البحث

عبارات مقترحة:

الخبير

كلمةُ (الخبير) في اللغةِ صفة مشبَّهة، مشتقة من الفعل (خبَرَ)،...

الحافظ

الحفظُ في اللغة هو مراعاةُ الشيء، والاعتناءُ به، و(الحافظ) اسمٌ...

الغني

كلمة (غَنِيّ) في اللغة صفة مشبهة على وزن (فعيل) من الفعل (غَنِيَ...

ต้อนรับปีใหม่ (ฮิจญ์เราะฮฺศักราช)

التايلاندية - ไทย / Phasa Thai

المؤلف อับดุลอะซีซ บิน มุหัมมัด อัส-สัดหาน ، อัสรัน นิยมเดชา
القسم مقالات
النوع نصي
اللغة التايلاندية - ไทย / Phasa Thai
المفردات مناسبات دورية - العام الجديد
บทความที่กล่าวสะกิดถึงความเป็นจริงของสภาพที่เกิดขึ้นกับประชาชาติมุสลิม ซึ่งแม้จะขึ้นศักราชใหม่แล้ว แต่สภาพเดิมๆ ดังกล่าวก็ยังคงดูเหมือนว่าไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก ดังนั้น จึงถือโอกาสใช้ช่วงเริ่มต้นของรอบปีที่ได้มาถึงแล้วในครั้งนี้เพื่อทบทวนบทบาทที่ควรจะเป็นและหนทางแก้ไขปรับปรุงตัวเองของมุสลิมทุกคน

