البحث

عبارات مقترحة:

الحافظ

الحفظُ في اللغة هو مراعاةُ الشيء، والاعتناءُ به، و(الحافظ) اسمٌ...

البارئ

(البارئ): اسمٌ من أسماء الله الحسنى، يدل على صفة (البَرْءِ)، وهو...

มุสลิมกับวันเมาลิด

التايلاندية - ไทย / Phasa Thai

المؤلف มุรีด ทิมะเสน ، ซุฟอัม อุษมาน
القسم مقالات
النوع نصي
اللغة التايلاندية - ไทย / Phasa Thai
المفردات الموالد البدعية - مناسبات دورية
คำว่า "เมาลิด" เป็นคำนามเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ ซึ่งจะแปลความหมายเป็นเวลา หรือสถานที่นั้นย่อมขึ้นอยู่กับส่วนขยายภายในประโยค เช่นเรากล่าวว่า "เมาลิดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม คือเมืองมักกะฮฺ" ในกรณีนี้คำว่า "เมาลิด" ต้องหมายถึงสถานที่เกิดของท่านนบี

التفاصيل

คำว่า "เมาลิด" เป็นคำนามเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ ซึ่งจะแปลความหมายเป็นเวลา หรือสถานที่นั้นย่อมขึ้นอยู่กับส่วนขยายภายในประโยค เช่นเรากล่าวว่า "เมาลิดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม คือเมืองมักกะฮฺ"  ในกรณีนี้คำว่า "เมาลิด" ต้องหมายถึงสถานที่เกิดของท่านนบีอย่างแน่นอน จะแปลว่าเกิดไม่ได้แต่ถ้าเรากล่าวว่า "เมาลิดของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม นั้นคือวันจันทร์ เดือนรอบีอุลเอาวัล ปีช้าง" "เมาลิด" ในที่นี้จะต้องแปลเป็นวันเกิดอย่างแน่นอนจะแปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้   เมาลิดนบีตรงกับวันอะไร ? นักวิชาการต่างมีความเห็นตรงกันว่า นบีมุฮัมมัด เกิดในวันจันทร์เดือนรอบีอุลเอาวัล ปีช้าง เพราะท่าน อิมามมุสลิมได้บันทึกหะดีษไว้ในหนังสือ ซ่อเฮียหฺของท่านจาก อบีกอตาดะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ว่าท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ถูกถามเกี่ยวกับ การถือศีลอดในวันจันทร์ ท่านกล่าวว่า "นั่นคือวันที่ฉันเกิด วันที่ฉันได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนบี และเป็นวันที่อัลกุรอานได้ถูกประทานมายังฉัน" แต่จะตรงกับวันที่เท่าไรนั้น นักวิชาการมีความเห็นแตกต่างกัน ท่านอิบนุอิสหาก ผู้บันทึกชีวประวัติของท่านนบีคนแรกมีความเห็นว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม  เกิดในวันที่ 12 เดือนรอบีอุลเอาวัล ท่านอิบนุฮิซาม ได้รายงานอยู่ในหนังสือชีวประวัติของท่านนบีมุฮัมมัด (ซีเราะฮฺอิบนิฮิซาม) ซิยาด อิบนิอับดิลมะลิก อัลบุกาอียฺ จากท่านมุฮัมมัดอิบนิอิสหาก อัลมัฎละบียฺ กล่าวว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เกิดในวันจันทร์ที่ 12 เดือนรอบีอุลเอาวัล ปีช้าง