البحث

عبارات مقترحة:

الرءوف

كلمةُ (الرَّؤُوف) في اللغة صيغةُ مبالغة من (الرأفةِ)، وهي أرَقُّ...

العليم

كلمة (عليم) في اللغة صيغة مبالغة من الفعل (عَلِمَ يَعلَمُ) والعلم...

الخلاق

كلمةُ (خَلَّاقٍ) في اللغة هي صيغةُ مبالغة من (الخَلْقِ)، وهو...

หลักการสามข้อพร้อมหลักฐาน

التايلاندية - ไทย / Phasa Thai

المؤلف มุหัมมัด บิน อับดุลวะฮาบ ، ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ (อิบรอฮีม กุเรชี)
القسم كتب وأبحاث
النوع نصي
اللغة التايلاندية - ไทย / Phasa Thai
المفردات متون العقيدة
หนังสือว่าด้วยประเด็นสำคัญทางอะกีดะฮฺที่มุสลิมจำเป็นต้องรู้ นับตั้งแต่การรู้จักพระเจ้า ศาสนกิจที่พระเจ้าสั่งใช้, การรู้จักศาสนา ระดับขั้นของคำสอนในศาสนา เงื่อนไขของแต่ละขั้น, การรู้จักศาสนทูต ประวัติการกำเนิด การแต่งตั้ง เหตุผลที่ต้องมีศาสนทูต การศรัทธาต่อวันปรโลก รวมถึงเงื่อนไขของเตาฮีด หรือหลักศรัทธาเรื่องเอกภาพของอัลลอฮฺ (อัพเดทล่าสุด ม.ค.2017)

