ความอดทนและการละหมาด คือหนทางสู่ความสำเร็จ บทความที่อธิบายถึงปัจจัยสำคัญสำหรับมุอ์มินผู้ศรัทธาที่มุ่งมั่นไขว่คว้าความสำเร็จ บนเส้นทางชีวิตที่เต็มไปด้วยบททดสอบในโลกนี้ โดยอาศัยโองการของอัลลอฮฺในสูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 153 เป็นตัวนำทาง พร้อมคำอธิบายจากบรรดาอุละมาอ์
التفاصيل
ความอดทนและการละหมาด คือหนทางสู่ความสำเร็จ﴿استعينوا بالصبر والصلاة﴾แวมูฮัมหมัดซาบรี แวยะโก๊ะผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมานด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอความอดทนและการละหมาด คือหนทางสู่ความสำเร็จมวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ ความจำเริญและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺองค์เดียว โดยไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์ อัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา ทรงแนะนำวิถีทางในการปรับปรุงและขัดเกลาชีวิตของเราให้เป็นคนดีด้วยแสงสว่างของอัลกุรอาน สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาอายะฮฺนี้﴿يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ اسْتَعِينُواْ بِالصَّبْرِ وَالصَّلاَةِ إِنَّ اللّهَ مَعَ الصَّابِرِينَ﴾ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงขอความช่วยเหลือด้วยความอดทนและการละหมาด แท้ที่จริงแล้วอัลลอฮฺทรงอยู่กับบรรดาผู้ที่อดทนทั้งหลาย” (สูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ 153) “اسْتَعِينُواْ (อิสตะอีนู)” เป็นกริยาคำสั่ง ซึ่งรากศัพท์ของคำนี้มาจากคำว่า“اِسْتِعَانَة (อิสติอานะฮฺ)” แปลว่าขอความช่วยเหลือ ดังนั้น اسْتَعِينُواْ จึงหมายรวมว่า จงขอความช่วยเหลือ อัลลอฮฺทรงมีดำรัสว่า โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงขอความช่วยเหลือด้วยความอดทนและจงละหมาด แท้ที่จริงแล้วอัลลอฮฺทรงอยู่กับบรรดาผู้ที่อดทนทั้งหลาย อัลกุรอานได้บอกว่า “จงขอความช่วยเหลือ” หมายถึงให้สองกิจการนี้เป็นสิ่งช่วยให้เรายืนหยัดสู่หนทางแห่งความสำเร็จ ซึ่งเป็นการยืนยันในสองประเด็นสำคัญนั้นก็คือ เรื่องการอดทนและการละหมาด ส่วนคำว่า الصَّبْر แปลว่า “อดทน” แต่นักวิชาการบางท่านเช่น ท่านมุญาฮิด ท่านสุฟยาน อัษ-เษารีย์ ได้กล่าวว่า الصَّبْر ในที่นี้หมายถึง “การถือศีลอด” เพราะท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า ﴿الصَّوْمُ نِصْفُ الصَّبْر﴾ ความว่า “การถือศีลอดนั้นเป็นึครึ่งหนึ่งของการอดทน” (บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ ) จึงหมายรวมว่า โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงอาศัยเรื่องการถือศีลอด และการละหมาดเพื่อเป็นการยืนหยัดสู่หนทางแห่งความสำเร็จเถิด ซึ่งในความเป็นจริงนั้น “การเศาะบัรฺ” มีนัยมากกว่าการอดทนและมากกว่าการถือศีลอดเสียอีก ดังที่นักวิชาการบางท่านได้กล่าวว่าการอดทนนั้นหมายถึง “การที่ได้ยับยั้งตัวเองจากการปฏิบัติสิ่งที่เป็นบาป็็หรือมะอฺศิยะฮฺทั้งหลาย และด้วยเหตุนี้เองมันจึงได้ควบคู่กับการปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ ซึ่งสุดยอดของศาสนกิจก็คือ “การละหมาด” (ตัฟสีรอิบนุกะษีร : 1/251) ดังนั้น การอดทนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายเพียงอย่างเดียวแต่มันขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจอีกด้วย ซึ่งคนที่แข็งแกร่งนั้นไม่ใช่คนที่สามารถล้มคนอื่นได้ แต่คนที่สามารถควบคุมตัวเองได้ในยามโกรธต่างหากที่เป็นคนที่แข็งแกร่ง ดังที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กล่าวว่า«لَيْسَ الشَّدِيدُ بِالصُّرَعَةِ، إِنَّمَا الشَّدِيدُ الَّذِي يَمْلِكُ نَفْسَهُ عِنْدَ الْغَضَبِ»ความว่า “ผู้ที่แข็งแกร่งนั้นไม่ใช่ผู้ที่สามารถล้มคู่ต่อสู้ได้ แต่ผู้ที่แข็งแกร่งคือผู้ที่สามารถควบคุมตัวเองได้ในยามโกรธ” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม)ท่านอิบนุกะษีร ได้กล่าวว่า “การอดทนนั้นมีอยู่ 2 ประเภท นั่นคือการอดทนต่อการละทิ้งสิ่งที่เป็นข้อห้ามและที่เป็นบาปทั้งหลาย และการอดทนต่อการปฏิบัติเพื่อแสดงถึงการเคารพภักดีและการเข้าใกล้อัลลอฮฺ ซึ่งการอดทนประเภทที่สองนี่เองที่มีผลานิสงส์อย่างมากมายเพราะมันคือเป้าประสงค์(ของการอดทน)” (ตัฟสีรอิบนุกะษีร : 1/466 ) ท่านอับดุรเราะหฺมาน บินซัยดฺ บินอัสลัม ได้กล่าวว่า “การอดทนนั้นมีอยู่ 2 รูปแบบ นั่นคือการอดทนเพื่ออัลลอฮฺในสิ่งที่ตนพึงปรารถนาอย่างยิ่งยวด แม้นว่ามันจะเป็นสิ่งที่หนักอึ้งต่อจิตใจและสภาพร่างกาย และการอดทนเพื่ออัลลอฮฺจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม แม้นว่าเขาต้องสละทิ้งอารมณ์ใคร่ของเขาก็ตาม ดังนั้นผู้ใดที่อยู่ในสภาพเช่นนั้นเขาก็คือหนึ่งในผู้ที่อดทน ซึ่งเป็นผู้ที่ความศานติจะประสบแด่เขา อินชาอัลลอฮฺ” (ตัฟสีรอิบนุกะษีร : 1/466 )ท่านอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบได้กล่าวว่า “การอดทนนั้นมีอยู่ 2 ประเภท นั่นคือการอดทนเมื่อมีเคราะห์กรรม(มุศีบะฮฺ)มาประสบ นี่เป็นการอดทนประเภทที่ดี (เช่นบิดา มารดา หรือลูกหลานเสียชีวิต เกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วย ฯลฯ ก็ต้องอดทนด้วยสภาพพึงพอใจในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกำหนด) แต่สิ่งที่ดีกว่าการอดทนต่อเคราะห์กรรมที่มาประสบก็คือ การอดทนจากการปฏิบัติสิ่งที่เป็นบาปและการกระทำความชั่วที่เป็นข้อห้ามของอัลลอฮฺ (ซึ่งเป็นการอดทนที่ดีเลิศที่สุด ยอดเยี่ยมที่สุด เพราะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำได้)” (ตัฟสีรอิบนุกะษีร : 1/251 ) ข้อห้ามต่างๆ ของอัลลอฮฺที่ห้อมล้อมชีวิต ซึ่งคนที่สามารถควบคุมอารมณ์ของเขาโดยสามารถหลีกเลี่ยงจากข้อห้ามต่างๆ แม้กระทั่งปัจจัยทั้งหลายที่จะนำเขาไปสู่สิ่งที่เป็นข้อห้ามเหล่านั้น