และอิบนุอบีชัยบะฮฺ ได้รายงานจากท่านญาบีร และอิบนุอบีชัยบะฮฺ ได้รายงานจากท่านญาบีร และอิบนุอับบาส ว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เกิดในวันจันทร์ที่ 12 รอบีอุลเอาวัล เช่นเดียวกันและพวกเขาได้รายงานว่า นี่เป็นทัศนะที่แพร่หลายในหมู่นักวิชาการส่วนมาก ส่วนเจ้าของหนังสือชื่อ "ตั๊กวีมุลอาหรับก้อบลัลอิสลาม" (ปฏิทินอาหรับก่อนอิสลาม) ได้ตรวจสอบ ทางการคำนวณดาราศาสตร์อย่างละเอียด ยืนยันว่าท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เกิดในวันจันทร์ที่ 9 เดือนรอบีอุลเอาวัล ซึ่งตรงกับวันที่ 20 เมษายน ค.ศ.571 นักวิชาการบางท่านมีความเห็นว่าท่านนบีมุฮัมมัดเกิดตรงกับวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ.570 หรือตรงกับวันที่ 20 กันยายน ค.ศ.622 ส่วนท่านเชคอับดุลลอฮฺ อิบนิเชคมุฮัมมัด อิบนิอับดิลวะฮาบ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ "มุคตะซ้อรซีร่อตุรร่อซูล (สรุปชีวประวัติของท่านร่อซุล) ว่าท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เกิดในวันที่ 8 เดือนรอบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นทัศนะที่ข้าพเจ้ายึดถือ และมีผู้กล่าวว่าท่านนบีเกิดในวันที่ 10 รอบีอุลเอาวัล บางท่านกล่าวว่าท่านนบีเกิดในวันที่ 12 รอบีอุลเอาวัล ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นนบี ในเดือนรอบีอุลเอาวัลซึ่งผ่านไปแล้วหลายวัน และตายในวันที่ 8 เดือนรอบีอุลเอาวัล - การยกย่องวันเกิดของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ให้แบบอย่างในการยกย่องวันเกิดของท่าน ดังปรากฎในหะดีษซึ่งรายงานโดยท่านอิมามมุสลิม ซึ่งได้หยิบยกมากล่าวแล้วข้างต้น คือการถือศีลอดในวันจันทร์ ขณะเดียวกับท่านหญิงอาอิชะฮฺ ท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ และท่านอุซามะฮฺ อิบนุเซด ได้กล่าวว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ชอบถือศีลอดในวันจันทร์ เมื่อท่านถูกถามเกี่ยวกับการนี้ ท่านกล่าวว่า "มันเป็นวันที่ฉันเกิด และได้มีการแต่งตั้งการเป็นนบีแก่ฉัน" นอกจากนั้น ท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ ยังได้รายงานหะดีษจากท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่าท่านได้ถือศีลอดในวันจันทร์และวันพฤหัส เมื่อท่านได้ถูกถามเกี่ยวกับการนี้ ท่านกล่าวว่า "การงานจะถูกนำเสนอ (ยังอัลลอฮฺ) ในวันจันทร์และวันพฤหัส ดังนั้นฉันจึงชอบที่จะให้การงานของฉันถูกนำเสนอขณะที่ฉันถือศีลอด" บันทึกโดยอัตติรมีซียฺ และท่านกล่าวว่าเป็นหะดีษหะซัน - การให้เกียรติและการมีความรักต่อท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เป็นผู้ที่สมควรจะได้รับการให้เกียรติยกย่อง