البحث

عبارات مقترحة:

المتكبر

كلمة (المتكبر) في اللغة اسم فاعل من الفعل (تكبَّرَ يتكبَّرُ) وهو...

الغفار

كلمة (غفّار) في اللغة صيغة مبالغة من الفعل (غَفَرَ يغْفِرُ)،...

الجميل

كلمة (الجميل) في اللغة صفة على وزن (فعيل) من الجمال وهو الحُسن،...

เตรียมตัวต้อนรับเราะมะฎอน

التايلاندية - ไทย / Phasa Thai

المؤلف รอสลี แมยู ، ซุฟอัม อุษมาน
القسم مقالات
النوع نصي
اللغة التايلاندية - ไทย / Phasa Thai
المفردات فضائل العبادات
บทความเชิงสะกิดใจและเรียกร้องเชิญชวนให้หันมาเตรียมตัวกับการต้อนรับเราะมะฎอน ด้วยการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น ในด้านจิตใจ สุขภาพร่างกาย ความรู้ ค่าใช้จ่าย ฯลฯ เพื่อให้สามารถตักตวงความดีงามต่างๆ อันมากมายในเดือนเราะมะฎอนได้อย่างเต็มที่

التفاصيل

เตรียมตัวต้อนรับเราะมะฎอนكيف نستعد لاستقبال رمضان؟รอสลี แมยูروسلي  مي يوตรวจทาน: ซุฟอัม อุษมานمراجعة: صافي عثمان อรัมภบทพี่น้องผู้ศรัทธาที่รักทั้งหลาย            หัวข้อที่ผู้เขียนจะนำเสนอนี้อาจจะไม่สำคัญสำหรับผู้อ่านบางคน หรืออาจเป็นหัวข้อที่ไม่ค่อยจะกระชากหัวใจนักอ่านเท่าไหร่ เพราะทุกๆ ครั้งเมื่อใกล้เทศกาลเราะมะฎอนเราจะเห็นข้อเขียน บทความหรือหนังสือต่างๆมากมายที่เขียนออกมาโดยผู้รู้ที่ตื่นตัวเขียนออกมาเพื่อที่จะสะกิดพี่น้องให้เห็นความสำคัญของเราะมะฎอน มันจึงเป็นเหตุให้บางคนรู้สึกเบื่อหน่าย             ผู้เขียนเข้าใจว่ามุสลิมส่วนใหญ่แล้วต่างรู้ถึงคุณค่าและความดีงามของเราะมะฎอนเป็นอย่างดี และส่วนใหญ่ต่างทราบถึงสาเหตุที่ทำให้ศิยาม(การถือศีลอด)ของเขานั้นเสียหาย แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนขอเชิญชวนพี่น้องทุกท่านได้อ่านเพื่อใคร่ครวญในสิ่งที่ได้นำเสนอ ซึ่งผู้เขียนมั่นใจว่าการตักเตือนเท่านั้นในการที่จะยกระดับชีวิตของเรา “จงตักเตือนกันและกัน เพราะแท้จริงการตักเตือนย่อมให้ประโยชน์สำหรับผู้ศรัทธา” หวังว่าข้อเขียนเล็กๆ นี้จะช่วยเป็นแสงสว่างดวงน้อยๆ สำหรับชีวิตหลังความตาย เป็นตะเกียงดวงเล็กในหลุมฝังศพ และความสำเร็จในวันแห่งการตัดสินพี่น้องที่รักทุกท่าน มีคำถามว่าท่านได้เตรียมตัวอย่างไรบ้างสำหรับการต้อนรับเดือนเราะมะฎอน?         บางคนอาจจะไปตลาดร้านค้าเพื่อเลือกซื้ออาหารเครื่องดื่มเพื่อกักตุนไว้ให้เพียงพอต่อการเสพสุขตลอดเดือนเราะมะฎอน หรือบางคนอาจจะตระเตรียมเครื่องอำนวยความสะดวกและเครื่องเล่นความบันเทิงแก้เบื่อในช่วงเราะมะฎอน หรือบางคนอาจจะมีการเตรียมโปรแกรมอันไร้ประโยชน์ เช่นตระเวนชิมอาหารตามร้านต่างๆ ที่เปิดขายตลอดค่ำคืนในเดือนเราะมะฎอน ซึ่งในเวลากลางวันก็จะนอนพักเพื่อเอาแรงไว้ในยามค่ำคืนต่อไป            หรือพี่น้องเป็นหนึ่งในบรรดาผู้คนดังที่ได้กล่าวข้างต้น?