เกร็ดวิธีการท่องจำอัลกุรอาน เรียบเรียงโดยเชค อับดุลมุหฺสิน อัล-กอสิม อิมาม และเคาะฏีบ มัสยิดนะบะวีย์ นครมะดีนะฮฺ อธิบายถึงวิธีการและการจัดเรียงสูเราะฮฺต่างๆ ที่ผู้ท่องจำควรนำไปปฏิบัติ เพื่อการท่องจำที่ง่ายขึ้น รวดเร็ว และแม่นยำ
التفاصيل
วิธีง่ายๆ เพื่อการท่องจำอัลกุรอาน﴿أسهل طريقة لحفظ القرآن الكريم﴾ดร.อับดุลมุหฺสิน บิน มุหัมมัด อัลกอสิมแปลโดย : แวมูฮัมหมัดซาบรี แวยะโก๊ะผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอวิธีง่ายๆ เพื่อการท่องจำอัลกุรอานโดย ดร.อับดุลมุหฺสิน บินมุหัมมัด อัลกอสิมอิมามและเคาะฏีบ ประจำมัสญิดอันนะบะวีย์ อัช-ชะรีฟ(มะดีนะฮฺ) มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ ขอความจำเริญและความศานติมีแด่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และบรรดาเครือญาติของท่าน ตลอดจนบรรดาอัครสาวกทั้งหลายของท่าน ที่จะกล่าวต่อไปนี้ คือวิธีการท่องจำอัลกุรอานที่มีลักษณะเด่นในเรื่องของความแม่นยำและการจดจำที่ฝังลึกในหัวใจ อีกทั้งยังส่งผลให้มีความฉับไวในการท่องจำอัลกุรอานจนจบ(เคาะตัม)ทั้งเล่มได้อย่างรวดเร็ว และนี่คือตัวอย่างของวิธีการท่องจำอัลกุรอานในหน้าแรกของสูเราะฮฺ อัล-ญุมุอะฮฺ โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. อ่านอายะฮฺแรกซ้ำไปซ้ำมา 20 รอบ﴿يُسَبِّحُ للهِ مَا فِي السَّمَاوَاتِ وَمَا فِي الْأَرْضِ الْمَلِكِ الْقُدُّوسِ الْعَزِيزِ الْحَكِيمِ﴾2. อ่านอายะฮฺที่ 2 ซ้ำไปซ้ำมา 20 รอบ﴿هُوَ الَّذِي بَعَثَ فِي الْأُمِّيِّينَ رَسُولًا مِنْهُمْ يَتْلُو عَلَيْهِمْ آيَاتِهِ وَيُزَكِّيهِمْ وَيُعَلِّمُهُمُ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ وَإِنْ كَانُوا مِنْ قَبْلُ لَفِي ضَلَالٍ مُبِينٍ﴾3. อ่านอายะฮฺที่ 3 ซ้ำไปซ้ำมา 20 รอบ﴿وَآخَرِينَ مِنْهُمْ لَمَّا يَلْحَقُوا بِهِمْ وَهُوَ الْعَزِيزُ الْحَكِيمُ﴾4. อ่านอายะฮฺที่ 4 ซ้ำไปซ้ำมา 20 รอบ﴿ذٰلِكَ فَضْلُ اللهِ يُؤْتِيهِ مَنْ يَشَاءُ وَاللهُ ذُو الْفَضْلِ الْعَظِيمِ﴾5. อ่านอายะฮฺแรกถึงอายะฮฺที่ 4 อย่างต่อเนื่องซ้ำไปซ้ำมา 20 รอบ6. อ่านอายะฮฺที่ 5 ซ้ำไปซ้ำมา 20 รอบ﴿مَثَلُ الَّذِينَ حُمِّلُوا التَّوْرَاةَ ثُمَّ لَمْ يَحْمِلُوهَا كَمَثَلِ الْحِمَارِ يَحْمِلُ أَسْفَارًا بِئْسَ مَثَلُ الْقَوْمِ الَّذِينَ كَذَّبُوا بِآيَاتِ اللهِ وَاللهُ لَا يَهْدِي الْقَوْمَ الظَّالِمِينَ﴾7. อ่านอายะฮฺที่ 6 ซ้ำไปซ้ำมา 20 รอบ﴿قُلْ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ هَادُوا إِنْ زَعَمْتُمْ أَنَّكُمْ أَوْلِيَاءُ للهِ مِنْ دُونِ النَّاسِ فَتَمَنَّوُا الْمَوْتَ إِنْ كُنْتُمْ صَادِقِينَ﴾8. อ่านอายะฮฺที่ 7 ซ้ำไปซ้ำมา 20 รอบ﴿وَلَا يَتَمَنَّوْنَهُ أَبَدًا بِمَا قَدَّمَتْ أَيْدِيهِمْ وَاللهُ عَلِيمٌ بِالظَّالِمِينَ﴾9. อ่านอายะฮฺที่ 8 ซ้ำไปซ้ำมา 20 รอบ﴿قُلْ إِنَّ الْمَوْتَ الَّذِي تَفِرُّونَ مِنْهُ فَإِنَّهُ مُلَاقِيكُمْ ثُمَّ تُرَدُّونَ إِلَى عَالِمِ الْغَيْبِ وَالشَّهَادَةِ فَيُنَبِّئُكُمْ بِمَاكُنْتُمْ تَعْمَلُونَ﴾10. อ่านอายะฮฺที่ 5 ถึงอายะฮฺที่ 8 อย่างต่อเนื่องซ้ำไปซ้ำมา 20 รอบ11. อ่านอายะฮฺแรกถึงอายะฮฺที่ 8 ซ้ำไปซ้ำมา 20 รอบเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการท่องจำหน้านี้ดังนี้แหละ ก็ให้ท่านใช้วิธีการนี้ในทุกหน้าของอัลกุรอาน โดยในแต่ละวันท่านอย่าท่องจำจนเกินหนึ่งส่วนแปดของญุซอ์(หรือประมาณสองหน้าครึ่ง)เป็นอันขาด ทั้งนี้ ก็เพื่อไม่ให้เพิ่มภาระที่หนักมากนักในการทบทวนและรักษาความจำของมันหากฉันต้องการท่องจำหน้าใหม่ในวันถัดไป ฉันควรทำเช่นไร ?หากท่านต้องการท่องจำหน้าใหม่ในวันถัดไป ซึ่งก่อนที่ท่านจะท่องในหน้าใหม่ด้วยวิธีการที่ฉันได้แนะนำแก่ท่านไปแล้วนั้น ก็ให้ท่านอ่านในหน้าแรกที่ท่านได้ท่องจำจนจบหน้าสุดท้ายที่ท่านได้ท่องจำ 20 รอบเสียก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีความแม่นยำและฝังในหัวใจในสิ่งที่ได้ท่องจำมา หลังจากนั้น ก็ให้เริ่มท่องในหน้าใหม่ได้ ด้วยวิธีการที่ฉันได้แนะนำไปแล้ว ฉันจะรวมระหว่างการท่องจำกับการทบทวนในสิ่งที่เคยท่องจำได้อย่างไร ?ท่านอย่าท่องจำอัลกุรอานโดยไม่มีการทบทวน เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น เมื่อท่านได้ท่องจำ อัลกุรอานทีละหน้า จนเคาะตัมอัลกุรอานได้ทั้งเล่มแล้ว เมื่อถึงเวลาที่ท่านต้องการทบทวนในสิ่งที่เคยท่องจำได้ ท่านก็จะพบด้วยตัวเองเลยว่า ท่านได้ลืมในสิ่งที่เคยท่องจำไปก่อนหน้านั้นไปแล้ว ดังนั้น วิธีการที่ดียิ่งในการท่องจำอัลกุรอานนั้นคือการรวมระหว่างการท่องจำกับการทบทวนในสิ่งที่เคยท่องจำ โดยให้แบ่งอัลกุรอานที่มีอยู่เป็น 3 ส่วน และให้ทุกๆ 10 ญุซอ์นั้นนับเป็น 1 ส่วน ดังนั้นเมื่อท่านท่องจำในแต่วันได้ 1 หน้า ก็ให้ท่านทบทวน 4 หน้า จนกระทั่งท่านได้ท่องจำจนครบ 10 ญุซอ์ และเมื่อท่านท่อง 10 ญุซอ์ได้แล้ว ก็ให้หยุดจากการท่องจำเป็นเวลา 1 เดือนเต็มๆ เพื่อให้เวลาในการทบทวน (ทั้ง 10 ญุซอ์ที่ได้ท่องจำมา) ซึ่งในแต่ละวันนั้นให้ทบทวน 8 หน้าหลังจากใช้เวลา 1 เดือนเพื่อการทบทวนแล้วนั้น ก็ให้เริ่มท่องจำส่วนที่เหลือ(ในแต่ละวัน) 1-2 หน้าตามความสามารถ และให้ทบทวนวันละ 8 หน้า จนกระทั่งท่านได้ท่องจำจนครบ 20 ญุซอ์ และเมื่อท่านท่อง 20 ญุซอ์ได้แล้ว ก็ให้หยุดจากการท่องจำเป็นเวลา 2 เดือนเพื่อให้เวลาในการทบทวนทั้ง 20 ญุซอ์ ซึ่งในแต่ละวันนั้นให้ทบทวน 8 หน้า หลังจากใช้เวลา 2 เดือนเพื่อการทบทวนไปแล้ว ก็ให้เริ่มท่องจำต่อโดยให้ท่องในแต่ละวัน 1-2 หน้าตามความสามารถ และให้ทบทวนวันละ 8 หน้า จนกระทั่งท่านได้ท่องจำอัลกุรอานจบทั้งเล่มอย่างครบสมบูรณ์และเมื่อท่านท่องจำอัลกุรอานได้ทั้งเล่มแล้ว ก็ให้ท่านทบทวน 10 ญุซอ์แรกเป็นเวลา 1 เดือน โดยในแต่ละวันนั้นให้ทบทวนครึ่งญุซอ์ หลังจากนั้นก็ให้ไปทบทวน 10 ญุซอ์ถัดมา(หรือญุซอ์ที่ 11 ถึง 20)เป็นเวลา 1 เดือน โดยในแต่ละวันนั้นให้ทบทวนครึ่งญุซอ์เช่นเดียวกัน และให้อ่านจาก 10 ญุซอ์แรกวันละ 8 หน้า หลังจากนั้นก็ให้ไปทบทวน 10 ญุซอ์สุดท้ายเป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยในแต่ละวันให้ทบทวนครึ่งญุซอ์ พร้อมกับอ่าน 8 หน้าจาก 10 ญุซอ์แรก และ 8 หน้าจาก 10 ญุซอ์ส่วนที่สองถัดมา ฉันสามารถทบทวนอัลกุรอานทั้งเล่มได้อย่างไร หลังจากที่ผ่านพ้นช่วงเวลาของการทบทวนในช่วงต่างๆ นั้นแล้ว ?ให้ท่านเริ่มทบทวนอัลกุรอานทั้งเล่มในแต่ละวัน วันละ 2 ญุซอ์ โดยให้ทบทวนซ้ำไปซ้ำมา 3 รอบในแต่ละวัน แสดงว่าในทุกๆ 2 สัปดาห์นั้น ท่านก็จะสามารถเคาะตัมอัลกุรอานได้ทั้งเล่มด้วยการทบทวนเพียงใช้วิธีการนี้ในระยะเวลา 1 ปี ท่านก็จะมีความแม่นยำในการท่องจำอัลกุรอานได้อย่างแน่นอน (อินชาอัลลอฮฺ) ดังนั้นจงใช้วิธีการนี้ในระยะเวลา 1 ปีเถิด ฉันต้องทำอะไรบ้างหลังจากได้ท่องจำอัลกุรอานไปแล้ว 1 ปี ?หลังจากใช้เวลา 1 ปีในการท่องจำและทบทวนอัลกุรอานให้แม่นยำแล้วนั้น ก็จงให้ อัลกุรอานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในแต่ละวันของท่านจนกระทั่งท่านได้เสียชีวิตไป เพราะมันคือภารกิจส่วนหนึ่งของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในช่วงที่ท่านมีชีวิตอยู่ กล่าวคือท่านจะแบ่งอัลกุรอานเป็น 7 ส่วน โดยในทุก 7 วันนั้น ท่านจะเคาะตัมอัลกุรอานจบเล่มได้ 1 ครั้ง ท่านเอาส์ บิน หุซัยฟะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “ฉันได้ถามเศาะหาบะฮฺของท่าน เราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมว่า พวกท่านได้แบ่งอัลกุรอานเพื่ออ่านในแต่ละวันอย่างไรบ้าง ? พวกเขาตอบว่า (เราได้แบ่งออกเป็น) 3 สูเราะฮฺ 5 สูเราะฮฺ 