البحث

عبارات مقترحة:

السيد

كلمة (السيد) في اللغة صيغة مبالغة من السيادة أو السُّؤْدَد،...

العظيم

كلمة (عظيم) في اللغة صيغة مبالغة على وزن (فعيل) وتعني اتصاف الشيء...

มาถือศีลอดอาชูรออ์กันเถอะ

التايلاندية - ไทย / Phasa Thai

المؤلف อุษมาน อิดรีส ، ซุฟอัม อุษมาน
القسم مقالات
النوع نصي
اللغة التايلاندية - ไทย / Phasa Thai
المفردات مناسبات دورية - يوم عاشوراء
ถึงแม้ การถือศีลอดในวันอาชูรออ์เป็นสุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺ ตามทัศนะของอุละมาอ์ส่วนใหญ่ แต่ก็มีรายงานจากอิบนุ อับบาสกล่าวว่า “ฉันไม่เคยเห็นท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิ วะสัลลัม ให้ความสำคัญกับการถือศีลอดมากกว่าวันนี้ หมายถึงวันอาชูรออ์ และการถือศีลอดในเดือนนี้ หมายถึงเดือนเราะมะฎอน”.

التفاصيل

1. มุหัรร็อมและการถือศีลอด มุหัรร็อมเป็นเดือนแรกตามปฏิทินฮิจญ์เราะฮฺศักราช เป็นหนึ่งในบรรดาสี่เดือนต้องห้าม(อัชฮุร อัล-หุรุม) ซึ่งอิสลามได้ส่งเสริมให้มุสลิมถือศีลอดในเดือนดังกล่าว ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวความว่า “การถือศีลอดที่ประเสริฐที่สุดหลังจากเดือนเราะมะฎอนคือการถือศีลอดในเดือนของอัลลอฮฺที่ต้องห้ามที่ชื่อว่าเป็นเดือนอัล-มุหัรร็อม” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 1163) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถือศีลอดในวันอาชูรออ์ 2. ความหมายของอาชูรออ์ อิมาม อัน-นะวะวีย์ กล่าวว่า “อุละมาอ์ส่วนใหญ่ทั้งรุ่นก่อนและรุ่นหลังต่างมีความเห็นพ้องกันว่า วันอาชูรออ์ คือวันที่สิบของเดือนมุหัรร็อม” (อัล-มัจมูอฺ 6/352) 3. ยิวกับการถือศีลอดวันอาชูรออ์ วันอาชูรออ์เป็นวันหนึ่งที่ชาวยิวให้ความสำคัญด้วยการถือศีลอด และถือว่าเป็นวันอีดวันหนึ่งของพวกเขา เพราะพวกเขาเชื่อว่าวันอาชูรออ์ตรงกับวันที่อัลลอฮฺได้ทรงทำให้นบีมูซาและชนเผ่าอิสราเอลรอดพ้นจากการจับกุมของฟิรเอาน์และทำให้ฟิรเอาน์และกองทหารจมน้ำทะเล ดังนั้น นบีมูซาจึงถือศีลอด เพื่อแสดงความขอบคุณต่ออัลลอฮฺ (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 2004, 2005,3397,3943) 4. นะศอรอกับการถือศีลอดวันอาชูรออ์ เช่นเดียวกับชาวนะศอรอ(คริสเตียน)ที่ให้ความสำคัญกับวันอาชูรออ์ด้วยการถือศีลอดในวันนั้น (บันทึกโดยมุสลิม 8/10) ส่วนเหตุผลนั้นอาจเป็นเพราะว่านบีอีซาเคยถือศีลอดในวันนั้นตามบัญญัติของนบีมูซาซึ่งยังไม่ถูกลบล้าง เพราะบัญญัติต่างๆของคริสต์ส่วนใหญ่จะรับมาจากคัมภีร์เตารอต (ฟัตหุลบารีย์ 4/291) วัลลอฮุ อะลัม 5. ชาวอาหรับกับการถือศีลอดวันอาชูรออ์ ถึงแม้ว่าชีวิตความเป็นอยู่ด้านศาสนาของชาวอาหรับก่อนการเป็นรสูลของนบีมุหัมมัดจะเต็มด้วยการบูชาเจว็ดรูปปั้นต่างๆ แต่ก็มีบางสถานที่และวันสำคัญที่พวกเขาเชิดชูและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ในบรรดาวันสำคัญดังกล่าว คือวันอาชูรออ์ ซึ่งพวกเขาจะพากันถือศีลอดในวันนั้นอย่างพร้อมเพรียงกันและจัดงานฉลองอย่างเอิกเกริก (บันทึกโดยมุสลิม 8/4 ดู ฟัตหุลบารีย์ 4/288) 6. อาชูรออ์ในบัญญัตของอิสลาม ในขณะที่ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิ วะสัลลัม พำนักอยู่ที่นครมักกะฮฺนั้น ท่านได้ถือศีลอดวันอาชูรออ์อย่างต่อเนื่องตามชาวกุเรช