البحث

عبارات مقترحة:

الحفي

كلمةُ (الحَفِيِّ) في اللغة هي صفةٌ من الحفاوة، وهي الاهتمامُ...

الفتاح

كلمة (الفتّاح) في اللغة صيغة مبالغة على وزن (فعّال) من الفعل...

السيد

كلمة (السيد) في اللغة صيغة مبالغة من السيادة أو السُّؤْدَد،...

มาตรวจสอบตนเองกันเถิด

التايلاندية - ไทย / Phasa Thai

المؤلف อัสรัน นิยมเดชา ، ซุฟอัม อุษมาน
القسم مقالات
النوع نصي
اللغة التايلاندية - ไทย / Phasa Thai
المفردات الرقائق والمواعظ
การทบทวนพิจารณาตนเองนั้นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก จำเป็นจะต้องกระทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากขาดการทบทวนแล้ว คนเราจะจมดิ่งอยู่ใต้ท้องทะเลแห่งความชั่วร้าย ความลุ่มหลง ที่จะสิ้นสุดยังไฟนรกซึ่งเชื้อเพลิงของมันนั้นคือ มนุษย์ และก้อนหิน.. ความเสื่อมโทรมในโลกดุนยานี้ ก็ล้วนแต่เกิดจากการที่บุคคลหรือสังคมไม่คิดถึงผลของการกระทำ ไม่คิดถึงการตอบแทนของเอกองค์อัลลอฮฺตะอาลา หรือจากผู้นำ หรือแม้แต่สังคมรอบข้าง.. และเมื่อใดที่บุคคลหรือสังคมไม่คำนึงถึงผลของการกระทำของตน พวกเขาเหล่านั้นก็จะทำทุกสิ่งทุกอย่างตามแต่ใจต้องการ และใช้ชีวิตดั่งม้าที่ไร้บังเหียน ไร้คนควบคุม และทำตัวคล้ายชาวนรกโดยที่รู้ตัว หรือไม่รู้ตัว

