البحث

عبارات مقترحة:

الرحمن

هذا تعريف باسم الله (الرحمن)، وفيه معناه في اللغة والاصطلاح،...

المقدم

كلمة (المقدِّم) في اللغة اسم فاعل من التقديم، وهو جعل الشيء...

الشاكر

كلمة (شاكر) في اللغة اسم فاعل من الشُّكر، وهو الثناء، ويأتي...

ตักวา กุญแจมหัศจรรย์

التايلاندية - ไทย / Phasa Thai

المؤلف ซุฟอัม อุษมาน
القسم مقالات
النوع نصي
اللغة التايلاندية - ไทย / Phasa Thai
المفردات الرقائق والمواعظ
บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินคำว่า “ตักวา” ได้ยินบ่อยจนชาชินโดยไม่มีความรู้สึกใดๆ ต่อคำๆนี้อีก ความคุ้นชินทำให้เราไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย ทั้งๆ ที่ไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะความหมายที่แท้จริงของคำว่า“ตักวา” มีนัยยะอันทรงพลังยิ่งใหญ่มากในชีวิตของมนุษย์ผู้หนึ่งที่ศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า และประชาชาติมุสลิมทั้งหมดที่น้อมรับการศรัทธาต่อพระองค์

التفاصيل

บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินคำว่า “ตักวา” ได้ยินบ่อยจนชาชินโดยไม่มีความรู้สึกใดๆ ต่อคำๆนี้อีก ความคุ้นชินทำให้เราไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย ทั้งๆ ที่ไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ตักวา” มีนัยยะอันทรงพลังยิ่งใหญ่มากในชีวิตของมนุษย์ผู้หนึ่งที่ศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า และประชาชาติมุสลิมทั้งหมดที่น้อมรับการศรัทธาต่อพระองค์ ตักวา ในเชิงนิรุกติศาสตร์มีความหมายว่า การป้องกัน การหลีกเลี่ยง การระมัดระวัง (ดู ลิสานุล อะหรับ) อุละมาอ์ทางภาษาอาหรับบางท่านเช่น อิบนุ ฟาริส บอกว่า “ตักวา” ในความหมายทางภาษามาจาก “การพูดน้อย” !! ในตัฟสีรของอิมาม อัล-กุรฏุบีย์ มีการอธิบายตักวาที่น่าสนใจว่า “ระดับของผู้ตักวานั้นสูงกว่าผู้ศรัทธาและผู้เชื่อฟัง(ฏออัต)  ผู้ตักวาหมายถึงผู้ที่ปกป้องตนเองจากการลงโทษของอัลลอฮฺด้วยการปฏิบัติความดีและด้วยการขอดุอาอ์ที่บริสุทธิ์ใจ คำนี้นำมาจากความหมายของการป้องกันสิ่งมิชอบด้วยการนำเครื่องกีดขวางมากั้นระหว่างท่านกับสิ่งนั้น” (เล่ม 1 หน้า 161) อบู ยะซีด อัล-บุสฏอมีย์ กล่าวว่า “ผู้ตักวา หมายถึง ผู้ที่เมื่อเขาพูด เขาพูดเพื่ออัลลอฮฺ และเมื่อเขาทำ เขาทำเพื่ออัลลอฮฺ” (เล่มเดิม) อบู สุลัยมาน อัด-ดารอนีย์ กล่าวว่า “บรรดาผู้ตักวานั้นคือผู้ที่อัลลอฮฺดึงเอาความหลงใหลในตัณหาออกจากหัวใจของพวกเขา” (เล่มเดิม) อุมัร บิน อัล-ค็อฏฏ็อบ ได้ถามอุบัยย์ ถึงความหมายของตักวา อุบัยย์ ถามอุมัรกลับไปว่า “ท่านเคยเดินผ่านทางที่เต็มไปด้วยหนามบ้างไหม?”