التفاصيل

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ   ต้อนรับปีใหม่ (ฮิจญ์เราะฮฺศักราช)   ปีใหม่แห่งฮิจญ์เราะฮฺศักราชกลับมาเยือนอีกครั้ง ท่ามกลางสภาพความบอบช้ำย่ำแย่ของประชาชาติอิสลามในทุกแห่งหน ไม่ทันที่แผลเก่าจะหายดี พลันก็มีแผลใหม่เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดความรู้ ศึกสงคราม ความยากจน การผลัดถิ่น หรือตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามนานัปการ สิ่งเหล่านี้ล้วนประจักษ์ชัดจากภาพซึ่งปรากฏตามสื่อต่างๆ ที่เราได้อ่าน ได้ฟัง และได้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จนแทบจะกล่าวได้ว่าไม่ถือเป็นเรื่องแปลกอีกต่อไปหากเราจะเห็นพี่น้องมุสลิม ณ ที่ใดที่หนึ่งต้องประสบกับทุกข์ภัยความเดือดร้อน แต่หากเราลอง วิเคราะห์ตรึกตรองด้วยใจที่ยุติธรรมและเป็นกลางแล้วจะพบว่าสิ่งต่างๆที่ ประชาชาติมุสลิมกำลังประสบอยู่ในขณะนี้นั้น สาเหตุหลักเกิดจากตัวเราและบาปความผิดของเรานั่นเอง ดังที่อัลลอฮฺตะอาลาตรัสไว้ว่า: ﴿وَمَا أَصَابَكُم مِّن مُّصِيبَةٍ فَبِمَا كَسَبَتْ أَيْدِيكُمْ وَيَعْفُو عَن كَثِيرٍ﴾ “และทุกข์ภัยการลงโทษที่เกิดขึ้นแก่พวกเจ้านั้น ก็ล้วนเป็นผลจากสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำลงไป และพระองค์ทรงอภัยให้พวกเจ้าในบาปความผิดหลายๆ อย่างที่พวกเจ้าได้กระทำลงไป(คือทรงละเลยไม่เอาโทษในความผิดหลายประการที่พวกเจ้าทำ เพราะความเมตตาของพระองค์ที่มีต่อพวกเจ้า)” (อัช-ชูรอ: 30)   และพระองค์ตรัสว่า: ﴿أَوَلَمَّا أَصَابَتْكُم مُّصِيبَةٌ قَدْ أَصَبْتُم مِّثْلَيْهَا قُلْتُمْ أَنّٰى هَـذَا قُلْ هُوَ مِنْ عِندِ أَنْفُسِكُمْ إِنَّ اللّهَ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ قَدِيرٌ﴾ “และเมื่อมีภยันตรายหนึ่งประสบแก่พวกเจ้า ทั้งๆที่พวกเจ้าได้ให้ประสบแก่พวกเขามาแล้วถึงสองเท่าแห่งภยันตรายนั้น พวกเจ้าก็ยังกล่าวว่าสิ่งนี้มาจากไหนกระนั้นหรือ? จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด) ว่ามันมาจากตัวของพวกท่านเอง(ตัวพวกท่านเองนั่นแหละคือต้นเหตุของภยันตรายนี้) แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเดชานุภาพเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง” (อาล อิมรอน: 165)   ที่กล่าวถึงความบอบช้ำของประชาชาติอิสลามนั้นมิได้มุ่งจะซ้ำเติมหรือก่อให้เกิด ความรู้สึกท้อแท้หมดหวังแต่อย่างใด ไม่เลย! เพราะไม่ว่าจะต้องเผชิญกับวิกฤติปัญหาที่หนักหน่วงมากเพียงใด ประชาชาติของเราก็ยังคงไว้ซึ่งความดีงามไม่เสื่อมคลายตราบจนวันสิ้นโลก แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ก็เพื่อปลุกจิตวิญญาณแห่งความเป็นมุสลิมและความมุ่งมั่นตั้งใจให้ฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง เพราะสภาพของมุสลิมจำนวนมากทุกวันนี้นั้นเป็นที่น่าเศร้าใจยิ่งนัก กับการคล้อยตามและชื่นชมยินดีในศัตรูอิสลามทุกย่างก้าว ห่างไกลจากหลักคำสอนและศีลธรรมจรรยาตามแบบอิสลาม อันเป็นผลให้เอกลักษณ์ความเป็นมุสลิมนั้นนับวันจะยิ่งเลือนลางหายไป ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและในระดับสังคมโดยรวม ไม่เพียงเท่านั้น มุสลิมบางคนกลับไปมีส่วนสนับสนุนศัตรูอิสลามให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ด้วยการทุ่มเทแรงกายและความคิดผ่านทางงานเขียนและสื่ออื่นๆ เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านอิสลามและมุสลิมด้วยกันเอง สิ่งนี้ถือเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เพราะเราอาจรู้จักศัตรูที่แสดงออกถึงความโกรธเกลียดโดยเปิดเผยได้ไม่ยาก เพราะพิษภัยของพวกเขาย่อมเป็นที่ประจักษ์แจ้งอยู่แล้ว แต่ผู้ที่ซ่อนกายอยู่ภายใต้คราบของมุสลิมแล้วคอยทิ่มแทงเล่นงานทีเผลอนั้น เป็นภัยที่อันตรายยิ่งกว่านัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเขาผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ทำงานเพื่ออิสลาม! อิสลามกำชับส่งเสริมและให้ความสำคัญกับการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องมุสลิมเป็นอย่างมาก