เนื่องจากว่าท่านเป็นศาสดาที่มีความสำคัญของโลก ในขณะเดียวกันท่านก็ได้รับการยกย่องจากผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมว่า เป็นผู้ที่มีความยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก ดังนั้นหน้าที่ของมุสลิมก็จำเป็นจะต้องให้เกียรติยกย่องท่าน รำลึกถึงคุณงามความดีของท่าน อัลลอฮฺศุบฮานะฮูวะตะอาลา และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ให้แบบอย่างการให้เกียรติยกย่องท่านไว้ในหลายรูปแบบด้วยกันคือ 1. การดำเนินตาม การปฏิบัติในวันเกิดของท่านคือการถือศีลอดในวันจันทร์ ดังรายละเอียดซึ่งได้กล่าวมาแล้ว 2. การมีความรักต่อท่านร่อซูล เพราะการมีความรักต่อท่านร่อซูลนั้นคือ สิ่งซึ่งแสดงถึงการอีมานของเขา ดังที่ท่านอนัส อิบนุมาลิก รอฎิฯ ว่าท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า "คนหนึ่งในหมู่พวกท่านยังไม่ศรัทธาจนกว่าฉันจะเป็นที่รักของเขายิ่งกว่าลูกของเขา พ่อของเขา และประชาชนทั้งหลาย" บันทึกโดย อัลบุคอรียฺและมุสลิม การมีความรักต่อท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม แสดงออกได้โดยการปฏิบัติตามซุนนะฮฺของท่าน ดังที่ท่านอนัสได้รายงานว่าท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า "ผู้ใดที่ดำเนินตามซุนนะฮฺของฉัน แท้จริงเขารักฉัน และผู้ใดรักฉัน เขาก็จะได้อยู่กับฉันในสวรรค์" บันทึกโดย อัลบุคอรียฺ สรุปแล้ว การมีความรักต่อท่านร่อซูล คือการดำเนินตามซุนนะฮฺของท่านร่อซูลนั่นเอง 3. การกล่าวซอลาวาตต่อ ท่านนบี ส่วนหนึ่งจากการให้เกียรติยกย่อง และมีความรักต่อท่านนบีคือการกล่าวซอลาวาตต่อท่าน อัลลอฮฺตรัสว่า (إِنَّ اللَّهَ وَمَلائِكَتَهُ يُصَلُّونَ عَلَى النَّبِيِّ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا صَلُّوا عَلَيْهِ وَسَلِّمُوا تَسْلِيماً) (سورة الأحزاب: 56) "แท้จริงอัลลอฮฺ (ได้ทรงประทานพร) และมะลาอิกะฮฺ ของพระองค์ได้ขอพรให้แก่นบี (มุฮัมมัด) โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ท่านทั้งหลายขอพรให้แก่ท่านนบี และขอความสันติสุขให้แก่ท่านเถิด" อัลอะหฺซาบ/56 ท่านอบูมัสอู้ด อัลบัดรียฺ กล่าวว่า บะซีร อิบนุซะอดฺ กล่าวว่า "โอ้ท่านร่อซูลุลลอฮฺ อัลลอฮฺทรงใช้ให้เรากล่าวซอลาวาตแก่ท่าน แล้วเราจะกล่าวซอลาวาตแก่ท่านอย่างไร" ท่านนบีหยุดชั่วครู่หนึ่งแล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงกล่าวว่า "โอ้อัลลอฮฺ ได้โปรดประทานพรแก่มุฮัมมัดและแก่วงษ์วานของมุฮัมมัด" หรือถ้าหากว่า เรากล่าวชื่อของท่านนบีมุฮัมมัดก็ควรให้เกียรติต่อท่าน โดยกล่าวต่อว่า "ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม" ขออัลลอฮฺได้ทรงโปรดประทานพรและความสันติสุขแด่ท่าน การที่เรากล่าวซอลาวาตต่อท่านนบี เช่นนี้ไม่ต้องใช้เวลามาก ไม่ต้องใช้สถานที่เฉพาะ ไม่ว่าเขาจะเดิน นอน นั่ง ออกไปทำงาน หรือพักผ่อนอยู่บ้าน หรือไม่ว่าท่านจะอยู่ในอิริยาบถใด อยู่ที่ไหนก็สามารถกล่าวซอลาวาตบนีได้ตลอดเวลา การที่บุคคลกล่าวซอลาวาตนบี จะทำให้เขาได้รับพลานิสงค์อย่างมากมาย อิมามอะหมัดได้รายงานมาจากท่านอนัส เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ กล่าวว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า "ผู้ใดที่ขอพรให้แก่ฉัน 1 ครั้ง อัลลอฮฺจะทรงประทานพรให้แก่เขา 10 ครั้ง และจะทรงลบล้างความผิดของเขา 10 ความผิด" ท่านติรมีซียฺได้รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิมัสอู้ดว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า "คนแรกในบรรดามนุษย์ที่จะอยู่กับฉันในวันกิยามะฮฺ คือผู้ที่กล่าวขอพรให้ฉันมากที่สุดจากพวกเขา" 4. การปฏิบัติตามคำสั่งใช้และการละเว้นที่จะปฏิบัติตามคำสั่งห้ามของท่านนบี เพราะอัลลอฮฺศุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสใช้ไว้ว่า ( وَمَا آتَاكُمُ الرَّسُولُ فَخُذُوهُ وَمَا نَهَاكُمْ عَنْهُ فَانْتَهُوا وَاتَّقُوا اللَّهَ إِنَّ اللَّهَ شَدِيدُ الْعِقَابِ) (سورة الحشر: من الآية 7) "และสิ่งใดที่ร่อซูลได้นำมาให้แก่พวกสูเจ้า สูเจ้าทั้งหลายจงปฏิบัติเถิด และสิ่งใดที่ร่อซูลห้ามพวกสูเจ้า สูเจ้าทั้งหลายก็จงยุติเถิด สูเจ้าทั้งหลายจงเกรงกลัวอัลลอฮฺ แท้จริงอัลลอฮฺคือผู้ทรงลงโทษอย่างรุนแรงยิ่ง" อัลฮัชรฺ/7 ท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ รฎิฯ ว่าท่านร่อซูล กล่าวว่า "เมื่อฉันใช้ท่านทั้งหลายให้กระทำสิ่งหนึ่ง ท่านทั้งหลายก็จงนำมาปฏิบัติ ที่ท่านทั้งหลายมีความสามารถเถิด และอันใดที่ฉันห้ามท่านทั้งหลายไม่ให้ปฏิบัติ ท่านทั้งหลายก็จงออกห่างเถิด" บันทึกโดย อัลบุคอรียฺและมุสลิม 5. ดำเนินตามแบบอย่างของท่านนบี ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสรับรองไว้ในอัลกุรอานว่า (لَقَدْ كَانَ لَكُمْ فِي رَسُولِ اللَّهِ أُسْوَةٌ حَسَنَةٌ لِمَنْ كَانَ يَرْجُو اللَّهَ وَالْيَوْمَ الْآخِرَ وَذَكَرَ اللَّهَ كَثِيراً) (سورة الأحزاب: 21) "แน่นอนยิ่งในตัวของร่อซูลุลลอฮฺ (มุฮัมมัด) มีแบบอย่างที่ดีแล้วแก่พวกเจ้า สำหรับผู้ที่หวังจะได้รับการตอบแทนจากอัลลอฮฺ และ (มีความศรัทธาใน) วันอาคิเราะฮฺ และเขารำลึกถึงอัลลอฮฺอย่างมากมาย" อัลอะฮฺซาบ/21 แบบอย่างที่ดีของ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม แสดงออกให้เห็นได้ทั้งการประพฤติ การปฏิบัติ และจรรยามารยาทของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่เด่นชัดที่สุด ได้แก่ถ้อยคำของท่านหญิงอาอิชะฮฺ ดังที่อิมามอะหมัดได้รายงานจาก อัลหะซัน ว่าฉันได้ถามท่านหญิงอาอิชะฮฺ ถึงจรรยามารยาทของท่านร่อซูล นางกล่าวว่า "จรรยามารยาทของท่านคือ อัลกุรอาน"   การจัดงานเมาลิด มุสลิมในบางสังคมได้แสดงออกถึงความรัก การให้เกียรติยกย่อง ท่านนบีมุฮัมมัด โดยจัดงานคล้ายวันเกิดของท่านขึ้น ณ ที่นี้สมควรที่เราจะได้รู้ถึงประวัติ การจัดงานเมาลิดพอเป็นสังเขป การจัดงานเมาลิดนบี เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกที่ประเทศอียิปต์ เมื่อปี ฮ.ศ. 362 ซึ่งขณะนั้นวงศ์ฟาตีมียฺชีอะฮฺ อิสมาอีลียะฮฺ (คนละนิกายกับชีอะฮฺ อิสไนอะชะรียะฮฺ 12 อิมาม) เป็นผู้ปกครองอียิปต์ และได้สถาปนาอาณาจักรฟาตีมียฺขึ้น ผู้ปกครองขณะนั้นได้แก่ คอลีฟะฮฺ อัลมุอิซลิดีนิลลาฮฺ อัลฟาตีมียฺ พวกฟาตีมียฺ ได้จัดงานเมาลิดขึ้น 6 งานคือ 1. เมาลิดนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม 2. เมาลิดอีมามอาลี อิบนิอบีฎอลิบ 3. เมาลิดท่านหญิงฟาติมะฮฺ อัซซัฮฺรออฺ บุตรีของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม และเป็นภรรยาของท่าน อิมามอาลี 4. เมาลิดท่านหะซัน อิบนิอาลี อิบนิอบีฎอลิบ 5. เมาลิดท่านฮุเซน อิบนิอาลี อิบนิอบีฎอลิบ 6. เมาลิดท่านคอลีฟะฮฺ ผู้ปกครอง บรรยากาศของงานเมาลิดสมัยนั้น เต็มไปด้วยความครึกครื้น มีการประดับประดาสถานที่ต่าง ๆ ด้วยแสงสี มีการชุมนุมกัน และอ่านอัลกุรอ่านที่มัสญิด อ่านโคลง กลอน บทสดุดี และชีวประวัติของท่านนบี โดยผู้ที่มีเสียงดี พร้อมกันนั้น ก็มีการจัดสถานที่สำหรับแจกจ่ายทานบริจาคแก่ผู้ที่ยากจนขัดสน เมื่อคอลีฟะฮฺ อัลอามิร บิอะฮฺกามิลลาฮฺ ได้ปกครองอาณาจักรฟาตีมียฺ เขามีเสนาบดีชื่อ บัดรุลญะมาลียฺ ซึ่งยึดมั่นในแนวซุนนะฮฺ ในปี ฮ.ศ. 488 เขาได้ออกประกาศห้ามจัดงานเมาลิด ทั้งหมด นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่า คอลีฟะฮฺอัลมุสตะอฺลียฺ บิลลาฮฺ มีความอ่อนแอจึงไม่อาจจะจัดการใด ๆ ที่จะยกเลิกคำสั่งของบุดรุลญะมาลียฺ ที่ยกเลิกการจัดงานเมาลิด แต่อย่างไรก็ตามหลังจากที่บัดรุลญะมาลียฺ ถึงแก่กรรม ก็มีการฟื้นฟูการจัดงานเมาลิดขึ้นอีก เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคอลีฟะฮฺ อัลอามิร บิอะฮฺกามิลลาฮฺ บุตรของคอลีฟะฮฺ อัลมุสตะอฺลียฺบิลลาฮฺ ได้ปกครองอาณาจักรฟาตีมียฺ ปี ฮ.ศ. 495 ในปี ฮ.