บทความที่อธิบายถึงความประเสริฐของเดือนซุลหิจญะฮฺ อาทิ สิบวันแรก วันอะเราะฟะฮฺ วันนะหัร และวันตัชรีก พร้อมหลักฐานจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺ พร้อมคำอธิบายของอุละมาอ์
التفاصيل
ซุลหิจญะฮฺเป็นเดือนแห่งการอิบาดะฮฺที่ยิ่งใหญ่อีกเดือนหนึ่ง และเป็นเดือนแห่งความสมบูรณ์ของหลักการอิสลาม นั่นคืออิบาดะฮฺหัจญ์ ณ มหานครมักกะฮฺ ในเดือนนี้มุสลิมจะทำการทุ่มเทเพื่ออิบาดะฮฺในรูปแบบต่างๆมากมาย ทั้งร่างกาย จิตใจ ทรัพย์สิน ดังนั้นอุละมาอ์หลายท่านจึงถือว่า การทำอิบาดะฮฺในเดือนนี้ โดยเฉพาะในสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺประเสริฐกว่าการอิบาดะฮฺในวันอื่นๆ ตลอดทั้งปี 1. ความประเสริฐของสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ อิบนุ อับบาส เล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า «مَا مِنْ أَيَّامٍ الْعَمَلُ الصَّالِحُ فِيهِنَّ أَحَبُّ إِلَى اللهِ مِنْ هَذِهِ الْأَيَّامِ الْعَشْرِ، فَقَالُوا يَا رَسُولَ اللهِ وَلَا الْجِهَادُ فِي سَبِيلِ اللهِ؟، فَقَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: وَلَا الْجِهَادُ فِي سَبِيلِ اللهِ، إِلَّا رَجُلٌ خَرَجَ بِنَفْسِهِ وَمَالِهِ فَلَمْ يَرْجِعْ مِنْ ذَلِكَ بِشَيْءٍ» “ไม่มีการปฎิบัติอามัลศอลิหฺในวันใดที่อัลลอฮฺทรงชอบมากกว่าการปฏิบัติในสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ” บรรดาเศาะหาบะฮฺถามขึ้นมาว่า “แม้กระทั่งการญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ (ก็ไม่สามารถเทียบเท่า) กระนั้นหรือ ?” ท่านรสูลตอบว่า “แน่นอน แม้กระทั่งการญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ (ก็ยังไม่เป็นที่ชอบของอัลลอฮฺเท่ากับการปฎิบัติอามัลศอลิหฺในสิบวันแรกนี้) เว้นแต่ผู้ที่ออกญิฮาดด้วยตัวเขาเองและทรัพย์สินของเขาแล้วไม่กลับมาพร้อมกับทรัพย์สินดังกล่าว (เพราะเสียชีวิตในสงคราม และทรัพย์สินถูกศัตรูยึดไป)" (อัลบุคอรีย์ 1:246, อัตติรมิซีย์ 1:145) «مَا مِنْ عَمَلٍ أَزْكٰى عِنْدَ اللَّهِ عَزَّ وَجَلَّ وَلَا أَعْظَمَ أَجْرًا مِنْ خَيْرٍ تَعْمَلُهُ فِي عَشْرِ الْأَضْحٰى، قِيلَ : وَلَا الْجِهَادُ فِي سَبِيلِ اللهِ عَزَّ وَجَلَّ؟، قَالَ: وَلَا الْجِهَادُ فِي سَبِيلِ اللهِ عَزَّ وَجَلَّ، إِلَّا رَجُلٌ خَرَجَ بِنَفْسِهِ وَمَالِهِ فَلَمْ يَرْجِعْ مِنْ ذَلِكَ بِشَيْءٍ» “ไม่มีการปฎิบัติอามัลศอลิหฺใดๆ จะมีความบริสุทธิ์ (ประเสริฐ) ณ อัลลอฮฺ และมีผลบุญยิ่งใหญ่มากกว่าการปฏิบัติในสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ” มีคนถามขึ้นมาว่า “แม้กระทั่งการญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ (ก็ไม่สามารถเทียบเท่า) กระนั้นหรือ ?” ท่านรสูลตอบว่า “แม้กระทั่งการญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ (ก็ยังไม่เป็นที่ชอบของอัลลอฮฺเท่ากับการปฎิบัติอามัลศอลิหฺในสิบวันแรกนี้) เว้นแต่ผู้ที่ออกญิฮาดด้วยตัวเขาเองและทรัพย์สินของเขาแล้วไม่กลับมาพร้อมกับทรัพย์สินดังกล่าว (เพราะเสียชีวิตในสงคราม และทรัพย์สินถูกศัตรูยึดไป)" (อัดดาริมีย์ 1:358 ด้วยสายรายงานที่หะสัน, อิรวาอุลเฆาะลีล 3:398) อิบนุ เราะญับกล่าวว่า “หะดีษข้างต้นบ่งบอกว่าการปฏิบัตอามัลในวันดังกล่าวเป็นที่ชื่นชอบต่ออัลลอฮฺมากกว่าการปฏิบัติอามัลในวันอื่นๆ โดยปราศจากข้อยกเว้นใดๆ และในเมื่อการปฏิบัติอามัลในวันดังกล่าวเป็นที่ชื่นชอบต่ออัลลอฮฺมากกว่าวันอื่นๆ ดังนั้นการปฏิบัตอามัลในวันดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่าการปฏิบัติอามัลในวันอื่นๆ” (ละฏออิฟ อัลมะอาริฟ, หน้า 471) อิบนุ หะญัร อัลอัสเกาะลานีย์ กล่าวว่า “เหตุผลหนึ่งที่ทำให้สิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺเต็มด้วยความประเสริฐ เพราะในวันดังกล่าวเป็นวันที่มาบรรจบของอิบาดะฮฺหลักต่างๆ นั่นคือเศาะลาต ศิยาม เศาะดะเกาะฮฺและหัจญ์ ซึ่งทั้งหมดนั้นไม่มีในวันอื่นจากสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ” (ฟัตหุลบารีย์ 2:460) 2. ความประเสริฐของวันอาเราะฟะฮฺ วันอะเราะฟะฮฺ คือ "วันที่บรรดาหุจญาจญ์กำลังชุมนุมกัน ณ ทุ่งอะเราะฟะฮฺ ไม่ว่าวันนั้นจะตรงกับวันที่เก้า หรือวันที่สิบของเดือนซุลหิจญะฮฺก็ตาม” (อัลมัจญ์มูอฺ 5/35) วันอะเราะฟะฮฺมีวันเดียวเท่านั้นในรอบหนึ่งปี และเป็นวันที่ประเสริฐที่สุดวันหนึ่งของปี เพราะในวันนี้จะมีความประเสริฐอันมากมาย อาทิเช่น 2.1 เป็นวันที่อัลลอฮฺได้ทรงปลดปล่อยบ่าวของพระองค์จากไฟนรกมากที่สุด อาอิชะฮฺ เล่าว่า ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า «مَا مِنْ يَوْمٍ أَكْثَرَ مِنْ أَنْ يَعْتِقَ اللهُ فِيْهِ عَبْدًا مِنَ النَّارِ مِنْ يَوْمِ عَرَفَة» “ไม่มีวันใดที่อัลลอฮฺจะทรงปลดปล่อยบ่าวของพระองค์ออกจากไฟนรกมากยิ่งกว่าการปลดปล่อยของพระองค์ในวันอะเราะฟะฮฺ” (มุสลิม, 1348) อันนะวะวีย์กล่าวว่า “หะดีษนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความประเสริฐของวันอาเราะฟะฮฺ” (ชัรหฺเศาะฮีหฺมุสลิม, 9:117) 2.2 เป็นวันที่อัลลอฮฺทรงทำให้ศาสนาอิสลามสมบูรณ์ อุมัร บิน อัลค็อตฏอบ เล่าว่า “ชาวยิวคนหนึ่งได้กล่าวแก่เขาว่า “โอ้ท่าน อามีรุลมุอ์มินีน มีอายะฮฺหนึ่งในคัมภีร์ของพวกท่าน ซึ่งพวกท่านอ่านมันอยู่เป็นประจำ ถ้าอายะฮฺนั้นได้ถูกประทานลงมาแก่พวกเราชาวยิว เราย่อมยึดวันนั้นเป็นวันอีดของเราอย่างแน่นอน” อุมัรจึงถามว่า “อายะฮฺไหนที่เจ้าพูดถึง?” เขาตอบว่า «ٱلْيَوْمَ أَكْمَلْتُ لَكُمْ دِينَكُمْ وَأَتْمَمْتُ عَلَيْكُمْ نِعْمَتِى وَرَضِيتُ لَكُمُ ٱلأِسْلاَمَ دِيناً» [المائدة: 3] “วันนี้ข้าได้ให้สมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งศาสนาของพวกเจ้าและข้าได้ให้ครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งความกรุณาเมตตาของข้า และข้าได้เลือกอิสลามให้เป็นศาสนาแก่พวกเจ้าแล้ว” (อัลมาอิดะฮฺ, 3) อุมัร กล่าวว่า “แท้จริงพวกเราทราบดีถึงวันนั้นและสถานที่อายะฮฺนี้ถูกประทานแก่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งขณะนั้น ท่านกำลังยืนอยู่ที่ทุ่งอาเราะฟะฮฺในวันศุกร์” (อับุคอรีย์, 45, มุสลิม, 3017) 2.3 เป็นวันอีดสำหรับหุจญาจญ์ที่อยู่ ณ ทุ่งอาเราะฟะฮฺ อุกบะฮฺ บิร อามิร เล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า « يَوْمُ عَرَفَةَ وَيَوْمُ النَّحْرِ وَأَيَّامُ التَّشْرِيقِ عِيدُنَا أَهْلَ الْإِسْلَامِ، وَهِيَ أَيَّامُ أَكْلٍ وَشُرْبٍ» “วันอาเราะฟะฮฺ วันเชือด และวันตัชรีก เป็นวันอีดของพวกเราชาวอิสลาม มันเป็นวันแห่งการดื่มและกิน” (อะหมัด 4:152, อัตติรมิซีย์, 773, เศาะฮีหฺ สุนัน อัตติรมิซีย์, 620) อิบนุ ก็อยยิมกล่าวว่า “วันอาเราะฟะฮฺเป็นวันอีดสำหรับชาวอาเราะฟะฮฺ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการมักรูฮฺ (ไม่ชอบ) ให้ถือศีลอดสำหรับผู้ที่ (กำลังประกอบพิธีหัจญ์) อยู่ ณ ทุ่งอาเราะฟะฮฺ” (ซาดุลมะอาด 1:61) 2.4 เป็นวันที่การถือศีลอดในวันนั้นจะได้รับการลบล้างบาปถึงสองปี อบู เกาะตาดะฮฺ เล่าว่า ท่านรสูล ศ็อลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถูกถามเกี่ยวกับการถือศีลอดในวันอาเราะฟะฮฺ ดังนั้นท่านจึงตอบว่า «صِيَامُ يَوْمِ عَرَفَةَ أَحْتَسِبُ عَلَى اللَّهِ أَنْ يُكَفِّرَ السَّنَةَ الَّتِي قَبْلَهُ وَالسَّنَةَ الَّتِي بَعْدَهُ» “การศิยามในวันอาเราะฟะฮฺ ฉันคาดหวังว่าอัลลอฮฺจะทรงลบล้างบาปของหนึ่งปีที่ผ่านมา และหนึ่งปีที่จะมาถึง” (มุสลิม, 1162) อันนะวะวีย์กล่าวว่า “หมายความว่า (จะลบล้าง) บาปของผู้ที่ถือศีลอดในสองปี บรรดาอุละมาอ์กล่าวว่า บาปที่หมายถึงในที่นี้คือบาปเล็ก...และถ้าไม่ใช่บาปเล็กก็หวังว่าจะได้รับการลดโทษจากบาปใหญ่ให้เบาลง และหากว่าเขาไม่มีบาปเล็กอยู่เลย เขาก็จะได้รับการยกสถานะให้สูงขึ้น” (ชัรหฺ เศาะฮีหฺมุสลิม 5:50-51) อัลมาวัรดีย์กล่าวว่า “สำหรับการลบล้างบาปนั้นสามารถตีความหมายได้สองอย่าง คือ 1. หมายถึงการอภัยโทษจากบาปที่ทำมา 2. หมายถึงการยับยั้งหรือป้องกันไม่ให้กระทำบาป ด้วยเหตุนี้ บรรดาอุละมาอ์จึงมีมติเห็นพ้องกันว่าเป็นการสุนนะฮฺสำหรับผู้ที่ไม่ได้ประกอบอิบาดะฮฺหัจญ์ให้ทำการศิยามในวันนี้ (ดู มัจมูอฺ ของ อันนะวะวีย์ 6:349) 2.5 เป็นวันแห่งการขอดุอาอ์ที่ประเสริฐที่สุด อับดุลลอฮฺ บิน อุมัร เล่าว่า ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า «خَيْرُ الدُّعَاءِ دُعَاءُ يَوْمِ عَرَفَةَ، وَخَيْرُ مَا قُلْتُ أَنَا وَالنَّبِيُّونَ مِنْ قَبْلِي: لَا إِلٰهَ إِلَّا اللهُ وَحْدَهُ لَا شَرِيكَ لَهُ، لَهُ الـْمُلْكُ وَلَهُ الْـحَمْدُ وَهُوَ عَلٰى كُلِّ شَيْءٍ قَدِيرٌ» “ดุอาอ์ที่ประเสริฐที่สุดคือดุอาอ์ในวันอาเราะฟะฮฺ และคำดุอาอ์ที่ประเสริฐที่สุดที่ฉันและบรรดานบีก่อนหน้าฉันกล่าว (ในวันนั้น) คือ «لَا إِلٰهَ إِلَّا اللهُ وَحْدَهُ لَا شَرِيكَ لَهُ، لَهُ الـْمُلْكُ وَلَهُ الْـحَمْدُ وَهُوَ عَلٰى كُلِّ شَيْءٍ قَدِيرٌ» “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองคืเดียว โดยปราศจากการตั้งภาคีใดๆพร้อมพระองค์ การปกครองดูแลเป็นของพระองค์ และมาลการสรรเสริญก็เป็นของพระองค์ และพระองค์ทรงปรีชาสามารถบนทุกๆสิ่ง” (อิมามมาลิก, 422 ด้วยสายรายงานที่มุรสัล, อัตติรมิซีย์, 3585, เศาะฮีหฺอัตติรมิซีย์, 2837) อิบนุ อับดิลบัร กล่าวว่า “ในหะดีษนี้ให้บทเรียนว่า การขอดุอาอ์ในวันอาเราะฟะฮฺเป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่าการขอดุอาอ์ในวันอื่นๆ และในหะดีษนี้ยังบ่งชี้ถึงความประเสริฐของวันอาเราะฟะฮฺกว่าวันอื่นๆ อีกด้วย...และในหะดีษนี้อีกเช่นกันเป็นหลักฐานที่บ่งบอกว่าการขอดุอาอ์ในวันอาเราะฟะฮฺโดยรวมแล้วจะถูกตอบรับทั้งหมด” (อัตตัมฮีด 6:41) 3. ความประเสริฐของวันนะหัร (วันอีด) อับดุลลอฮฺ บิน กุรฏ์ อัษษะมาลีย์ เล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า «إِنَّ أَعْظَمَ الْأَيَّامِ عِنْدَ اللهِ تَبَارَكَ وَتَعَالَى يَوْمُ النَّحْرِ، ثُمَّ يَوْمُ الْقَرِّ» “บรรดาวันต่างๆที่ประเสริฐที่สุด ณ อัลลอฮฺ คือวันนะหัร หลังจากนั้นวันก็อร (วันที่พักอยู่กับที่ หมายถึงวันที่บรรดาหจญาจญ์พักอยู่ที่ทุ่งมีนาในวันที่ 11-13 หลังจากวันนะหัร)” (อะหมัด 4:1350, อบูดาวูด, 1765) อิบนุ ตัยมิยะฮฺกล่าวว่า “วันแห่งปีที่ประเสริฐที่สุดคือวันนะหัร และบางท่านกล่าวว่า วันที่ประเสริฐที่สุดคือวันอาเราะฟะฮฺ แต่ทัศนะแรกคือทัศนะที่ถูกต้อง เพราะในวันนั้นจะเป็นวันแห่งการรวมอิบาดะฮฺอามัลหัจญ์ต่างๆที่ไม่มีปฏิบัติในวันอื่นๆ เช่นการพักที่ทุ่งมุซดาลิฟะฮฺ การขว้างเสาหินอะเกาะบะฮฺเพียงเสาเดียว การเชือดนะหัร การโกนศีรษะ และการเฏาะวาฟอิฟาเฎาะฮฺ..." (มัจญ์มูอฺ อัลฟะตาวีย์ 25:288) อิบนุ ก็อยยิมกล่าวว่า “ดังนั้นบรรดาวันต่างๆที่ประเสริฐที่สุด ณ อัลลอฮฺ คือวันนะหัร เพราะเป็นวันหัจญ์ใหญ่” (ซาดุลมะอาด 1:54)