التفاصيل

> > > > ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ   มาตรวจสอบตนเองกันเถิด     หากเรามองดูสภาพของผู้คนทุกวันนี้ จะเห็นถึงความไร้ค่า ไร้ซึ่งราคาของชีวิตในสายตาของคนเหล่านั้น..จะเห็นความขาดทุนในชีวิตอันเนื่องมาจากการไม่คิดทบทวน พิจารณาตนเอง ผู้ที่ไม่คิดจะทบทวนตัวเองนั้น จะต้องเสียใจในวันซึ่งความโศกเศร้า เสียใจไม่มีประโยชน์ใดๆ อีกต่อไป ﴿أَن تَقُولَ نَفْسٌ يَا حَسْرَتَى علَى مَا فَرَّطتُ فِي جَنبِ اللهِ وَإِن كُنتُ لَمِنَ السَّاخِرِينَ﴾ (الزمر : 56 ) ความว่า “มิฉะนั้น ชีวิตหนึ่งจะกล่าวว่า โอ้ความหายนะจงประสบแก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ทอดทิ้ง (หน้าที่) ที่มีต่ออัลลอฮฺ และข้าพระองค์เคยอยู่ในหมู่ผู้เยาะเย้ยอีกด้วย” (อัซซุมัร 56)   ซึ่งจิตใจมนุษย์นั้นไซร้ช่างเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ในหลายๆ ครั้งก็โอนเอียงหาความชั่วร้าย ﴿وَمَا أُبَرِّئُ نَفْسِي إِنَّ النَّفْسَ لأَمَّارَةٌ بِالسُّوءِ إِلاَّ مَا رَحِمَ رَبِّيَ إِنَّ رَبِّي غَفُورٌ رَّحِيمٌ﴾ (يوسف : 53 ) ความว่า “และฉันไม่อาจชำระจิตใจของฉันให้สะอาดบริสุทธิ์ได้ แท้จริงจิตใจนั้นถูกครอบงำไว้ด้วยความชั่ว นอกจากที่พระเจ้าของฉันทรงเมตตา แท้จริงพระเจ้าของฉันเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (ยูซุฟ 53)   ณ จุดนี้ จึงควรอย่างยิ่งที่บ่าวทุกคนที่หวังจะได้เข้าเฝ้าเอกองค์อัลลอฮฺ จะต้องคิดทบทวน พิจารณาตัวเองให้มาก ด้วยการมองย้อนกลับไปตรวจสอบทุกหน้าของชีวิต ว่าตนได้บันทึกอะไรลงไปบ้าง? อะไร คือการคิดทบทวน และตรวจสอบตนเอง? ท่านอิมามอัลมาวัรดีย์ กล่าวถึงการตรวจสอบตนเองว่า : “คือการที่คนเราคิดทบทวนไตร่ตรองในยามกลางคืนถึงสิ่งที่ตนได้กระทำในช่วงกลางวัน หากเป็นสิ่งที่ดีก็จะปล่อยไว้ และกระทำสิ่งที่ดีที่คล้ายหรือดีกว่าสิ่งนั้นเพิ่ม แต่ถ้าเป็นสิ่งไม่ดีก็จะแก้ไขหากยังมีเวลา และจะไม่ทำสิ่งนั้นอีกในอนาคต” ท่านอิบนุล ก็อยยิม กล่าวว่า : “การทบทวน คือการที่บ่าวแยกแยะระหว่างสิ่งที่เป็นของตน(บุญ) และสิ่งที่ไม่ใช่ของตน(บาป) โดยที่เขานำสิ่งที่เป็นของตนเองติดตัว และคืนสิ่งที่ไม่ใช่ของตนไป เพราะเขาคือผู้เดินทางที่จะไม่กลับมาอีก”   การตรวจสอบตนเองนั้นสำคัญหรือ? การทบทวนพิจารณาตนเองนั้นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก จำเป็นจะต้องกระทำอย่างสม่ำเสมอ..เพราะหากขาดการทบทวนแล้ว คนเราจะจมดิ่งอยู่ใต้ท้องทะเลแห่งความชั่วร้าย ความลุ่มหลง ที่จะสิ้นสุดยังไฟนรกซึ่งเชื้อเพลิงของมันนั้นคือ มนุษย์ และก้อนหิน.. ความเสื่อมโทรมในโลกดุนยานี้ ก็ล้วนแต่เกิดจากการที่บุคคลหรือสังคมไม่คิดถึงผลของการกระทำ ไม่คิดถึงการตอบแทนของเอกองค์อัลลอฮฺตะอาลา หรือจากผู้นำ หรือแม้แต่สังคมรอบข้าง.. และเมื่อใดที่บุคคลหรือสังคมไม่คำนึงถึงผลของการกระทำของตน พวกเขาเหล่านั้นก็จะทำทุกสิ่งทุกอย่างตามแต่ใจต้องการ และใช้ชีวิตดั่งม้าที่ไร้บังเหียน ไร้คนควบคุม และทำตัวคล้ายชาวนรกโดยที่รู้ตัว หรือไม่รู้ตัว ﴿إِنَّهُمْ كَانُوا لَا يَرْجُونَ حِسَاباً، وَكَذَّبُوا بِآيَاتِنَا كِذَّاباً﴾ (النبأ : 27-28 ) ความว่า “แท้จริง เพราะพวกเขามิได้ หวังว่าจะมีการชำระสอบสวน และพวกเขาได้ปฏิเสธโองการต่างๆ ของเราอย่างถนัดแท้” (อันนะบะอ์ 