البحث

عبارات مقترحة:

الملك

كلمة (المَلِك) في اللغة صيغة مبالغة على وزن (فَعِل) وهي مشتقة من...

السلام

كلمة (السلام) في اللغة مصدر من الفعل (سَلِمَ يَسْلَمُ) وهي...

المتكبر

كلمة (المتكبر) في اللغة اسم فاعل من الفعل (تكبَّرَ يتكبَّرُ) وهو...

ความรู้และความเข้าใจแก่นแท้ของอิสลาม คือรากฐานแห่งสันติภาพ

التايلاندية - ไทย / Phasa Thai

المؤلف อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกียา ، ซุฟอัม อุษมาน
القسم مقالات
النوع نصي
اللغة التايلاندية - ไทย / Phasa Thai
المفردات الدعوة إلى الإسلام - تعريف الإسلام
วิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งสันติภาพในอิสลาม พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของสันติภาพตามคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า.

التفاصيل

มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ ผู้ทรงอภิบาลสากลโลก ขออัลลอฮฺทรงประสาทพรและความสันติแด่ท่านนบีมูฮำมัด(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) บรรดาวงศ์วาน และเหล่าเศาะฮาบะฮฺของท่านตลอดจนบรรดาผู้เจริญรอยตามแนวทางของชนเหล่านั้นด้วยดีและสมบูรณ์จวบจนวันแห่งการตัดสิน อิสลามคือ ศาสนาของอัลลอฮฺที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้และทางนำจากพระองค์ บทปฐมโองการของอัลกรุอานซึ่งมีจำนวน  5  โองการ  ที่อัลลอฮฺทรงประทานแก่นบีมูฮำมัด(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เริ่มต้นด้วยประโยคว่า اقْرَأْ بِاسْمِ رَبِّكَ الذِيْ خَلَقَ (จงอ่านด้วยพระนามของพระผู้อภิบาลของเจ้าผู้ทรงสร้าง) ซึ่งโดยมีคำว่า اقرأ (อิกเราะอ์)  อันหมายถึง  “จงอ่าน” ซึ่งมีการทวนซ้ำจำนวน  2  ครั้ง และมีคำว่า القلم  (อัล-กอลัม) อันหมายถึง “ปากกา” ปรากฏในบทปฐมโองการดังกล่าวด้วย  และคล้อยหลังจากนั้นไม่นาน อัลลอฮฺทรงประทานโองการว่า ن، وَالْقَلَمِ وَمَا يَسْطُرُونَ (นูน ขอสาบานด้วยปากกาและสิ่งที่พวกเจ้าขีดเขียน) อันแสดงถึงการให้ความสำคัญของอิสลามต่อความรู้และกระบวนการเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะการอ่านและการเขียนบันทึกไม่เพียงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญยิ่งต่อกระบวนการเรียนรู้ของมนุษยชาติเท่านั้น หากเป็นบ่อเกิดแห่งความเข้าใจอันนำมาซึ่งปัญญาที่แท้จริงอีกด้วย มนุษย์ในทุกยุคทุกสมัยจำเป็นต้องอาศัยการอ่านและการเขียนบันทึกในการรวบรวมและถ่ายถอดความรู้ โดยที่ทั้งสองกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวได้มีการวิวัฒนาการตามยุคสมัยจนกระทั่งมีความเจริญสูงสุดในยุคปัจจุบัน  ความเข้าใจที่เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาจึงเป็นเป้าหมายสูงสุดในอิสลามและเป็นพรอันประเสริฐของอัลลอฮฺที่ทรงประทานให้แก่บ่าวของพระองค์ นบีมูฮำมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวไว้ความว่า “ ใครก็ตามที่อัลลอฮฺประสงค์ให้ความดีแก่เขา