“ใช่ เคย” อุบัยย์ถามอีกว่า “แล้วท่านทำเช่นไร?” อุมัรกล่าวว่า “ฉันก็ตื่นตัวและระแวดระวัง” ผู้ถูกถามครั้งแรกจึงตอบว่า “เช่นนั่นแหล่ะคือตักวา”(เล่มเดิม หน้า161-162) อุมัรตอบไปว่า มีการอธิบายและให้ความหมายคำว่าตักวาอีกมากมายในตำราของอุละมาอ์ แต่ข้อสรุปที่น่าจะทำความเข้าใจได้ง่ายและกระชับที่สุดก็คือ การประพฤติตนโดยใช้เกณฑ์ของอาคิเราะฮฺ เพราะอาคิเราะฮฺคือเกณฑ์ที่บริสุทธิ์ต่อเอกองค์อัลลอฮฺเพียงผู้เดียว นี่หมายความว่า ทุกสิ่งที่เราปฏิบัติและทุกความเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันจะต้องมีการผูกไว้กับการตอบแทนของอัลลอฮฺ ณ ชีวิตหลังความตาย  มิใช่สักทำไปแต่เพื่อความสำราญในโลกนี้โดยไม่ได้คำนึงถึงดินแดนอันนิรันดรในโลกหน้า ดินแดนที่หากเป็นการผลตอบแทนที่ดีก็จะได้มีความสุขยั่งยืนไม่สูญสลาย แต่หากเป็นการทรมานก็จะทุกข์สาหัสไม่มีวันรอดพ้นเว้นแต่ผู้ที่อัลลอฮฺทรงประสงค์เท่านั้น คำอธิบายนี้ยืนยันได้ด้วยโองการอัลกุรอานที่ระบุอย่างชัดเจนให้เรา “ตักวา” ต่อวันอาคิเราะฮฺ ในขณะที่บางอายะฮฺระบุให้ “ตักวา” หรือป้องกันตนจากไฟนรกซึ่งอยู่ในบริบทของวันอาคิเราะฮฺเช่นกัน ดังสองอายะฮฺต่อไปนี้ «وَاتَّقُوا يَوْمًا تُرْجَعُونَ فِيهِ إِلَى اللَّهِ ثُمَّ تُوَفَّى كُلُّ نَفْسٍ مَا كَسَبَتْ وَهُمْ لا يُظْلَمُونَ» ความว่า “พวกเจ้าจงตักวาต่อวันที่พวกเจ้าจะถูกนำกลับสู่อัลลอฮฺ แล้วทุกชีวิตก็จะได้รับผลตอบแทนอย่างสมบูรณ์ต่อสิ่งที่เขาได้กระทำไว้ และพวกเขาจะไม่มีการถูกอธรรมแต่อย่างใดไม่” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 281) «وَاتَّقُوا النَّارَ الَّتِي أُعِدَّتْ لِلْكَافِرِينَ» ความว่า “และจงตักวาต่อไฟนรกที่ซึ่งถูกเตรียมไว้แก่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา” (อาล อิมรอน : 131) ผู้ตักวาจึงหมายถึงผู้ที่มองการณ์ไกลทะลุถึงวันหน้า ความสำเร็จที่พวกเขาหมายปองมีจุดหมายเป็นสวรรค์อันไม่มีวันสลาย และเป็นความสำเร็จที่ทำให้พวกเขารอดพ้นจากความล้มเหลวและการขาดทุนด้วยการต้องรับโทษในไฟนรกอันร้อนระอุ อย่างทุรนทุราย การมองเช่นนี้มิได้หมายถึงว่าต้องละเลยดุนยา ทว่าแผนการเพื่อความสำเร็จระยะยาวในอาคิเราะฮฺยังมักจะสร้างผลพลอยได้เป็นความสำเร็จบนโลกนี้ด้วย เพราะผู้ที่ปฏิบัติตนด้วยความระมัดระวังต่อแผนการในระยะยาว ย่อมต้องละเอียดอ่อนต่องานในระยะสั้นด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้น ตักวาจึงเป็นกุญแจหลักของผู้หวังความสำเร็จ และเป็นคำสั่งที่อัลลอฮฺสั่งใช้บ่าวของพระองค์อย่างชัดเจนว่า «وَاتَّقُوا اللَّهَ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ» ความว่า “จงตักวาต่ออัลลอฮฺเถิด เผื่อว่าสูเจ้าจะประสบความสำเร็จ” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 189, อาล อิมรอน : 130, 200) นี่คือคำสั่งในภาพรวม ถ้าลงลึกในรายละเอียดปลีกย่อย เราจะพบว่าอัลกุรอานสั่งและชี้แนะให้เราใช้ตักวาในการประพฤติปฏิบัติและกิจกรรมทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ตั้งแต่เรื่องส่วนตัว ครอบครัว สังคม การเมือง และเรื่องในระดับสากล