ศ. 567 อียิปต์ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของซ่อลาฮุดดีน อัลอัยยูบียฺ ท่านยึดมั่นในแนวซุนนะฮฺ จึงได้ยกเลิกการจัดงานเมาลิดทั้งหมด ทั่วอาณาจักรอัยยูบียฺ ไม่มีผู้ใดที่ฝ่าฝืนคำสั่งของท่านนอกจากกษัตริย์อัลมุซ็อฟฟัร อบูสะอีด แห่งเมืองอิรบีล ซึ่งอยู่ในประเทศอิรัคปัจจุบัน กษัตริย์อัลมุซ็อฟฟัร ผู้นี้ได้แต่งงานกับน้องสาวของท่านซ่อลาฮุดดีน อับอัยยูบียฺ ได้มีผู้เขียนหนังสือชมเชยการจัดงานเมาลิด บุคคลแรกได้แก่ อบุลค้อฏฏอบ อิบนุดะฮียะฮฺ โดยได้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า "อัตตันวีร ฟีเมาลิดิลบะชีร อันนะซีร" โดยที่กษัตริย์อัลมุซ็อฟฟัร ได้ให้รางวัลเป็นเงิน 1,000 ดีนาร ในหนังสือ "มิรอาตุซซะมาน" กล่าวว่ากษัตริย์อัลมุซ็อฟฟัร เป็นผู้ประดิษฐ์อุตริกรรมเมาลิด พระองค์ได้ทรงให้จัดเตรียมอาหารเลี้ยงขึ้นโดยเป็น แกะย่าง 5,000 ตัว ไก่ 10,000 ตัว ม้า 100 ตัว เนยแข็ง100,000 ชิ้น ขนมหวาน 30,000 จาน และสิ้นค่าใช้จ่ายในการจัดงานมากกว่า 300,000 ดิรฮัม พระองค์ได้สดับฟัง การอ่านขับร้องบทสรรเสริญท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ตั้งแต่เวลา ซุฮรฺ จนกระทั่งถึงเวลารุ่งอรุณของวันใหม่ บางครั้งพระองค์ ก็ทรงลงไปเต้นกับพวกนักเต้นทั้งหลายด้วย เนื่องจากมุสลิมบางคนมีความเห็นว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เกิดในวันที่ 12 เดือนรอบีอุลเอาวัล และบางคนมีความเห็นว่าท่านนบีเกิดในวันที่ 9 รอบีอุลเอาวัล เพื่อจะไม่ก่อให้เกิดการขัดแย้งกัน ระหว่างมุสลิมในอียิปต์กับกษัตริย์อัลมุซ็อฟฟัร จึงจัดงานเมาลิดในวันที่ 12 เดือนรอบีอุลเอาวัล ปีหนึ่งและจัดในวันที่ 9 เดือนรอบีอุลเอาวัล ในอีกปีหนึ่ง การจัดงานเมาลิดได้ดำเนินมาตลอดสมัยของกษัตริย์อัลมุซ็อฟฟัร จนกระทั่งพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ในปี ฮ.ศ. 630 ก็ไม่มีใครจัดงานเมาลิดต่อมาอีกเลย จนถึงปี ฮ.ศ. 785 ซุลต่าน อัซซฮิร บัรกู้ก ได้ปกครองอียิปต์ จึงได้มีการพลิกฟื้น การจัดงานเมาลิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยที่ซุลต่าน อัซซอฮิร ได้ให้ทองคอบริสุทธิ์ น้ำหนัก 10,000 มิสก้อล เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานเมาลิดเป็นประจำทุกปี ในปี ฮ.ศ. 845 เป็นสมัยของซุลต่าน ซัยฟุดดีนยัรมูก ได้มีการจัดงานเมาลิดนบี โดยจัดให้มีการอ่านประวัติของท่านนบีโดยละเอียด เมื่อถึงสมัยของอาณาจักรมะมาลีก ในอียิปต์ก็ได้มีการจัดงานเมาลิดเช่นกัน เฉพาะอย่างยิ่งในยุคของซุลต่าน อัชรอฟ กอยตะบาย ท่านได้ใช้ให้จัดปรำพิธีอย่างมโหฬาร มีชื่อว่า "อัสสูรอดิก อัลอัชรอฟียฺ" โดยออกค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 36,000 ดีนาร ต่อมาในปีฮ.