27-28) เราจะเริ่มทำการตรวจสอบตนเองจากจุดใด? ข้อแรก : เริ่มด้วยสิ่งที่เป็นฟัรฎฺ (วาญิบ) หากเห็นว่ามีความบกพร่องก็ปรับปรุงแก้ไข ข้อที่สอง : พิจารณาส่วนที่เป็นข้อห้าม หากพบว่าตนได้กระทำสิ่งต้องห้ามลงไป ก็จงแก้ไขด้วยการเตาบะฮฺ อิสติฆฟารฺ และทำความดีลบล้างความผิด ข้อที่สาม : พิจารณาตนเองกับความหลงลืม(ที่เกิดขึ้นได้เสมอ) ด้วยการซิกรุลลอฮฺ และกลับไปหาพระองค์ ข้อที่สี่ : พิจารณา ทบทวนการกระทำ ความเคลื่อนไหวต่างๆ ของร่างกาย คำพูด การเดิน การจับต้องของมือ การมองของสองตา การฟัง ว่าสิ่งที่ทำไปทั้งหมดนั้น ทำเพื่ออะไร? ทำเพื่อใคร? และทำอย่างไร? ประเภทของการตรวจสอบ ประเภทแรก : การตรวจสอบก่อนปฏิบัติ คือการพิจารณาไตร่ตรองดูว่าสิ่งที่จะทำนั้นมีประโยชน์ต่อดุนยาและอาคิเราะฮฺหรือไม่? หรือเป็นโทษทั้งดุนยาและอาคิเราะฮฺ เพื่อจะได้ละทิ้ง? ..และพิจารณาดูว่าสิ่งที่จะ ทำนั้นเพื่ออัลลอฮฺ หรือเพื่อมนุษย์? ประเภทที่สอง : การตรวจสอบหลังปฏิบัติ ซึ่งมีอยู่สามประเภท 1- การตรวจสอบความบกพร่องที่เกิดขึ้นต่อสิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติ เช่น การไม่อิคลาศ หรือไม่ปฏิบัติตามแบบอย่างท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) หรือ ละทิ้งสิ่งที่ควรกระทำ เช่น ซิกรุลลอฮฺ การอ่านกุรอาน หรือการละหมาดญะมาอะฮฺ ซึ่งการตรวจสอบประเภทนี้จะเป็นการเติมเต็มส่วนที่ขาด และแก้ไขส่วนที่ผิด และรีบกระทำความดีชดเชย พร้อมละทิ้งสิ่งไม่ดี สิ่งต้องห้ามทั้งหลาย และเตาบะฮฺสำนึกผิด เป็นต้น 2- การตรวจสอบการงานที่หากละทิ้งแล้วจะเป็นการดีกว่า ท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) กล่าวไว้ความว่า “จงละทิ้งสิ่งที่ท่านเคลือบแคลงสงสัย และ ทำสิ่งที่ไม่สงสัย” 3- การตรวจสอบสิ่งที่อนุญาติให้กระทำได้ ทำไมถึงทำ? ทำเพื่ออัลลอฮฺหรือไม่? สิ่งที่นำพาไปสู่การตรวจสอบตนเอง 1- การตระหนักอยู่เสมอว่า ยิ่งอดทนพยายามตรวจสอบตนเองมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งสบาย และรอดพ้นจากการสอบสวนในอาคิเราะฮฺ ในทางกลับกัน หากทำเพิกเฉย ไม่ยอมตรวจสอบตนเอง ในวันนั้นก็จะถูกสอบสวนอย่างหนักหน่วง 2- การนึกถึงผลดีของการตรวจสอบตนเอง เช่น การได้เข้าสรวงสวรรค์ ได้มองเห็นอัลลอฮฺ และพำนักอยู่กับบรรดานบี และคนศอลิฮฺ(ผู้มีคุณธรรม) 3- การมองถึงผลเสียของการไม่ตรวจสอบตนเอง เช่น ต้องตกนรก ต้องอยู่กับบรรดากาฟิรฺ และถูกปิดกั้นจากองค์อัลลอฮฺตะอาลา 4- คบหากับคนดีๆ ที่หมั่นตรวจสอบตนเอง และสามารถตักเตือนแนะนำเราได้ 5- ศึกษาประวัติชนรุ่นแรก และการตรวจสอบตนเองของพวกเขาเหล่านั้น 6- การเยี่ยมสุสาน และครุ่นคิดถึงความเป็นอยู่ของคนที่ตายไปแล้ว ซึ่งมิอาจจะตรวจสอบตนเองได้อีก 7- เข้าร่วมฟังการบรรยาย และนะศีหะฮฺ ตักเตือน 8- กิยามุลลัยลฺ อ่านอัลกุรอาน และคุณความดีอื่นๆ 9- ห่างไกลสถานที่ที่ทำให้ลืมตัว และเพลิดเพลินจนเกินไป 10- ซิกรุลลอฮฺ และขอดุอาอ์ให้อัลลอฮฺทรงดลใจให้เป็นหนึ่งในผู้ที่หมั่นตรวจสอบตนเอง 11- ไม่มองตัวเองในแง่ดีจนเกินไป เพราะจะทำให้ลืมการตรวจสอบ ทบทวน และทำให้เห็นสิ่งไม่ดีกลายเป็นสิ่งดี      ประโยชน์ของการตรวจสอบตนเอง 1- ทำให้มองเห็นความผิดพลาด และสิ่งไม่ดีของตนเอง ทำให้เกิดความอ่อนน้อมภักดีต่อองค์อัลลอฮฺ และไม่พึงพอใจกับการงานแม้ว่าจะยิ่งใหญ่เพียงใด และไม่มองข้ามบาปแม้ว่าจะเล็กน้อยเพียงไร 2- ทำให้รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของเอกองค์อัลลอฮฺตะอาลา และความกรุณาอันล้นพ้นของพระองค์ เมื่อเปรียบเทียบสิ่งที่พระองค์ทรงประทานแก่เรา กับความบกพร่องของเราในหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้เราพึงสำนึกอยู่ตลอดเวลาและพยายามห่างไกลความชั่วร้าย 3- ทำให้จิตใจสะอาดบริสุทธิ์ อัลลอฮฺตะอาลาตรัสไว้ว่า ﴿ قَدْ أَفْلَحَ مَن زَكَّاهَا وَقَدْ خَابَ مَن دَسَّاهَا﴾ (الشمس : 9-10 ) ความว่า “แน่นอน ผู้ขัดเกลาชีวิตย่อมได้รับความสำเร็จ และแน่นอนผู้หมกมุ่นมัน (ด้วยการทำชั่ว) ย่อมล้มเหลว” (อัชชัมซฺ 9-10)   4- ทำให้เกิดจิตใต้สำนึกที่คอยควบคุมการกระทำต่างๆ ให้เป็นไปตามครรลองของศาสนา 5- ทำให้รู้หน้าที่และสิ่งที่ต้องปฎิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ตัวอย่างภาคปฎิบัติของการตรวจสอบตนเอง ตรวจสอบการละหมาด หากคุณเป็นผู้ที่รักษาละหมาด ลองนั่งอยู่กับตัวเองหลังละหมาดและกล่าวซิกิรฺทุกครั้ง แม้ว่าจะเพียงไม่กี่นาที แล้วถามตัวเองดูว่า เราได้ทำละหมาดอย่างถูกต้องสมบูรณ์หรือยัง ทั้งที่เป็นรุก่นและซุนนะฮฺ? เรามีความคุชูอฺในละหมาดหรือเปล่า? ละหมาดของเรานั้นมีผลต่อชีวิตเรา และเปลี่ยนแปลงตัวเราบ้างหรือไม่? พยายามมองดูข้อผิดพลาดในการละหมาดของเรา จะมองเห็นสิ่งนั้นแล้วจะพยายามทำละหมาดครั้งต่อไปให้ดีขึ้นตรงตามที่ควรจะเป็น แต่ถ้าหากคุณเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการละหมาด ก็จงนั่งคิดกับตัวเองว่า ทำไมเราถึงชอบละหมาดช้า? เราได้ประโยชน์อะไรที่ทำอย่างนั้น? สมควรหรือที่จะให้หน้าที่การงาน ครอบครัว และดุนยามาทำให้เราละเลยการละหมาด? ทำไมเราถึงชักช้ากับหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่ออัลลอฮฺ ในขณะที่เราไม่เคยชักช้ากับหน้าที่ที่มีต่อมนุษย์? และหากท่านเป็นผู้ที่บกพร่องในส่วนของละหมาดซุนนะฮฺ และซิกิรฺหลังละหมาด ก็ลองถามตัวเองดูว่า ทำไมเราถึงไม่ปฏิบัติสิ่งนั้น? มันทำให้เสียเวลามากหรือ? การซิกิรฺ และ ละหมาดซุนนะฮฺรวมกันใช้เวลาเพียง 5 นาที หรือมากกว่าเล็กน้อย มันจะมีผลต่อหน้าที่การงานเราหรือ? ตรงกันข้าม มันจะยิ่งเพิ่มความเป็นบะเราะกะฮฺให้แก่ชีวิตเรา     ตรวจสอบการปฏิบัติต่อบิดามารดา และญาติพี่น้อง หากคุณบกพร่องหรือเนรคุณต่อบิดามารดา ก็ลองคิดไตร่ตรองให้ดี และถามตัวเองดูว่า พ่อแม่ต้องเหน็ดเหนื่อยเพื่อเลี้ยงดูเรามา ต้องลำบากอยากเข็ญเพื่อให้เราสบาย แล้วทำไมเราถึงปฏิบัติกับท่านเช่นนี้? ทำไมเราไม่นั่งคุยกับท่าน? ทำไมไม่พยายามที่จะทำให้ท่านมีความสุขแม้จะด้วยคำพูดบางคำ หรือรอยยิ้ม? กับญาติพี่น้องก็เช่นกัน ตรวจสอบตนเองก่อนนอน ก่อนเข้านอน ครุ่นคิดสักนิดถึงวันที่ผ่านไปว่าได้ทำความดี หรือบาปอะไรไปบ้าง? ได้นินทาว่าร้ายใครใหม? ได้เบียดเบียนใครหรือเปล่า? ถ้าเราตายไปตอนนี้โดยที่ยังไม่ได้เตาบะฮฺจะเป็นอย่างไร? ใครจะช่วยเราได้? และเราจะตอบอย่างไรในวันสอบสวน?   وآخر دعوانا أن الحمد لله رب العالمين، سبحانك اللهم وبحمدك، أستغفرك وأتوب إليك، وصلى الله على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين

المرفقات

2

มาตรวจสอบตนเองกันเถิด
มาตรวจสอบตนเองกันเถิด