จากหนังสือ 40 หะดีษเดือนเราะมะฎอน หะดีษที่ 33 - จุดประสงค์ของการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ พร้อมคำอธิบายโดยสรุป และบทเรียนที่ได้รับจากหะดีษ
التفاصيل
> > > > ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ หะดีษบทที่ 33 จุดประสงค์ของการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ عَنِ ابْنِ عَبَّاسٍ رَضِيَ اللهُ عَنْهُمَا قَالَ : فَرَضَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ زَكَاةَ الْفِطْرِ طُهْرَةً لِلصَّائِمِ مِنْ اللَّغْوِ وَالرَّفَثِ، وَطُعْمَةً لِلْمَسَاكِينِ، مَنْ أَدَّاهَا قَبْلَ الصَّلاَةِ فَهِيَ زَكَاةٌ مَقْبُولَةٌ، وَمَنْ أَدَّاهَا بَعْدَ الصَّلاَةِ فَهِيَ صَدَقَةٌ مِنَ الصَّدَقَاتِ. (ابن ماجه رقم 1817، صحيح سنن ابن ماجه للألباني رقم1480: حسن) ความว่า จากท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา เล่าว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กำหนดให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺเพื่อเป็นการชะล้างแก่ผู้ถือศีลอดจากความบกพร่องที่เขาเผลอเรอและหยาบคาย(ขณะถือศีลอด) และเพื่อเป็นอาหารแก่บรรดาผู้ยากจน ผู้ใดที่จ่ายมันก่อนละหมาด(วันอีด)แสดงว่าเป็นซะกาตฟิฏเราะฮฺที่ถูกรับ แต่หากผู้ใดจ่ายมันหลังละหมาด(วันอีด) นั้นถือว่าเป็นเพียงเศาะดะเกาะฮฺ(การจ่ายทาน)ทั่วๆ ไป (รายงานโดย อิบนุ มาญะฮฺ หมายเลข 1817 ดู เศาะฮีหฺ สุนัน อิบนิ มาญะฮฺ ของ อัล-อัลบานีย์ หมายเลข 1480 เป็นหะดีษ หะสัน) บทเรียนจากหะดีษ 1. หุก่มของการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺคือ วาญิบ 2. วิทยปัญญาของการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺที่หะดีษได้กล่าวไว้ คือ · ทำให้ผู้ถือศีลอดสะอาดจากคำพูดและการกระทำที่ชั่วร้ายและไม่มีประโยชน์ · เป็นอาหารแก่คนยากจน 3. ระยะเวลาในการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺคือตั้งแต่ต้นเราะมะฎอนจนถึงเช้าวันอีด (ก่อนละหมาดอีด) 4. เวลาที่ดีที่สุดในการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺคือ เช้าของวันอีด 5. ผู้ที่จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺก่อนละหมาดวันอีดนั้นเป็นซะกาตที่อัลลอฮฺรับฺ แต่หากจ่ายหลังจากละหมาดวันอีดแล้ว จะไม่ถือว่าเป็นซะกาต แต่จะเป็นการทำทานให้เศาะดะเกาะฮฺทั่วๆ ไป ดังนั้น เขายังคงมีภาระต้องจ่ายซะกาตอยู่