คนเช่นนี้ถือเป็นคนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด โดยแน่แท้มันไม่ใช่เรื่องที่ง่ายที่ใครๆ ก็สามารถปฏิบัติได้ แต่ย่อมไม่เกินความสามารถของมนุษย์ที่จะปฏิบัติมันได้อย่างแน่นอนดังที่ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า «عجبا للمؤمن ، لا يقضي الله له قضاء إلا كان خيرا له : إن أصابته سراء ، فشكر ، كان خيرا له ; وإن أصابته ضراء فصبر كان خيرا له» ความว่า “น่าประหลาดจริงๆ สำหรับการกำหนด(เกาะฎออ์)ของอัลลอฮฺแก่ผู้ศรัทธา ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นความดีสำหรับเขา(นั่นคือ)หากความดีมาประสบแก่เขา เขาก็จะขอบคุณต่ออัลลอฮฺ ซึ่งนั่นก็เป็นความดีสำหรับเขา แต่ถ้าหากว่าความเดือดร้อนมาประสบกับเขา เขาก็จะอดทนต่อความเดือดร้อนนั้น นั่นก็เป็นความดีสำหรับเขาอีกเช่นกัน” (บันทึกโดยมุสลิม) ซึ่งสามารถกล่าวสรุปได้ว่าการอดทนมีอยู่ 3 ประเภท ดังนี้ ประเภทแรกคือ การอดทนจากการห่างไกลจากสิ่งที่เป็นข้อห้ามของอัลลอฮฺ เพราะสิ่งที่เป็นข้อห้ามนั้นมนุษย์มักจะมีความปรารถนาที่จะกระทำมัน แม้กระทั่งสิ่งที่เรารังเกียจแต่เมื่อมีการสั่งห้ามแล้ว ก็มักมีความรู้สึกที่อยากกระทำ ซึ่งข้อห้ามนั้นมักจะเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับอารมณ์ใคร่ของมนุษย์ ดังนั้น เมื่อเกิดความรู้สึกที่อยากกระทำสิ่งที่ผิดหลักการและมันตอบสนองกับอารมณ์ใฝ่ต่ำ สำหรับผู้ศรัทธาแล้วก็ต้องยับยั้งและต้องสยบอารมณ์ใคร่ของเขาให้ได้ เช่น “จะไปเที่ยวกับเพศตรงข้ามก็อย่าไป จะทำซินาก็อย่าทำ จะดูหนังดูละครก็อย่าดู จะฟังเพลงก็อย่าฟัง จะสูบบุหรี่ก็อย่าสูบ ฯลฯ ” ประเภทที่สอง การอดทนในการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ เช่นไม่อยากละหมาดก็พยายามละหมาด ไม่อยากไปมัสญิดก็พยายามไปมัสญิด ไม่อยากอ่านอัลกุรอานก็พยายามอ่านอัลกุรอานให้มากๆ ซึ่งเป็นเรื่องปรกติที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ศาสนาได้ใช้ให้ทำมักจะมีอุปสรรค ดังที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า สวนสวรรค์นั้นถูกห้อมล้อมไปด้วยสิ่งที่อันตรายทั้งสิ้นหมายถึงว่า กว่าจะเข้าสวนสวรรค์ก็ต้องผ่านสิ่งที่ชั่วร้าย สิ่งที่เรารังเกียจไม่อยากทำแต่เราก็ต้องทำทั้งนี้เพื่อยืนยันว่าเรานั้นเป็นผู้ศรัทธา ส่วนนรกนั้นจะถูกห้อมล้อมไปด้วยกับสิ่งที่ตอบสนองกับอารมณ์ใฝ่ต่ำ ประเภทที่สาม อดทนในบททดสอบหรือเคราะห์กรรมต่างๆ (มุศีบะฮฺ) ที่ได้ประสบในชีวิตของเรา ท่านอะลี บินอัล-หุสัยนฺ ซัยนุลอาบิดีน ได้กล่าวว่า “เมื่ออัลลอฮฺทรงรวบรวมกลุ่มชนรุ่นแรกและสุดท้ายไว้ด้วยกัน ผู้เรียกร้องจะร้องเรียกว่า “อยู่ไหนเล่าหมู่ชนผู้อดทนทั้งหลาย”โดยที่พวกเขาจะได้เข้าสวรรค์ก่อนการพิพากษา ท่านอะลีได้กล่าวต่อว่า หมู่ชนบางกลุ่มจากหมู่มนุษย์ก็ได้ยืนขึ้น แล้วพวกเขาก็ได้ไปพบกับเหล่ามลาอิกะฮฺ เหล่ามลาอิกะฮฺจึงถามว่า “พวกท่านจะไปยัง ณ ที่ใดกัน โอ้ลูกหลานอาดัมเอ๋ย ?” พวกเขาตอบว่า “ไปสวนสวรรค์” เหล่ามลาอิกะฮฺจึงถามต่อว่า “ก่อนที่จะมีการพิพากษากระนั้นหรือ ?” พวกเขาตอบว่า “ใช่แล้ว” เหล่ามลาอิกะฮฺถามต่อว่า “แล้วพวกท่านเป็นใครกัน ?” พวกเขาตอบว่า “คือหมู่ชนผู้อดทน” เหล่ามลาอิกะฮฺจึงถามต่อว่า “แล้วพวกท่านได้อดทนในสิ่งอันใดเล่า ?” พวกเขาตอบว่า “พวกเราอดทนในการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ และพวกเราก็อดทนจากการฝ่าฝืนพระองค์ กระทั่งอัลลอฮฺทรงให้พวกเราเสียชีวิต” เหล่ามลาอิกะฮฺจึงกล่าวว่า “พวกท่านทั้งหลาย จงเป็นดั่งที่พวกท่านพูดเถิด จงเข้าไปสู่สวนสวรรค์อันสถาพร ดังนั้นรางวัลของผู้กระทำความดีช่างประเสริฐแท้ๆ” (ตัฟสีรอิบนุกะษีร : 1/466 ) ซึ่งคำกล่าวข้างต้นนี้ได้รับการยืนยันด้วยคำดำรัสของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่ว่า﴿إِنَّمَا يُوَفَّى الصَّابِرُونَ أَجْرَهُمْ بِغَيْرِ حِسَابٍ﴾ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้อดทนนั้นจะได้รับการตอบแทนรางวัลของพวกเขาอย่างสมบูรณ์โดยไม่ต้องคำนวณ” (สูเราะฮฺอัซ-ซุมัรฺ : 10)ท่านสัยยิด กุฏุบ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “การที่อัลลอฮฺทรงกล่าวถึงความอดทนหลายต่อหลายครั้งในอัลกุรอาน นั้นก็เพราะว่าอัลลอฮฺทรงรู้ดีว่าบางประการจะต้องใช้ความพยายามทุ่มเทอย่างมากมายจึงจะสามารถทำสิ่งนั้นให้สำเร็จลุ่ล่วงไปได้ เพราะในระหว่างทางมีตัวแปรและสิ่งชักจูงมากมาย และผู้ที่จะอยู่ในแนวทางที่อัลลอฮฺทรงเรียกร้องได้ ผู้ที่จะยืนต่อสู้กับอุปสรรคและสิ่งที่กีดขว้างต่างๆ ได้ ผู้ที่จะให้จิตใจยึดมั่น มั่นคงตื่นตัวทั้งภายในและภายนอกในตลอดเวลาได้ จำเป็นที่จะต้องมีความมานะอดทนสูงในทุกประการ เขาจะต้องมีความอดทนในการภักดีต่ออัลลอฮฺ มีความอดทนต่อสิ่งที่ชั่วร้ายทั้งหลายทั้งปวง อดทนที่จะต่อสู้กับอุปสรรคด้วยความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ อดทนต่อเลห์เหลี่ยมของศัตรูรอบด้าน อดทนต่อความล่าช้าของชัยชนะ อดทนต่อความยากลำบาก อดทนเพื่อเอาชนะโมฆะธรรม อดทนต่อชัยชนะที่มีน้อย อดทนต่อหนทางอันยาวไกล อดทนต่อการถูกโดดเดี่ยว และการหลงผิดของจิตใจผู้คน อดทนต่อสิ่งที่กีดขวางที่หนักหน่วง และความเจ็บปวดกว่าจะไปถึงจุดหมายปลายทาง” (ฟิซิลาลิลกุรอาน : 2/57 )ท่านยังกล่าวอีกว่า “เหตุผลที่อัลลอฮฺทรงให้เราขอความช่วยเหลือหรืออาศัยด้วยการละหมาดนั้นก็เพราะว่า การละหมาดเป็นการสร้างสัมพันธ์ระหว่างบ่าวกับผู้อภิบาล เป็นความสัมพันธ์ที่จะทำให้จิตใจได้รับพลังความแข็งแกร่ง ทำให้จิตวิญญาณรู้สึกถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อองค์อภิบาล จากความสัมพันธ์นี้เช่นกันที่จิตจะได้รับเสบียงสำหรับการดำรงชีวิตในปรโลก” ท่านมุกอติล บินหัยยาน ได้กล่าวว่า “จงขอความช่วยเหลือในการมุ่งมั่นสู่โลกอาคิเราะฮฺด้วยความอดทนในการปฏิบัติศาสนกิจและการละหมาด” (ตัฟซีรอิบนุกะษีร : 1/ 133) ด้วยเหตุนี้ ในการตั้งเป้าหมายชีวิตแห่งโลกอาคิเราะฮฺย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ศรัทธาทุกคน ผู้ที่เดินทางสู่โลกอาคิเราะฮฺนั่นคือผู้ศรัทธา ผู้ศรัทธาเปรียบได้กับนักท่องเที่ยว ไปเที่ยวที่ไหนเขารู้ว่าไปแค่เพียงชั่วครั้งชั่วคราว เขานั้นมีบ้านที่ต้องกลับ เช่นเดียวกัน ผู้ศรัทธาต้องตระหนักว่าการใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้นั้นมันแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งไม่จีรัง แต่สถานพำนักอันสถาพรและนิรันดร์นั่นคือ โลกอาคิเราะฮฺ ดังนั้น สำหรับผู้ที่จะมุ่งมั่นสู่โลกอาคิเราะฮฺ อัลลอฮฺทรงชี้แนะให้อาศัย 2 กิจการนี้ให้เป็นตัวช่วยสำคัญในการมุ่งสู่โลกอาคิเราะฮฺอันเป็นปลายทางแห่งความสำเร็จ นั่นคือความอดทนต่อการปฏิบัติหน้าที่ในคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซึ่งความอดทนนี่เองคือเคล็ดลับแห่งความสำเร็จ เคล็ดลับของผู้ศรัทธาอยู่ในโลกนี้เขาต้องยืนหยัดด้วยกับการฝืนกิเลส ฝืนความต้องการของตัวเอง เช่นเมื่อได้ยินเสียงอะซานเรียกละหมาด ถ้ามีความรู้สึกที่ไม่อยากลุกไปมัสญิด ไม่อยากอาบน้ำละหมาด ไม่อยากละหมาด อยากอยู่สบายๆ แต่การที่ลุกไปมัสญิดต้องไปอาบน้ำละหมาด เดินทางไปละหมาดมันต้องฝืนกิเลสหลายอย่าง ยิ่งกว่านั้น ถ้าเราอยู่ในสภาพที่เราชื่นชอบ บวกกับสภาพบรรยากาศที่เอื้อเช่นการนอนหลับอย่างสบายๆ ในช่วงเวลาละหมาดศุบฮฺ ยิ่งเป็นการทดสอบที่หนักอึ้ง แต่สิ่งที่แตกต่างระหว่างผู้ศรัทธากับผู้ที่ปฏิเสธศรัทธาหรือผู้ที่ไม่ค่อยมีความเคร่งครัดนั่นก็คือ เมื่อได้ยินเสียงอะซานแล้วก็จะรู้สึกว่าอัลลลอฮฺกำลังเรียกเขา อัลลอฮฺกำลังเรียกให้เขาเข้าเฝ้าพระองค์ สำหรับผู้ศรัทธาแล้วเขาก็จะน้อมรับคำเรียกร้องนั้นโดยทันทีด้วยการลุกขึ้นไปละหมาดพร้อมกับหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความสำนึกในการเป็นบ่าวที่ดี แต่คนที่ไม่นึกถึงโลกอาคิเราะฮฺก็จะรู้สึกว่าเสียงอะซานนั้นเป็นเสียงที่ทำให้เขาหนวกหู เกิดความรำคาญ มันเป็นสิ่งที่เราสามารถวัดใจด้วยตัวของเราเองว่าเราเป็นคนที่มุ่งมั่นสู่โลกอาคิเราะฮฺหรือไม่ ? มีความอดทนในการปฏิบัติศาสนกิจหรือไม่ ? ท่านมุกอติลได้กล่าวว่า เราต้องอดทนต่อหลักการคำสั่งคำบัญชาของอัลลอฮฺ และต้องยืนหยัดในเรื่องการละหมาด อัลลอฮฺใช้เราเรื่องนี้เพื่อช่วยเราในการมุ่งสู่โลกอาคิเราะฮฺ ฉะนั้น ถ้าเราอาศัยการอดทนและการละหมาดในการเป็นตัวช่วยในการพัฒนาชีวิต โดยแน่แท้ มันย่อมทำให้เรามีศักยภาพในการพัฒนาชีวิตให้มีประสิทธิภาพได้อย่างแน่นอน เพราะการละหมาดจะปรับวิถีในการดำเนินชิวิตของเรา ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า ﴿اتْلُ مَا أُوحِيَ إِلَيْكَ مِنَ الْكِتَابِ وَأَقِمِ الصَّلَاةَ إِنَّ الصَّلَاةَ تَنْهَى عَنِ الْفَحْشَاء وَالْمُنكَرِ وَلَذِكْرُ اللَّهِ أَكْبَرُ وَاللَّهُ يَعْلَمُ مَا تَصْنَعُونَ﴾ ความว่า “เจ้าจงอ่านสิ่งที่ถูกประทานแก่เจ้าจากคัมภีร์และจงดำรงการละหมาด (เพราะ) แท้จริงการละหมาดนั้นจะยับยั้งการทำลามกและความชั่ว และการรำลึกถึงอัลลอฮฺนั้นยิ่งใหญ่กว่า(สิ่งอื่นทุกประการ) และอัลลอฮฺทรงรอบรู้สิ่งที่พวกเจ้ากระทำ” (สูเราะฮฺ อัล-อันกะบูต : 45)ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อมีปัญหาอะไรบางอย่างมาประสบในชีวิตของท่าน ท่านก็จะเข้าสู่การละหมาด ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดียิ่งในการแก้ไขปัญหา ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะมุ่งเข้าสู่การละหมาดไปหาการเยียวยาจากอัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา สิ่งที่ท่านมีปัญหาอยู่ก็ขอความช่วยเหลือจากพระองค์ ดังที่ท่านหุซัยฟะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าเรื่องราวของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า«كان رسول الله صلى الله عليه وسلم إِذَا حَزَبَهُ أَمْرٌ فَزِعَ إِلَى الصَّلاَةِ»ความว่า “คราใดก็ตามที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมเมื่อมีสิ่งใดที่ทำให้ท่านทุกข์โศก ท่านก็จะมุ่งสู่การละหมาดโดยทันที” (บันทึกโดยอะหฺมัด : 5/388 และอบูดาวูด : 1319) และในอีกหลายๆ เหตุการณ์ที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้อาศัยการละหมาดเป็นวิธีการขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ เช่นเมื่อครั้งที่เกิดสงครามสมรภูมิบัดรฺในปีฮิจญ์เราะฮฺที่สอง ท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าเหตุการณ์นี้ไว้ว่า “ตลอดคืนก่อนการประจัญบานระหว่างกองทัพมุสลิมและกองทัพฝ่ายศัตรู พวกเราต่างนอนพักเอาแรง มีเพียงท่านเราะสูลุลลอฮฺเท่านั้นที่ยังคงยืนละหมาดและวิงวอนขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺจนถึงรุ่งเช้า” (ตัฟสีรอิบนุกะษีร : 1/ 252)และในสงครามอะหฺซาบในปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ห้า ท่านหุซัยฟะฮฺ ได้เล่าว่า “ตลอดช่วงเวลาที่กองทัพพันธมิตร(อะหฺซาบ) ปิดล้อมฝ่ายมุสลิมอยู่นั้นท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เพียรละหมาดและขอดุอาอ์วิงวอนต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา ให้ทรงช่วยเหลือ และประทานชัยชนะให้แก่กองทัพฝ่ายมุสลิมตลอดทั้งคืนและทุกคืนท่านละหมาดอยู่เช่นนั้นจนกระทั่งสงครามยุติและมุสลิมเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะในที่สุด” (ตัฟสีรอิบนุกะษีร : 1/ 252)ท่านอนัส บินมาลิกเคยเล่าไว้ว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวเสมอว่า«وَجُعِلَتْ قُرَّةُ عَيْنِيْ فِيْ الصَّلاَةِ»ความว่า “ความสุขใจสูงสุดของฉันอยู่ในการละหมาด” (บันทึกโดย อัน-นะสาอีย์ )นี่คือภาคปฏิบัติของคำสั่งนี้ที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่าง เพราะการละหมาดเป็นสิ่งที่จะช่วยเชื่อมต่อกับอัลลอฮฺโดยตรง