ดังจะเห็นได้จากดัชนีพฤติกรรมและคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการตักวาโดยคร่าวๆ ต่อไปนี้ - ด้านความเชื่อ การศรัทธา อะกีดะฮฺ จิตวิญญาณ การยึดมั่นในคำสอนของอัลลอฮฺ 3:102, การเลือกเส้นทางที่เที่ยงตรง 6:153, การหักล้างข้อสงสัยในคัมภีร์ 2:24, วันกิยามะฮฺ 2:48, 123, การเอาชนะกับไสยศาสตร์ 2:103, คำสั่งต่อชาวคัมภีร์ 2:41, การศรัทธาต่ออัลกุรอาน 6:155, เหตุแห่งปัจจัยยังชีพ 7:96, ความปลอดภัยจากชัยฏอน 7:210, การซื่อสัตย์ต่ออิสลาม 30:31, คำสั่งแก่ท่านรอซูล 23:1, การศรัทธาต่อรอซูล 57:28, บรรยายลักษณะของนรก 39:16, บรรยายลักษณะของสวรรค์ 39:20, 73, การไม่ล้ำหน้าอัลลอฮฺและรอซูล 49:1, การตามท่านรอซูล 59:7, การเข้าใจชีวิตบนโลกดุนยา 47:36, การเชิญชวนของบรรดานบี 26:108, 110, 126, 131, 132, 144, 150, 163, 179, 184, การเชิญชวนของนบีนูหฺ 23:23, 71:3, การเชิญชวนของนบีฮูด 7:65, การเชิญชวนของนบีอิบรอฮีม 29:16, การเชิญชวนของนบีมูซา 7:128, การเชิญชวนของนบีอิลยาส 37:124, การเชิญชวนของนบีอีซา 3:50, 43:63 - ด้านการปฏิบัติ ข้อบัญญัติ มารยาท ความรู้ 2:282, การละหมาด 20:132, การถือศีลอด 2:183, การให้เกียรตินครมักกะฮฺ 5:2, หัจญ์ 2:196, 197, 203, การล่าสัตว์ของผู้ทำหัจญ์ 5:96, การเชือดสัตว์พลี 22:37, ความยุติธรรมและการเป็นพยาน 5:8,108, การสั่งเสียก่อนตาย 2:180, การสั่งเสียแก่ภรรยาที่ถูกหย่า 2:241, การใช้จ่าย 64:16, ดอกเบี้ย 2:278, 3:130, การจ่ายหนี้สิน 2:281, 282, อาหารการกิน 5:4, 88, 93, ของดีกับของไม่ดี 5:100, การปกปิดร่างกายด้วยเสื้อผ้า 7:26, การเข้าบ้าน 2:189, คำสั่งแก่ภรรยาท่านรอซูลและมารยาทการพูดของผู้หญิง 23:32, การปกปิดเอารัตของผู้หญิง 23:55, การพูดสิ่งที่ดี 23:70, มารยาทของมุอ์มิน การกล่าวหา การไม่ไว้วางใจ การนินทา 49:12, การกระซิบกระซาบ 58:9, การนอบน้อมและไม่หยิ่งยโส 28:83, - ด้านครอบครัว สังคม การเมือง การปกครอง สงคราม การร่วมกับภรรยา 2:223, การหย่าร้าง 2:231, 65:1, การไกล่เกลี่ยระหว่างสามีภรรยา 4:128, ค่าดูแลบุตร 2:233, ครอบครัว เครือญาติ 4:1, การมีภรรยาหลายคน 4:129, 131, การระวังฟิตนะฮฺของภรรยาและบุตร 64:16,  การเป็นพี่น้องของมุอ์มิน 49:10, การรับผิดชอบร่วมกันต่อสังคม 8:25, พวกรักร่วมเพศ 11:78, 15:69, การลงโทษฆาตกร 2:179, อาชญากรรม 2:194, 206, การสงคราม 3:123, การให้เกียรติเดือนต้องห้าม 9:36, การผูกสัมพันธ์กับผู้ปฏิเสธ 5:57, การแบ่งทรัพย์สงคราม 8:1, การใช้ทรัพย์สินที่ยึดจากสงคราม 8:69, การทำสัญญากับคู่สงคราม 9:4, 7, การอดทนต่ออุปสรรคในการทำงานเพื่ออิสลาม 16:127-128, การอดทนต่อการปะทะต่อสู้ทางความคิดและจิตวิทยา 3:120, 125, 184, การปะทะเผชิญหน้ากับความเท็จและบททดสอบ 3:172, 198, 200, การเป็นประชาชาติเดียวกัน 23:52 ดัชนี้ข้างบนนั้นชี้ให้เห็นว่า ถ้าคุณต้องการให้ชีวิตส่วนตัวประสบความสำเร็จ ทั้งในด้านจิตวิญญาณและร่างกาย คุณต้องอาศัยตักวาเป็นตัวนำ ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จในเรื่องครอบครัว การดูแลภรรยาและลูกๆ คุณต้องมีตักวาอยู่ในใจ ถ้าคุณต้องการความสูงส่ง เป็นที่เชิดชูและมีเกียรติต่อหน้าประชาชาติอื่นๆ คุณไม่อาจมองข้ามตักวาไปได้ ... ฯลฯ ปัญหาทุกอย่างแม้กระทั่งเรื่องพลานามัย สุขภาพจิต ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ พฤติกรรมทางเพศ อาชญากรรม ฯลฯ สามารถใช้ตักวาเพื่อแก้ไขได้ !!! ช่างน่าทึ่ง ที่มีคำสั่งเกี่ยวกับตักวาครอบคลุมทุกอิริยาบทของวิถีชีวิตมากมายเช่นนี้ กระนั้น เราทั้งหลายก็มิพักจะเข้าใจและนำคำสั่งเหล่านี้มาใช้จริงๆ น้อยคนนักที่มุ่งมั่นเรียนรู้และปฏิบัติตามคำสอนของอัลลอฮฺและรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ในการใช้คำสั่งตักวาอย่างจริงจัง ระยะห่างระหว่างประชาชาติมุสลิมกับชัยชนะและความสำเร็จจึงยังไกลโขอยู่อย่างน่าสงสารและน่าสมเพชตัวเอง เรามีกุญแจแห่งชัยชนะและการรอดพ้นอยู่ในมือ แต่มองไม่เห็นคุณค่า จึงทิ้งขว้างไม่ใยดีมัน ทุกวันนี้จึงต้องกล้ำกลืนกับการถูกย่ำยีเหยียดหยาม และมีชีวิตอยู่ในจมปลักแห่งความแหลกเหลวอย่างสุดแสนขมขื่น มันคงจะเป็นเช่นนี้อีกนานตราบกระทั่งเราทั้งหมดสำนึกและปรับปรุงตัวเองอีกครั้ง เพราะจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นหากไม่ใช่เราเองที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลง «إِنَّ اللَّهَ لا يُغَيِّرُ مَا بِقَوْمٍ حَتَّى يُغَيِّرُوا مَا بِأَنْفُسِهِمْ» ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงเปลี่ยนแปลงหมู่ชนใด กระทั่งพวกเขาเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อยู่ในตัวพวกเขา” (อัร-เราะอฺด์ : 11) คำสั่งให้ตักวาคงเป็นเพียงคำสั่งเดียวที่อาจจะเป็นกุญแจมหัศจรรย์ เพื่อจะใช้ไขทางออกให้แก่ประชาชาติอิสลามที่ประสบกับความเพลี่ยงพล้ำและความเป็นจริงอันน่ารันทดในปัจจุบัน แน่นอนที่สุด ไม่มีทางอื่นนอกจากต้องศึกษา “ตักวา” อย่างจริงจัง ตีความหมายของมันให้ชัดเจน อธิบายให้แจ่มแจ้งในทุกเรื่อง ตักเตือนซึ่งกันให้ทุกคนรับรู้ และปฏิบัติใช้มันอย่างแข็งขันให้มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุด สมกับที่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม สั่งเสียกับเราว่า “ท่านจงตักวาต่ออัลลอฮฺ ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม” (อัต-ติรมิซีย์ : 1987) อย่างน้อยที่สุด “ตักวา” ควรต้องเป็นจุดเริ่มต้นที่มุสลิมจะใช้วางแผนเป็นจุดสตาร์ทเพื่อการดั้นด้นสู่หลักชัยที่ยังอยู่อีกไกลข้างหน้า มันควรต้องถูกปลูกฝังในทุกอณูความรู้สึกนึกคิดและการปฏิบัติของพวกเรา รวมทั้งต้องถ่ายทอดให้อนุชนทุกรุ่นเปี่ยมด้วยพลังนี้ ถ้าหากเราหวังที่จะเห็นความสำเร็จและชัยชนะอีกครั้ง.

المرفقات

2

ตักวา กุญแจมหัศจรรย์
ตักวา กุญแจมหัศจรรย์