พี่น้องครับ อย่าได้โกหก และอย่าได้หลอกลวงตัวเองอีกต่อไป อย่าได้ลังเลที่จะปรับปรุงตนเอง อย่าเป็นดังเช่นบุคคลที่อัลลอฮฺทรงกล่าวว่า «قُلْ هَلْ نُنَبِّئُكُمْ بِالْأَخْسَرِينَ أَعْمَالاً، الَّذِينَ ضَلَّ سَعْيُهُمْ فِي الْحَيَاةِ الدُّنْيَا وَهُمْ يَحْسَبُونَ أَنَّهُمْ يُحْسِنُونَ صُنْعاً» (الكهف : 103 - 104 )“จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) เราจะแจ้งแก่พวกท่านไหม ถึงบรรดาผู้ที่ขาดทุนยิ่งในการงาน คือบรรดาผู้ที่การขวนขวายของพวกเขาสูญสิ้นไป ในการมีชีวิตในโลกนี้ และพวกเขาคิดว่า แท้จริงพวกเราได้ปฏิบัติความดีแล้ว” (อัลกะฮฺฟฺ 103-104) และหากพี่น้องเป็นหนึ่งในบรรดาพวกเขาเหล่านั้น จงระลึกถึงวันที่ลมหายใจถูกถอดออกจากร่างกาย จงนึกถึงวันที่ร่างกายของจะถูกห่อหุ้มด้วยผ้าขาว และจะถูกวางไว้ในหลุมแคบๆ และดินจะกลบร่าง และผู้คนก็จะลาจากไปทิ้งท่านไว้เพียงลำพัง และสัตว์มีพิษเลื้อยคลานก็จะออกมายังท่าน เพราะท่านละทิ้งการละหมาด ท่านจะเห็นไฟนรก เห็นถึงความทรมานจากความรุนแรงของมัน และมันได้ขอจากอัลลอฮฺเพื่อให้เข้าใกล้ท่าน ท่านจะร้องไห้ แล้วก็จะร้องไห้... และร้องไห้... ร้องขอความเห็นใจและความช่วยเหลือ แต่ทว่าไม่มีผู้ใดได้ยินและรับรู้เสียงของท่าน ทั้งหมดนี้เป็นผลงานที่เกิดจากน้ำมือของท่าน เป็นผลผลิตจากความทุ่มเทของท่าน และท่านจะได้เก็บเกี่ยวดอกผลที่เจ้าได้ทุ่มเทมันทั้งกลางวันและกลางคืนพี่น้องครับ พี่น้องจะตอบอย่างไรเมื่ออัลลอฮฺทรงถามเกี่ยวกับเราะมะฎอนของท่าน? ท่านจะโต้แย้งและหักล้างขาของท่านอย่างไรเมื่อมันเป็นพยานในสิ่งที่ท่านใช้มันไปในทางหะรอม? ท่านจะโต้แย้งลิ้นของท่านอย่างไรในวันที่ลิ้นของท่านเป็นพยานว่าท่านเป็นคนโกหก ชอบใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น ชอบติฉินนินทา? ท่านจะพูดอย่างไรในเมื่อผลงานของท่านที่น่าเกลียดและสกปรกได้มาหาท่าน .... พี่น้องทุกท่าน ท่านมีจุดยืนอย่างไร  เมื่อเราะมะฎอนได้มาถึง และได้กล่าวถึงความดีงามและความสำคัญของอัลกุรอาน ได้กล่าวถึงคุณค่าของการละหมาด และได้เชิญชวนทุกท่านแล้ว...            พี่น้องทุกท่านแล้วท่านได้ตรียมอะไรสำหรับเราะมะฎอนของท่าน?            เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบที่ถูกต้องและเป็นจริง อย่าได้ให้เราะมะฎอนของเราเป็นดังเช่นเราะมะฎอนที่ผ่านมา ที่ชีวิตของเราเต็มไปด้วยปาบและมะอฺศิยะฮฺ ละทิ้งการละหมาด ทำแต่สิ่งเลวร้าย เนรคุณต่ออัลลฮฺ            ท่านรักษาการละหมาด ญะมาอะฮฺอย่างสม่ำเสมอหรือไม่?            ท่านอ่านอัลกุรอานแล้วหรือยัง?            หรือว่าอ่านบ้างในวันแรกๆ หรือวันสองวันแรก หลังจากนั้นก็ทิ้งมันไป แล้วคิดอย่างไรหากเรามีเวลาที่จะอ่านหนังสือพิมพ์ และวารสาร อ่านแมกกาซีนที่ไร้ประโยชน์ทั้งหลาย แล้วเราบอกว่าเราไม่มีเวลาที่จะอ่านหรือศึกษาอัลกุรอาน?            หรือเรายินดีและพอใจที่จะหนีจากอัลกุรอาน แล้วมาฟังเสียงเพลง หรือดูละคร หรือหนังที่กำลังรุกล้ำบ้านของเราอยู่ในขณะนี้??            