อันเป็นแนวทางที่มีความเชื่อมั่นได้มากที่สุด เป็นการติดต่อกับอัลลอฮฺทางจิตวิญญาณด้วยวะฮฺยูและการดลใจ น้ำพุนี้ยังคงพวยพุ่งในทุกที่ ที่ผู้ศรัทธาจะรับมาเป็นเสบียงสำหรับการเดินทาง เป็นร่มที่พักร้อน เป็นความช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ไม่มีที่พึ่งพิงเป็นทรัพย์สินที่คงเหลือทุกเมื่อสำหรับผู้ที่ทรัพย์สินขาดมือ การละหมาดย่อมจะสร้างอะไรสักอย่าง สำหรับคนที่ตระหนักในเรื่องนี้ แต่คนที่ไม่เชื่อตรงนี้ คนที่ไม่เชื่อว่าการละหมาดมีความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับอัลลอฮฺ ระหว่างบ่าวกับผู้ทรงอภิบาลของเขาคงจะสัมผัสเรื่องนี้ไม่ได้ และการละหมาดก็ย่อมเป็นเรื่องที่เพิ่มความหนักใจให้กับเขามากยิ่งขึ้น จนหลายคนเวลาเกิดปัญหาหรือมีวิกฤติชีวิตก็จะลืมละหมาดและทิ้งละหมาดโดยสิ้นเชิง ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า ﴿وَاسْتَعِينُواْ بِالصَّبْرِ وَالصَّلاَةِ وَإِنَّهَا لَكَبِيرَةٌ إِلاَّ عَلَى الْخَاشِعِينَ﴾ความว่า “และจงขอความช่วยเหลือ ด้วยความอดทนและการละหมาดแน่นอนการละหมาดนั้นเป็นงานหนัก เว้นแต่สำหรับบรรดาผู้นอบน้อมถ่อมตน” (สูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 45)สภาพของผู้ศรัทธา เมื่อเขารู้สึกไม่สบายใจหรือมีปัญหาเพียงได้กล่าวว่า “อัลลอฮุ อักบัรฺ” เพื่อเข้าสู่การละหมาดและเข้าเฝ้าผู้เป็นเจ้าของชีวิตของเขา วิงวอนต่อพระองค์ ก็เหมือนได้เข้าสู่สวนสวรรค์อย่างแน่แท้ ดังที่ท่านอิมามอัล-หะสัน อัล-บัศรีย์ได้กล่าวว่า “เราได้ละหมาด เราได้ทำอิบาดะฮฺ เรามีความสุข ถ้าบรรดากษัตริย์หรือคนร่ำรวย รับรู้(ว่าเรามีความสุขมากแค่ไหน) เขาจะมาต่อสู้จะมาฆ่าเรา แล้วแย่งความสุขจากเราไปอย่างแน่นอน” ท่านอิมามอัฏ-เฏาะบะรีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้บันทึกเรื่องราวหนึ่งจากท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไว้ว่า “ท่านได้เดินผ่านท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ซึ่งเขากำลังนอนคว่ำเนื่องด้วยความหิว (ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เป็นเศาะหาบะฮฺท่านหนึ่งที่เป็นอะฮฺลุซศุฟฟะฮฺ คือคนที่พักอาศัยอยู่ในมัสญิดเนื่องจากไม่มีที่อยู่อาศัยและเป็นคนยากจน อาหารก็ต้องรอให้คนนำมาบริจาค) ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เห็นดังกล่าวจึงได้กล่าวว่า ท่านปวดท้องกระนั้นหรือ ? ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ก็ได้กล่าวว่า ใช่ครับ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมจึงกล่าวว่า ท่านจงลุกขึ้นละหมาด แท้จริงการละหมาดนั้นเป็นยา(ชีฟาอ์) สำหรับท่าน” (ตัฟสีรอิบนุกะษีร : 1/253 ) ท่านอิมามอัฏ-เฏาะบะรีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวอีกว่า “ความอดทนและการละหมาดนั้น แท้จริงมันเป็นการให้ความช่วยเหลือบนความเมตตาของอัลลอฮฺ”(ตัฟสีรอิบนุกะษีร : 1/253 ) إِنَّ اللّهَ مَعَ الصَّابِرِينَ - “แท้ที่จริงแล้วอัลลอฮฺทรงอยู่กับบรรดาผู้ที่อดทนทั้งหลาย” ถือเป็นการให้กำลังใจอย่างยิ่งสำหรับผู้อดทน เพราะอัลลอฮฺทรงสัญญาว่าพระองค์จะทรงอยู่กับบรรดาผู้ที่อดทนทั้งหลาย ท่านสัยยิด กุฏุบ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “อัลลอฮฺทรงอยู่กับพวกเขา สนับสนุนพวกเขา ให้ความเข้มแข็งกับพวกเขา ให้พวกเขาสุขุมขึ้น ไม่ปล่อยพวกเขาผ่านทางไปโดยเพียงลำพัง ไม่ปล่อยให้พวกเขาหยุดอยู่กับพละกำลังอันจำกัด พละกำลังอันเล็กๆน้อยๆ ที่มีอยู่ พระองค์ทรงสนับสนุนและเพิ่มพูนเสบียงให้กับพวกเขา ให้กำลังใจ ให้พวกเขามีความตั้งใจตลอดการเดินทางแม้จะยาวไกล พระองค์ทรงเรียกพวกเขาในต้อนต้นอายะฮฺว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย” และสิ้นสุดลงด้วยพระดำรัสที่ว่า “แท้ที่จริงแล้วอัลลอฮฺทรงอยู่กับบรรดาผู้ที่อดทนทั้งหลาย” (ฟิซิลาลิลกุรอาน 2:60 )สารัตถะสำคัญที่ได้รับจากบทเรียน· ความอดทนและการละหมาด เป็นสิ่งที่จะช่วยให้บรรดาผู้ศรัทธามีความมั่นคงและยืนหยัดในหลักการของศาสนา· สำหรับผู้ที่จะมุ่งสู่โลกอาคิเราะฮฺนั้น จำเป็นสำหรับเขาที่ต้องใช้ความอดทนและการละหมาดในการเป็นตัวช่วยให้เขาบรรลุถึงเป้าหมายนั้น· การปฏิบัติศาสนกิจที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา ทรงสั่งใช้มานั้น แน่นอนต้องประสบกับอุปสรรคและความยากลำบาก แต่ด้วยความอดทนและการเข้าสู่การละหมาด จะช่วยให้เรายืนหยัดในสิ่งนั้นได้· ทุกๆ ครั้งที่เรามีปัญหา ต้องการความช่วยเหลือเราอย่าได้ลืมคำแนะนำที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา ได้ให้ไว้ นั่นคือการอดทนและการเข้าสู่การละหมาด· ทุกๆ ปัญหาที่เราได้พบเจอมันคือบททดสอบที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา ได้วางไว้เพื่อที่จะทดสอบพวกเราว่า ผู้ใดบ้างในหมู่พวกเราที่มีผลงานดียิ่งและเป็นผู้ศรัทธาที่เที่ยงแท้ · โดยแน่แท้ สำหรับผู้ที่อดทนนั้นพระองค์จะทรงอยู่กับเขา ช่วยเหลือเขา ไม่ปล่อยเขาให้เผชิญกับอุปสรรคโดยตามลำพังอย่างแน่นอนคำถามหลังบทเรียน· ทุกๆ ครั้งที่เราประสบกับปัญหา เราได้หาทางออกด้วยวิธีการใดบ้าง ?· เราเคยตอบสนองในคำแนะนำที่อยู่ในอายะฮฺนี้หรือไม่? · เมื่อเรามีปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ เราจะเข้าไปปรึกษาหรือไปขอความช่วยเหลือจากใครมากที่สุด ?· เราได้เตรียมพร้อมในการเผชิญหน้ากับความยากลำบากในการปฏิบัติศาสนกิจหรือไม่ ?· ความอดทนและการละหมาดได้มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเราอย่างไรบ้าง ? · เราได้เชื่อมั่นในคำสัญญาของอัลลอฮฺว่าพระองค์จะทรงอยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่อดทนหรือไม่?อัลลอฮฺเท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่ง -والله أعلموصلى الله على نبينا محمد وعلى آله وصحبه وسلم والحمدلله رب العالمين