7 สูเราะฮฺ 9 สูเราะฮฺ 11 สูเราะฮฺ และได้อ่าน “อัล-มุฟัศศอล” นั่นคือ ตั้งแต่สูเราะฮฺ กอฟ จนกระทั่งเคาะตัมอัลกุรอานจบทั้งเล่ม” (บันทึกโดยอะหฺมัด 16211 สถานะหะดีษเฎาะอีฟ – ผู้แปล)นั่นคือ ในวันแรกท่านอ่านตั้งแต่สูเราะฮฺ “อัล-ฟาติหะฮฺ” จนจบสูเราะฮฺ “อัน-นิสาอ์” วันที่ 2 ท่านอ่านตั้งแต่สูเราะฮฺ “อัล-มาอิดะฮฺ” จนจบสูเราะฮฺ “อัต-เตาบะฮฺ” วันที่ 3 ท่านอ่านตั้งแต่สูเราะฮฺ “ยูนุส” จนจบสูเราะฮฺ “อัน-นะหฺลุ”วันที่ 4 ท่านอ่านตั้งแต่สูเราะฮฺ “อัล-อิสรออ์” จนจบสูเราะฮฺ “อัล-ฟุรกอน” วันที่ 5 ท่านอ่านตั้งแต่สูเราะฮฺ “อัช-ชุอะรออ์” จนจบสูเราะฮฺ “ยาสีน”วันที่ 6 ท่านอ่านตั้งแต่สูเราะฮฺ “อัศ-ศอฟฟาต” จนจบสูเราะฮฺ “อัล-หุญุรอต”วันที่ 7 ท่านอ่านตั้งแต่สูเราะฮฺ “กอฟ” จนจบสูเราะฮฺ “อัน-นาส”ซึ่งบรรดานักวิชาการได้ประมวลการแบ่งอัลกุรอานเพื่ออ่านในแต่ละวันของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ด้วยคำกล่าวที่ว่า “فمي بشوق – ฟะมีย์ บิเชากิน” โดยให้ทุกๆอักษรของทั้งสองคำข้างต้นนั้นเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นในการแบ่ง อัลกุรอานเพื่ออ่านในแต่ละวันของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อันได้แก่อักษร “ف” ในคำว่า “فمي” เป็นสัญลักษณ์แทนสูเราะฮฺ “الفاتحة –อัล-ฟาติหะฮฺ” และเป็นการบ่งชี้ถึงการแบ่งอัลกุรอานของท่านนบีในวันแรกนั้นจะเริ่มด้วยสูเราะฮฺ “อัล-ฟาติหะฮฺ”อักษร “م” ในคำว่า “فمي” เป็นการบ่งชี้ถึงการแบ่งอัลกุรอานของท่านนบีในวันที่ 2 นั้นเริ่มด้วยสูเราะฮฺ “المائدة –อัล-มาอิดะฮฺ” อักษร “ي” ในคำว่า “فمي” เป็นการบ่งชี้ถึงการแบ่งอัลกุรอานของท่านนบีในวันที่ 3 นั้นเริ่มด้วยสูเราะฮฺ “يونس -ยูนุส” อักษร “ب” ในคำว่า “بشوق” เป็นการบ่งชี้ถึงการแบ่งอัลกุรอานของท่านนบีในวันที่ 4 นั้นเริ่มด้วยสูเราะฮฺ “بني إسرائيل -บนีอิสรออีล” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สูเราะฮฺ อัล-อิสรออ์”อักษร “ش” ในคำว่า “بشوق” เป็นการบ่งชี้ถึงการแบ่งอัลกุรอานของท่านนบีในวันที่ 5 นั้นเริ่มด้วยสูเราะฮฺ “الشعراء –อัช-ชุอะรออ์”อักษร “و” ในคำว่า “بشوق” เป็นการบ่งชี้ถึงการแบ่งอัลกุรอานของท่านนบีในวันที่ 6 นั้นเริ่มด้วยสูเราะฮฺ “والصافات – วัศศอฟฟาต”อักษร “ق” ในคำว่า “بشوق” เป็นการบ่งชี้ถึงการแบ่งอัลกุรอานของท่านนบีในวันที่ 7 นั้นเริ่มด้วยสูเราะฮฺ “ق – ก็อฟ” จนจบสูเราะฮฺ “อัน-นาส”ส่วนการแบ่งอัลกุรอาน(หิซบฺ)ในปัจจุบันนั้นเป็นผลงานของท่าน “อัล-หัจญาจญ์ บิน ยูสุฟ”ฉันสามารถแยกแยะอายะฮฺที่คล้ายคลึงกันในอัลกุรอานได้อย่างไร ?