วันนี้เราได้ให้อะไรแก่ผู้ยากไร้หรือผู้ขัดสนแล้วบ้าง? พี่น้องที่รัก ... จงตื่น ท่านกำลังอยู่ในโลกดุนยาที่ไม่จีรังและไม่ยังยืน ถูกต้อง ท่านจะต้องตายจะเป็นวันพรุ่งนี้หรือวันไหน ซึ่งวันนั้นไม่มียาขนานใดที่เป็นประโยชน์ และไม่มีหมอคนใดช่วยเหลือ เสียงร้องไห้ของคนที่รักท่านจะไม่เป็นประโยชน์ จงตื่นเถิด อย่าได้คิดที่จะสะสมทรัพย์สินจนกระทั่งมันไม่สามารถให้ประโยชน์แก่เจ้าได้ สิ่งที่จะไปพร้อมกับเจ้าในวันที่ท่านลงหลุมมีเพียงการงานหรือผลงานที่ท่านได้กระทำมันไปเท่านั้น ซึ่ง ณ ที่นั้นเป็นโลกใหม่  ท่านจะพบกับผลงานของท่าน จะพบกับอัลกุรอานที่ไม่เคยสนใจมัน จะพบกับละหมาดที่เคยละทิ้งมัน จะพบกับผู้ยากไร้ผู้ที่ท่านเคยตระหนี่ต่อเขา และจะพบกับเราะมะฎอนที่ถูกท่านทำลาย...ทุกอย่างท่านจะได้พบและทุกส่วนของอวัยในร่างกายของท่านจะเป็นพยาน ซึ่งแน่นอนมันจะซื่อสัตย์และไม่กล่าวเท็จต่อเอกองค์อัลลอฮฺประตูความดีงามนั้นมากมาย และประตูความชั่วร้ายนั้นก็มากเหลือ แล้วเจ้าจะเลือกประตูใด โอ้ผู้เรืองปัญญา? สวนสวรรค์นั้นกว้างใหญ่ไพศาลดังแผ่นดินและท้องฟ้า หรือจะเลือกนรกที่กำลังลุกโชนด้วยไฟแห่งความโกรธกริ้ว?ความประเสริฐและคุณค่าเราะมะฎอน            ในบรรดาเดือนต่างๆทั้งหมด 12 เดือนที่อัลลอฮฺทรงกำหนด ทุกเดือนล้วนแล้วมีความดีงามและคุณค่าแตกต่างกัน แต่เราะมะฎอนเป็นเพียงเดือนเดียวที่ประเสริฐและล้ำเลิศยิ่งกว่า เราะมะฎอนถือว่าเป็นผู้นำแห่งเดือนทั้งหลาย ทั้งนี้เพราะเราะมะฎอนเป็นเดือนที่เต็มไปด้วยประกฎการณ์ เหตุการณ์ และที่สำคัญเป็นเดือนมหกรรมแห่งความดีงามตลอดทั้งเดือน ที่หาได้มีในเดือนอื่นๆ             ในเดือนเราะมะฎอนอัลลอฮฺทรงบัญญัติให้มีการถือศีลอด(ศิยาม) เป็นเดือนแห่งการประทานอัลกุรอานอันเป็นธรรมนูญชีวิตของมนุษย์ชาติ«شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِيَ أُنزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ هُدًى لِّلنَّاسِ» (البقرة : 185 )“เดือนเราะมะฎอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์” (อัลบะเกาะเราะฮฺ 185) ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นในค่ำคืนก็อดรฺ          «لَيْلَةُ الْقَدْرِ خَيْرٌ مِّنْ أَلْفِ شَهْرٍ» (القدر : 3 )“ค่ำคืนอัลก็อดรฺนั้นดียิ่งกว่าหนึ่งพันเดือน” (อัลก็อดรฺ 3) ซึ่งเป็นค่ำคืนเดียวที่ประเสริฐและทรงคุณค่ายิ่ง เพราะผลตอบแทนของความดีงามในค่ำคืนก็อดรฺนั้นมากมายยิ่งกว่าผลบุญหรือผลตอบแทนความดีงามที่ได้กระทำของวันหรือเดือนอื่นๆ ถึงหนึ่งพันเดือน ในเราะมะฎอน การกระทำสิ่งสุนัต(สิ่งส่งเสริม)จะได้รับผลบุญเท่าสิ่งวาญิบ(สิ่งบังคับ) และการกระทำสิ่งวาญิบก็จะได้รับผลบุญเท่าทวีคูณ เราะมะฎอนเป็นเดือนแห่งการอภัยโทษ เต็มไปด้วยความสิริมงคลในชีวิต ประตูสวรรค์ทุกบานจะถูกเปิดออก ประตูนรกจะถูกปิดลั่นดาล และชัยฏอนมารร้ายจะถูกล่ามโซ่ตรวน ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นเราะมะฎอนยังเป็นเดือนแห่งการหลุดพ้นจากไฟนรก เป็นเดือนแห่งการขัดเกลาจิตใจและอบรมบ่มนิสัย เป็นเดือนแห่งการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากความเลวร้ายสู่ความดีงามและความเข้มแข็งในการยึดมั่นหลักการอิสลามและมั่นคงในวิถีแห่งศรัทธาชนเราะมะฎอนเป็นเดือนที่ทรงคุณค่ายิ่งสำหรับประชาชาติอิสลามทุกคน