หลังจากที่ท่านได้ฮิจญ์เราะฮฺมายังนครมะดีนะฮฺท่านพบว่าชาวยิวก็ถือศีลอดในวันอาชูรออ์เช่นเดียวกัน ดังนั้นท่านจึงสั่งให้บรรดาเศาะหาบะฮฺทำการถือศีลอดตามด้วย ซึ่งการถือศีลอดในช่วงนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่วาญิบสำหรับมุสลิมทุกคน จนกระทั่งฟัรฎูถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนถูกประทานลงมาในปีที่สองแห่งฮิจญ์เราะฮฺศักราช ดังนั้นการถือศีลอดวันอาชูรออ์จึงกลายเป็นสุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺเท่านั้นตามทัศนะของอุละมาอ์ส่วนใหญ่ (ดูอ้างอิงที่ผ่านมา) 7. ความสำคัญของวันอาชูรออ์ ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อลัยฮิ วะสัลลัม ได้สั่งกำชับให้ประชาชาติมุสลิมถือศีลอดในวันอาชูรออ์เพื่อร่วมชุโกรต่อเอกองค์อัลลอฮฺที่ทำให้นบีมูซาและชนเผ่าอิสราเอลรอดพ้นจากการถูกตามล่าของฟิรเอาน์และกองทหาร (บันทึกโดย มุสลิม หมายเลข 1130) 8. อิสลามต้องแตกต่างจากยิวและคริสต์ การดะอฺวะฮฺของท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิ วะสัลลัมในระยะแรกนั้น ท่านพยายามจะปฏิบัติให้สอดคล้องกับบัญญัติของยิวและคริสต์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้แต่ทรงผม เพื่อจะโน้มน้าวพวกเขาให้เข้ารับอิสลาม แต่แล้วท่านเห็นว่าวิธีการดังกล่าวไม่เกิดผลแต่อย่างใด ดังนั้นท่านจึงประกาศจุดยืนใหม่ด้วยการปฏิบัติศาสนกิจต่างๆที่ค้านกับบัญญัติของพวกเขา เช่นเดียวกับการถือศีลอดวันอาชูรออ์ ซึ่งชาวยิวและคริสต์จะถือศีลอดกันในวันอาชูรออ์หรือวันที่สิบของเดือนมุหัรร็อมวันเดียวเท่านั้น ดังนั้นท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิ วะสัลลัม จึงสั่งให้ถือศีลอดเพิ่มก่อนหน้าวันที่สิบอีกหนึ่งวัน(วันที่เก้า) หรือหลังจากนั้นอีกหนึ่งวัน(วันที่สิบเอ็ด) เพื่อให้ค้านกับการปฏิบัติของชาวยิวและคริสต์ ท่านกล่าวความว่า “หากแม้นว่าฉันยังมีชีวิตถึงปีหน้า อินชาอัลลอฮฺ เราจะถือศีลอดกันในวันที่เก้า (อีกวันหนึ่ง)” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 1134) “จงถือศีลอดในวันอาชูรออ์ และจงทำให้แตกต่างจากการถือศีลอดของชาวยิว ด้วยการถือศีลอดอีกวันหนึ่งก่อนวันอาชูรออ์หรืออีกวันหนึ่งหลังจากนั้น” (บันทึกโดย อะหฺมัด 1/241) 9. วิธีการถือศีลอดวันอาชูรออ์ อุละมาอ์ได้วางลำดับความประเสริฐของการถือศีลอดวันอาชูรออ์ออกเป็นสามลำดับดังนี้คือ 1. ถือศีลอดต่อเนื่องกันสามวัน คือวันที่ 9-11 ถือว่าเป็นถือศีลอดที่ประเสริฐที่สุด 2. ถือศีลอดติดต่อกันเพียงสองวัน คือวันที่ 9-10 หรือ 10-11 ถือว่าเป็นการถือศีลอดที่มีความประเสริฐรองลงมา 3. ถือศีลอดในวันอาชูรออ์หรือวันที่สิบวันเดียว ถือว่าเป็นการถือศีลอดที่มีความประเสริฐน้อยที่สุด(ดู ฟัตหุลบารีย์ 4/246, อัล-ฟะตาวา อัล-กุบรอ 2/68) 10. ความประเสริฐของการถือศีลอดวันอาชูรออ์ การถือศีลอดในวันอาชูรออ์สามารถลบล้างบาป(เล็ก)ต่างๆสำหรับหนึ่งปีที่ผ่านมา (บันทึกโดย มุสลิม หมายเลข 1162) 11. ภารกิจอื่นจากการถือศีลอดในวันอาชูรออ์ ไม่มีรายงานที่เชื่อถือได้ว่าในสมัยท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮฺ อลัยฮิ วะสัลลัม และบรรดาเศาะหาบะฮฺ ตลอดจนชนรุ่นแรกในหมู่สะลัฟ มีการปฏิบัติหรือส่งเสริมให้ปฏิบัติภารกิจอื่นจากการถือศีลอดในวันอาชูรออ์นี้ เช่นการกวนข้าวซูรอหรืออื่นๆ ดังนั้นท่านฟัยรูซฺ อะบาดีย์ กล่าวว่า “ได้มีหะดีษ (ที่ถูกต้อง) ที่บ่งบอกถึงสุนนะฮฺให้ถือศีลอดในวันอาชูรออ์ ส่วนหะดีษอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความประเสริฐของการละหมาดในวันอาชูรออ์ การให้ทาน การย้อมสีเคราและมือ การใส่น้ำหอมบนหัว การทาขนตาให้ดำ การหุงต้ม (เช่นการกวนซูรอ เป็นต้น) และอื่นๆ ล้วนเป็นหะดีษที่เมาฎูอฺและกุขึ้นมาทั้งสิ้น” (สิฟรุส สะอาดะฮฺ หน้า 150) วัลลอฮุ อะลัม 12. การเรียกร้องและเชิญชวน ถึงแม้ การถือศีลอดในวันอาชูรออ์เป็นสุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺ ตามทัศนะของอุละมาอ์ส่วนใหญ่ แต่ก็มีรายงานจากอิบนุ อับบาสกล่าวว่า “ฉันไม่เคยเห็นท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิ วะสัลลัม ให้ความสำคัญกับการถือศีลอดมากกว่าวันนี้ หมายถึงวันอาชูรออ์ และการถือศีลอดในเดือนนี้ หมายถึงเดือนเราะมะฎอน” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 2006) ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับการถือศีลอดในวันอาชูรออ์เท่านั้น ซ้ำท่านยังมีคำสั่งให้บรรดาเศาะหาบะฮฺออกป่าวประกาศตามหมู่บ้านต่างๆให้ทุกคนถือศีลอดกันในวันอาชูรออ์อีกด้วย ด้วยคำกล่าวที่ว่า “จงป่าวประกาศแก่ประชาชนว่า ผู้ใดที่ได้ทานอะไรลงไปแล้วก็จง(หยุดทานและ)ถือศีลอดในเวลาที่ยังเหลืออยู่ และผู้ใดที่ยังไม่ได้ทานอะไรลงไปก็จงถือศีลอดเสีย เพราะวันนี้คือวันอาชูรออ์” (อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 2007) เช่นเดียวกับบรรดาเคาะลีฟะฮฺทั้งสี่ ซึ่งทุกท่านต่างให้ความสำคัญกับการถือศีลอดในวันอาชูรออ์เป็นอย่างมาก (เอาญะซุล มะสาลิก 5/96) ดังที่มีรายงานจากอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ ว่า ท่านได้ส่งตัวแทนให้ป่าวประกาศแก่ประชาชนว่า “พรุ่งนี้เป็นอาชูรออ์ ดังนั้นพวกเจ้าทั้งหลายจงถือศีลอดเสีย และจงสั่งกำชับให้ลูกเมียของพวกเจ้าถือศีลอดด้วย” (บันทึกโดย มาลิก หมายเลข 668) ท่านมุอาวิยะฮฺ บิน อบี สุฟยาน ได้กล่าวปราศรัยในวันอาชูรออ์หลังจากเทศกาลฮัจญ์ว่า “บรรดาอุละมาอ์ของพวกท่านอยู่ไหน? วันนี้คือวันอาชูรออ์ อัลลอฮฺไม่ได้บังคับให้พวกเจ้าถือศีลอดในวันนี้ แต่ฉันเป็นคนที่ถือศีลอดในวันนี้ ดังนั้นผู้ใดในหมู่พวกเจ้าพอใจที่จะถือศีลอดก็จงถือเสีย และผู้ใดที่จะทานอาหาร(ไม่ถือศีลอด)ก็จงทานเสีย” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 2003, มุสลิม หมายเลข 1129) วัลลอฮุ อะลัม สุบหานัลลอฮฺ ! ช่างน่าประหลาดใจยิ่งที่พี่น้องมุสลิมบ้านเราอีกหลายคนกลับเพิกเฉยและปฏิบัติภารกิจที่ค้านกับแบบอย่างที่ท่านรสูลและบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านได้ยึดปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและจริงจังจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ในขณะที่ท่านเหล่านั้นได้ป่าวประกาศเรียกร้องเชิญชวนอย่างจริงจังให้พี่น้องมุสลิมทำการถือศีลอดในวันอาชูรออ์...   มาเถิด... เรามาร่วมกันถือศีลอดในวันอาชูรออ์อันประเสริฐนี้เผื่อว่าอัลลอฮฺจะทรงอภัยโทษต่อบาปต่างๆ ที่เราเคยปฏิบัติมาตั้งแต่หนึ่งปี่ผ่านมา...อามีน