โดยถือว่ามุสลิมทั้งปวงเปรียบดังเรือนร่างเดียวกัน จำเป็นต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขในทุกเรื่อง ท่านอัน-นุอฺมาน บิน บะชีรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า: «الْمُؤْمِنُونَ كَرَجُلٍ وَاحِدٍ، إِنِ اشْتَكَى رَأْسُهُ تَدَاعٰى لَهُ سَائِرُ الْجَسَدِ بِالْحُمّٰى وَالسَّهَرِ» “บรรดาผู้ศรัทธานั้นเปรียบได้กับคนหนึ่งคน เมื่อศีรษะของเขามีอาการปวด ส่วนอื่นๆของร่างกายก็พลอยเจ็บปวดและต้องอดหลับอดนอนไปด้วย” (บันทึกโดยมุสลิม)   และในอีกสำนวนหนึ่งซึ่งบันทึกโดยมุสลิมเช่นเดียวกันระบุว่า: «المؤمنونَ كرَجُلٍ واحِدٍ، إِنِ اشْتَكٰى رَأْسُهُ اشْتَكٰى كُلُّهُ، وَإِنِ اشْتَكٰى عَيْنُهُ اشْتَكٰى كُلُّهُ» “บรรดาผู้ศรัทธานั้นเปรียบเสมือนคนหนึ่งคน เมื่อศีรษะของเขามีอาการปวด เขาก็จะรู้สึกเจ็บปวดไปทั่วทั้งร่างกาย และเมื่อดวงตาของเขามีอาการปวด ร่างกายของเขาก็จะรู้สึกเจ็บปวดไปด้วย”   และท่านอบูมูซา อัลอัชอะรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า «المؤْمنُ لِلْمُؤْمنِ كالبُنْيانِ يَشُدُّ بَعْضهُ بعَضاً» “ฐานะความสัมพันธ์ระหว่างผู้ศรัทธาด้วยกันนั้นเปรียบเสมือนตัวอาคาร ที่แต่ละส่วนต่างช่วยเสริมความแข็งแกร่งของกันและกัน” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์)   ตัวบทหะดีษข้างต้นนี้เป็นการอธิบายชี้ชัดถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างมุสลิมกับพี่น้องของเขา เมื่อผู้ศรัทธาเปรียบเสมือนอาคารหลังหนึ่ง มุสลิมแต่ละคนจึงเปรียบดังอิฐก่อนหนึ่งที่ต่างเป็นองค์ประกอบสำคัญของบ้านแห่งอิสลามหลังใหญ่นี้ อิสลามไม่เพียงสนับสนุนให้มุสลิมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพี่น้องของเขาในที่แจ้งหรือยามอยู่ต่อหน้าเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้มีความรู้สึกดังกล่าวแม้แต่ในที่ลับหรือยามที่อยู่ห่างไกลกันอีกด้วย ครั้งหนึ่ง ขณะที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม พร้อมเศาะหาบะฮฺกลุ่มหนึ่งเดินทางออกนอกนครมะดีนะฮฺ ท่านกล่าวแก่พวกเขาว่า «إِنَّ بِالْمَدِيْنَةِ أَقْوَامًا مَا سِرْتُمْ مَسِيْرًا وَلَا أَنْفَقْتُمْ مِنْ نَّفَقَةٍ وَلَا قَطَعْتُمْ وَادِيًا إِلَّا كَانُوْا مَعَكُمْ فِيْهِ وَهُمْ بِالْمَدِيْنَةِ، حَبَسَهُمْ الْعُذْرُ» “แท้จริง ณ เมืองมะดีนะฮฺนั้นมีกลุ่มคนบางกลุ่ม ไม่ว่าพวกท่านจะเดินทางไปแห่งหนใด จะใช้จ่ายบริจาคทรัพย์ไปในหนทางของอัลลอฮฺมากเพียงใด และไม่ว่าพวกท่านจะข้ามผ่านทุ่งใด พวกเขาก็จะอยู่ร่วมกับพวกท่าน ทั้งที่พวกเขายังคงอยู่ที่มะดีนะฮฺ เพราะเหตุจำเป็นได้กักตัวพวกเขาไว้” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ จากท่านอะนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ)   ดังนั้น จึงถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคน ที่จะต้องมีความรู้สึกร่วมกับพี่น้องของเขาทั้งในยามสุขหรือทุกข์ ในที่ลับหรือที่แจ้ง ร่วมแบ่งปันความเจ็บปวด ความปีติยินดี หรือความโศกเศร้าเสียใจ บนเรือแห่งอิสลามลำนี้ที่ทุกคนร่วมโดยสารไปด้วยกัน และมุสลิมต้องพึงระวังมิให้ตนเองเป็นสาเหตุของการสร้างเงื่อนไขหรือช่องโหว่อันเป็นภัยต่ออิสลาม ไม่ว่าจะด้วยความบกพร่องหย่อนยานในส่วนของการปฏิบัติส่วนตัว หรือในการกระทำที่อาจมีผลกระทบต่อผู้อื่นด้วย อีกทั้งยังต้องตระหนักว่ามุสลิมทุกคนต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองและ ผู้ที่อยู่ใต้ปกครอง การฟื้นฟูเปลี่ยนแปลงจึงควรต้องเริ่มจากตัวเองเสียก่อน แล้วจึงขยายวงกว้างออกไปยังครอบครัว และสังคมส่วนรวมตามแต่ความสามารถของแต่ละคน เมื่อใดที่สมาชิกในสังคมตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของตน และได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดเต็มความสามารถ สังคมก็จะเข้มแข็งขึ้นอย่างแน่นอน เมื่อใดที่มุสลิมเห็นอกเห็นใจพี่น้องของเขาที่อ่อนแอกว่า