ศ. 922 อาณาจักรอุสมานี ตุรกีภายใต้การนำของซุลต่านสลีมที่ 1 ได้ยกกองทัพเข้ามายึดครองอียิปต์ และได้มีการแต่งตั้งข้าหลวงประจำอียิปต์ขึ้นชื่อ เครฺเบยฺ ข้าหลวงผู้นี้ได้ฟื้นฟูการจัดงานเมาลิดขึ้นด้วย จนกระทั่งปี ฮ.ศ. 1213 ฝรั่งเศสได้เข้ายึดครองอียิปต์และได้บังคับให้ เชคค่อลีล อัลบักรี แห่งอัลอัซฮัร จัดงานเมาลิดขึ้น โดยได้จ่ายเงินช่วยเหลือในการจัดงานครั้งนี้ 300 เหรียญ ในปี ฮ.ศ. 1220 มุฮัมมัดอาลีได้ปกครองอียิปต์ท่านจึงได้ให้จัดงานเมาลิดขึ้นอันเป็นฉลอง 3 วัน 3 คืน ในปี ฮ.ศ. 1280 งานฉลองเมาลิดได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปโดยมีการละเล่นต่าง ๆ มีการอ่านโคลงกลอนสรรเสริญท่านนบี ในตอนกลางคืนมีการตั้งวง ซิเกร (ซิกรุลลอฮฺ) ของชาวฏอริกัต สายต่าง ๆ ในระยะหลัง ๆ มานี้ ได้มีการจัดงานเมาลิดอย่างเอิกเริกเช่นก่อน นอกจากการจัดของชาวฏอริกัต เมื่อถึงวันที่ 12 รอบีอุลเอาวัล รัฐบาลจะประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ 1 วัน ภายหลังเวลามัฆริบ หรืออีชาอฺ ก็จะมีอีมามประจำมัสยิดต่าง ๆ หรืออาจารย์ผู้มีชื่อเสียงแสดงปาฐกถา เกี่ยวกับชีวประวัติของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม และเกียรติประวัติของท่าน มีปีหนึ่งทางการได้จัดงานรำลึกถึงเกีรยติประวัติของท่านนบี โดยได้จัดให้ศิลปินผู้มีน้ำเสียงดีอ่านคำกลอนบุรดะฮฺ เป็นท่วงทำนอง เคล้ากับเสียงดนตรี ส่วนทางด้านประชาชน ก็มีการทำขนมวันเมาลิด ตุ๊กตาวันเมาลิด โคมไฟวันเมาลิดออกมาจำหน่าย จ่ายแจกกัน เมาลิดระหว่างซุนนะฮฺกับบิดอะฮฺ มุสลิมบางคนมีความเห็นว่า การจัดงานเมาลิดเป็นซุนนะฮฺ ในขณะเดียวกันมุสลิมบางคนก็มีความเห็นว่าเป็นบิดอะฮฺ หรืออุตริกรรม ที่แทรกเข้ามาในบทบัญญัติศาสนา ก่อนที่เราจะวิเคราะห์กันว่าการจัดงานเมาลิดเป็นซุนนะฮฺหรือบิดอะฮฺ ก็สมควรที่เราจะต้องยอมรับความจริงเสียก่อนว่า การจัดงานเมาลิด ไม่ปรากฎในสมัยของท่านนบีมุฮัมมัด ไม่ปรากฎใน สมัยคอลีฟะฮฺ อบูบักร คอลีฟะฮฺอุมัร คอลีฟะฮฺอุสมาน คอลีฟะฮฺอาลี บรรดาซ่อฮาบะฮฺทุกระดับไม่เคยจัดงานเมาลิด และไม่เคยเห็นว่ามีการจัดงานเมาลิด บรรดาตาบิอีนทุกระดับไม่เคยคิดค้นให้จัดงานเมาลิด และไม่เคยเห็นว่ามีการจัดงานเมาลิด บรรดาอิมามชาวอะฮฺลุซซุนนะฮฺ คนสำคัญคือ อิมามอบูหะนีฟะฮฺ อิมามมาลิก อิมามชาฟีอียฺ อิมามอะหมัด อิบนิฮัมบัล ไม่เคยจัดงานเมาลิด และไม่เคยเสนอหรือส่งเสริมในการจัดงานเมาลิด ผู้ที่จัดงานเมาลิดขึ้นเป็นครั้งแรกคือ คอลีฟะฮฺอัลมุอิซลิดีนิลลาฮฺ อัลฟาตีมียฺ แห่งอาณาจักรฟิตีมียฺ ชีอะฮฺ อิสมาอีลียะฮฺ ในประเทศอียิปต์ปี ฮ.