البحث

عبارات مقترحة:

الحكم

كلمة (الحَكَم) في اللغة صفة مشبهة على وزن (فَعَل) كـ (بَطَل) وهي من...

الودود

كلمة (الودود) في اللغة صيغة مبالغة على وزن (فَعول) من الودّ وهو...

الحسيب

 (الحَسِيب) اسمٌ من أسماء الله الحسنى، يدل على أن اللهَ يكفي...

มุสลิมะฮฺกับการสร้างสรรค์สังคม

التايلاندية - ไทย / Phasa Thai

المؤلف ซุฟอัม อุษมาน ، ทีมงานภาษาไทย เว็บอิสลามเฮ้าส์
القسم مقالات
النوع نصي
اللغة التايلاندية - ไทย / Phasa Thai
المفردات الأمر بالمعروف والنهي عن المنكر - نوازل الأحوال الشخصية وقضايا المرأة
กล่าวถึงบทบาทของสตรีมุสลิมะฮฺในการทำหน้าที่สร้างสรรค์ ในกรอบของการสนับสนุนความดี ยับยั้งความชั่ว และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสิ่งที่ถูกต้อง อธิบายและวิเคราะห์พร้อมหลักฐานจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺ

التفاصيل

> > > > ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ   มุสลิมะฮฺกับการสร้างสรรค์สังคม   ความสำคัญของการสร้างสรรค์สังคม การสร้างสรรค์สังคมที่อิสลามหมายถึง และมีบัญญัติไว้ในอัล-กุรฺอานคือ การร่วมกันส่งเสริมคุณธรรมการสั่งเสียในความดี และการยับยั้งหักห้ามความชั่วความเลวทราม  (الأمر بالمعروف والنهي عن المنكر) ในกรอบของการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในเรื่องความดีงามและการยำเกรง เช่นที่อัลลอฮฺได้สั่งไว้ว่า (وَتَعَاوَنُواْ عَلَى الْبرِّ وَالتَّقْوَى وَلاَ تَعَاوَنُواْ عَلَى الإِثْمِ وَالْعُدْوَانِ) (المائدة : 2) ความว่า “จงช่วยเหลือกันในเรื่องของความดีงามและการยำเกรง และอย่าได้ช่วยกันในเรื่องของความผิดบาปและการละเมิด” (อัล-มาอิดะฮฺ :2)   ทั้งนี้เพื่อให้สังคมมนุษย์สามารถดำเนินอยู่ด้วยความเปี่ยมสุข และปราศจากปัญหาต่างๆ ที่คุกคามความสงบสุขของสังคมมนุษย์ การสร้างสรรค์สังคมในความหมายนี้นับเป็นภาระหน้าที่ของผู้ศรัทธาทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชาย มีเช่นฐานะเช่นใดหรือมีอาชีพใดก็ตาม การส่งเสริมความดีและคุณธรรมพร้อมกับการต่อต้านความชั่วนั้นเป็นคุณลักษณะของประชาชาติที่ประเสริฐ สำนึกเช่นนี้นับได้ว่าเป็นคุณลักษณะหนึ่งของผู้ศรัทธาที่แท้จริงและควรมีอยู่คู่มุสลิมทุกคน (كُنتُمْ خَيْرَ أُمَّةٍ أُخْرِجَتْ لِلنَّاسِ تَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَتَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنكَرِ وَتُؤْمِنُونَ بِاللهِ) (آل عمران : 110) ความว่า “พวกเจ้านั้นเป็นประชาชาติอันประเสริฐสุดที่ถูกให้กำเนิดขึ้นมาเพื่อมนุษยชาติ ด้วยการที่พวกเจ้าสั่งเสียในความดี หักห้ามยับยั้งจากความชั่ว และด้วยการที่พวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮฺ” (อาล                   อิมรอน :110)   ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้มีวจนะไว้หลายบทที่สนับสนุนให้มุสลิมทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบในการสร้างสรรค์สังคมให้ดีงามอยู่เสมอ โดยจะต้องคอยสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดความชั่วร้ายในสังคม