ในการที่จะได้ใช้เป็นวาระและโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต มุ่งสู่ความดีงามและความสำเร็จ นั้นคือการได้รับความรักความโปรดปราณจากเอกองค์อภิบาล ซุบหานะฮุวะตะอะลา นับเป็นโชคดีสำหรับผู้ที่อัลลอฮฺทรงรักษาไว้ซึ่งชีวิตให้โอกาสได้พบเจอเราะมะฎอนและได้ชี้นำพวกเขาในการดำเนินชีวิตในเดือนเราะมะฎอนที่แสนประเสริฐนี้ ตรงกันข้ามสำหรับผู้ที่ละเลยและบกพร่องในการตักตวงความดีงามและคุณค่าของเราะมะฎอน อันเนื่องมาจากความไม่รู้ ไม่เห็นความสำคัญ หรือความเกียจคร้าน ดังนั้นแล้วความเป็นสิริมงคลก็จะไม่เกิดกับชีวิตของเขา ซึ่งแน่นอนเขาจะกลายเป็นผู้ขาดทุนที่แท้จริง ท่านเระซูล(ขอความสันติสุขแด่ท่านและครอบครัว) ได้กล่าวว่า «مَنْ حُرِمَ خَيْرَهَا فَقَدْ حُرِمَ»ความว่า “ผู้ใดที่ไม่ได้รับความดีงามของเราะมะฎอน ดังนั้นแท้จริงแล้วเขาถูกปิดกั้นจากความดีงามทั้งหลาย” (รายงานโดยอันนะสาอีย์ และอะห์หมัด)          ตอนนี้เราะมะฎอนกำลังมาเยือน จงรีบไขว่คว้าและรักษามันไว้ เพราะเจ้าไม่รู้ดอกว่าเจ้าจะมีชีวิตอยู่จนถึงเราะมะฎอนหน้าหรือไม่ และเป็นไปได้ที่เราะมะฎอนนี้เจ้าอาจจะอยู่ได้ไม่ครบ แล้วใครบ้างที่รู้ ? หรือเป็นไปได้เจ้าอาจจะตายในขณะที่กำลังอ่านสาสน์ฉบับนี้อยู่ จงให้ความสำคัญกับเราะมะฎอน และจงรีบเร่งแข่งขันในการทำความดี และกลับไปหาอัลลอฮฺ และเจ้าจะพบว่าพระองค์นั้นทรงยินดียิ่งกับการกลับตัวของเจ้า อย่าได้เป็นดังเช่นผู้ที่อัลลอฮฺทรงให้เห็นไฟนรกและเขาก็จะถูกโยนลงไป ..และทุกครั้งที่ผิวหนังของเขาถูกเผาจนไหม้เกรียม อัลลอฮฺจะทรงทดแทนผิวหนังขึ้นใหม่เพื่อให้เขาได้ลิ้มรสความเจ็บปวดและความทรมานอย่างสาสมเตรียมความพร้อมต้อนรับแขกผู้ทรงเกียรติเพื่อให้การดำเนินชีวิตของเราในเดือนเราะมะฎอนเต็มไปด้วยคุณค่าและประโยชน์ให้มากที่สุด แน่นอนการเตรียมความพร้อมตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่เราะมะฎอนจะมาถึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อที่เราจะได้เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ได้รับความดีงามและความสำเร็จในการดำเนินชีวิตช่วงเดือนที่ทรงคุณค่ายิ่งนี้ ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวความว่า“เราะมะฎอนได้มายังเจ้า มันคือเดือนบารอกัต(สิริมงคล) คือเดือนที่อัลลอฮฺทรงประทานความโปรดปราณ ลบล้างความผิด ตอบรับดุอาอ์ อัลลอฮฺทรงเฝ้ามองการแข่งขันในการทำความดีของพวกเจ้า ซึ่งอัลลอฮฺทรงภูมิใจและยกย่องเจ้าแก่บรรดามะลาอิกะฮฺ จงแสดงออกซึ่งความดีของตัวเจ้าต่ออัลลอฮฺ ดังนั้นเป็นที่เสียหายอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ถูกปิดกั้นจากความดีงามของเราะมะฎอน” (รายงานโดยอัฏเฏาะบะรอนีย์)สำหรับสิ่งที่เราจะต้องเตรียมเพื่อเป็นการต้อนรับและเข้าสู่กิจกรรมต่างๆเพื่อให้ได้รับซึ่งความดีงามต่างๆที่ได้เตรียมไว้ในเดือนที่ทรงเกียรตินี้ คือ1. เตรียมจิตใจ            นั่นคือด้วยจิตใจที่ภักดี เปี่ยมด้วยความหวังและความปรารถนาที่แรงกล้าในการที่จะให้ได้มาซึ่งเราะมะฎอน