ศ. 362   ซุนนะฮฺ ซุนนะฮฺเป็นคำภาษาอาหรับ ส่วนจะมีความหมายอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการใช้คำนี้ในเนื้อหาวิชาการนั้น ๆ คำว่า "ซุนนะฮฺ" ในทางภาษาหมายถึง แนวทางแบบอย่างไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีก็ตาม ดังที่ท่านร่อซูลกล่าวว่า "ผู้ใดที่วางแบบอย่างที่ดีในอิสลาม เขาจะได้รับผลตอบแทนในแบบอย่างที่ดีนั้น และผลตอบแทนของผู้ที่ปฏิบัติตามแบบอย่างนั้น หลังจากเขา โดยที่ผลตอบแทนของพวกเขามิได้ลดหย่อนลงแต่อย่างใด และผู้ใดที่วางแบบอย่าง ที่ไม่ดีในอิสลามเขาจะต้องแบกรับความผิดในการวางแบบอย่างที่ไม่ดีนั้น และความผิดของผู้ที่ปฏิบัติแบบอย่างนั้น หลังจากเขาโดยที่ความผิดของพวกเขามิได้ลดหย่อนลงแต่อย่างใด" บันทึกโดยมุสลิม จากญะรีร อิบนิอับดิลลาฮฺ อัลบะญะลียฺ นักวิชาการวิเคราะห์หะดีษ (มุสฏอลาฮุลหะดีษ) ได้ให้ความหมายของซุนนะฮฺไว้ว่า หมายถึง ทุกสิ่งที่ถ่ายทอดมาจากท่านนบีมุฮัมมัด ไม่ว่าจะเป็นคำพูด การกระทำ หรือการยอมรับ นักวิชาการรากฐานนิติบัญญัติ (อุซูลุลฟิกฮฺ) ได้ให้คำจำกัดความซุนนะฮฺ ตามหลักการตัดสินพฤติกรรมของผู้มีหน้าที่ปฏิบัติ (มุกัลลัฟ) ว่าหมายถึง สิ่งที่การปฏิบัติจะได้รับการตอบแทน และการละทิ้งจะไม่ถูกลงโทษ คำว่า "ซุนนะฮฺ" นี้บางทีก็เรียกว่า มันดู้บ นาฟีละฮฺ ตะเตาวัวะอฺ มุสตะฮับ อิหฺซาน เป็นต้น บัญญัติเป็นซุนนะฮฺคือ สิ่งที่มีรากฐานมาจากคำสั่งของอัลลอฮฺ และคำสั่งหรือการปฏิบัติที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ส่งเสริมให้ปฏิบัติ ดังนั้นกิจใดไม่มีรากฐานมาจากอัลกุรอาน และแบบอย่างของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงไม่ถือว่ากิจนั้นเป็นซุนนะฮฺ   บิดอะฮฺ บิดอะฮฺในทางภาษา หมายถึง กิจที่เกิดขึ้นใหม่ โดยไม่มีมาก่อน ดังเช่นคำดำรัสของอัลลอฮฺ ที่ว่า (قُلْ مَا كُنْتُ بِدْعاً مِنَ الرُّسُلِ ) (سورة الأحقاف: من الآية 9) "จงกล่าวเถิด (มุฮำหมัด) ฉันมิได้เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นใหม่จากบรรดาร่อซูล" อัลอะหฺกอฟ/9 สำหรับในทางวิชาการนั้น นักวิชาการมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับการให้ความหมายของ "บิดอะฮฺ" บางท่านก็ให้ความหมาย บิดอะฮฺ ว่าคือ กิจที่เป็นอุตริกรรมซึ่งเกิดขึ้นใหม่ โดยตรงข้ามกับซุนนะฮฺ บางท่านก็มีความเห็นว่า "บิดอะฮฺ" หมายถึง กิจที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังสมัยของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม อันนะวะวียฺ ได้รายงานจากอัลบัยฮะกียฺ ซึ่งรายงานมาจาก อิมามชาฟีอียฺ ว่าบิดอะฮฺ หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ซึ่งขัดกับอัลกุรอ่าน หรือซุนนะฮฺ หรือร่องรอยจากบรรดาซ่อฮาบะฮฺ หรือการลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ ของบรรดานักวิชาการ (อิจมาอฺ)