لَفَسَدَتِ الْأَرْضُ وَلَكِنَّ اللَّهَ ذُو فَضْلٍ عَلَى الْعَالَمِينَ﴾ (البقرة : 251)ความว่า และหากว่าอัลลอฮฺไม่ทรงป้องกันมนุษย์ ซึ่งบางส่วนของพวกเขาด้วยอีกบางส่วนแล้วไซร้ แน่นอนแผ่นดินก็ย่อมเสื่อมเสียพังพินาศไปแล้ว แต่ทว่าอัลลอฮฺนั้น ทรงเป็นผู้มีคุณอันล้นเหลือเหนือโลกทั้งมวล (2:251) พระองค์ยังได้ตรัสอีกว่า﴿وَلَوْلا دَفْعُ اللَّهِ النَّاسَ بَعْضَهُمْ بِبَعْضٍ لَهُدِّمَتْ صَوَامِعُ وَبِيَعٌ وَصَلَوَاتٌ وَمَسَاجِدُ يُذْكَرُ فِيهَا اسْمُ اللَّهِ كَثِيراً وَلَيَنْصُرَنَّ اللَّهُ مَنْ يَنْصُرُهُ إِنَّ اللَّهَ لَقَوِيٌّ عَزِيزٌ ، الَّذِينَ إِنْ مَكَّنَّاهُمْ فِي الْأَرْضِ أَقَامُوا الصَّلاةَ وَآتَوُا الزَّكَاةَ وَأَمَرُوا بِالْمَعْرُوفِ وَنَهَوْا عَنِ الْمُنْكَرِ وَلِلَّهِ عَاقِبَةُ الْأُمُورِ﴾ (الحج : 40-41)ความว่า และหากว่าอัลลอฮฺไม่ทรงป้องกันมนุษย์ ซึ่งบางส่วนของพวกเขาด้วยอีกบางส่วนแล้วไซร้ บรรดาหอสวดและโบสถ์(ของพวกคริสต์)และสถานที่สวด(ของพวกยิว)และมัสยิดทั้งหลายที่พระนามของอัลลอฮฺถูกกล่าวรำลึกอย่างมากมาย ต้องถูกทำลายอย่างแน่นอน และแน่นอนอัลลอฮฺจะทรงช่วยเหลือผู้ที่ช่วยเหลือพระองค์ แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงพลัง ผู้ทรงเดชานุภาพอย่างแท้จริง บรรดาผู้ที่แม้นเราได้ให้พวกเขามั่นคงบนหน้าแผ่นดินแล้ว พวกเขาจะดำรงซึ่งการละหมาดและการจ่ายซะกาต พวกเขาจะสั่งเสียในความดีและหักห้ามจากความชั่ว และยังอัลลอฮฺคือบั้นปลายแห่งการกิจการทั้งหลาย (22:40-41)ความหมายของโองการนี้คือ ถ้าหากไม่เป็นเพราะการที่อัลลอฮฺได้บัญญัติให้เหล่าศาสนทูตและบรรดาผู้ศรัทธาทำการต่อสู้และญิฮาดแล้วไซร้ แน่นอนว่าบรรดาผู้ตั้งภาคีย่อมต้องเข้ามามีอำนาจเหนือผู้นับถือศาสนาทั้งหลาย สัญลักษณ์ต่างๆ ของศาสนาเป็นอันต้องถูกทำลาย แต่อัลลอฮฺทรงสกัดกั้นความชั่วร้ายของพวกเขาด้วยการใช้ให้ทำการต่อสู้และญิฮาดกับพวกเขาเหล่านั้น เพราะถ้าหากไม่มีการต่อสู้และญิฮาดแล้ว อธรรมก็ย่อมต้องมีชัยเหนือสัจธรรมในทุกหมู่ประชาชาติเป็นแน่แท้ [33]ด้วยเหตุนี้ ตามทรรศนะของอิสลามแล้ว สงครามเป็นสิ่งจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้หากตั้งอยู่บนหลักของการรักษาสันติภาพและความสงบสุข ดังนั้น บทบัญญัติว่าด้วยญิฮาดจึงไม่ใช่คำสอนที่ใช้เป็นเครื่องมือในการรุกราน กดขี่ข่มเหงผู้ด้อยกว่า หรือเป็นข้อกล่าวอ้างเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะโดยเด็ดขาดในจำนวนหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องดังกล่าว คือ ความเห็นอย่างเป็นเอกฉันท์ของบรรดานักวิชาการอิสลามว่า ไม่อนุญาตให้ฆ่าผู้อื่นที่ไม่ใช่นักรบ โดยเฉพาะเด็ก ผู้หญิง คนแก่ นักบวช ผู้ป่วย และผู้ที่มีลักษณะในความหมายนี้ถ้าหากอิสลามยึดประเด็นศาสนาเป็นหลักการพื้นฐานของการทำสงครามและฆ่ากันแล้ว แน่นอนย่อมต้องไม่ละเว้นบุคคลเหล่านี้ด้วย เพราะพวกเขาไม่ได้เป็นมุสลิมและไม่ยอมรับในความเชื่อของอิสลามและไม่อาจที่จะกล่าวและยอมรับด้วยว่า เหตุที่ต้องปฏิบัติกับบุคคลเหล่านี้โดยสันติวิธี ด้วยสาเหตุที่พวกเขาเป็นบุคคลอ่อนแอ เพราะตามความเป็นจริงในประวัติศาสตร์ มีสตรีมากมายที่เคยเข้าร่วมสู้รบในสงครามและต่อสู่ห้ำหั่นกับศัตรูได้อย่างกล้าหาญกว่าผู้ชายหลายเท่านักประวัติศาสตร์อิสลามได้บันทึกแล้วว่า สงครามต่างๆ ที่ท่าน ศาสนทูตได้รบกับผู้ปฏิเสธศรัทธานั้น ล้วนแต่อยู่ในขอบเขตและไม่ได้ออกไปจากกรอบของสาเหตุที่อนุมัติให้กระทำได้ สงครามเหล่านั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นไปเพื่อปกป้องและโต้ตอบการละเมิดรุกรานที่เกิดขึ้นจริงๆ ความยุติธรรมคือรากฐานของสันติภาพโดยสรุปแล้ว ในมิติแห่งความสัมพันธ์ของศาสนาอิสลามกับผู้อื่น ล้วนเพียบพร้อมไปด้วยหลักแห่งสันติภาพ โองการอัลกุรอานมากมายได้ค้ำชูและปูทางสำหรับแบบแผนของสันติภาพ ทั้งในระดับท้องถิ่นหรือประชาคมระหว่างประเทศ และยังได้สนับสนุนให้ใช้กระบวนการสันติวิธีด้วยการเรียกร้องให้คืนสิทธิต่างๆ แก่เจ้าของสิทธินั้น ห้ามละเมิดรุกรานผู้ใด และต้องดำรงซึ่งความยุติธรรมและการทำดีกับทุกสิ่งไม่ว่ากับมนุษย์หรือสรรพสัตว์ และแม้กระทั่งกับข้าศึกศัตรูในสงคราม เมื่อใดที่พวกเขาตอบรับการประนีประนอม ความยุติธรรมต้องอยู่เหนืออารมณ์และความรู้สึกส่วนตัวหรือความผูกพันด้านเครือญาติและมิตรสหาย อัลลอฮฺได้ตรัสว่า﴿يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُونُوا قَوَّامِينَ بِالْقِسْطِ شُهَدَاءَ لِلَّهِ وَلَوْ عَلَى أَنْفُسِكُمْ أَوِ الْوَالِدَيْنِ وَالْأَقْرَبِينَ إِنْ يَكُنْ غَنِيّاً أَوْ فَقِيراً فَاللَّهُ أَوْلَى ﴾ (النساء : 135)ความว่า ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเป็นผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ในการเป็นพยานเพื่ออัลลอฮฺ แม้ว่าจะเป็นผลร้ายแก่ตัวของพวกเจ้าเอง หรือผู้บังเกิดเกล้าทั้งสองและญาติที่ใกล้ชิดก็ตาม แม้ว่าเขาจะมั่งมีหรือยากจนก็ตาม อัลลอฮฺนั้นสมควร(แก่การเชื่อฟัง)ยิ่งกว่าทั้งสองคน (4:135) การให้ความยุติธรรมกับผู้เป็นศัตรูนั้นมีระบุในอัลกุรอานว่า﴿يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُونُوا قَوَّامِينَ لِلَّهِ شُهَدَاءَ بِالْقِسْطِ وَلا يَجْرِمَنَّكُمْ شَنَآنُ قَوْمٍ عَلَى أَلاَّ تَعْدِلُوا اعْدِلُوا هُوَ أَقْرَبُ لِلتَّقْوَى﴾ (المائدة : 8)ความว่า ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเป็นผู้ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมในการเป็นพยานเพื่ออัลลอฮฺ และจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใดทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม จงยุติธรรมเถิดมันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า (5:8)อัล-บัยฎอวีย์ นักอรรถาธิบายอัลกุรอานท่านหนึ่งได้ให้ความหมายของโองการข้างต้นว่า “อย่าได้ปล่อยให้ความโกรธที่รุมเร้าอยู่ในใจของพวกเจ้าต่อพวกมุชริกีน(พวกปฏิเสธศรัทธา) เป็นเหตุให้ละทิ้งความยุติธรรมกับพวกเขา ด้วยการละเมิดและกระทำการใดที่ไม่อนุญาต เช่น การกล่าวหาใส่ร้ายหรือฆ่าสตรีและเด็ก หรือทำลายสัญญาเพื่อเป็นความสะใจให้หายแค้น ถ้าหากนี่คือความยุติธรรมที่พึงกระทำต่อผู้ปฏิเสธศรัทธา ให้ท่านลองใคร่ครวญดูว่า จะต้องยุติธรรมมากกว่าอีกเพียงใดกับบรรดาผู้ศรัทธาด้วยกัน” [34]โดยสรุปแล้ว โองการข้างต้นได้เน้นย้ำว่า อย่าได้ใช้ความโกรธของพวกเจ้าต่อพวกใดพวกหนึ่งเป็นเหตุเพื่อละทิ้งความยุติธรรม เพราะความยุติธรรมเป็นสิ่งบังคับใช้ต่อทุกคนกับทุกคู่กรณีและในทุกสถานการณ์ โดยมีรายงานจากอิบนิ อะบี หาติม จาก ซัยดฺ อิบนุ อัสลัม เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ว่า “เมื่อครั้งที่ท่านศาสนทูต(ขอความจำเริญและความสันติสุขจงมีแด่ท่าน)และเหล่าสาวกเดินทางถึง หุดัยบิยะฮฺ(หมู่บ้านหนึ่งก่อนถึงนครมักกะฮฺ) และถูกพวกมักกะฮฺขัดขวางไม่ให้เข้าเมืองและสร้างความลำบากให้กับท่านและเหล่าสาวกเป็นอย่างยิ่ง กระทั่งมีพวกมุชริกีน(ผู้ไม่ใช่มุสลิม)จากดินแดนตะวันออกเดินทางมาถึงเพื่อเข้าไปทำอุมเราะฮฺ เหล่าสาวกได้กล่าวแก่ท่านศาสนทูตว่า ‘เราจะขัดขวางคนพวกนี้เหมือนที่พรรคพวกของพวกเขาขัดขวางเรา’ เมื่อนั้นเองอัลลอฮฺจึงได้ประทานโองการนี้ลงมา(เพื่อห้ามปราม)”[35]อัล-กุรฏุบีย์ นักอรรถาธิบายอัลกุรอานอีกผู้หนึ่งได้กล่าวว่า “โองการนี้ได้ชี้อีกว่า การไม่นับถืออิสลามของผู้ปฏิเสธศรัทธา ไม่ได้ขัดขวางเราเพื่อให้ความยุติธรรมแก่เขา”[36]สันติวิธี คือพื้นฐานของการเชื่อมสัมพันธ์และสิ่งที่บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าอิสลามเป็นศาสนาที่ให้ความสำคัญกับสันติภาพมากกว่าสงครามหรือการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ คือ การที่อิสลามได้สั่งกำชับให้มุสลิมรีบตอบรับการเรียกร้องสู่สันติภาพ ถึงแม้ว่าผู้เรียกร้องนั้นจะเป็นคู่อริหรือข้าศึกในสมรภูมิก็ตาม อัลกุรอานได้ระบุว่า﴿وَإِنْ جَنَحُوا لِلسَّلْمِ فَاجْنَحْ لَهَا وَتَوَكَّلْ عَلَى اللَّهِ إِنَّهُ هُوَ السَّمِيعُ الْعَلِيمُ، وَإِنْ يُرِيدُوا أَنْ يَخْدَعُوكَ فَإِنَّ حَسْبَكَ اللَّهُ هُوَ الَّذِي أَيَّدَكَ بِنَصْرِهِ وَبِالْمُؤْمِنِينَ﴾ (الأنفال : 61-62)ความว่า และหากพวกเขาเอนเอียงเพื่อสงบศึกแล้ว เจ้าก็จงสนองตามเพื่อการนั้นด้วย และจงมอบหมายภารกิจแด่อัลลอฮฺเถิด แท้จริง พระองค์คือผู้ทรงได้ยินและผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง และหากพวกเขาประสงค์ที่จะหลอกลวงเจ้า เป็นการเพียงพอแล้วกับอัลลอฮฺ(ที่จะคอยพิทักษ์ปกป้อง) พระองค์คือผู้ทรงสนับสนุนเจ้าด้วยความช่วยเหลือของพระองค์และด้วยกำลังของบรรดาผู้ศรัทธา (8:61-62) ท่านเชค มุหัมมัด เราะชีด ริฎอ ได้อธิบายความหมายของโองการข้างต้นว่า “ในบางครั้ง การที่คู่สงครามแสดงท่าทียอมรับการประนีประนอม อาจจะเป็นแค่กลลวงเพื่อตบตาให้เราเลิกรบ ในขณะที่พวกเขากลับเตรียมพร้อมเพื่อการจู่โจมหรือกระทำการอื่นเพื่อเป็นแผนลวงในการสู้รบ ถ้ามองถึงผลได้ผลเสียในกรณีเช่นนี้ เราจึงไม่ควรรับการประนีประนอมจากพวกเขา ตราบใดที่เรายังไม่สามารถกำชัยชนะเหนือพวกเขาอย่างเบ็ดเสร็จ แต่อิสลามกลับไม่ถือว่าความเป็นไปได้ดังกล่าวเป็นอุปสรรคในการตอบรับข้อตกลงเพื่อการประนีประนอมกับอีกฝ่ายแต่อย่างใด แต่กลับกล่าวว่า “และหากพวกเขาประสงค์ที่จะหลอกลวงเจ้า เป็นการเพียงพอแล้วกับอัลลอฮฺ(ที่จะคอยพิทักษ์ปกป้อง)” จุดยืนนี้ เป็นหลักฐานที่ชัดแจ้งที่ตอกย้ำว่า อิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติภาพที่จริง” [37]นอกจากนี้อัลลอฮฺยังมีดำรัสคัดค้านกลุ่มมุสลิมที่ปฏิเสธสันติภาพว่า ﴿يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِذَا ضَرَبْتُمْ فِي سَبِيلِ اللَّهِ فَتَبَيَّنُوا وَلا تَقُولُوا لِمَنْ أَلْقَى إِلَيْكُمُ السَّلامَ لَسْتَ مُؤْمِناً تَبْتَغُونَ عَرَضَ الْحَيَاةِ الدُّنْيَا فَعِنْدَ اللَّهِ مَغَانِمُ كَثِيرَةٌ﴾ (النساء : 94)ความว่า บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อใดที่พวกเจ้าตีทัพไปบนหน้าแผ่นดิน(เพื่อสู้รบ)ในหนทางของ อัลลอฮฺ พวกเจ้าจง(แยกแยะศัตรู)ให้แน่ใจอย่างถ่องแท้ และจงอย่ากล่าวแก่ผู้ที่กล่าวสลามแก่พวกเจ้าว่าท่านมิใช่ผู้ศรัทธา(เพื่อเป็นข้ออ้างที่จะฆ่าเขาและริบทรัพย์สมบัติของเขา)โดยแสวงหาสิ่งอำนวยประโยชน์ชั่วคราวแห่งชีวิตความเป็นอยู่บนโลกนี้ แต่ ณ อัลลอฮฺนั้นมีผลทรัพย์อันมากมาย (4:94)ท่านศาสนทูต(ขอความสันติจงมีแด่ท่าน)ยังได้กล่าวไว้มีความว่า “แท้จริงจะเกิดความขัดแย้งหรือเรื่องราวอื่นหลังจากฉัน ถ้าพวกท่านสามารถสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้ก็จงทำเสีย”[38] คำสอนของท่านศาสนทูตได้ปรากฏให้เห็นจริงในภาคปฏิบัติ ดังที่มีรายงานของอัล-บัยหะกีย์ จากท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ท่านยกทัพไปเปิดนครมักกะฮฺ ที่ท่านได้กำชับให้หลีกเลี่ยงความรุนแรงและความทารุณ และให้พยายามใช้สันติวิธีนำหน้า ก่อนที่ท่านจะสั่งให้เหล่าสาวกเข้าพิชิตนครมักกะฮฺ ท่านได้ประกาศว่า “ผู้ใดก็ตามที่เข้าไปหลบในบ้านอบู ซุฟยาน(ผู้นำคนหนึ่งของชาวมักกะฮฺซึ่งตอนนั้นเพิ่งเข้ารับอิสลาม) เขาผู้นั้นจะได้รับความปลอดภัย” อบู ซุฟยานได้ยินดังนั้นจึงรีบกล่าวตอบว่า “บ้านของฉันอาจจะเล็กเกินกว่าจะจุผู้คนได้ทั้งหมด” ท่านศาสนทูตจึงได้ประกาศอีกว่า “ผู้ใดก็ตามที่เข้าไปหลบในกะอฺบะฮฺ(อาคารสี่เหลี่ยมที่อยู่ในมัสยิดหะรอม) เขาผู้นั้นจะได้รับความปลอดภัย” อบู ซุฟยาน ได้ยินเช่นนั้นจึงตอบกลับไปอีกว่า “กะอฺบะฮฺอาจจะเล็กกว่าจะรองรับจำนวนผู้คนได้” ท่านศาสนทูตจึงประกาศอีกครั้งว่า “ผู้ใดก็ตามที่เข้าไปหลบอยู่ในมัสยิดหะรอม เขาผู้นั้นจะได้รับความปลอดภัย” อบู ซุฟยานกล่าวต่ออีกครั้ง “มัสยิดหะรอมก็อาจจะเล็กเกินกว่าจะรองรับจำนวนผู้คนได้ทั้งหมด” ท่านศาสนทูตจึงประกาศเป็นครั้งสุดท้ายว่า “ผู้ใดก็ตามที่เข้าไปหลบอยู่ในบ้านของเขาและปิดประตูอย่างมิดชิด เขาผู้นั้นจะได้รับความปลอดภัย” เมื่อนั้น อบู ซุฟยาน จึงได้กล่าวด้วยความปีติยินว่า “นี่โอกาสอันใหญ่หลวงยิ่งสำหรับผู้คนทั้งหลาย” [39]นับเป็นการเปิดเมืองด้วยการใช้หลักเมตตาธรรมอันแท้จริง หลีกเลี่ยงจากการนองเลือด การเข่นฆ่า หรือการใช้ความรุนแรง ทั้งๆ ที่มีโอกาสแก้แค้นให้สาสมกับการต่อต้านและการกระทำอันโหดร้ายที่ชาว มักกะฮฺเคยทำไว้กับท่านศาสนทูตและเหล่าสาวกในอดีตที่ผ่านมา โดยที่อัลลอฮฺได้อนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้ ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า﴿وَإِنْ عَاقَبْتُمْ فَعَاقِبُوا بِمِثْلِ مَا عُوقِبْتُمْ بِهِ وَلَئِنْ صَبَرْتُمْ لَهُوَ خَيْرٌ لِلصَّابِرِينَ﴾ (النحل: 126)ความว่า และหากพวกเจ้าจะแก้แค้นด้วยการลงโทษ ก็จงทำเหมือนที่พวกเจ้าถูกกระทำ และหากพวกท่านอดทน(ไม่แก้แค้น) นั่นย่อมจะเป็นการดีกว่าสำหรับบรรดาผู้ที่อดทนทั้งหลาย (16:126)แต่ท่านศาสนทูตก็ไม่ได้ใช้โอกาสนี้เพื่อแก้แค้น พร้อมกับได้มีคำสั่งแก่บรรดาสาวกอย่างชัดเจนว่า “เราต้องใช้หลักขันติธรรม และต้องไม่ล้างแค้น” [40] ท่านได้ประกาศแก่ชาวมักกะฮฺว่า “วันนี้ไม่มีการประณามและการลงโทษพวกท่าน อัลลอฮฺทรงอภัยให้แก่พวกท่าน” [41] เรื่องราวที่เป็นพยานหลักฐานอีกประการหนึ่งว่าท่านศาสนทูตไม่ได้มีเจตนาเพื่อใช้ความรุนแรงและกวาดล้างผู้ปฏิเสธศรัทธา หากแต่ได้ใช้ความเมตตาเป็นหลักในการเชิญชวนสู่อิสลาม นั่นคือ เรื่องราวที่ปรากฏในรายงานของอัล-บุคอรีย์และมุสลิมว่า มลาอิกะฮฺ(เทวทูต)ผู้ดูแลเทือกเขาแห่งเมืองมักกะฮฺได้เคยพบท่านและเสนอตัวแก่ท่านว่า “แท้จริงอัลลอฮฺได้ยินคำพูดต่างๆ ที่พรรคพวกของท่านกล่าวว่าร้ายท่าน และอัลลอฮฺได้ส่งฉันมาเพื่อให้ฉันทำตามในสิ่งที่ท่านต้องการ ดังนั้น หากท่านต้องการ ฉันก็จะนำภูเขาทั้งสองนี้ไปทำลายพวกเขาเสีย” ท่าน ศาสนทูต(ขอความจำเริญและสันติจงมีแด่ท่าน) ได้กล่าวตอบมลาอิกะฮฺตนนั้นว่า “อย่าเลย เพราะฉันหวังว่าอัลลอฮฺจะทรงทำให้เกิดขึ้นในหมู่พวกเขาซึ่งลูกหลานที่นอบน้อมภักดีต่อพระองค์ และไม่ตั้งภาคีกับพระองค์” [42] เรื่องราวนี้เกิดขึ้นในขณะที่ท่านศาสนทูตต้องประสบกับการทดสอบที่หนักหน่วงอย่างยิ่ง จากการที่ชาวมุชริกีนต่อต้านและขัดขวางการเชิญชวนของท่านสู่อิสลามนั่นเองบนฐานแห่งแบบอย่างของท่านศาสนทูตดังที่ยกมานี้ ได้มีการปฏิบัติตามโดยประชาชาติมุสลิมหลังจากนั้นในหลายๆ กรณี เช่นที่นักสังคมจิตวิทยาอย่าง กุสตาฟ เลอ บอง (Gustave Le Bon) ได้ยอมรับถึงการประนีประนอม ความมีคุณธรรม ความยุติธรรม และจิตใจที่ใฝ่หาสันติภาพของจอมทัพมุสลิม เศาะลาหุดดีน อัล-อัยยูบีย์ และความอารีของท่านต่อคู่อริในสงครามครูเสด ซึ่งได้บุกโจมตีเมืองของชาวมุสลิมและเข่นฆ่าประชาชนอย่างโหดร้าย แต่จอมทัพผู้นี้ ซึ่งอยู่ในฐานะผู้กำ ชัยชนะ เมื่อได้ยินข่าวว่า พระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์ ซึ่งเป็นคู่ปรับของท่านล้มป่วยและอยากจะกินผลไม้บางชนิดกับน้ำแข็ง ท่านกลับสั่งให้จัดหาอาหารเหล่านั้นส่งไปให้พระเจ้าริชาร์ดพร้อมกับยาและเครื่องดื่ม แต่ครั้นเมื่อพระเจ้าริชาร์ดหายป่วยก็ได้ยกทัพมาทำสงครามกับเศาะลาหุดดีนและชาวมุสลิมอีกอย่างไม่ยอมเลิกรา [43]จากที่กล่าวมาเห็นได้ชัดว่า อิสลามจึงเป็นศาสนาที่ปฏิเสธความรุนแรง และสั่งห้ามการละเมิดรุกรานในทุกรูปแบบ เป็นศาสนาที่กระจายสันติภาพและกำชับให้เกิดความยุติธรรม การให้อภัย การเจรจาต่อรองสู่ความสมานฉันท์และความร่มเย็นของมวลมนุษย์ อิสลามได้บัญญัติหลักการอันประเสริฐสุดสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นั่นคือ ความยุติธรรม การติดต่อคบค้าสมาคมระหว่างประเทศในอิสลาม มิได้วางอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของชาตินิยม หรือตัดสินด้วยกองกำลังและแสนยานุภาพทางทหารที่เหนือกว่า ดังเช่นบรรทัดฐานที่เกิดขึ้นในยุคอวิชชาอันป่าเถื่อน หรือตามความเป็นจริงของอารยธรรมสมัยปัจจุบันประวัติศาสตร์สงครามโลกสอนให้เรารู้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่อยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของชาตินิยมหรือการตัดสินด้วยกองกำลังและแสนยานุภาพทางทหารที่เหนือกว่า เป็นชนวนสำคัญของการปะทุไฟสงครามที่เป็นบ่อนทำลายสันติภาพมาหลายต่อหลายครั้ง ดังที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในสงครามโลกทั้งสองครั้งในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งอิสลามและชาวมุสลิมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุแห่งสงครามเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย ทว่ากลับเป็นเหยื่อและผู้รับเคราะห์จากผลร้ายของสงครามทั้งสองครั้งนั้นด้วย และยังเป็นเช่นเดียวกันอีกในปัจจุบัน นับตั้งแต่เริ่มศตวรรษใหม่มา นั่นคือเหตุการณ์ในประเทศตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นสงครามอเมริกาที่อิรัก หรือการรุกรานของยิวที่ปาเลสไตน์ (ขออัลลอฮฺทรงช่วยเหลือด้วยเถิด) การอาศัยผลประโยชน์ของประเทศหรืออาศัยความได้เปรียบด้านแสนยานุภาพมาเป็นบรรทัดฐานสู่การประหัตประหารเช่นนี้ นับเป็นเหตุผลที่ไม่แตกต่างไปจากอุดมการณ์จอมโจรที่คอยปล้นสะดม หรือกลุ่มมิจฉาชีพที่ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายทั้งหลาย และไม่แตกต่างไปจากวิสัยของบรรดาสัตว์เดรัจฉานที่อาศัยอยู่ในป่าเลยแม้แต่น้อย พฤติกรรมอันโหดร้ายของพวกไซออนิสต์เช่นนี้นี่เองที่เป็นมูลเหตุของการโต้ตอบที่เราได้เห็นในประเทศมุสลิมบางประเทศที่ถูกกดขี่ข่มเหงมาโดยตลอดเฮนรี เดอ แชมบอง บรรณาธิการวารสารฉบับหนึ่งของฝรั่งเศสได้ยอมรับว่า “พวกเราต่างเป็นหนี้ชาวมุสลิมด้วยความดีงามทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในอารยธรรมของเรา ทั้งในด้านความรู้ ศิลปะ และการประดิษฐ์ อีกทั้งถูกเรียกร้องให้ยอมรับว่า พวกเขาเป็นตัวอย่างแห่งความสมบูรณ์ของมนุษยชาติในสมัยที่เรายังอยู่ในสภาพของความสะเปะสะปะและความป่าเถื่อน”[44]ประจักษ์พยานสำคัญอีกประการหนึ่งที่สามารถยืนยันว่าอิสลามไม่สนับสนุนสงครามและความรุนแรง แต่เป็นศาสนาที่มาขจัดสงครามมากมายที่ปะทุขึ้นในยุคสมัยแห่งความป่าเถื่อน ได้ปกป้องสิทธิของมนุษย์โดยเฉพาะระหว่างเผ่าเอาสซ์และคัซร็อจญ์ อิสลามได้ทำการประนีประนอมไกล่เกลี่ยระหว่างทั้งสองเผ่า และได้นำทั้งสองเผ่าเข้าสู่ฝั่งแห่งความปรองดองที่เข้มแข็ง ซึ่งมีระบุในอัลกุรอานว่า﴿وَاذْكُرُوا نِعْمَتَ اللَّهِ عَلَيْكُمْ إِذْ كُنْتُمْ أَعْدَاءً فَأَلَّفَ بَيْنَ قُلُوبِكُمْ فَأَصْبَحْتُمْ بِنِعْمَتِهِ إِخْوَاناً وَكُنْتُمْ عَلَى شَفَا حُفْرَةٍ مِنَ النَّارِ فَأَنْقَذَكُمْ مِنْهَا كَذَلِكَ يُبَيِّنُ اللَّهُ لَكُمْ آيَاتِهِ لَعَلَّكُمْ تَهْتَدُونَ﴾ (آل عمران : 103)ความว่า พวกเจ้าจงระลึกถึงคุณของอัลลอฮฺที่ประทานให้แก่พวกเจ้า เมื่อครั้งที่พวกเจ้าเป็นศัตรูกัน แล้วพระองค์ก็ทรงทำให้หัวใจของพวกเจ้าโอนอ่อนต่อกัน และพวกเจ้าได้เป็นพี่น้องกันด้วยบุญคุณแห่งพระองค์ และพวกเจ้าเคยอยู่บนขอบเหวแห่งขุมนรกแล้วอัลลอฮฺก็ทรงทำให้พวกเจ้ารอดพ้น เช่นนั้นคือการที่อัลลอฮฺชี้แจงแก่พวกเจ้าถึงโองการต่างๆ ของพระองค์ เผื่อพวกเจ้าจะได้รับการชี้นำ (3:103)อิบนุ กะษีรฺ นักอรรถาธิบายอัลกุรอานท่านหนึ่งได้ให้คำอธิบายว่า “ลักษณะโองการนี้ได้กล่าวถึงพวกเอาสซ์และคัซร็อจญ์ เพราะได้เกิดสงครามมากมายระหว่างพวกเขาในยุคป่าเถื่อนอันเก่าก่อน เป็นความอาฆาต เคียดแค้นรุนแรง ส่งผลให้เกิดการห้ำหั่นบดขยี้และประหัตประหารอันยาวนานระหว่างทั้งสอง ครั้นเมื่ออิสลามมาถึงและพวกเขาได้ยอมรับนับถืออิสลาม ท้ายที่สุดทั้งสองฝ่ายก็ได้กลายเป็นพี่น้องกันที่รักใคร่ด้วยความเกรียงไกรแห่งอัลลอฮฺ ได้เชื่อมสัมพันธ์กันบนฐานแห่งอัลลอฮฺ และช่วยเหลือซึ่งกันและกันในความดีและความยำเกรง”[45]หลักแห่งไมตรีภาพกับชนต่างศาสนิกจากตรงนี้ อิสลามได้กำหนดขอบเขตความสัมพันธ์ของประชาชาติมุสลิมกับผู้อื่นดังปรากฏในดำรัสของอัลลอฮฺว่า﴿لا يَنْهَاكُمُ اللَّهُ عَنِ الَّذِينَ لَمْ يُقَاتِلُوكُمْ فِي الدِّينِ وَلَمْ يُخْرِجُوكُمْ مِنْ دِيَارِكُمْ أَنْ تَبَرُّوهُمْ وَتُقْسِطُوا إِلَيْهِمْ إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ الْمُقْسِطِينَ﴾ (الممتحنة: 8)ความว่า อัลลอฮฺไม่ได้ห้ามพวกเจ้าทำดีและยุติธรรมกับบรรดาผู้ที่ไม่ได้ก่อสงครามกับพวกเจ้าในเรื่องศาสนา และไม่ได้ไล่พวกเจ้าออกจากถิ่นฐานของพวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักผู้ที่ยุติธรรม (60:8)โองการนี้ได้อธิบายอย่างชัดเจนว่า เป็นที่อนุญาตให้มุสลิมทำดีและผูกไมตรีกับบรรดาผู้ที่มิได้ก่อสงครามและไม่ได้กดขี่พวกเขาในเรื่องศาสนาและเชื่อมสัมพันธ์กับพวกเขาอย่างยุติธรรมด้วยคุณธรรมและการทำดี[46]ในขณะที่อีกทัศนะหนึ่งมีความเห็นว่า คำว่า “อัล-กิสฏฺ” (القسط) ในโองการนี้หมายถึงการมอบทรัพย์สินส่วนหนึ่งของพวกเจ้าให้แก่พวกเขาเพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ ความหมายของมันตรงนี้ไม่ได้หมายถึงความยุติธรรมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะความยุติธรรมในอิสลามเป็นสิ่งที่บังคับและจำเป็นกับทั้งข้าศึกที่ทำการรบและคนที่ไม่ได้รบ[47]และการทำดีที่ประเสริฐที่สุดต่อผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม คือการสร้างความเข้าใจให้พวกเขาได้ประจักษ์ถึงความดีงามของอิสลามและการเชิญชวนสู่อิสลาม ด้วยความรักและปรารถนาให้พวกเขาหลุดพ้นจากการหลงเมาอยู่ในเส้นทางของการปฏิเสธศรัทธาที่จะนำไปสู่ความทุกข์ระทมทั้งในโลกนี้และโลกหน้าหลังจากนั้น โองการถัดมาก็ได้เน้นย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ที่ห้ามไม่ให้ผูกมิตรกับบรรดาผู้ปฏิเสธนั้น เป็นเพราะการละเมิดรุกราน การกดขี่ และการที่พวกเขาก่อสงครามกับมุสลิม ไม่ใช่เพราะเหตุเพียงแค่พวกเขาเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม﴿إِنَّمَا يَنْهَاكُمُ اللَّهُ عَنِ الَّذِينَ قَاتَلُوكُمْ فِي الدِّينِ وَأَخْرَجُوكُمْ مِنْ دِيَارِكُمْ وَظَاهَرُوا عَلَى إِخْرَاجِكُمْ أَنْ تَوَلَّوْهُمْ وَمَنْ يَتَوَلَّهُمْ فَأُولَئِكَ هُمُ الظَّالِمُونَ﴾ . (الممتحنة: 9)ความว่า แท้จริง อัลลอฮฺได้ห้ามพวกเจ้าจากบรรดาผู้ที่ก่อสงครามกับพวกเจ้าในเรื่องศาสนา และได้ขับพวกเจ้าออกถิ่นฐานของพวกเจ้า ทั้งยังได้ร่วมมือกันขับไล่พวกเจ้า (ทรงห้าม)ไม่ให้พวกเจ้าเป็นมิตรกับพวกเขา และผู้ใดที่ถือสัมพันธ์กับพวกเขา ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ที่อยุติธรรม (60:9)ดังนั้น จึงสามารถสรุปได้ว่า พื้นฐานเดิมในอิสลามเห็นว่า ความแตกต่างในเรื่องศาสนาระหว่างบุคคลสองคนไม่ได้เป็นเหตุที่นำไปสู่การบาดหมาง ต่อสู้ หรือตัดขาด และไม่ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างลูกผู้เป็นมุสลิมกับพ่อแม่ที่เป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา เพราะอัลลอฮฺได้สั่งกำชับให้ทำดีกับทั้งสองคนบนโลกนี้ พระองค์ได้ตรัสว่า﴿وَصَاحِبْهُمَا فِي الدُّنْيَا مَعْرُوفاً﴾( لقمان: 15)ความว่า และจงคอยอยู่ดูแลปรนนิบัติท่านทั้งสอง(หมายถึงบิดามารดาที่ไม่ได้เป็นมุสลิมยามที่ทั้งสองมีชีวิต)บนโลกนี้ให้ดี (31:15)อัล-บุคอรีย์และมุสลิม ได้รายงานจากอัสมาอฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา สาวกหญิงท่านหนึ่งว่า "แม่ของฉันได้มาหาฉันในสมัยของท่าน ศาสนทูต(ขอความจำเริญและสันติจงมีแด่ท่าน) ขณะที่นางยังเป็นผู้ตั้งภาคี(ไม่ได้เป็นผู้ศรัทธา) ฉันได้ถามท่านศาสนทูตว่า แม่ได้มาหาฉันโดยที่นางไม่ได้เป็นผู้ศรัทธา ฉันจะรับนางได้ไหม? ท่านตอบว่า 'ใช่ เธอต้องรับแม่ของเธอ'"[48]ทั้งนี้ ยังมีศาสนบัญญัติที่กำหนดข้อบังคับให้ลูกต้องดูแลใช้จ่ายทรัพย์สินให้กับบิดามารดาทั้งสองที่ไม่ใช่มุสลิมอีกด้วย[49] ไม่เพียงแค่นั้น อิสลามยังถือว่าการแสดงความกตัญญูต่อบิดามารดาเป็นส่วนหนึ่งของ ญิฮาด(การต่อสู้เพื่อแสวงหาความโปรดปรานของพระเจ้า) [50]ท่านศาสนทูต(ขอความจำเริญและสันติจงมีแด่ท่าน)เองได้แสดงความกตัญญูกับมารดาของท่าน แม้กระทั่งหลังจากที่มารดาได้เสียชีวิตแล้ว โดยมีรายงานว่าท่านเคยไปเยี่ยมหลุมฝังศพของมารดาซึ่งไม่ใช่มุสลิม[51] ท่านยังได้ปรนนิบัติดูแลน้าชายของท่านที่ชื่ออบู ฏอลิบ อย่างดี ท่านได้เชิญชวนน้าชายให้น้อมรับอิสลาม แต่สุดท้ายน้าของท่านก็เสียชีวิตโดยไม่ทันได้ตอบรับการเชิญชวนของท่านนอกจากนี้ ท่านศาสนทูตยังเคยมีเด็กรับใช้ชาวยิวผู้หนึ่ง และได้ทำดีกับเขาจนกระทั่งเขายอมรับอิสลามในบั้นปลายของชีวิต โดยที่ผู้เป็นพ่อของเขาเองได้สั่งให้เขารับอิสลามเพราะได้เห็นคุณธรรมอันดีงามของท่าน เรื่องนี้มีปรากฏในรายงานของท่านอนัส เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ผู้เป็นอัครสาวกท่านหนึ่งว่า "เด็กยิวที่เคยรับใช้ท่านศาสนทูตได้ล้มป่วย ท่านจึงได้ไปเยี่ยมเขาขณะที่เขาใกล้สิ้นลมหายใจ ท่านได้เชิญเขาให้รับอิสลาม เด็กผู้นั้นได้หันไปมองผู้เป็นบิดาซึ่งอยู่ใกล้ๆ ศรีษะของเขา เมื่อนั้นบิดาของเขาจึงพูดว่า 'ทำตามที่อบู กอซิม(หมายถึงท่านศาสนทูต)บอกเจ้าเถิด' เด็กคนนั้นจึงรับอิสลาม จากนั้นก็สิ้นลมหายใจ"[52]ภายใต้ครรลองแห่งคำสอนอิสลามของท่านศาสนทูตเช่นที่กล่าวมานี้ ชาวมุสลิมทุกยุคสมัยได้ใช้แนวทางแห่งความเมตตาดังกล่าวในการเชื่อมสัมพันธ์กับศาสนิกอื่น จนเป็นที่ยอมรับกันถึงความเมตตาและความดีงามของศาสนาอิสลาม แม้แต่ในหมู่ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมเองก็ตาม ตัวอย่างเช่น ในปีที่สิบสามฮิจเราะฮฺศักราช(ปีที่ใช้นับตามปฏิทินอิสลาม ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่การอพยพของท่านศาสนทูตจากนครมักกะฮฺสู่นครมะดีนะฮฺ ตรงกับปี ค.ศ.636) ชาวคริสเตียนในเมืองซีเรียได้มีหนังสือถึง อบู อุบัยดะฮฺ อิบนุ อัล-ญัรฺรอหฺ แม่ทัพมุสลิมที่ไปเปิดเมืองซีเรียว่า "โอ้ ผู้เป็นมุสลิมทั้งหลาย พวกท่านเป็นที่รักแก่พวกเรามากกว่าพวกโรมัน ถึงแม้ว่าพวกเขาจะนับถือศาสนาเดียวกับเรา เพราะพวกท่านให้ความยุติธรรมแก่เรา มีความเมตตาและความอารีกับเรา ไม่ละเมิดและไม่ อยุติธรรมกับเรา และปกครองเราได้ดีกว่าคนพวกนั้น"[53]Zanghrid Honikah นักบูรพาคดีสุภาพสตรีชาวเยอรมัน ได้กล่าวในหนังสือของเธอว่า "ในศตวรรษที่เก้า บาทหลวงแห่งนครเยรูซาเล็มได้มีหนังสือถึงบาทหลวงแห่งกรุงคอนสแตนติโนเปิล โดยได้พูดถึงชาวอาหรับมุสลิมว่า แท้จริง พวกเขานั้นเปี่ยมไปด้วยความยุติธรรม พวกเขาไม่เคยละเมิดและอยุติธรรมกับเราเลย และไม่เคยใช้วิธีการรุนแรงใดๆ กับเรา"[54] กุสตาฟ เลอ บอง ได้สรุปไว้ว่า "ความจริงก็คือ ประชาชาติทั้งหลายไม่เคยรู้จักกองทัพใดที่เมตตาอารีและใจกว้างเหมือนกับกองทัพมุสลิมชาวอาหรับ และไม่เคยรู้จักศาสนาใดที่เปี่ยมด้วยเมตตาเช่นศาสนาของพวกเขา"[55] ในขณะที่ธอมัส อาร์โนลด์ ได้กล่าวว่า "แท้จริงชาวคริสเตียนอาหรับที่ใช้ชีวิตท่ามกลางสังคมมุสลิมในปัจจุบันต่างประจักษ์ถึงความโอนอ่อนผ่อนปรนที่ว่านี้"[56]อิสลามเป็นศาสนาแห่งความเมตตาและเป็นบัญญัติแห่งสันติภาพ ที่มารวบรวมแถวที่แตกแยกกระจัดกระจาย สร้างความอ่อนโยนให้เกิดขึ้นในหัวใจที่เคียดแค้น ผูกมัดความเป็นพี่น้องระหว่างมนุษย์บนฐานแห่งความเป็นพี่น้องในอิสลาม ปูทางแห่งความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นทุกศาสนา พวกเขาทั้งหมดเป็นผู้ที่ถูกชักชวนสู่อิสลามและสันติภาพในเวลาเดียวกัน ไม่มีสงครามนอกจากเมื่อถึงขั้นจำเป็นที่สุดเท่านั้น เพื่อต่อต้านการละเมิดรุกราน คืนความยุติธรรม ปกป้องผู้ถูกกดขี่ และประกันสิทธิในการเผยแผ่การเชิญชวนสู่ศาสนาแห่งความเมตตาและสันติภาพนี้ ดังที่มีปรากฏว่าท่านศาสนทูต(ขอความจำเริญและสันติจงมีแด่ท่าน) ได้มีสารไปถึงกษัตริย์และผู้ครองเมืองบางพระองค์ โดยมีเนื้อหาเป็นการเรียกร้องสู่อิสลามและสันติภาพ เช่นตัวอย่างสารที่ส่งไปถึง ฮิรฺกิล จอมจักรพรรดิแห่งโรมันว่า “ด้วยพระนามแห่งองค์อัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณายิ่ง จากมุหัมมัดผู้เป็นบ่าวและศาสนทูตของอัลลอฮฺ ถึงฮิรฺกิลจักรพรรดิแห่งโรม ความสันติมีแด่ผู้ที่น้อมตามทางนำ จงรับอิสลามเถิดแล้วท่านจะพบกับความสันติปลอดภัย”[57] อิสลามต่อต้านพฤติกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดความอยุติธรรม ความรุนแรงและการละเมิดรุกราน อัลลอฮฺได้กำชับว่าوَلاَ تَعْتَدُوْا إِنَّ اللهَ لاَ يُحِبُّ الْمُعْتَدِيْنَ (البقرة : 190)ความว่า สูเจ้าอย่าได้ละเมิดรุกราน แท้จริงอัลลอฮฺไม่ทรงรักผู้ละเมิดรุกราน (2:190)แท้จริง นี่คืออิสลาม ศาสนาแห่งความเมตตา ความยุติธรรม เป็นสารที่ครอบคลุมและสมดุล ซึ่งโลกไม่อาจจะหลุดพ้นจากปัญหาต่างๆ อันมากมายและเลวร้ายที่ทับถมอยู่ตอนนี้ได้ นอกจากด้วยวิถีทางนี้เท่านั้นจุดประสงค์ของสงครามในอิสลามอย่างไรก็ตาม อิสลามไม่สนับสนุนสู่การทำสงครามและไม่อนุญาตให้มีการประกาศสงครามไม่ว่าในกรณีใด ๆ เว้นแต่ด้วยความจำเป็นอย่างที่สุด และมีจุดประสงค์ที่เป็นหนทางเพื่ออัลลอฮฺ ซึ่งต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ เงื่อนไขและจรรยาบรรณอันสูงส่ง และไม่มีผู้ใดสามารถประกาศสงครามเว้นแต่ผู้นำสูงสุดของมุสลิม ไม่ใช่ตามความต้องการของผู้ใดผู้หนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่มากไปกว่านั้นคือไม่อนุญาตให้มีสงครามนอกเสียจากต้องผ่านกระบวนการเรียกร้องที่ถูกต้องสู่สันติภาพหรือการตอบรับอิสลามอย่างถูกต้องชอบธรรมก่อน และต้องไม่กระทำการโจมตีบุคคลใดหรือฝ่ายใด นอกจากเขาต้องรับผิดชอบในผลแห่งการกระทำนั้นทั้งในด้านศาสนบัญญัติและกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้1. ตอบโต้ความอยุติธรรมและการรุกราน ปกป้องและพิทักษ์ชีวิต ครอบครัว ทรัพย์สิน ศาสนาและมาตุถูมิ2. ประกันเสรีภาพในด้านการศรัทธา และการปฏิบัติตามศาสนกิจ ที่บรรดาผู้รุกรานพยายามใส่ร้ายหรือกีดขวางมิให้มีเสรีภาพด้านความคิดและการนับถือศาสนา3. พิทักษ์การเผยแผ่อิสลามที่ค้ำชูความเมตตา ความสงบสันติ แก่มนุษยชาติ ให้แพร่กระจายอย่างทั่วถึงแก่มนุษย์ทั้งมวล4. ให้บทเรียนแก่ผู้ละเมิดสัญญา หรือผู้รุกรานบรรดาผู้ศรัทธา หรือผู้ทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับคำสั่งของอัลลอฮฺ และปฏิเสธความยุติธรรม การประนีประนอม5. ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ถูกกดขี่ไม่ว่าเขาจะอยู่ ณ แห่งหนใด ปลดปล่อยและปกป้องเขาจากการรุกรานของเหล่าผู้กดขี่อัช-ชัรฺบีนีย์ นักปราชญ์ด้านนิติศาสตร์อิสลามในสมัยศตวรรษที่สิบฮิจเราะฮฺศักราชท่านหนึ่ง ได้อธิบายว่า "การกำหนดให้มีบัญญัติญิฮาดนั้น กำหนดให้มีไว้เป็นเครื่องมือเท่านั้น ไม่ใช่วัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย เพราะจุดประสงค์ของการทำสงครามจริงๆ แล้วคือการให้ทางนำ(สู่การนับถืออิสลาม) และเพื่อให้ได้ชะฮาดะฮฺ(การกล่าวปฏิญาณเข้ารับอิสลาม) สงครามไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อฆ่าผู้ปฏิเสธศรัทธา ดังนั้น ถ้าหากเป็นไปได้ที่จะให้ทางนำด้วยการใช้หลักฐานชี้แจงโดยไม่ต้องมีสงคราม แน่แท้ว่าย่อมต้องดีกว่าการทำสงครามเป็นที่สุด"[58] ท่านศาสนทูต(ขอความจำเริญและสันติจงมีแด่ท่าน)เป็นตัวอย่างที่ดีในการหลีกเลี่ยงการทำสงคราม โดยท่านได้ขอพรให้บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาที่คอยขัดขวางและให้ร้ายท่านว่า "โอ้ อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงประทานอภัยแก่หมู่พวกของข้าด้วยเถิด เพราะแท้จริงพวกเขานั้นไม่รู้จริง"[59] เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเห็นได้ชัดเจนถึงความแตกต่างระหว่างการก่อการร้ายซึ่งเป็นที่ต้องห้ามและนำไปสู่หายนะและความพินาศ กับการ ญิฮาดที่ถูกต้องตามหลักศาสนาซึ่งจะนำไปสู่การจรรโลงและสถาปนาความยุติธรรมและความปลอดภัย รวมทั้งขจัดรากเหง้าของการก่อการร้ายและการทำลายล้างอนึ่ง คำว่า "ญิฮาด" ณ ที่นี้หมายถึงญิฮาดที่เจาะจงเฉพาะการต่อสู้ในสงคราม ในขณะที่ข้อเท็จจริงของการญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺโดยรวมนั้นหมายถึง การทุ่มเทความพยายามเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่อัลลอฮฺโปรดปราน นั่นคือการศรัทธาและการปฏิบัติคุณงามความดี รวมถึงการขจัดปัดเป่าสิ่งที่อัลลอฮฺโกรธ[60] ดังนั้น ญิฮาดในอิสลามจึงครอบคลุมการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ที่มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่อิสลาม อันเป็นศาสนาแห่งพระผู้เป็นเจ้า เป็นศาสนาแห่งความเมตตา และสร้างความหมายอันสูงส่งนี้ให้เกิดขึ้นในชีวิตของมวลมนุษย์ เพื่อความสำเร็จอันเป็นเป้าประสงค์นั่นคือความผาสุกทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ดังนั้นในอิสลามจึงมีทั้งญิฮาดหรือการต่อสู้กับจิตใจของตนเอง ญิฮาดในด้านการศึกษา ญิฮาดในด้านการเผยแผ่อิสลาม ญิฮาดในด้านการอบรมเลี้ยงดู ญิฮาดในด้านการเขียนและเผยแพร่ความรู้ ญิฮาดในด้านการเมือง และในด้านอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต[61]ทั้งหลายทั้งปวงนั้น จะต้องไม่ออกไปจากบรรทัดฐานของความเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ เพราะอิสลามคือธงนำแห่งความดี ทางนำ ความประเสริฐและสันติภาพ การฆ่าผู้อื่นโดยมิชอบอิสลามเป็นศาสนาที่เอาโทษหนักในเรื่องของการหลั่งเลือดและคร่าชีวิตผู้อื่นโดยมิชอบ อัลลอฮฺได้มีดำรัสว่า ﴿مِنْ أَجْلِ ذَلِكَ كَتَبْنَا عَلَى بَنِي إِسْرائيلَ أَنَّهُ مَنْ قَتَلَ نَفْساً بِغَيْرِ نَفْسٍ أَوْ فَسَادٍ فِي الْأَرْضِ فَكَأَنَّمَا قَتَلَ النَّاسَ جَمِيعاً وَمَنْ أَحْيَاهَا فَكَأَنَّمَا أَحْيَا النَّاسَ جَمِيعاً﴾ (سورة المائدة:32) ความว่า