ด้วยความรู้สึกที่ปลื้มปีติและยินดีต่อการมาเยือนของเราะมะฎอน หัวใจเต็มไปด้วยความรักและศรัทธามั่น เพราะด้วยหยดน้ำแห่งศรัทธา(อีหม่าน)ที่ชุ่มฉ่ำจะช่วยชโลมจิตใจสู่การสร้างชีวิตชีวาและกระตุ้นความกระฉับกระเฉงในการปฏิบัติภาระหน้าที่ของตนเอง             ความอ่อนแอและการละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองนั้น สาเหตุมาจากหัวใจที่แห้งเหี่ยวไร้ซึ่งหยดน้ำแห่งศรัทธามาหล่อเลี้ยง ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฟื้นฟูศรัทธาเพื่อสร้างความเจริญงอดงามให้แก่ชีวิตของเราเป็นชีวิตที่สมบูรณ์มีชีวิตชีวา ศรัทธาที่เข้มแข็งหน้าที่การงานก็จะมั่นคง            ท่านเราะซูล  ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวความว่า“แท้จริงศรัทธา(อีหม่าน)ของพวกเจ้าจะเสื่อมโทรมดังเช่นเครื่องแต่งกายของพวกเจ้าที่มันเสื่อมโทม ดังนั้นพึงขอต่ออัลลอฮฺเพื่อฟื้นฟูศรัทธาในใจของพวกเจ้า”(อัสสิลสิละฮฺ อัศเศาะฮีหะฮฺ หมายเลข 1585) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเตรียมความพร้อมสำหรับกิจกรรมการถือศีลอด เพราะอัลลฮฺทรงให้ความสำคัญการศรัทธาเป็นหลัก โดยที่พระองค์ทรงเรียกร้องและเชิญชวนเฉพาะเจาะจงบรรดาผู้ศรัทธาเท่านั้นในการถือศีลอด ความว่า«يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ» (البقرة : 183 )“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดนั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้ว เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง”(อัลบะเกาะเราะฮฺ 183)            ความพร้อมของศรัทธาไม่ใช่เพียงเพื่อการต้อนรับเราะมะฎอนเท่านั้น แต่ที่เหนือไปกว่านั้นการศรัทธาเป็นรากฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ของการถือศีลอด(ศิยาม) กิยาม(การละหมาดยามค่ำคืน)ที่แท้จริง            ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า“ผู้ใดที่ถือศีลอดด้วยความศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และหวังในผลบุญจากพระองค์ แน่แท้อัลลอฮฺทรงให้อภัยโทษในสิ่งที่เขาได้กระทำมาก่อนหน้านี้” (รายงานโดยอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)และท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวเพิ่มเติมความว่า“ผู้ใดที่กิยาม(ละหมาดในยามค่ำคืน)ด้วยความศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และหวังในผลบุญจากพระองค์ แน่แท้อัลลอฮฺทรงให้อภัยโทษในสิ่งที่เขาได้กระทำมาก่อนหน้านี้” (รายงานโดยอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)2. เตรียมความรู้            การเตรียมความรู้ในที่นี้หมายถึง การศึกษาค้นคว้าสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการถือศีลอด รวมถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ของมัน ก่อนที่เราะมะฎอนจะมาถึง ทั้งนี้เป็นเพราะอิสลามเป็นศาสนาแห่งความรู้ ดังนั้นก่อนที่เราจะลงมือปฏิบัติอะมัลหรือการงานใดๆ จำเป็นที่จะต้องรู้และเข้าใจในกระบวนการ วิธีการหรือขั้นตอนการปฏิบัติที่ถูกต้องเสียก่อน เพื่อที่จะให้การงานของเราถูกต้องและถูกตอบรับจากอัลลอฮฺ ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวความว่า “การแสวงความรู้เป็นสิ่งบังคับสำหรับมุสลิมทุกคน” (อิบนุ มาญะฮฺ 224, อะบู ยะอฺลา 2837) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยามที่เราจะต้องปฏิบัติการงานที่เป็นสิ่งวาญิบ(บังคับ) เพื่อเราจะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ อัลอิมาม อัลบุคอรีย์ ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับความรู้โดยได้เขียนเป็นหัวข้อหนึ่งในหนังสือเศาะฮีหฺของท่าน โดยใช้ชื่อบทที่ว่า “จงรู้ก่อนที่จะพูดและปฏิบัติ” เพราะอัลลอฮฺทรงกล่าวความว่า«فَاعْلَمْ أَنَّهُ لَا إِلَهَ إِلَّا اللهُ» (محمد : 19 )“พึงรู้เถิดว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใด (ที่ถูกกราบไหว้โดยเที่ยงแท้)นอกจากอัลลอฮฺ” (มุฮำหมัด 19)             อิบนุ ซีรีน กล่าวว่า “แท้จริงมีมนุษย์อยู่จำพวกหนึ่งที่ละทิ้งความรู้ พวกเขาได้เลือกในสิ่งที่จะปฏิบัติ ดังนั้นพวกเขาจะละหมาด และพวกเขาถือศีลอดโดยปราศจากความรู้ ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ แท้จริงผู้ที่ปฏิบัติการงานโดยปราศจากวิชาความรู้นั้น จะไม่มีอะไรเลยนอกจากความเสียหายมากกว่าความดีงาม” (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน ละฏออิฟ อัลมะอาริฟ 139)3. เตรียมจิตวิญญาณ            เพื่อสร้างความคุ้นเคยและเคยชินในการปฏิบัติภารกิจต่างๆที่จะต้องปฏิบัติตลอดเดือนเราะมะฎอน ดังเช่น การถือศีลอด ดังนั้นในเดือนชะอฺบานควรอย่างยิ่งที่จะต้องถือศีลอด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการชดเชย(สำหรับผู้ที่ไม่สามารถถือศีลอดในช่วงเราะมะฎอนที่ผ่านมาและไม่สามารถชดเชยในเดือนที่ผ่านมา)อันเนื่องมาจากความจำเป็นบางอย่าง โดยเฉพาะบรรดาสตรีทั้งหลายที่ไม่สามารถถือศีลอดอันเนื่องมาจากการมาประจำเดือนและไม่สามารถที่จะทำชดเชยก่อนเดือนชะอฺบาน ดังที่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา ได้กล่าวความว่า “แท้จริงตัวฉันยังมีศีลอดของเดือนเราะมะฎอน ซึ่งฉันไม่สามารถทดแทนได้นอกจากในเดือนชะอฺบาน” (รายงานโดยอัลบุคอรีย์ และมุสลิม) หรือไม่ก็ถือศีลอดสุนัต(ส่งเสริม) ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านเราะซูล(ขอความสันติสุขแด่ท่านและครอบครัว)ชมชอบเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากหะดิษที่มีความว่า“นี่แหละเดือนชะอฺบานที่มนุษย์หลงลืมและละเลยต่อมัน (มันอยู่)ในระหว่างเดือนเราะญับ และเราะมะฎอน มันคือเดือนที่ผลการปฏิบัติต่างๆของมนุษย์จะถูกนำขึ้นไปยังพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นฉันปรารถนาที่จะให้ผลการปฏิบัติของฉันถูกยกไปในขณะที่ฉันกำลังถือศีลอดอยู่” (รายงานโดย อันนะสาอีย์, ดูในเศาะฮีหฺ อัตตัรฆีบ วะอัตตัรฮีบ)นอกจากนี้การเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺและการเจริญรอยตามแบบอย่างของท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม โดยการดำรงละหมาดอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการละหมาดญะมาอะฮฺ(การละหมาดเป็นหมู่คณะ)ที่มัสยิด และการรักษาการละหมาดสุนัตอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ อ่านอัลกุรอานให้มากและศึกษาทำความเข้าใจเนื้อหาของมัน และรำลึกถึงอัลลอฮฺอย่างเป็นนิจ ขออภัยโทษและกลับเนื้อกลับตัว ติดอาวุธด้วยดุอาอ์โดยเฉพาะดุอาอ์เพื่อให้ได้พบเจอเราะมะฎอน อันเป็นความต้องการพื้นฐานของการเตรียมความพร้อมสู่เราะมะฎอน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับจิตวิญญาณของเราเตรียมพร้อมเพื่อการต้อนรับเราะมะฎอนด้วยความรู้สึกที่ปราศจากความหวั่นไหวและอ่อนแอ และการเตรียมพร้อมในลักษณะนี้จะไม่สูญเปล่าและไร้ประโยชน์ไม่ มาตรแม้นว่าอัลลอฮฺทรงกำหนดให้เราไม่อาจพบเจอเราะมะฎอนที่แสนประเสริฐนี้ จะเป็นด้วยความจำเป็นหรืออะไรก็แล้วแต่ ที่สำคัญการงานของเราที่ได้ลงมือกระทำไปนั้นมันคือคุณค่าและผลตอบแทน ณ อัลลฮฺ ถ้าหากเรากระทำมันด้วยหัวใจที่บริสุทธิเพื่อพระองค์ และปฏิบัติตามแนวทางของท่านเราะซูล(ขอความสันติสุขแด่ท่านและครอบครัว)อย่างเคร่งครัด จงปฏิบัติอะมัลอิบาดาตเสมือนว่าเราจะลาจากโลกนี้ไป ดังที่ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม  ได้กล่าวไว้ความว่า“เจ้าจงละหมาดเสมือนการละหมาดของผู้ที่กำลังจะลาจาก(ซึ่งจะไม่กลับมาเพื่อละหมาดอีกต่อไป) เสมือนกับเจ้ามองเห็นอัลลอฮฺ ดังนั้นหากเจ้าไม่เห็นพระองค์ แท้จริงพระองค์ทรงมองเห็นเจ้า” (รายงานโดยอะห์มัด ในมุสนัด 5:412 และอื่นๆ หะดิษนี้อยู่ในระดับดีสำหรับอัลอัลบานีย์ ในศิฟาตุศเศาะลาฮฺ 90)4. เตรียมสติปัญญา            จะต้องมีการคิดวางแผนและจัดโปรแกรมที่ดีในช่วงเดือนเราะมะฎอน เพื่อที่จะให้ทุกเสี้ยววินาที่ในช่วงเราะมะฎอนของเราเป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อชีวิตเรามากกว่าเดือนที่ผ่านๆมา ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมถือศีลอด หรือกิจกรรมอื่นๆที่ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ทำไว้เป็นแบบอย่างให้แก่เรา ดังเช่น การละหมาดตะรอเวียะห์ การอ่านอัลกุรอาน การรับฟังอัลกุรอานจากบรรดาอิมามที่นำละหมาดจนครบ 30 ญุซุอ์ ด้วยความจริงใจและบริสุทธิ์ใจ พร้อมกับการใคร่ครวญเนื้อหาของมัน เพื่อที่จะให้ได้รับการชี้นำจากอัลกุรอาน ศึกษาทำความเข้าใจอัลกุรอานอย่างท่องแท้ อิอฺติกาฟในช่วงสิบวันสุดท้ายของเราะมะฎอนซึ่งเป็นกิจกรรมโรงเรียนชีวิตที่ทรงคุณค่ายิ่ง อันเป็นการปิดกิจกรรมเราะมะฎอนที่สมบูรณ์แบบ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งโบนัสพิเศษที่มุสลิมทุกคนต่างไขว่คว้าและคาดหวังนั้นคือ ค่ำคืนอัลก็อดรฺ “คืนอัลก็อดรฺนั้นดียิ่งกว่าหนึ่งพันเดือน” หรือเป็นโครงการต่างๆ เพื่อการเสริมสร้างและพัฒนาชีวิตในอิสลามหรือเพื่อเป็นการเสริมร้างครอบครัวอิสลามที่สอดคล้องกับความต้องการและความประสงค์ของอัลลอฮฺและเราะซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม 5. เตรียมร่างกาย การเตรียมพร้อมของร่างกายเพื่อเข้าสู่เราะมะฎอนมีความสำคัญและจำเป็นเทียบเท่ากับการเตรียมร่างกายเพื่อประกอบพิธีหัจญ์เลยที่เดียว ดังนั้นเราจะต้องรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและสมบูรณ์ ไม่ว่าการจัดหาอาหารเครื่องดื่ม สร้างวัฒนธรรมการกินให้ถูกสุขลักษณะ นำรูปแบบและวีธีการของท่านเราะซูลมาเป็นแบบอย่าง  สร้างภูมิคุ้มกันโรคภัยต่างๆ เพื่อไม่ให้มารบกวนหรือบั่นทอนและทำลายความสมบูรณ์ของกิจกรรมในช่วงเราะมะฎอน โดยเฉพาะกิจกรรมการถือศีลอด การละหมาดตะรอวีห์ และเช่นเดียวกับกิจกรรมอิอฺติกาฟสิบวันสุดท้ายของเดือน สุขภาพที่ดีถือเป็นความโปรดปราณ(นิอฺมัต) ที่ยิ่งใหญ่ หากสุขภาพของเราแข็งแรงและสมบูรณ์ เราก็สามารถที่จะปฏิบัติกิจกรรมการงานต่างๆได้ดีและสมบูรณ์ปลอดจากปัญหาและอุปสรรค มีหะดีษบทหนึ่งที่ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวความว่า“จงรีบคว้าโอกาสห้าอย่าง ก่อนที่ห้าอย่างจะเข้ามา (หนึ่งในห้าอย่างที่กล่าวในหะดีษนี้คือ) สุขภาพที่ดีของเจ้าก่อนโรคภัยของเจ้า” (เศาะฮีหฺ อัลญามิอฺ 1077) นอกจากนั้นอาหารการกินและเครื่องดื่มที่เหมาะสมสำหรับมุสลิมและมุสลิมะฮฺนั้นคือ حلالاً طَيِّبًا  “หะลาล(อนุมัติ) และฏ็อยยิบ(ดีและถูกหลักโภชนาการ)” ให้ประโยชน์ทั้งต่อร่างกายและจิตใจ(ของเรา) เพื่อที่จะได้ดำเนินกิจกรรมต่างในช่วงเราะมะฎอนได้อย่างเต็มที่และสมบูรณ์ เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ ทั้งในโลกดุนยาและอาคีเราะฮฺ และที่สำคัญอัลลอฮฺทรงตอบรับกิจกรรมต่างๆ ของเรา6. เตรียมเงินทุน            คือความพร้อมของการเงินสำหรับปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ในเราะมะฎอน ซึ่งทุกอย่างล้วนแล้วจะต้องใช้ทุนไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการถือศีลอด หรือกิจกรรมอิอฺติกาฟ และที่สำคัญเราะมะฎอนถือได้ว่าเป็นเทศกาลความดีงามที่ต้องการซึ่งหัวใจที่โอบอ้อมอารีในการใช้จ่ายเงินทอง ดังเช่นกิจกรรมอิฟฏอรอัศศออิมีน (การให้หรือเลี้ยงอาหารแก่ผู้ถือศีลอด) การบริจาคทานเป็นต้น เช่นเดียวกันการเตรียมเสบียงสำหรับอิอฺติกาฟซึ่งจะต้องกักตัวเองอยู่ในมัสยิดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบวัน โดยไม่มีเวลาในการออกไปทำงานหารายได้ ดังนั้นการเตรียมพร้อมไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อที่จะให้กิจกรรมต่างๆ ตลอดเดือนเราะมะฎอนของเราสามารถดำเนินเดินเรื่องไปได้อย่างราบรื่นปราศจากอุปสรรคและปัญหา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพี่น้องทุกท่านได้เตรียมความพร้อมต่างๆตามที่ได้นำเสนอมาก่อนหน้าที่เราะมะฎอนแขกผู้ทรงเกียรติจะมาเยือนเราในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ด้วยความพร้อมที่สมบูรณ์ยิ่ง อินชาอัลลอฮฺ

المرفقات

2

เตรียมตัวต้อนรับเราะมะฎอน
เตรียมตัวต้อนรับเราะมะฎอน