เช่นในวจนะของท่านที่มีใจความว่า “ใครคนหนึ่งในพวกท่านที่เห็นความไม่ดีไม่งาม เขาจะต้องเปลี่ยนแปลงมันด้วยมือของเขา ถ้าไม่มีความสามารถให้เขาใช้ปากพูด และถ้ายังทำไม่ได้อีกให้เขาคิดปฏิเสธสิ่งนั้นในใจ และนั่นคือความศรัทธาขั้นต่ำสุด” (ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ, 6250) และในวจนะของท่านอีกบทหนึ่งที่มีใจความว่า “ขอสาบานด้วยพระองค์ผู้ซึ่งชีวิตข้าอยู่ในหัตถ์แห่งพระองค์ พวกท่านต้องร่วมสั่งเสียในความดี หักห้ามจากความชั่ว หรือ(ถ้าพวกท่านไม่ทำเช่นนั้น)เห็นทีอัลลอฮฺจะส่งการลงโทษของพระองค์ลงมายังพวกท่าน เมื่อนั้นแม้พวกท่านจะวิงวอนขอจากพระองค์ พระองค์ก็จะไม่ทรงตอบรับ” (เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ, 7070)   มุสลิมะฮฺกับภาระการรับผิดชอบต่อสังคม           ภาระหน้าที่ในการสร้างสรรค์สังคมเป็นสิ่งที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งผู้ชายและผู้หญิง ทั้งนี้เพราะหลักฐานต่างๆ ข้างต้นมิได้กำหนดว่าภาระหน้าที่นี้เป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ทว่าได้บัญญัติไว้ครอบคลุมทั้งชายและหญิง อีกทั้งมีอีกอายะฮฺหนึ่งที่ระบุไว้ชัดเจนว่า มุสลิมะฮฺเองก็ต้องมีส่วนในการสร้างสรรค์สังคมเช่นเดียวกัน ซึ่งอัลลอฮฺได้ตรัสว่า (وَالْمُؤْمِنُونَ وَالْمُؤْمِنَاتُ بَعْضُهُمْ أَوْلِيَاء بَعْضٍ يَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَيَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنكَرِ وَيُقِيمُونَ الصَّلاَةَ وَيُؤْتُونَ الزَّكَاةَ وَيُطِيعُونَ اللهَ وَرَسُولَهُ أُوْلَـئِكَ سَيَرْحَمُهُمُ اللهُ إِنَّ اللهُ عَزِيزٌ حَكِيمٌ) (التوبة : 71) ความว่า “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งชายและหญิงนั้น บางส่วนของพวกเขาต่างเป็นผู้ช่วยเหลืออีกบางส่วน พวกเขาจะใช้ให้ปฏิบัติในสิ่งที่ชอบ(สิ่งที่ดีและถูกต้อง)และห้ามปรามในสิ่งที่ไม่ชอบ(สิ่งที่ไม่ดีไม่ถูกต้อง) และพวกเขาจะดำรงไว้ซึ่งการละหมาดและจ่ายซะกาต ภักดีต่ออัลลอฮฺและรสูลของพระองค์ พวกเขาเหล่านั้นคือผู้ที่อัลลอฮฺจะทรงเมตตา แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชายิ่ง” (อัต-เตาบะฮฺ :71)   ความเท่าเทียมกันที่แตกต่าง           จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่ามุสลิมและมุสลิมะฮฺต่างมีภาระความรับผิดชอบที่เท่าเทียมกัน ตาชั่งของความประเสริฐนั้นมิได้อยู่ที่ใครเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หากแต่อยู่ที่ผู้ใดมีความยำเกรงมากกว่า ซึ่งปรากฏในดำรัสของอัลลอฮฺว่า (يَا أَيُّهَا النَّاسُ إِنَّا خَلَقْنَاكُم مِّن ذَكَرٍ وَأُنثَى وَجَعَلْنَاكُمْ شُعُوباً وَقَبَائِلَ لِتَعَارَفُوا إِنَّ أَكْرَمَكُمْ عِندَ اللهِ أَتْقَاكُمْ إِنَّ اللهَ عَلِيمٌ خَبِيرٌ) (الحجرات : 13 )           ความว่า “โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูล เพื่อให้มีการรู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่ อัลลอฮฺนั้นคือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้และประจักษ์ยิ่ง” (อ้ล-หุจุรอต : 13)   กระนั้นสิ่งที่ต้องคำนึงอีกประการหนึ่งคือ ความแตกต่างระหว่างสองเพศ อัล-กุรฺอานได้ระบุไว้ว่า (وَلَيْسَ الذَّكَرُ كَالْأُنْثىٰ) ความว่า “และใช่ว่าเพศชายนั้นจะเหมือนกับเพศหญิงก็หาไม่” (อาล  อิมรอน : 36)             ความแตกต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิงมิได้เป็นข้ออ้างว่าผู้หญิงด้อยกว่าผู้ชาย หรือผู้ชายเหนือกว่าผู้หญิงในแง่ของความเท่าเทียมและคุณค่าความประเสริฐ แต่เป็นปัจจัยชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงมีหน้าที่ที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของตนที่ไม่เหมือนผู้ชาย และผู้ชายก็มีความรับผิดชอบที่เหมาะสมกับลักษณะของเพศตน อันเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับและคำนึงถึงในการกำหนดบทบาทและหน้าที่ของตนในการสร้างสรรค์สังคมต่อไป   จุดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์สังคม ถ้าหากทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมีจุดเริ่มต้น การทำงานเพื่อสร้างสรรค์สังคมหรือการช่วยกันส่งเสริมความดีงามและหักห้ามความเลวทรามก็ย่อมมีจุดเริ่มต้นของมันเช่นกัน ความเข้าใจในประเด็นจุดเริ่มต้นนี้มีความสำคัญที่จะทำให้สามารถเข้าใจบทบาทของตนในการทำงานนี้ได้ชัดเจนขึ้น และมีเกณฑ์ที่ยึดใช้เป็นหลักในการทำงานต่อไปได้ ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เป็นผู้ให้เกณฑ์ของจุดเริ่มต้นในการทำงานนี้ด้วยวจนะของท่านที่มีความว่า “ใครคนหนึ่งในพวกท่านที่เห็นความชั่ว เขาจะต้องเปลี่ยนแปลงมันด้วยมือของเขา ถ้าไม่มีความสามารถให้เขาใช้ปากพูด และถ้ายังทำไม่ได้อีกให้เขาคิดปฏิเสธสิ่งนั้นในใจ และนั่นคือความศรัทธาขั้นต่ำสุด” (อ้างแล้ว) นัยยะที่ได้จากหะดีษบทนี้บอกเราว่า การทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นต้องเริ่มจากจุดที่เรามีความสามารถมากที่สุดก่อนเป็นอันดับแรก สังเกตให้ดีว่าท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม สั่งให้เราเริ่มด้วยการใช้มือ(คือให้เปลี่ยนแปลงด้วยการกระทำ) ความหมายก็คือภายในปริมณฑลที่เรามีอำนาจและสามารถใช้มือหรือการกระทำของเราเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น ถ้าหากนอกเขตที่อาจจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวผู้อื่นนั่นแสดงว่าเราไม่สามารถที่จะใช้มือเปลี่ยนแปลงแก้ไข จึงต้องหันไปใช้วิธีอื่นที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้นั้น นั่นคือใช้คำพูดแทน ส่วนระดับขั้นของความสามารถที่ต่ำที่สุดคือการปฏิเสธในใจ เพราะถ้าหากการใช้การกระทำหรือคำพูดอาจจะเป็นภัย สิ่งที่ทำได้เพียงอย่างเดียวก็คือปฏิเสธและไม่ยอมรับมันเงียบๆ ในใจคนเดียว สิ่งที่ต้องการเน้นก็คือ “จุดที่เรามีความสามารถมากที่สุด” เป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานของเราเพื่อสร้างสรรค์สังคม แล้วที่ไหนคือจุดที่ว่านั้น?   