วิธีการที่ดีที่สุดที่จะแยกแยะความคล้ายคลึงกันระหว่างสองอายะฮฺนั้นคือ การเปิด มุศหัฟ(อัลกุรอานที่เป็นเล่ม)แล้วดูทั้งสองอายะฮฺ โดยให้สังเกตและให้ตระหนักถึงข้อแตกต่างระหว่างทั้งสองอายะฮฺ หลังจากนั้นให้กำหนดสัญลักษณ์ด้วยตัวของท่านเอง ซึ่งช่วงที่ท่านกำลังทบทวนนั้นก็ให้ระวังถึงข้อแตกต่างข้างต้นให้บ่อยครั้ง จนกระทั่งท่านมีความแม่นยำที่จะแยกแยะความคล้ายคลึงกันระหว่างทั้งสองอายะฮฺ กฎเกณฑ์ต่างๆ ในการท่องจำอัลกุรอาน1. จำเป็นที่ท่านต้องมีครูเพื่อตรวจสอบความถูกต้องในการอ่าน2. ให้ท่องทุกๆ วัน วันละ 2 หน้า สำหรับหน้าแรกให้ท่องหลังจากละหมาดศุบหฺ ส่วนหน้าถัดมานั้นให้ท่องหลังจากละหมาดอัศรฺ หรือหลังจากละหมาดมัฆริบ ซึ่งวิธีการนี้เองที่จะทำให้ท่านท่องจำอัลกุรอานได้ทั้งเล่มในระยะเวลา 1 ปีได้อย่างแม่นยำ และจะส่งผลให้การท่องจำของท่านนั้นมีความแม่นยำ ซึ่งหากท่านท่องจำ(ด้วยจำนวนหน้าที่)มากกว่านี้ก็อาจจะเป็นการเพิ่มภาระอันหนักให้แก่ท่านที่จะรักษามันได้3. ควรเริ่มท่องจำจากสูเราะฮฺ อัน-นาส และนับถัดไปทางต้นมุศหัฟจนถึงสูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ เพราะมันมีความง่ายดายยิ่งกว่า แต่ภายหลังจากที่ท่านได้ท่องอัลกุรอานได้ทั้งเล่มแล้ว ก็ให้ท่านทบทวนโดยเริ่มจากสูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ เรื่อยจนถึงสูเราะฮฺ อัน-นาส 4. ให้ใช้มุศหัฟของสำนักพิมพ์เดียวกัน (แนะนำให้ใช้มุศหัฟที่ศูนย์กษัตริย์ฟะฮัดเพื่อการพิมพ์อัลกุรอาน ณ นครมะดีนะฮฺ จัดพิมพ์) ทั้งนี้เพื่อช่วยเพิ่มความแม่นยำในการท่องจำและเพื่อง่ายดายต่อการนึกถึงตำแหน่งของอายะฮฺต่างๆ รวมทั้งอายะฮฺแรกและอายะฮฺสุดท้ายของแต่ละหน้า5. ในช่วง 2 ปีแรกของการท่องจำ ถือเป็นช่วงเวลาที่เป็นภาระอันหนักมากในการรักษาสิ่งที่ได้ท่อง ซึ่งเป็นที่เรียกขานช่วงเวลานี้ว่า “مرحلة التجميع” หรือ ช่วงเวลาแห่งการรวบรวม ดังนั้น ท่านอย่าได้เสียใจต่อการลืมเลือน(บางอายะฮฺของ)อัลกุรอานหรือการที่ท่านอ่านผิดไปบ้างเลย และช่วงเวลานี้เองที่เป็นบททดสอบอันหนักหน่วงของบรรดานักท่องจำทั้งหลาย ซึ่งสำหรับชัยฏอนแล้วนั้นถือเป็นโอกาสสำหรับมันที่จะหยุดยั้งท่านจากการท่องจำอัลกุรอาน โดยที่มันจะพยายามขัดขวางและล่อลวงท่าน ดังนั้นท่านจงท่องจำอัลกุรอานต่อไปเถิด เพราะมันคือขุมทรัพย์อันล้ำค่าที่จะไม่ถูกมอบให้แก่ผู้ใดได้ง่ายๆ คือไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับขุมทรัพย์นี้