อัลลอฮฺจะทรงให้เขาเข้าใจในกิจการศาสนา” (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์/71และมุสลิม/1037) ศาสนาในที่นี้ก็คืออิสลามอันหมายถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ที่ครอบคลุมและครบวงจร บนหลักการดังกล่าว อิสลามจึงไม่อนุญาตให้มุสลิมเป็นผู้ที่ไม่รู้ (ญาฮิล) หรือประกอบศาสนกิจใดๆในสภาพที่ตนเองไม่เข้าใจ และไม่รู้เรื่องต่อศาสนกิจนั้นๆโดยเด็ดขาด  เพราะถึงแม้ยังไม่สามารถยกระดับขึ้นเทียบฐานะของผู้รู้ (อาลิมหรืออุละมาอ์) แต่มุสลิมยังสามารถจัดอยู่ในกลุ่มของปุถุชน (อะวาม) โดยการอนุโลม แต่เขาไม่ได้รับการอนุญาตให้ลดฐานะถึงระดับผู้ไม่รู้ (ญาฮิล) โดยเด็ดขาด อัลลอฮฺได้ประทานอิสลามเพื่อเป็นวิถีชีวิตแก่มนุษยชาติตั้งแต่มนุษย์คนแรกที่เกิดมาบนโลกนี้ในฐานะศาสนทูตคืออาดัม และได้รับการสืบทอดอย่างต่อเนื่องจากบรรดาศาสนทูต เริ่มตั้งแต่นบีนูหฺ(โนอาห์)จนกระทั่งนบีอิบรอฮีม(อับราฮัม) นบีมูซา(โมเสส) และนบีอีซา(เยซู) (ขออัลลอฮฺทรงประทานความสันติสุขแก่บรรดานบีเหล่านั้น) โดยที่การสืบทอดในลักษณะเช่นนี้ ได้สิ้นสุดลงที่นบีมูฮำมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ผู้เป็นนบีคนสุดท้ายผ่านการประทานอัลกุรอานซึ่งเป็นคัมภีร์เล่มสุดท้ายเช่นเดียวกันเพื่อเป็นทางนำสำหรับมนุษยชาติในการดำเนินชีวิตที่ประสบความสำเร็จทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ในฐานะนบีคนสุดท้าย นบีมูฮำมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ประกาศและเผยแพร่ความรู้ตลอดจนถ่ายทอดวิทยาการแก่มนุษยชาติอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่มีสิ่งใดที่ยังประโยชน์แก่ชีวิตมนุษย์ทั้งโลกนี้และโลกหน้าเว้นแต่ท่านนบีมูฮำมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ส่งเสริมสนับสนุนพร้อมสั่งใช้ให้กระทำ และไม่มีสิ่งใดที่ก่ออันตรายแก่ชีวิตมนุษย์ทั้งโลกนี้และโลกหน้าเว้นแต่ท่านนบีมูฮำมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ตักเตือนพร้อมสั่งห้ามปฏิบัติ หน้าที่หลักของมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัยก็คือการค้นหาสัจธรรมและรวบรวมวิทยาการที่ท่าน นบีมูฮำมัด(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)ได้ฝากทิ้งไว้ พร้อมประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์แห่งอิสลามอันแท้จริง และผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เผยแพร่สัจธรรมดังกล่าวหลังจากการเสียชีวิตของท่านนบีมูฮำมัด(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็คือบรรดาอุละมาอ์(ผู้รู้)ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นทายาทของบรรดาศาสนทูต ดังปรากฏในหะดีษที่นบีมูฮำมัด(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวไว้ความว่า “แท้จริงบรรดาอุละมาอ์(ผู้รู้ในศาสนา) คือ ทายาทผู้สืบทอดมรดกจากเหล่าศาสนทูต ”  (รายงานโดยอะหมัด 5/196) ท่ามกลางความสับสนอลหม่านและไฟฟิตนะฮฺ (การทดสอบจากอัลลอฮฺ) กำลังลุกโชนและเผาไหม้สรรพสิ่งทั่วทุกอณูพื้นที่ในสังคมยุคโลกาภิวัตน์ มนุษยชาติทุกหมู่เหล่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจอิสลามอย่างลึกซึ้งในฐานะที่เป็นศาสนาของอัลลอฮฺผู้สร้างโลกและมนุษย์รวมทั้งทุกสรรพสิ่งที่ได้รับการตอบรับจากประชาชาติทั่วทุกมุมโลกโดยไม่มีเส้นแบ่งความแตกต่างด้านภาษา สีผิว และชาติพันธุ์ และนับเป็นปรากฏการณ์อันน่าอัศจรรย์ยิ่งกับสัจธรรมที่ว่าหลังจากการเผยแผ่อิสลามนานนับกว่า 14 ศตวรรษ ชนที่ไม่ใช่ชาวอาหรับกลับตอบรับเข้าสู่ทางนำอิสลามมากกว่าชาวอาหรับซึ่งเป็นแหล่งต้นกำเนิดดั้งเดิมของศาสนานี้ด้วยซ้ำไป หากศึกษาอย่างวิเคราะห์เจาะลึกเข้าไปอีก จะพบว่า ผู้คนที่สร้างคุณูปการต่อศาสนานี้ในอดีตมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ใช่ชาวอาหรับ บรรดานักวิชาการเหล่านั้นได้ทุ่มเทความพยายามด้วยการผลิตผลงานทางวิชาการและแต่งตำราต่างๆที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์อิสลามมากมาย เป็นไปได้หรือไม่ที่ศาสนานี้เผยแผ่ด้วยคมดาบ และคมดาบมีพลานุภาพอันมหาศาลในการบังคับจิตใจและความรู้สึกของผู้คนที่มีการสืบทอดจากอนุชนแล้วอนุชนเล่าถึงระดับนี้เชียวหรือ มนุษย์ทุกหมู่เหล่ามีความจำเป็นศึกษาอิสลามจากแหล่งองค์ความรู้ที่มีความยุติธรรมและปราศจากอคติ  หาไม่แล้วก็จะเป็นชนวนแห่งความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงอย่างไม่มีวันจบสิ้น ดังกรณีล่าสุด พระเจ้าสันตะปาปาองค์ที่ 16 ที่ได้เทศนาธรรมที่มหาวิทยาลัยรีเจนสเบอร์ก  ประเทศเยอรมัน  เมื่อวันที่  12  กันยายน  2006  ที่ผ่านมา  ที่มีเนื้อหาบางตอนที่จงใจใส่ร้ายความบริสุทธ์ของอิสลาม อันเป็นภาพสะท้อนของความไม่รู้ หรือความอคติที่ฝังลึกต่ออิสลามที่มีการเปิดเผยโดยผู้นำสูงสุดของคริสตศาสนานิกายคาทอลิกค์ที่ปฎิปักษ์ต่ออิสลามอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในฐานะมุสลิม เราจึงมีความจำเป็นกล่าวแก่บรรดาผู้ได้รับคัมภีร์ทั้งหลายด้วยดำรัสของอัลลอฮฺที่ได้กล่าวแก่บรรดาผู้ได้รับคัมภีร์ในอัลกุรอานมีความว่า “โอ้บรรดาผู้ได้รับคัมภีร์ทั้งหลาย  เพราะเหตุใดเล่าพวกเจ้าจึงบิดเบือนความจริงด้วยสิ่งเท็จ (ที่นักปราชญ์ของพวกเขาได้กุขึ้น) และปกปิดความจริงไว้  ทั้งๆที่พวกเจ้าก็รู้ดีอยู่”  (อาล อิมรอน /71) หากมนุษยชาติทั่วไปจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้อิสลามอย่างเข้าถึงแล้ว มุสลิมยิ่งมีความจำเป็นต้องศึกษาและเข้าใจอิสลามอย่างถึงแก่นอีกหลายเท่าตัว มุสลิมปัจจุบันจำเป็นต้องศึกษาวิธีการนำเสนอและการเผยแผ่อิสลามของเหล่าบรรพชนที่สามารถโน้มน้าวและเชิญชวนจิตใจผู้คนให้สนใจอิสลามด้วยวิธีการที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมและจริยธรรมอันสูงส่ง  พวกเขาได้ทำให้ธงอิสลามสะบัดพลิ้วด้วยความช่วยเหลือและทางนำของอัลลอฮฺ เพราะชัยชนะที่มั่นคงและยั่งยืนนั้นคือชัยชนะของวัฒนธรรมและอารยธรรมที่ถูกหลอมรวมเป็นวิถีชีวิตอันประเสริฐกว่า โดยที่บางครั้งผู้แพ้ยอมศิโรราบด้วยความสมัครใจ และยินยอมให้อารยธรรมของตนเองถูกกลืนโดยดุษฎีด้วยซ้ำไป แต่หากเป็นชัยชนะที่ตัดสินโดยอาศัยกองกำลังที่เหนือกว่า หรือชัยชนะบนคราบน้ำตา หยาดเลือด และชีวิตของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแล้ว จะไม่เป็นเพียงชัยชนะที่มีฐานอันเปราะบางเท่านั้น หากเป็นการบ่มเพาะความเกลียดชังและสะสมความแตกแยก ตลอดจนสร้างความร้าวฉานในสังคมอย่างไม่รู้จักจบสิ้น  หากศึกษาประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจในอดีตจะพบว่า ถึงแม้ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศที่ถูกยึดครองจะเปลี่ยนศาสนาตามประเทศมหาอำนาจแล้วก็ตาม แต่ชนพื้นเมืองเหล่านั้นก็ยังดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพ ถึงแม้ต้องแลกด้วยชีวิตและใช้เวลานานนับศตวรรษก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าประชาชนในประเทศต่างๆที่หันเข้ารับอิสลามต้องลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพจากประเทศมุสลิมเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากศึกษาประวัติศาสตร์การเผยแผ่อิสลามในอุษาคเนย์ จะพบว่าประชาชนแถบนี้พร้อมใจกันเข้ารับอิสลามโดยปราศจากการหลั่งเลือดแม้เพียงหยดเดียว ไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์การแผ่ขยายของอิสลามในดินแดนแถบนี้ที่บันทึกว่าบรรพชนมุสลิมได้บีบบังคับชาวพื้นเมืองให้เข้ารับอิสลามด้วยคมดาบหรือแม้กระทั่งใช้วิธีการหว่านล้อมด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างแรงจูงใจผู้คนให้เข้ารับอิสลาม พวกเขายินยอมประกาศรับทางนำแห่งอิสลามด้วยหัวใจที่อิ่มเอมกับรสสัจธรรมและปกป้องพิทักษ์อิสลามจวบถึงปัจจุบันจนกระทั่งวันกิยามะฮฺ(วันสิ้นโลก) -  ด้วยความประสงค์ของอัลลอฮฺ - เพราะอิสลามได้วางกติกาอย่างชัดเจนเกี่ยวกับเสรีภาพในการนับถือศาสนามาตั้งแต่ 1,400  ปีกว่า แล้วด้วยหลักการของอัลกุรอานที่กล่าวไว้ ความว่า “ไม่มีการบังคับใดๆ (ให้นับถือ)ในศาสนาอิสลาม” (อัลบะเกาะเราะฮฺ /256)  มุสลิมทุกคนพึงทราบว่า การนำเสนออิสลามโดยใช้วิธีการที่ไม่ค่อยถูกต้องนั้น แทนที่จะเกิดผลดีต่ออิสลามทั้งระยะสั้นและระยะยาว กลับกลายเป็นการสร้างรอยด่างและฝากมลทินให้กับศาสนานี้โดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ อิสลามซึ่งเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ ถูกตีตราเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุนแรง ป่าเถื่อน ยิ่งหากมีการใส่สีตีไข่และหลอกหลอนด้วยมายาคติจากกลุ่มมิจฉาชนที่ไม่หวังดีต่ออิสลามและมุสลิมแล้ว อิสลามจึงกลายเป็นคำสอนแห่งความหวาดกลัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ -ขออัลลอฮฺทรงคุ้มครอง-  ด้วยเหตุดังกล่าว อิสลามจึงปฏิเสธทฤษฎีของแม็กเคียวเวลลี่ที่ยุยงให้ผู้คนใช้วิธีการอะไรก็ได้เพียงเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ที่วางไว้ แต่อิสลามมีคำสอนที่ให้มุสลิมยึดมั่นในระบบคุณธรรมด้วยหลักการที่ว่า “การมีวัตถุประสงค์ที่ดีไม่สามารถทำให้วิธีการที่นำสู่วัตถุประสงค์ดังกล่าว กลายเป็นสิ่งดีไปด้วย” “การมีเจตนาที่ดี จะไม่สามารถทำให้สิ่งหะรอม(สิ่งต้องห้าม)กลายเป็นดีได้” อิสลามจึงให้ความสำคัญกับแนวทางและวิธีการมากกว่าที่จะกำชับให้มุสลิมมุ่งแต่เพียงบรรลุถึงเป้าหมาย เพราะการบรรลุถึงเป้าหมายเป็นเรื่องอนาคตที่อัลลอฮฺเป็นผู้กำหนด ในขณะที่แนวทางหรือวิธีการเป็นสิ่งปัจจุบันที่มุสลิมต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์อันแท้จริงของอิสลาม คำถามที่ทุกคนจะต้องให้คำตอบในวันกิยามะฮฺก็คือคุณปฏิบัติตนที่สอดคล้องกับคำสอนของอิสลามมากน้อยเพียงใด อัลลอฮฺจะไม่ถามว่าคุณปฏิบัติหน้าที่อย่างประสบผลสำเร็จมากน้อยแค่ไหน เพราะดรรชนีชี้วัดความสำเร็จที่แท้จริงของมุสลิมก็คือความสำเร็จในการปฏิบัติตนและประยุกต์ใช้คำสอนให้สอดคล้องกับหลักการของอิสลามมากน้อยเพียงใดต่างหาก อัลกุรอานยังได้กำชับให้มุสลิมธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมแม้กระทั่งต่อฝ่ายตรงกันข้ามและแม้กระทั่งในบรรยากาศที่อบอวลด้วยอารมณ์แห่งความเคียดแค้น ดังปรากฏในอัลกุรอานความว่า “อย่าให้เพราะความเคียดแค้นของพวกท่านที่มีต่อชนกลุ่มหนึ่ง เป็นตัวชักนำให้พวกท่านปฏิบัติการที่ไม่เป็นธรรม จงดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมเถิด เพราะแท้จริงมันทำให้ใกล้สู่การตักวา(ความยำเกรงอัลลอฮฺ)” (อัลมาอิดะฮฺ /8) เนื่องจากความยำเกรงอัลลอฮฺ คือกุญแจแห่งความสำเร็จทั้งโลกนี้และโลกหน้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ดังนั้นอัลลอฮฺจึงกำชับให้บรรดาศรัทธาชนยำเกรงต่อพระองค์ในทุกสภาวการณ์และสถานที่ คำสอนดังกล่าวได้รับการปฏิบัติโดยสมบูรณ์แบบจากนบีมูฮำมัด(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และบรรดาเศาะฮาบะฮฺตลอดจนผู้ทรงคุณธรรมด้วยดีตลอดมาตามที่ได้ปรากฏในประวัติศาสตร์อารยธรรมอิสลาม และด้วยสาเหตุที่มุสลิมประยุกต์ใช้หลักคำสอนดังกล่าวสู่ภาคปฏิบัติอย่างสมบูรณ์ เปี่ยมด้วยคุณธรรมและจริยธรรมอันสูงส่ง อิสลามจึงเป็นศาสนาที่ได้รับการยอมรับและเลื่อมใสศรัทธาจากประชาคมโลกมากที่สุดตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน มุสลิมมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการชี้นำจากบรรดาอุละมาอ์(ผู้รู้)ผู้ทรงคุณธรรม ที่มีบทบาทเป็นผู้สืบทอดมรดกจากเหล่าศาสนทูต พวกเขาจะชี้แจงข้อสงสัย อธิบายสิ่งคลุมเครือ ตอบโต้ความมดเท็จ ให้คำชี้ขาดข้อขัดแย้งและวินิจฉัยประเด็นต่างๆที่เป็นความต้องการของประชาสังคมที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอัลกุรอานและซุนนะฮฺ(จริยวัตรท่านนบีฯ)อันแท้จริง จึงใคร่เชิญชวนทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องมุสลิม ศึกษาทำความเข้าใจอิสลามจากบรรดาอุละมาอ์ที่ได้รับความเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการและจงห่างไกลจากการรับความรู้จากแหล่งที่ไม่ถูกต้องหรือบุคคลที่ไม่เป็นที่ยอมรับและไม่เป็นที่รู้จักในวงวิชาการ นอกจากนี้ เรายังมีความจำเป็นที่ต้องเรียนรู้วิธีการร่วมใช้ชีวิตบนโลกนี้ในสังคมพหุวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์อันแท้จริงของอิสลามที่มุ่งมั่นสรรค์สร้างสังคมสันติภาพ สมานฉันท์และสันติสุขอันยั่งยืน ขออัลลอฮฺทรงประทานการชี้นำแก่ทุกฝ่ายด้วยเทอญ.