บ้านเป็นจุดเริ่มต้นของสังคม สังคมมีมนุษย์เป็นหน่วยหลัก และมนุษย์ทุกคนย่อมมีครอบครัวของตน ครอบครัวและบ้านจึงเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมที่มีความสำคัญยิ่ง จำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่ดูแล สร้างสรรค์ให้ดีตามที่หวังไว้ว่าอยากเห็นสังคมที่ดี เพราะบ้านก็เป็นสังคม เป็นรากฐานแรกของสังคมด้วยซ้ำ และบ้านก็คืออาณาบริเวณที่เรามีความสามารถและอำนาจในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งไม่ดีไม่งาม รวมทั้งวางแผนจัดการสร้างสรรค์สิ่งดีงามทั้งหลายได้อย่างเต็มที่ บ้านจึงเป็นจุดเริ่มต้นแรกของผู้ทำงานเพื่อสร้างสรรค์สังคม บทบาทของมุสลิมะฮฺในบ้านหรือในครอบครัวมีความสำคัญชัดเจนจนอาจจะไม่ต้องพูดถึงอีกแล้ว เพราะภาระหน้าที่ของพวกเธอโดยดั้งเดิมแล้วเกือบทั้งหมดอยู่ในบ้าน อาจจะกล่าวได้ว่าทุกความเคลื่อนไหวและทุกสิ่งที่เป็นไปในเรือนชาน ล้วนแล้วเป็นความรับผิดชอบของพวกเธอแทบทั้งสิ้น ในฐานะที่เป็นภรรยาของสามี เป็นแม่ของลูกๆ และผู้ดูแลวิมานของครอบครัว แค่บทบาทในสามด้านนี้ถ้าทำให้ดีที่สุดก็เกือบจะเอาเวลาไปคิดอย่างอื่นแทบจะไม่ทันแล้ว มิพักต้องเอ่ยถึงภารกิจอื่นๆ อีกต่อไป อย่างไรก็ตามแต่ละครอบครัวย่อมต้องมีความแตกต่าง การพูดถึงบทบาทของมุสลิมะฮฺในครอบครัวจึงมีความยืดหยุ่นอยู่บ้างตามแต่กรณีนั้นๆ การสร้างสรรค์สังคมในบ้านให้เป็นสังคมที่พึงประสงค์ นอกเหนือจากการเอาใจใส่ในเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยทั่วๆ ไปแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญในด้านของการส่งเสริมความดีและยับยั้งความชั่วอีกด้วย มีหลายตัวอย่างในหะดีษที่บ่งบอกถึงบทบาทของมุสลิมะฮฺในเรื่องนี้ เช่น -    ช่วยเหลือสามีในเรื่องอาคิเราะฮฺ นั่นคือในเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจทั้งที่เป็นวาญิบและสุนัต มีระบุในหะดีษว่า “อัลลอฮฺได้เมตตาชายผู้หนึ่ง ที่ได้ตื่นขึ้นมาเพื่อละหมาดกลางคืน แล้วเขาก็ปลุกภรรยาของเขาเพื่อให้ลุกขึ้นมาละหมาด ถ้านางไม่ยอมลุก เขาก็เอาน้ำมาปะพรมบนหน้าของนาง และอัลลอฮฺได้เมตตาหญิงหนึ่ง ที่ได้ตื่นขึ้นมากลางคืนเพื่อทำการละหมาด แล้วนางก็ปลุกสามีของนาง เพื่อให้ลุกขึ้นมาละหมาด ถ้าเขาไม่ยอมลุก นางก็เอาน้ำมาปะพรมบนหน้าของเขา” (ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ  3494) หะดีษนี้ได้บรรยายภาพของความร่วมมือระหว่างสองสามีภรรยาในเรื่องอาคิเราะฮฺที่ช่างงดงามยิ่งนัก การช่วยเหลือกันระหว่างคู่ชีวิตมิใช่มีเพียงในเรื่องการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพเท่านั้น ทว่าการร่วมมือกันสร้างสรรค์ชีวิตคู่ด้วยสัมภาระสู่อาคิเราะฮฺนั่นต่างหากเล่าที่ควรได้รับการเอาใจใส่มากกว่าเป็นหลายเท่า เพราะมันหมายถึงการเตรียมพร้อมเพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอีกยาวนานในโลกหน้าอันสถาพร กิจกรรมอื่นๆ ก็อาจจะทำได้เช่น การช่วยกระตุ้นให้สามีรักษาละหมาดญะมาอะฮฺ การถือศีลอด การอ่านอัลกุรอานร่วมกัน การอ่านดุอาอ์ประจำวัน การทำทานเศาะดะเกาะฮฺ และอีกหลายๆ อย่างที่สามารถทำได้ ทั้งหมดอยู่ในข่ายของการสนับสนุนความดีทั้งสิ้น -    ดูแลอบรมสั่งสอนลูกๆ ในเรื่องศาสนา เป็นเรื่องที่ชัดเจนว่าผู้เป็นแม่ต้องเอาใจใส่ในการอบรมมารยาทของลูกๆ ดูแลให้พวกเขารักษาละหมาด ฝึกหัดให้ปฏิบัติศาสนกิจอื่นๆ สอนอัลกุรอานให้พวกเขา เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น คอยสอดส่องดูแลแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดีทั้งหลาย ฯลฯ เหล่านี้คือปฐมแห่งบทบาทที่สำคัญในการสร้างสมาชิกที่ดีของสังคมซึ่งจะออกไปสู่โลกกว้างในวันข้างหน้า เป็นที่แน่นอนว่า ถ้าเด็กๆ ได้รับการเลี้ยงดูอย่างถูกต้องในครอบครัว เมื่อโตขึ้นและออกไปสู่สังคมกว้าง พวกเขาก็จะเป็นคนที่ดีของสังคม เมื่อคนดีสังคมก็ย่อมดีตามไปด้วยเป็นแน่แท้ “ผู้หญิงนั้นเป็นผู้เฝ้าดูแลในบ้านของสามีและลูกๆ ของเขา พวกนางจะถูกสอบสวนในหน้าที่นั้น” (อัล-บุคอรีย์และมุสลิม ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ 4569) -    การตักเตือนซึ่งกันและกันกับสมาชิกในครอบครัวให้อยู่ในกรอบของศาสนา การรำลึกถึงอัลลอฮฺและอาคิเราะฮฺ การสร้างนิสัยเช่นนี้นับเป็นสิ่งที่ดีและควรต้องได้รับการสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในบ้าน การตักเตือนระหว่างกันนั้นถือเป็นแก่นหนึ่งของอิสลาม ดังที่มีปรากฏในหะดีษว่า “ศาสนาคือการนาซีฮัต(การตักเตือนซึ่งกันและกัน)” (เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ 3417) จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เหล่าผู้ดูแลความเรียบร้อยในครอบครัวต้องถือเป็นหลักในการสร้างสรรค์สังคมในบ้านให้อบอวลไปด้วยบรรยากาศที่นอกจากจะอบอุ่นแล้ว ยังมีความดีงามและการรำลึกถึงอาคิเราะฮฺอยู่เนืองนิตย์ “อุปมาบ้านที่มีการรำลึกถึงอัลลอฮฺ กับบ้านที่ไม่มีการรำลึกถึงอัลลอฮฺ อุปมัยเหมือนคนเป็นกับคนตาย” (เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ 5827) การนาซีฮัตไม่ได้หมายความว่าต้องมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงผู้เดียว ทุกคนในบ้านมีสิทธิหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือและตักเตือนกัน ไม่ว่าจะเป็นสามี ภรรยา พ่อแม่ หรือผู้เป็นลูก ดังนั้นในฐานะผู้รับผิดชอบความเรียบร้อยในบ้าน มุสลิมะฮฺทั้งหลายจึงควรมีบทบาทในการนาซีฮัตด้วยเช่นกัน ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นฝ่ายรับการตักเตือนเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามวิธีการและรูปแบบการตักเตือนนั้นมีหลากหลายมาก จึงควรคำนึงถึงความเหมาะสมและเลือกใช้วิธีที่ดีที่สุด และไม่จำเป็นว่าต้องอยู่ในรูปของการใช้คำพูดเสมอไป   จะเห็นได้ว่าการสร้างสรรค์สังคมในบ้านของมุสลิมะฮฺนั้น มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการทำงานข้างนอก เพราะถ้าหากบ้านคือฐานหลักของสังคมแล้ว การสร้างสังคมในบ้านให้มีความแข็งแกร่งก็คือจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์สังคมให้ดีและเป็นที่ปรารถนานั่นเอง   การดะอฺวะฮฺญาติมิตรและเพื่อนบ้าน ถึงแม้ว่ามุสลิมะฮฺจะมีข้อจำกัดในการทำงานเพื่อสังคมที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขการออกนอกบ้าน แต่เราพบว่ายังมีโอกาสอีกอย่างมากมายที่พวกเธอสามารถคิดและทำได้ในกรอบที่อิสลามอนุญาต เป็นกรอบและโอกาสที่พวกเธอสามารถ “เปลี่ยนจุดด้อยให้เป็นจุดเด่น” ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่พวกเธอจะคิดจัดการและวางแผนทำได้ การเชิญชวนญาติมิตรในบริเวณบ้านใกล้เรือนเคียงให้มาร่วมมือกันทำกิจกรรมโดยไม่ต้องไปไหนไกลบ้าน เช่นจับกลุ่มเพื่อเรียนรู้ศาสนาด้วยตัวเอง การทำฮาลาเกาะฮฺศึกษาอัลกุรอาน การให้นาซีฮัตซึ่งกันและกันการช่วยสอนช่วยฝึกผู้อื่นให้รู้จักจรรยามารยาทอิสลามและบทดุอาอ์ต่างๆ  รวมทั้งได้ทบทวนกิจวัตรของแต่ละคนให้ถูกต้องตามซุนนะฮฺ ฯลฯ นับเป็นสิ่งที่ส่งผลดีต่อตัวเองและเพื่อนฝูงญาติมิตรผู้ใกล้ชิด โดยปกติผู้หญิงหรือแม่บ้านมักจะจับกลุ่มกันได้ง่ายอยู่แล้ว จึงควรหากิจกรรมทางศาสนาที่เป็นประโยชน์มาร่วมกันทำบ้าง นอกจากจะทำกิจกรรมอื่นๆ ที่กลุ่มแม่บ้านรู้จักและทำอยู่บ่อยๆ เช่นทำขนม ตัดเย็บเสื้อผ้า ฯลฯ กิจกรรมอย่างการทำฮาลาเกาะฮฺอัลกุรอาน อาจจะทำเป็นอาทิตย์ละครั้งหรือสองครั้ง โดยสามารถทำที่มัสยิดในหมู่บ้าน หรือสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามบ้านของสมาชิกกลุ่มก็ได้เช่นกัน การสร้างสรรค์กิจกรรมเหล่านี้ ถือเป็นหนึ่งในกระบวนการเพื่อเพิ่มอีมานและขัดเกลาตัวเองให้อยู่บนเส้นทางของศาสนาอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพื่อขยายความดีงามสู่คนใกล้ชิด เป็นจุดเริ่มต้นในการเสริมสร้างปัจจัยแห่งความสงบสุขในสังคมหมู่บ้านโดยมีกลุ่มแม่บ้านเป็นตัวหลักในการดำเนินงาน กิจกรรมเช่นนี้ยังสามารถที่จะทำได้โดยไม่ต้องกังวลถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดส่วนตัวของมุสลิมะฮฺอีกด้วย ซึ่งนับว่าเหมาะสม มีวิธีการหลากหลาย และทำให้มีประสิทธิภาพได้อย่างเต็มที่   กิจกรรมอื่นๆ ในสังคมกว้าง บทบาทของมุสลิมะฮฺในสังคมกว้าง จำเป็นต้องคำนึงถึงเงื่อนไขต่างๆ ให้รัดกุมยิ่งขึ้น เพราะเดิมทีเดียว อิสลามไม่สนับสนุนให้ผู้หญิงออกนอกบ้าน ด้วยอิสลามมองว่ายังมีงานและภารกิจอีกมากที่มุสลิมะฮฺสามารถทำได้ในขณะที่พวกเธออยู่ในบ้าน และโดยดั้งเดิมแล้ว งานนอกบ้านเป็นความรับผิดชอบของผู้ชาย ซึ่งพวกเขามิอาจจะเลี่ยงในหน้าที่นี้ได้เลย อย่างไรก็ตามถ้ามีความจำเป็นหรือผลที่พึงรับได้ ก็อนุญาตให้พวกเธอออกไปได้ โดยควรต้องไม่กระทบถึงบทบาทหลักในการเป็นภรรยา มารดาและแม่ศรีเรือน การทำงานของมุสลิมะฮฺในสังคมนั้นมิใช่ถูกปิดกั้นเหมือนดังที่หลายๆ คนเข้าใจผิด งานทุกชนิดที่ผู้ชายทำได้ผู้หญิงก็ทำได้ถ้าหากอยู่ในกรอบและขอบเขตที่อิสลามอนุญาต การทำงานในสังคมของมุสลิมะฮฺจึงไม่ได้แคบ เพียงแต่มีความรัดกุมมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นผลดีต่อตัว มุสลิมะฮฺเอง และควรต้องคำนึงอยู่เสมอว่า ด้วยธรรมชาติทางสรีระและจิตใจของผู้หญิงนั้น งานที่พวกเธอทำได้ดีที่สุดมักจะเกี่ยวข้องกับการดูแลบ้าน การอบรมเลี้ยงดูเด็กๆ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสตรี โดยที่เราไม่ได้ปฏิเสธความสามารถด้านอื่นๆ ของพวกเธอ อย่างไรก็ตาม เมื่ออยู่นอกบ้านแล้วพวกเธอยังสามารถมีบทบาทในการร่วมสนับสนุนความดีและยับยั้งความชั่วได้ โดยการเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่นเช่นเพื่อนร่วมงาน คนรอบข้าง เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถให้คำเชิญชวนและคำตักเตือนที่ดีแก่ผู้คนเหล่านั้นได้   ปัจจัยเสริมสำหรับมุสลิมะฮฺในการสร้างสรรค์สังคม 1.   