และให้ความช่วยเหลือพวกเขาด้วยทรัพย์สินเงินทอง ดุอาอ์ และความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อนั้นชัยชนะก็คงอยู่ใกล้แค่เอื้อม (ด้วยประสงค์แห่งอัลลอฮฺ) เมื่อใดที่ผู้มีส่วนขับเคลื่อนสังคมให้ความสำคัญกับการเผยแผ่และปลูกฝังจิตวิญญาณแห่งศรัทธาอันแรงกล้า และชี้แนะทางสว่างแก่ผู้คนในสังคม เมื่อนั้นสังคมก็จะได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล ประเด็นสำคัญที่ต้องการจะเน้นคือ เมื่อสมาชิกในสังคมทุกคนตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของตน และได้ปฏิบัติตามอย่างไม่ขาดตกบกพร่องเท่าที่สามารถจะทำได้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่จะนำมาซึ่งชัยชนะของอิสลามและประชาชาติมุสลิม เพราะหน้าที่ความรับผิดชอบนั้นถือเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่ง ท่านอับดุลลอฮฺ บิน อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า: «كُلُّكم راعٍ وكلكم مَسْؤُوْلٌ عَن رَعِيَّتِه، الإمامُ راعٍ وَمَسؤولٌ عن رعيَّته، والرَجُلُ راعٍ في أهلِهِ وهو مسؤول عن رعيته، والمرأةُ راعيةٌ في بيتِ زَوْجِها ومسؤولةٌ عن رعيَّتِها، والخادمُ راعٍ في مالِ سَيِّدهِ ومسؤولٌ عن رعيتهِ، فكلكم راعٍ وكلكم مسئول عن رعيته» “พวกท่านทุกคนเป็นผู้มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ และพวกท่านทุกคนจะถูกไต่สวนถึงความรับผิดชอบของตน ผู้นำมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ และเขาจะถูกไต่สวนถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของเขา บุรุษมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบครอบครัวของเขา และเขาจะถูกไต่สวนถึงหน้าที่ความรับผิดชอบนั้น สตรีมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อบ้านของสามีนาง และนางจะถูกไต่สวนถึงหน้าที่ความรับผิดชอบนั้น คนรับใช้มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในทรัพย์สินของเจ้านาย และจะถูกไต่สวนถึงหน้าที่ความรับผิดชอบนั้น ทุกๆคนมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในทรัพย์สินของบิดาของเขา และเขาจะถูกไต่สวนถึงหน้าที่ความรับผิดชอบนั้น ดังนั้น พวกท่านทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบ และพวกท่านทุกคนจะถูกไต่สวนถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของตน” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม)   อิสลามนั้นประกอบไปด้วยสังคมที่หลากหลาย แต่ละสังคมก็ประกอบขึ้นจากสมาชิกจำนวนมาก เมื่อสมาชิกแต่ละคนปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น ก็เท่ากับว่าส่วนหนึ่งของสังคมพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น และเราทุกคนเป็นส่วนสำคัญของอิสลาม จึงควรระวังมิให้ตัวเราเป็นจุดอ่อนหรือช่องทางให้ศัตรูโจมตีอิสลามผ่านเราได้เป็นอันขาด และสิ่งหนึ่งที่จะช่วยขัดเกลาจิตใจคือการฝึกให้ตัวเรามีความสม่ำเสมอในการทำคุณงามความดีในรูปต่างๆ หนึ่งในนั้นคือการถือศีลอดวันอาชูรออ์ซึ่งมีผลลบล้างบาปความผิดในปีที่ผ่านมา ดังที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า «صِيام يَومِ عاشُوراء يُكَفِّرُ سَنَةً ماضيةً» “การถือศีลอดวันอาชูรออ์จะลบล้างบาปความผิดในปีที่ผ่านมา” (บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์)   ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ถือศีลอดวันอาชูรออ์ และตั้งใจว่าจะถือเพิ่มอีกหนึ่งวันก่อนหน้า โดยท่านกล่าวว่า «لَئِنْ بَقِيْتُ إلٰى قَابِلٍ لَأَصُوْمَنَّ التَّاسِعَ»  “ถ้าหากฉันมีชีวิตอยู่ถึงปีหน้า แน่นอนว่าฉันจะถือศีลอดวันที่เก้าด้วย”   ขออัลลอฮฺทรงช่วยเหลือเราให้ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งพระองค์ทรงมอบหมายได้อย่างสมบูรณ์แบบ และขอทรงเปลี่ยนแปลงแก้ไขการงานของเราให้ไปในทางที่ดียิ่งขึ้นด้วยเถิด.   ที่มา //www.saaid.net/mktarat/nihat/6.htm

المرفقات

2

ต้อนรับปีใหม่ (ฮิจญ์เราะฮฺศักราช)
ต้อนรับปีใหม่ (ฮิจญ์เราะฮฺศักราช)