ด้วยสาเหตุ(แห่งการฆ่ากันระหว่างมนุษย์ที่นำมาแต่ความหายนะ)ดังกล่าว เรา(หมายถึงอัลลอฮฺ)จึงได้กำหนดแก่ลูกหลานอิสราเอลว่า ผู้ใดที่ฆ่าชีวิตหนึ่งโดยมิชอบด้วยเหตุของการคร่าชีวิตอื่น(คือคนผู้นั้นไม่ใช่ฆาตกร) และไม่ใช่ด้วยเหตุของการก่อความเสียหายใดๆ บนหน้าแผ่นดิน นั่นเสมือนว่าเขาได้ฆ่าผู้คนทั้งหมดแล้ว และผู้ใดที่ให้ชีวิต(แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง)นั่นเสมือนว่าเขาได้ให้ชีวิตแก่ผู้คนทั้งหมดแล้ว (5:32)ท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา อัครสาวกท่านหนึ่งของท่านศาสนทูตได้อธิบายว่า ใครที่ฆ่าชีวิตหนึ่งที่อัลลอฮฺห้ามไม่ให้ฆ่า ก็เท่ากับเขาได้ฆ่าผู้คนทั้งหมด ส่วนความหมายของการให้ชีวิตนั้น คือการไม่ฆ่าชีวิตที่อัลลอฮฺห้ามไม่ให้ฆ่า ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิม และนั่นคือการให้ชีวิตแก่มนุษย์ทั้งมวล[62]และพึงรู้ว่า การหลั่งเลือดผู้บริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ต้องห้ามอย่างยิ่งในบัญญัติของอิสลาม จำเป็นต้องมีกระบวนการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและต้องผ่านการพิพากษาและวินิจฉัยอย่างละเอียดให้ดีที่สุด โดยสรุปแล้ว ไม่อนุญาตให้ฆ่าผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม นอกจากว่าเขาเป็นฆาตกรหรือนักรบในสงครามเท่านั้น อัลลอฮฺยังได้ตรัสอีกว่า﴿وَمَنْ يَقْتُلْ مُؤْمِناً مُتَعَمِّداً فَجَزَاؤُهُ جَهَنَّمُ خَالِداً فِيهَا وَغَضِبَ اللَّهُ عَلَيْهِ وَلَعَنَهُ وَأَعَدَّ لَهُ عَذَاباً عَظِيماً﴾ (سورة النساء: 93)ความว่า และผู้ใดที่ฆ่าผู้ศรัทธาโดยเจตนา(และโดยมิชอบ) แน่นอน ผลตอบแทนของเขาคือการทรมานในขุมนรกตลอดกาล และอัลลอฮฺทรงพิโรธต่อเขา พระองค์สาปแช่งเขา และพระองค์เตรียมไว้สำหรับเขาซึ่งการลงโทษที่ใหญ่หลวง (4:93)ท่านอิบนุ อับบาส ได้มีความเห็นหนักแน่นในเรื่องนี้ว่า ไม่มีการอภัยโทษจากอัลลอฮฺแก่ผู้ที่ฆ่าผู้ศรัทธาโดยเจตนา เพราะเขาต้องได้รับการลงโทษในขุมนรกตลอดกาล ซึ่งสวนกับความเห็นของนักวิชาการคนอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่เห็นว่าประตูแห่งการอภัยโทษจากอัลลอฮฺนั้นยังเปิดกว้างสำหรับเขาเสมอ[63]ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม อิสลามได้ห้ามการฆ่าผู้อี่นโดยมิชอบ เช่นเดียวกับที่ห้ามไม่ให้ฆ่ามุสลิม อิสลามยังได้ห้ามฆ่าผู้ปฏิเสธศรัทธาที่อยู่ภายใต้สนธิสัญญาหรือภายใต้การปกครองของรัฐอิสลามอีกด้วย และผู้ใดกระทำเช่นนั้น ถือว่าเขาได้ก่ออาชญากรรมอันร้ายแรงและใหญ่หลวงยิ่ง กระทั่งอัลลอฮฺได้ปิดกั้นเขาจากการเข้าสวรรค์ด้วยเหตุนี้ เพื่อเป็นการพิทักษ์ความมั่นคงและเสถียรภาพของสังคม และป้องกันการต่อสู้ห้ำหั่นและความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ ท่านศาสนทูต(ขอความจำเริญและสันติมีแด่ท่าน)จึงได้มีวจนะว่า "ผู้ใดฆ่ามุอาฮัดหรือผู้ปฏิเสธศรัทธาที่อยู่ในสัญญา (ในรายงานหนึ่งมีว่า ผู้ใดฆ่าคนหนึ่งคนใดในหมู่ชาวซิมมีย์หรือผู้ปฏิเสธศรัทธาที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐอิสลาม) แน่นอน เขาจะไม่ได้สัมผัสกลิ่นของสวรรค์"[64] "ผู้ใดที่ฆ่ามุอาฮัดหรือผู้ปฏิเสธศรัทธาที่อยู่ในสัญญา โดยมิชอบ แน่นอน อัลลอฮฺจะทรงห้ามไม่ให้เขาได้เข้าสวรรค์"[65]"มุอาฮัด" หมายถึง ผู้ที่มีสัญญาสันติภาพระหว่างเรากับเขา ส่วนใหญ่ที่กล่าวถึงในวจนะของท่านศาสนทูตมักจะหมายถึงผู้ปฏิเสธศรัทธาที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐอิสลาม และอาจจะรวมถึงผู้ปฏิเสธศรัทธาคนอื่นๆ ที่มีสนธิสัญญาหรือข้อตกลงไม่ทำสงครามในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง[66] อัลกุรอาน แหล่งบังเกิดของสันติภาพไม่เป็นการแปลกเลยหากเราทราบว่าธรรมนูญของอิสลามคืออัลกุรอานนั้น ถูกประทานลงมาในค่ำคืน "อัล-ก็อดรฺ" ที่มีลักษณะระบุไว้ใน อัลกุรอานว่า﴿سَلامٌ هِيَ حَتَّى مَطْلَعِ الْفَجْرِ﴾ (القدر: 5)ความว่า คืนนั้นเปี่ยมด้วยความศานติ จนกระทั่งรุ่งอรุณ(97:4)นี่คือมหาคัมภีร์แห่งพระผู้เป็นเจ้า คัมภีร์แห่งศาสนาอิสลาม อันเป็นแหล่งบังเกิดสันติภาพมากมาย นั่นคือ-    สันติภาพที่ปลอดจากความเท็จและอวิชชาทุกประการ-    สันติภาพที่ปลอดจากอบายมุขและความผิดบาปทุกประการ-    สันติภาพที่ปลอดจากความอยุติธรรมและการละเมิดรุกรานทุกประการ-    สันติภาพที่ปลอดจากการกดขี่และการร่วมมือสมคบคิดมุ่งร้ายทุกประการ-    สันติภาพที่ปลอดจากความชั่วและความเลวร้ายทุกประการ-    สันติภาพที่ปลอดจากการตั้งภาคีและการอุตริทุกประการ-    สันติภาพที่ปลอดจากการปฏิเสธและการสับปลับทุกประการ-    สันติภาพที่ปลอดจากโรคร้ายและทุกข์ภัยทุกประการ-    สันติภาพที่ปลอดจากการกระซิบกระซาบของมารร้ายและการล่อลวงของดัจญาล(ตัวโกลที่จะปรากฏขึ้นก่อนวันสิ้นโลก)-    สันติภาพที่ปลอดจากการทรมานในไฟนรกและที่พักอันเลวร้ายในปรโลกไม่เป็นที่สงสัยอีกว่า สันติภาพนั้นมีเส้นทางมากมายที่กำเนิดขึ้นจากการชี้นำของอัลกุรอาน ในกรอบที่ดำเนินโดยท่านศาสนทูต(ขอความสันติจากอัลลอฮฺจงมีแด่ท่าน) และปวงสาวกที่ได้รับความโปรดปราน รวมทั้งบรรดาผู้ติดตามพวกเขาจวบจนวันแห่งการตอบแทน นั่นคือเส้นทางที่เป็นด้านของการปฏิบัติจริงของมนุษย์ในการใช้ทางนำของ อัลกุรอานแห่งพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า﴿قَدْ جَاءَكُمْ مِنَ اللَّهِ نُورٌ وَكِتَابٌ مُبِينٌ، يَهْدِي بِهِ اللَّهُ مَنِ اتَّبَعَ رِضْوَانَهُ سُبُلَ السَّلامِ وَيُخْرِجُهُمْ مِنَ الظُّلُمَاتِ إِلَى النُّورِ بِإِذْنِهِ وَيَهْدِيهِمْ إِلَى صِرَاطٍ مُسْتَقِيمٍ﴾ (المائدة : 15-16)ความว่า แท้จริงได้มายังพวกเจ้าจากอัลลอฮฺ ซึ่งแสงสว่างและคัมภีร์ที่ชัดแจ้ง ที่อัลลอฮฺทรงใช้มันชี้ทางแก่บรรดาผู้ที่ปฏิบัติตามความพอพระทัยของพระองค์ สู่เส้นทางแห่งสันติภาพ และพระองค์ทรงนำพวกเขาออกจากความมืดมนสู่แสงสว่างด้วยการอนุมัติของพระองค์ และพระองค์ทรงชี้ทางพวกเขาสู่เส้นทางที่เที่ยงตรง (5:15-16)นี่คือสันติภาพที่ศาสนานี้ได้กำหนดไว้ในทุกๆ ระบอบการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ...-    สันติภาพของปัจเจกชนและกลุ่มพวก-    สันติภาพของประเทศชาติและโลกทั้งมวล-    สันติภาพของสติปัญญาและจิตวิญญาณ-    สันติภาพของตัวตนและอวัยวะในร่างกาย-    สันติภาพของบ้านและครอบครัว-    สันติภาพของสังคมและประชาชาติ-    สันติภาพในการมีชีวิตและหลังความตาย-    สันติภาพในโลกนี้และโลกหน้าเป็นสันติภาพที่แท้จริงที่มนุษยชาติไม่เคยพบและไม่มีวันพบนอกจากในศาสนาอิสลามนี้ สันติภาพที่ไม่มีผู้ใดสามารถซาบซึ้งถึงข้อเท็จจริงของมันได้ นอกจากผู้คนที่เคยต้องลิ้มรสสงครามแห่งความวุ่นวายและหายนะที่เกิดจากความเชื่อและกฎบัญญัติในยุคอันป่าเถื่อนที่ฝังลึกอยู่ในชีวิตแท้จริง ย่อมไม่เป็นวิสัยของสำนึกที่ดีถ้าหากผู้ใดจะนำความรุนแรงและการก่อการร้ายมาปะติดปะต่อหรือเชื่อมโยงกับศาสนาอิสลามที่ประกาศอย่างชัดเจนในคัมภีร์อัลกุรอานว่า ห้ามคร่าชีวิตมนุษย์นอกเสียจากด้วยเหตุที่ถูกต้องชัดเจนตามหลักบัญญัติทางศาสนาและผ่านกระบวนการตัดสินพิพากษา อัลลอฮฺได้ตรัสว่า﴿وَلا تَقْتُلُوا النَّفْسَ الَّتِي حَرَّمَ اللَّهُ إِلاَّ بِالْحَقِّ ﴾ (الأنعام : 151)ความว่า และพวกเจ้าอย่าฆ่าชีวิตใดที่อัลลอฮฺได้ห้ามไว้ เว้นแต่ด้วยความถูกต้อง(ด้วยเหตุที่อนุญาติให้กระทำได้) (6:151)ด้วยเหตุนี้เหล่าอุละมาอฺ(ปราชญ์มุสลิม) จึงมีความเห็นว่า เป็นการต้องห้ามที่จะฆ่าผู้ใดก็ตามเพียงเพราะเขาไม่ใช่ผู้ศรัทธา เพราะไม่มีการบังคับในการนับถือศาสนาอิสลาม อัลลอฮฺได้ตรัสว่า﴿لا إِكْرَاهَ فِي الدِّينِ ﴾ (سورة البقرة: 256)ความว่า ไม่มีการบังคับในการนับถือศาสนา(อิสลาม) (2:256)บทลงโทษสำหรับผู้ทำลายสันติภาพเพื่อเป็นการตอกย้ำถึงการพิทักษ์สันติภาพ อิสลามได้กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่กระทำการใดๆ อันจะนำไปสู่การบั่นทอนสันติภาพในสังคมมนุษย์ อาทิเช่น บทลงโทษสำหรับผู้ก่อการทะเลาะวิวาท การลักขโมย การฆ่าผู้อื่น และการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้นอิสลามยังกำหนดโทษอันหนักหน่วงกับอาชญากรผู้ก่อภยันตรายความวุ่นวาย และความไม่สงบสุขต่อชีวิต ทรัพย์สินและเกียรติของมนุษย์ อัลลอฮฺได้ตรัสว่า﴿إِنَّمَا جَزَاءُ الَّذِينَ يُحَارِبُونَ اللَّهَ وَرَسُولَهُ وَيَسْعَوْنَ فِي الْأَرْضِ فَسَاداً أَنْ يُقَتَّلُوا أَوْ يُصَلَّبُوا أَوْ تُقَطَّعَ أَيْدِيهِمْ وَأَرْجُلُهُمْ مِنْ خِلافٍ أَوْ يُنْفَوْا مِنَ الأَرْضِ﴾ (المائدة : 33)ความว่า แท้จริงแล้ว ผลตอบแทนของบรรดาผู้ที่ก่อสงครามกับอัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ และพยายามสร้างความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน คือ(การลงโทษด้วย)การประหารชีวิต หรือตรึงด้วยไม้กางเขน หรือตัดมือตัดเท้าด้วยการสลับข้าง หรือเนรเทศออกจากแผ่นดิน (5:33)สุดท้ายนี้ จึงขอเชิญชวนทุกท่านไม่ว่าจะเป็นปัจเจกบุคคล องค์กรระดับชาติ หรือระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดานักวิชาการทั้งหลาย ขอให้ศึกษารายละเอียดของอิสลามอย่างถี่ถ้วนโดยอาศัยอัลกุรอานและคำสั่งสอนของท่านศาสนทูต(ขอความจำเริญและความสันติจงมีแด่ท่าน) โดยผ่านตำราการอธิบายของนักวิชาการอิสลามซึ่งเป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่ศึกษาจากแหล่งข้อมูลที่บิดเบือนด้วยการแทรกซึมของพวกตะวันตกบางพวก รวมทั้งผู้ที่ไม่รู้จริงเกี่ยวกับอิสลาม เพราะแท้จริงอิสลามคือศาสนาที่สามารถสร้างสันติภาพและความปลอดภัยให้กับมนุษย์ทั้งมวล และเคยปักธงแห่งสันติภาพได้สำเร็จมาแล้วในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติช่างน่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง กับบรรดาผู้ที่ตัดสินปฏิเสธอิสลาม หรือแม้กระทั่งแสดงความเกลียดชัง โดยที่ไม่ได้ศึกษาและเข้าถึงแก่นแท้ของคำสอนอิสลามเสียก่อน ! ขออัลลอฮฺทรงชี้ทางพวกเขาด้วยเถิดในขณะเดียวกัน เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเชิญชวนให้มีการสนทนาระหว่างศาสนาและการพูดคุยทางวิชาการเพื่อเป้าประสงค์อันงดงามด้วยวิธีการที่ดีที่สุด เราขอเชิญชวนให้ทุกคนน้อมรับอิสลามและความโปรดปรานของอัลลอฮฺอันเป็นหนทางแห่งสันติภาพที่แท้จริงโดยพร้อมเพรียงกัน อิสลามคือศาสนาเดียวที่ได้รับการพิทักษ์จากพระผู้เป็นเจ้าให้คงอยู่โดยปลอดจากการบิดเบือนและการเปลี่ยนแปลง อัลกุรอานอันเป็นคัมภีร์ที่ถูกประทานโดยอัลลอฮฺและได้รับการพิทักษ์รักษาจากพระองค์ไม่ให้มีการแก้ไขปลอมแปลงใดๆ ทั้งสิ้น อัลกุรอานที่มีอยู่ทุกวันนี้คือ อัลกุรอานฉบับเดียวกันกับที่ถูกประทานลงมาให้ท่านศาสนทูตมุหัมมัด(ขอความจำเริญและสันติมีแด่ท่าน) ตั้งแต่ 1,400 กว่าปีมาแล้ว เป็นมหาคัมภีร์ที่บริสุทธิ์ ไม่มีการคละเคล้าปะปนด้วยอารมณ์ใฝ่ต่ำของมนุษย์ ไม่มีความเท็จทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ทว่าเป็นการประทานจากองค์อภิบาลผู้ทรงปรีชาและทรงรอบรู้ยิ่งขอได้สดับฟังและตอบรับคำเชิญชวนของอัลลอฮฺสู่สันติภาพที่แท้จริงและครอบคลุม ซึ่งพระองค์ได้ตรัสไว้ว่า﴿يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا ادْخُلُوا فِي السِّلْمِ كَافَّةً وَلا تَتَّبِعُوا خُطُوَاتِ الشَّيْطَانِ إِنَّهُ لَكُمْ عَدُوٌّ مُبِينٌ﴾ (البقرة: 208)ความว่า โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเข้าอยู่ในความสันติโดยทั่วทั้งหมด และจงอย่าตามย่างก้าวของชัยฏอน แท้จริงมันคือศัตรูที่ชัดแจ้งของพวกเจ้า (2:208)นี่คือคำเชิญชวนสู่สันติภาพอันเที่ยงแท้ มิใช่เช่นความเป็นจริงในปัจจุบันที่เจ็บปวดซึ่งกำลังเกิดขึ้นในทุกมุมของโลก อันเกิดจากแผนการร้ายของเหล่าผู้ปฏิเสธที่ต้องการให้สังคมโลก โดยเฉพาะประเทศอิสลามหรือสังคมอิสลาม ต้องอยู่ในภาวะก้ำกึ่งระหว่าง "ไม่ใช่สันติภาพ" และ "ไม่ใช่สงคราม" โอ้ อัลลอฮฺ ข้าพระองค์ได้ประกาศแล้ว ขอพระองค์ทรงเป็นสักขีด้วย ! โอ้ อัลลอฮฺ ได้โปรดชี้ทางแก่พวกเรา และแก่หมู่พวกของเราทั้งหลาย เพราะโดยแท้แล้ว พวกเขานั้นไม่รู้จริง ! บทส่งท้ายในตอนท้ายนี้ ผู้เขียนใคร่สรุปว่าสันติภาพในอิสลามนั้น ถูกประทานลงมาจากเอกองค์อัลลอฮฺผู้ทรงอำนาจ มหาบริสุทธิ์ มหาศานติ ผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งความปลอดภัย ผู้ทรงชี้นำบุคคลที่ขวนขวายความโปรดปรานอันเป็นหนทางแห่งสันติภาพ พระองค์ได้แจ้งข่าวดีสำหรับบ่าวที่นอบน้อมและสวามิภักดิ์แด่ความเกรียงไกรของพระองค์ บรรดาศรัทธาชนที่ประกอบแต่คุณงามความดี มุ่งรักษาสันติภาพและเผยแพร่ความสงบสุข พวกเขาได้รับการตอบแทนจากอัลลอฮฺด้วยสรวงสวรรค์ดินแดนแห่งความสันติสุข ในวันที่พวกเขาได้พบกับพระองค์อย่างสันติ พวกเขาจะได้รับการเชิญชวนสู่สวรรค์ และใช้ชีวิตสงบสุขในวิมานนั้นอย่างนิรันดร์ ด้วยความโปรดปรานของพระองค์ การทักทายของพวกเขาในสวรรค์นั้นคือการกล่าวสลาม อันเป็นคำกล่าวแห่งความสันติ พวกเขาและเหล่าภรรยาจะพิงหลังบนเตียงภายใต้ร่มเงาอันแสนสบาย พวกเขาจะได้รับการบริการด้วยอาหารอันโอชะและทุกอย่างตามที่พวกเขาปรารถนา "สลาม" อันเป็นดำรัสทักทายจากพระเจ้าผู้ทรงเมตตา และพวกเขาจะวิงวอนว่า "มหาบริสุทธิ์เถิด พระองค์ผู้เป็นพระเจ้าของเรา" การทักทายของพวกเขาคือการกล่าวสลาม และสุดท้ายพวกเขาจะวิงวอนต่ออัลลอฮฺว่า "มวลการสดุดีเป็นอภิสิทธิ์แห่งอัลลอฮฺผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล"﴿قُلِ الْحَمْدُ لِلَّهِ وَسَلامٌ عَلَى عِبَادِهِ الَّذِينَ اصْطَفَى آللَّهُ خَيْرٌ أَمَّا يُشْرِكُونَ﴾ (النمل : 59)ความว่า จงกล่าวเถิด บรรดาการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ และความศานติจงมีแด่ปวงบ่าวของพระองค์ ผู้ซึ่งพระองค์ทรงคัดเลือกแล้ว (สำนึกเถิดว่า)อัลลอฮฺนั้นดีกว่าหรือว่าสิ่งที่พวกเขาตั้งเป็นภาคี? (27:59)أقول قولي هذا وأستغفر الله لي ولكم، وأفوض أمري إلى الله إن الله بصير بالعباد، وصلى الله على نبينا محمد وعلى أله وصحبه وسلم، سبحان ربك رب العزة عما يصفون وسلام على المرسلين والحمد لله رب العالمين[1]  มุสลิม (หมายเลข 1641)[2]   อะหฺมัด (4:130), อัต-ติรมิซีย์ (หมายเลข 2863), อิบนุ คุซัยมะฮฺ (หมายเลข 1895), อัล-หากิม (1:421) โดยท่านได้กล่าวว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ และอิมามซะฮะบีย์เห็นด้วย[3]  อะหฺมัด (2:362)[4]  มุสลิม (หมายเลข 54), อัล-บุคอรีย์. อัล-อะดับ อัล-มุฟร็อด (หมายเลข 980)[5] อะหฺมัด (4:86), อัล-บุคอรีย์. อัล-อะดับ อัล-มุฟร็อด (หมายเลข 1266), อิบนุ หิบบาน (หมายเลข 1934), อัล-อัลบานีย์. รวมหะดีษเศาะฮีหฺ (หมายเลข 1493) เป็นหะดีษหะสัน[6]  อัต-เฏาะบะรอนีย์. อัล-มุอฺญัม อัศ-เศาะฆีรฺ (หมายเลข 335), อัล-อัลบานีย์. เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ (หมายเลข 977) เป็นหะดีษเศาะฮีหฺ[7]  อบูดาวูด (หมายเลข 5175), อัต-ติรฺมิซีย์ (หมายเลข 2694), อัล-อัลบานีย์. เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ (หมายเลข 5997) เป็นหะดีษหะสัน  [8]  อัล-บุคอรีย์. อัล-อะดับ อัล-มุฟร็อด (หมายเลข  1040) ด้วยสายรายงานที่เศาะฮีหฺ[9]  อัล-บุคอรีย์. อัล-อะดับ อัล-มุฟร็อด (หมายเลข  968) ด้วยสายรายงานที่เศาะฮีหฺถึงเศาะหาบะฮฺ[10]  อัล-บุคอรีย์ (หมายเลข  5570,5786), มุสลิม (หมายเลข 4027)[11]  มุสลิม (หมายเลข 591)[12] อัล-บุคอรีย์ (หมายเลข 3535), มุสลิม (หมายเลข 2286)   [13] อัต-เฏาะบะรอนีย์. อัล-มุอฺญัม อัล-กาบีรฺ  (หมายเลข 10277), อบู ยะอฺยา. อัล-มุสนัด (2:234), อัล-หากิม. อัล-มุสตัดร็อก (หมายเลข 17706)   [14] อัล-บุคอรีย์ (หมายเลข 7376) [15]  อัล-บุคอรีย์ (หมายเลข 6066), มุสลิม (หมายเลข 6477,6482-6486)[16]  อัล-บุคอรีย์ (หมายเลข 10), มุสลิม (หมายเลข 40)[17]  อะหฺมัด. อัล-มุสนัด (6:21-22), อัล-บะฆอวีย์. ชัรหุส สุนนะฮฺ (1:29), อัล-อัลบานีย์. รวมหะดีษเศาะฮีหฺ (หมายเลข 549) [18]  อัล-บุคอรีย์ (4:142), มุสลิม (หมายเลข 6085)[19]  อัล-บุคอรีย์ (หมายเลข 7070), มุสลิม (หมายเลข 2625)[20]  อัล-บุคอรีย์ (หมายเลข 7072), มุสลิม (หมายเลข 2617)[21]  มุสลิม (หมายเลข 4517)[22]  อะหฺมัด (1:126), อัต-ติรฺมิซีย์ (2:256),  อัล-หากิม (4:285), อัด-ดารีมีย์ (2:4), อัล-อัลบานีย์. รวมหะดีษเศาะฮีหฺ (หมายเลข 1816) เป็นหะดีษหะสัน[23] อัล-อิซฺ อิบนุ อับดุสสลาม. เกาะวาอิดุล อะหฺกาม (1:9), อัส-สุยูฏีย์. อัล-อัชบาฮฺ วัน-นะซออิรฺ (หน้า 78, 105), อิบนุ บะคีม. อัล-อัชบาฮฺ วัน-นะซออิรฺ (หน้า 90)[24] มาลิก. อัล-มุวัฏเฏาะอฺ (หมายเลข 31) มุรซัล, อะหฺมัด (1:313, 5:326-327), อิบนุ มาญะฮฺ (หมายเลข 2340,2341), อัด-ดารฺก็อฏนีย์ (หมายเลข 522), อัล-หากิม (2:57-58), อัล-บัยฮะกีย์. อัส-สุนัน อัล-กุบรอ (6:69-70) มัรฟูอฺ, อัล-อัลบานีย์. รวมหะดีษเศาะฮีหฺ (หมายเลข 149) เป็นหะดีษเศาะฮีหฺ[25]  อัล-บุคอรีย์ (หมายเลข 1894,1904)[26]  อัต-ติรมิซีย์ (หมายเลข 659), อัด-ดาริมีย์ (1:385), อัล-อัลบานีย์. ตัฆรีจ อะหาดีษฺ มุชกิละตุล ฟักรฺ (หมายเลข 103) เป็นหะดีษเฎาะอีฟ[27] อัล-บัซซารฺ. กัชฟุล อัสตารฺ (หมายเลข 119), อัต-เฏาะบะรอนีย์. อัล-มุอฺญัม อัล-กะบีรฺ (1:66), อัล-อัลบานีย์. รวมหะดีษเศาะฮีหฺ (หมายเลข 149) เป็นหะดีษเศาะฮีหฺ[28] อัล-บุคอรีย์ อ้างจาก อัล-อัลบานีย์. เศาะฮีหฺ อัล-อะดับ อัล-มุฟร็อด (หมายเลข 847)[29] อิบนุ กุมามะฮฺ. อัล-มุฆนีย์ (13:200)[30]  อัล-บุคอรีย์ (หมายเลข 3482), มุสลิม (หมายเลข 6915)[31]  อัล-บุคอรีย์ (หมายเลข 2363), มุสลิม (หมายเลข 2244)[32]  ธอมัส อาร์โนลด์. อัด-ดะอฺวะฮฺ อิลัล อิสลาม (The Preaching of Islam) (หน้า 99)[33]  อัล-กุรฏุบีย์. อัล-ญามิอฺ ลิ อะหฺกามิล กุรอาน (12:70)[34]  อัล-บัยฎอวีย์. อันวารุต ตันซีล (3:223)[35] อิบนุ กะษีรฺ. ตัฟสีร อัลกุรอานิล อะซีม (2:6-7)[36] อัล-กุรฏุบีย์. อัล-ญามิอฺ ลิอะหฺกามิล กุรอาน (6:110)[37] มุหัมมัด เราะชีด ริฎอ. ตัฟซีรุล มะนารฺ (10:140)[38] อะหฺมัด. อัล-มุสนัด (1:90) ภาคเพิ่มเติมโดยอับดุลลอฮฺ บุตรชายของท่าน[39] อัล-บัยหะกีย์. ดะลาอิลุน นุบุ๊วะฮฺ (5:32), อิบนุ กะษีรฺ. อัล-บิดายะฮฺ วะ อัน-นิฮายะฮฺ (3:291)[40] อะหฺมัด (5:135), อัต-ติรมิซีย์ (4:361-362), อัล-หากิม (2:359), เป็นรายงานที่หะสัน อ้างจาก : อักร็อม ฎิยาอฺ อัล-อุมะรีย์. อัส-สีเราะฮฺ อัน-นะบะวิยะฮฺ อัศ-เศาฮีหะฮฺ (2:481)[41] อบู อุบัยดฺ. อัล-อัมวาล (หน้า 143) อ้างจาก : อักร็อม ฎิยาอฺ อัล-อุมะรีย์. เล่มเดียวกัน[42] อัล-บุคอรีย์ อ้างจาก ฟัตฮุล บารีย์ (6:360), มุสลิม (3:1420)[43] กุสตาฟ เลอ บอง. หะฎอเราะตุล อะหรับ (La Civilisation des Arabes) (หน้า 329-330)[44] อ้างจาก อับดุรเราะห์มาน อัล-บาชา.  ศุวัรฺ มิน หะยาต อัต-ตาบิอีน (หน้า 420)[45]  อิบนุ กะษีรฺ. ตัฟสีรฺ อัลกุรอานิล อะซีม (1:386)[46]  อัล-บะเฆาะวีย์. มะอาลิมุต ตันซีล (4:331)[47]  อิบนุล อะเราะบีย์ อ้างจาก อัล-กุรฏุบีย์. อัล-ญามิอฺ ลิ อะหฺกามิลกุรอาน (18:59)[48]  อัล-บุคอรีย์ (5:233), มุสลิม (2:696)[49]  กะยา อัล-ฮะรอส. อะหฺกามุล กุรอาน  (4:461), อิบนุ หะญัร. ฟัตหุล บารีย์ (5:234)[50]  อัล-บุคอรีย์ (หมายเลข 3004), มุสลิม (4:1975)[51]  มุสลิม (หมายเลข 2255-2256)[52]  อัล-บุคอรีย์ (หมายเลข 1268)[53]  อัล-บะลาซิรีย์. ฟุตูหุล บุลดาน  (หน้า 139), อบู ยูซุฟ. อัล-เคาะรอจญ์  (หน้า 139)[54]  Zanghrid Honikah. ชัมซุล อะหรับ ตัสฏะอฺ อะลัล ฆ็อรฺบิ  (หน้า 364)[55]  กุสตาฟ เลอ บอง. อ้างแล้ว  (หน้า 344)[56]  ธอมัส อาร์โนลด์. อ้างแล้ว  (หน้า 73)[57]  อัล-บุคอรีย์ (หมายเลข 7)[58]  อัช-ชัรฺบีนีย์. มุฆนีย์ อัล-มุหตาจญ์  (4:210)[59]  มุสลิม (3:1417)[60]  อิบนุ ตัยมิยะฮฺ. มัจญ์มูอฺ อัล-ฟะตาวา  (1:191-192)[61]  ดู อิบนุ หะญัร. ฟัตหุล บารีย์ (6:3)[62]  อิบนุ กะษีรฺ อ้างจาก อัล-มิศบาหุล มุนีร  (หน้า 372)[63]  อิบนุ กะษีรฺ อ้างจาก อัล-มิศบาหุล มุนีร  (หน้า 315)[64]  อัล-บุคอรีย์ (หมายเหตุ 3166)[65]  อบู ดาวูด (หมายเลข 2760), อัน-นะสาอีย์ (8:24)[66]  อิบนุ มันซูร. ลิสานุล อะหรับ  (3:313)

المرفقات

2

อิสลามศาสนาแห่งสันติภาพ
อิสลามศาสนาแห่งสันติภาพ