สร้างตัวเองให้มีบุคลิกภาพของมุสลิมผู้มีศรัทธาที่เข้มแข็ง เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนอื่นๆ เพราะตัวอย่างที่ดีก็นับเป็นการดะอฺวะฮฺประการหนึ่ง วิธีการก็คือด้วยการหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจากการรับฟังผู้รู้ อ่านหนังสือ จากสื่อต่างๆ ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย รวมถึงเอาใจใส่ในการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดทั้งที่วาญิบและสุนัต เหล่านี้คือปัจจัยเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดีเยี่ยมสำหรับคนทำงานเพื่อสร้างสรรค์สังคม 2.   การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ทั้งในหมู่มุสลิมะฮฺกันเอง ในรูปแบบของการช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถระหว่างกัน หรือจากที่ปรึกษาที่เป็นมุสลิมีน โดยเฉพาะผู้ใกล้ชิดเช่น สามี บิดา พี่น้อง ลูกๆ หรือญาติสนิทที่เป็นมะห์ร็อม ถ้าหากจะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นที่ไม่ใช่ญาติก็ทำได้ โดยให้อยู่ในกรอบและขอบเขตที่ไม่ผิดต่อศาสนบัญญัติ     บทสรุป เป็นที่แน่ชัดว่า บทบาทของมุสลิมะฮฺในการสร้างสรรค์สังคม ด้วยการส่งเสริมความดีงาม คอยดูแลป้องกันความเลวทรามไม่ให้แพร่ขยายในสังคมนั้นมีความสำคัญยิ่ง และไม่ได้น้อยกว่าบทบาทของผู้ชายเลยแม้แต่น้อย เพราะผู้หญิงคือครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกในสังคม(หรืออาจจะมากว่าครึ่งด้วยซ้ำ) และพวกเธอยังสามารถเข้าถึงในบางจุดบางแห่งที่ผู้ชายเข้าไปถึงไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่ควรละเลยความสำคัญของมุสลิมะฮฺในด้านนี้ ด้วยสังคมปัจจุบันกำลังอยู่ในภาวะที่ต้องการผู้ร่วมอาสาเพื่อฟื้นฟูและดูแลจากความเสื่อมโทรมที่นับวันดูจะยิ่งแย่ลงไปเรื่อยๆ การทำงานของมุสลิมะฮฺในการสร้างสรรค์สังคมนั้น มีเงื่อนไขบางประการที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของพวกเธอ ซึ่งไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะรูปแบบงานสร้างสรรค์สังคมนั้นมีหลากหลาย สามารถที่จะเลือกทำได้ภายใต้กรอบและขอบเขตที่อิสลามกำหนด และทุกๆ กิจการความดีล้วนได้รับผลตอบแทนจากอัลลอฮฺทั้งสิ้น มุสลิมะฮฺจึงควรต้องเรียนรู้ให้มากขึ้น เพื่อเสริมสร้างตัวเองให้พร้อมสำหรับการทำงานอันมีเกียรติยิ่งนี้ โดยต้องอาศัยการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และการสนับสนุนจากบรรดามุสลิมีน เพื่อผลที่ดีที่สุดในการทำงาน  - วัลลอฮฺ อะอฺลัม   وصلى الله على نبينا محمد وعلى آله وصحبه وسلم  

المرفقات

2

มุสลิมะฮฺกับการสร้างสรรค์สังคม
มุสลิมะฮฺกับการสร้างสรรค์สังคม