التفاصيل

หลักการสามข้อพร้อมหลักฐาน คำนำ อารัมภบท ความรู้ นั่นคือการรู้จักอัลลอฮฺ การรู้จักนบีของพระองค์ และการรับรู้ศาสนาอิสลามพร้อมด้วยหลักฐาน ปฏิบัติตามความรู้นี้ การเชิญสู่ความรู้นี้ ความอดทนต่อความทุกข์ยากในงานเช่นนี้ หลักที่หนึ่ง การรู้จักอัลลอฮฺ การดุอฺาอ์ ความกลัว ความหวัง การมอบความไว้วางใจ ความปรารถนา, ความตระหนก และการนอบน้อมถ่อมตน ความหวาดหวั่น การขอลุแก่โทษ การขอความช่วยเหลือ การขอความคุ้มครอง การวิงวอนขอความช่วยเหลือ การเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่คนยากจน การบน หลักที่สอง การรู้จักอิสลามด้วยหลักฐาน ก.  อัล-อิสลาม  ข.  อัล-อีมาน   ค.  อัล-อิหฺสาน อันดับที่ 1 อัล-อิสลาม การปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรแก่การเคารพภักดีอย่างแท้จริงนอกจากอัลลอฮฺ และมุหัมมัดเป็นเราะสูลของอัลลอฮฺ การดำรงนมาซ การจ่ายซะกาต การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน การบำเพ็ญหัจญ์ ณ นครมักกะฮฺ อันดับที่ 2 อัล-อีมาน ต่ออัลลอฮฺ ต่อมลาอิกะฮฺของพระองค์ ต่อพระคัมภีร์ทั้งหลายของพระองค์ ต่อเราะสูล(ศาสนทูต)ทั้งหลายของพระองค์ ต่อวันสุดท้าย ต่อกฎแห่งการกำหนดสภาวะทั้งที่ดีและร้าย อันดับที่ 3 คือ อัล-อิหฺสาน หลักที่สาม  การรู้จักท่านนบี             อัลลอฮฺได้ทรงบัญชาปวงบ่าวให้ปฏิเสธการบูชาฏอฆูต และให้ศรัทธาในอัลลอฮฺ อิบลีส ขออัลลอฮฺทรงสาปแช่งมัน ผู้ที่ได้รับการเคารพบูชาและพอใจเช่นนั้น ผู้เชิญชวนมนุษย์ให้เคารพบูชาตัวเขา ผู้อ้างว่ารู้ในสิ่งพ้นญาณวิสัย ผู้ที่ตัดสินความหรือปกครองโดยใช้บัญญัติอื่นที่ไม่ได้มาจากการประทานอัลลอฮฺ  หลักการสามข้อพร้อมหลักฐานالأصول الثلاثة وأدلتها คำนำด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณา ผู้ทรงปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสันติสุข ความจำเริญ จงมีแด่ท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ครอบครัวของท่าน และตลอดจนบรรดาสาวกของท่านทั้งมวล         หนังสือ “อัล-อุศูล อัษ-ษะลาษะฮฺ วะ อะดิลละตุฮา” หรือ หลักการสามข้อพร้อมหลักฐาน เป็นงานเขียนของท่าน อิมาม อัล-มุญัดดิด ชัยคุลอิสลาม มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ (เสียชีวิตเมื่อ ฮ.ศ. 1206) ต้นฉบับหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาอาหรับ และได้มีการแปลเป็นหลายภาษา เป็นบทความที่กะทัดรัด ตรงเป้าหมายพร้อมด้วยหลักฐานเล่มที่ปรากฏอยู่ในมือของท่านฉบับนี้ เป็นผลงานแปลของคุณดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ จากกรุงเทพฯ เราขอขอบคุณท่านผู้แปล และผู้เกี่ยวข้องอีกหลายท่าน ที่ได้ให้หนังสือเล่มนี้ได้ปรากฏสู่สายตาเราอีกครั้งหะมูด อัล-ลาหิมกรุงริยาด21 กุมภาพันธ์ 1991 อารัมภบทด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอ            ท่านจำต้องรู้ -ขออัลลอฮฺเมตตาท่าน- ว่าจำเป็นที่เราต้องเข้าใจหัวข้อสี่ประการนี้   ความรู้ นั่นคือการรู้จักอัลลอฮฺ การรู้จักนบีของพระองค์ และการรับรู้ศาสนาอิสลามพร้อมด้วยหลักฐาน ปฏิบัติตามความรู้นี้ การเชิญสู่ความรู้นี้ ความอดทนต่อความทุกข์ยากในงานเช่นนี้ หลักฐานคือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ وَٱلۡعَصۡرِ ١ إِنَّ ٱلۡإِنسَٰنَ لَفِي خُسۡرٍ ٢ إِلَّا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ وَتَوَاصَوۡاْ بِٱلۡحَقِّ وَتَوَاصَوۡاْ بِٱلصَّبۡرِ ٣  ﴾ [العصر: ١-3]  ความว่า “ขอสาบานด้วยเวลา แท้จริง มนุษย์อยู่ในการขาดทุน นอกจากผู้ศรัทธาและปฏิบัติการดี ตักเตือนกันและกันในสัจธรรม   และตักเตือนกันในขันติธรรม” (อัล-อัศร์ 130:1-3)            ท่านอิมามอัช-ชาฟีอีย์ กล่าวว่า “ถ้าอัลลอฮฺมิทรงประทานหลักฐานอันใดแก่ปวงบ่าวที่พระองค์ทรงให้บังเกิดขึ้นมา นอกจาก อัลกุรอานบทนี้ ก็เพียงพอสำหรับพวกเขาแล้ว”          ในหนังสือรวบรวมหะดีษของท่านอิมามอัล-บุคอรี ท่านเริ่มบทว่าด้วยความรู้ หลักฐานคือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ فَٱعۡلَمۡ أَنَّهُۥ لَآ إِلَٰهَ إِلَّا ٱللَّهُ وَٱسۡتَغۡفِرۡ لِذَنۢبِكَ﴾ [محمد : ١٩]  ความว่า “จงรู้เถิดว่า ไม่มีพระเจ้าใดที่แท้จริงนอกจากอัลลอฮฺ ดังนั้น จงขออภัยโทษสำหรับความผิดของเจ้า” (มุหัมมัด 47:19)             เพราะฉะนั้น จึงต้องเริ่มต้นด้วยความรู้ก่อนการพูดและการกระทำ           ท่านจำต้องรู้ว่า -ขออัลลอฮฺเมตตาท่าน- หน้าที่ของมุสลิมชายและหญิงทุกคน จำต้องรู้หลักสามประการนี้และให้ปฏิบัติตามนั้นด้วย          ข้อที่หนึ่ง  คืออัลลอฮฺทรงบันดาลเราและทรงให้เครื่องยังชีพ และมิได้ทรงทอดทิ้งเราให้โดดเดี่ยว แต่ได้ทรงส่งเราะสูล(ศาสนทูต)ของพระองค์แก่เรา ดังนั้นผู้ใดเชื่อฟังปฏิบัติตามเราะสูล ก็ได้เข้าสวรรค์ และถ้าผู้ใดขัดขืนต่อเราะสูลก็เข้าในไฟนรก หลักฐานคือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ إِنَّآ أَرۡسَلۡنَآ إِلَيۡكُمۡ رَسُولٗا شَٰهِدًا عَلَيۡكُمۡ كَمَآ أَرۡسَلۡنَآ إِلَىٰ فِرۡعَوۡنَ رَسُولٗا ١٥ فَعَصَىٰ فِرۡعَوۡنُ ٱلرَّسُولَ فَأَخَذۡنَٰهُ أَخۡذٗا وَبِيلٗا ١٦ ﴾ [المزمل: ١٥-١٦]  ความว่า “แท้จริง เราได้ส่งเราะสูลคนหนึ่งแก่สูเจ้าเพื่อเป็นพยานต่อสูเจ้า ดั่งที่เราได้ส่งเราะสูลคนหนึ่งแก่ฟิรฺอาวน์ แล้วฟิรฺอาวน์ได้ขัดขืนต่อเราะสูลนั้น เราจึงได้ลงโทษเขาด้วยการลงโทษที่ร้ายแรง” (อัล-มุซซัมมิล 73:15-16)          ข้อที่สอง  คืออัลลอฮฺมิทรงยินดีที่ใครจะตั้งภาคีใดๆ แก่พระองค์ในการเคารพภักดี ไม่ว่าจะเป็นมลาอิกะฮฺ(เทวทูต)ผู้ใกล้ชิดหรือเป็นนบีผู้ได้รับคัมภีร์ก็ตาม หลักฐานคือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า ﴿ وَأَنَّ ٱلۡمَسَٰجِدَ لِلَّهِ فَلَا تَدۡعُواْ مَعَ ٱللَّهِ أَحَدٗا ١٨ ﴾ [الجن: ١٨]  ความว่า “และแท้จริง สถานที่สุญูดก้มกราบทั้งหลายนั้นเป็นของอัลลอฮฺ ดังนั้น จงอย่าวิงวอน(ตั้งภาคี)ผู้ใดเคียงคู่อัลลอฮฺ” (อัล-ญิน 72:18)          ข้อที่สาม  คือผู้ใดก็ดีที่เชื่อฟังปฏิบัติตามเราะสูลนี้ และยืนยันในเอกภาพของอัลลอฮฺ จะต้องไม่เห็นดีกับผู้ที่ต่อต้านอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นญาติสนิทก็ตาม หลักฐานคือพระดำรัสของพระองค์ ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ لَّا تَجِدُ قَوۡمٗا يُؤۡمِنُونَ بِٱللَّهِ وَٱلۡيَوۡمِ ٱلۡأٓخِرِ يُوَآدُّونَ مَنۡ حَآدَّ ٱللَّهَ وَرَسُولَهُۥ وَلَوۡ كَانُوٓاْ ءَابَآءَهُمۡ أَوۡ أَبۡنَآءَهُمۡ أَوۡ إِخۡوَٰنَهُمۡ أَوۡ عَشِيرَتَهُمۡۚ أُوْلَٰٓئِكَ كَتَبَ فِي قُلُوبِهِمُ ٱلۡإِيمَٰنَ وَأَيَّدَهُم بِرُوحٖ مِّنۡهُۖ وَيُدۡخِلُهُمۡ جَنَّٰتٖ تَجۡرِي مِن تَحۡتِهَا ٱلۡأَنۡهَٰرُ خَٰلِدِينَ فِيهَاۚ رَضِيَ ٱللَّهُ عَنۡهُمۡ وَرَضُواْ عَنۡهُۚ أُوْلَٰٓئِكَ حِزۡبُ ٱللَّهِۚ أَلَآ إِنَّ حِزۡبَ ٱللَّهِ هُمُ ٱلۡمُفۡلِحُونَ ٢٢ ﴾ [المجادلة: ٢٢]  ความว่า “เจ้าจะไม่พบหมู่ชนใดที่ศรัทธาในอัลลอฮฺและวันสุดท้ายรักชอบผู้ต่อต้านอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ แม้ว่าพวกเขา (เหล่านั้น)จะเป็นพ่อของพวกเขา หรือลูกของพวกเขา หรือพี่น้องของพวกเขา หรือญาติของพวกเขาก็ตาม ชนเหล่านี้อัลลอฮฺได้ทรงจารึกความศรัทธาในดวงใจของพวกเขา และได้ส่งเสริมพวกเขาให้มั่นด้วยรูหฺ(การสนับสนุน)จากพระองค์ และจะทรงให้พวกเขาเข้าสวนสวรรค์หลากหลาย ณ เบื้องล่างมันมีลำน้ำหลายสายไหลผ่าน เป็นผู้พำนักในนั้นตลอดกาล อัลลอฮฺทรงยินดีต่อพวกเขา และพวกเขาก็ปลื้มต่อพระองค์ เหล่านี้คือพรรคของอัลลอฮฺ จงรู้ไว้เถิด แท้จริง พรรคของอัลลอฮฺนั้น พวกเขาเป็นผู้ประสบความสำเร็จ” (อัล-มุญาดิละฮฺ 58:22)          จงรู้ไว้ด้วยเถิด -ขออัลลอฮฺทรงชี้นำท่านเพื่อการเคารพเชื่อฟังพระองค์- แท้จริง อัล-หะนีฟียะฮฺ (ศาสนาอันบริสุทธิ์) แนวทางของอิบรอฮีมนั่นคือ ท่านต้องเคารพภักดีอัลลอฮฺ เป็นผู้สุจริตในการภักดีต่อพระองค์ โดยเหตุนี้แหละอัลลอฮฺได้ทรงบัญชาแก่มวลมนุษย์และได้ทรงบังเกิดพวกเขาเพื่อการนี้ ดั่งผู้ทรงสูงส่ง (อัลลอฮฺ) ตรัสว่า ﴿ وَمَا خَلَقۡتُ ٱلۡجِنَّ وَٱلۡإِنسَ إِلَّا لِيَعۡبُدُونِ ٥٦ ﴾ [الذاريات: ٥٦]  ความว่า “และฉันมิได้บังเกิดญินและมนุษย์มาเพื่ออื่นใดเว้นแต่ให้เคารพภักดีฉัน” (อัซ-ซารียาต 51:56)          ความหมายของ “เคารพภักดีฉัน” คือ “ยืนยันในเอกภาพของฉัน”          ข้อสำคัญยิ่งที่เป็นคำสั่งของอัลลอฮฺในเรื่องนี้คือ อัต-เตาฮีด(เอกภาพของอัลลอฮฺ) และหมายความว่า อัลลอฮฺองค์เดียวเท่านั้นที่เราต้องเคารพภักดี ข้อสำคัญยิ่งที่พระองค์ทรงห้ามให้ละเว้นคือการตั้งภาคีใดๆ ต่อพระองค์ (อัช-ชิรฺกุ) นั่นคือการวิงวอนต่อสิ่งอื่นให้เคียงคู่พระองค์ หลักฐานในเรื่องนี้ คือพระดำรัสของพระองค์ ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿۞وَٱعۡبُدُواْ ٱللَّهَ وَلَا تُشۡرِكُواْ بِهِۦ شَيۡ‍ٔٗاۖ ﴾ [النساء : ٣٦]  ความว่า “จงเคารพภักดีอัลลอฮฺ และจงอย่าตั้งสิ่งใดเป็นภาคีต่อพระองค์” (อัน-นิสาอ์ 4:36)หลักสามประการ            ถ้ามีผู้ใดถามท่านว่า หลักสามประการนั้นคืออะไร ซึ่งมนุษย์(มุสลิม)จำต้องรู้จัก ก็พึงตอบว่า “บ่าวพึงรู้จักพระผู้อภิบาลของเขา ศาสนาของเขา และศาสนทูตของพระองค์ คือท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม (ขออัลลอฮฺประทานความโปรดปรานและความสันติแก่ท่าน)” หลักที่หนึ่ง การรู้จักอัลลอฮฺ          ถ้ามีผู้ถามท่านว่า “ใครคือพระผู้อภิบาลของท่าน?” ก็จงบอกว่า “อัลลอฮฺคือพระผู้อภิบาลของฉัน ผู้ทรงบริบาลฉัน และทรงบริบาลประชาชาติทั้งหลายด้วยความโปรดของพระองค์ พระองค์คือผู้ที่ฉันต้องเคารพภักดี สำหรับฉันแล้วไม่มีผู้ใดอีกที่จะเป็นองค์ให้เคารพภักดีได้นอกจากพระองค์”           หลักฐานคือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งซึ่งได้ตรัสว่า﴿ ٱلۡحَمۡدُ لِلَّهِ رَبِّ ٱلۡعَٰلَمِينَ ٢ ﴾ [الفاتحة: ٢]  ความว่า “บรรดาการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ ผู้ทรงอภิบาลแห่งโลกทั้งหลาย” (อัล-ฟาติหะฮฺ 1:2)            ทุกสรรพสิ่ง – อื่นจากอัลลอฮฺแล้ว - คือสิ่งที่พระองค์ทรงให้มีขึ้น และข้าพเจ้าก็เป็นส่วนหนึ่งแห่งการมีขึ้นนั้น           ถ้ามีผู้ถามท่านว่า “ท่านรู้จักพระผู้อภิบาลของท่านได้อย่างไร? ดังนั้นจงกล่าวเถิดว่า “ด้วยสัญญาณหรือเครื่องหมายต่างๆ ของพระองค์ และสิ่งทั้งปวงที่ถูกสร้างขึ้น ในหมู่สัญญาณของพระองค์นั้นคือกลางคืนและกลางวัน ดวงตะวันและดวงเดือน และจากสิ่งที่ถูกสร้างอีก ก็คือชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินนี้ และผู้ที่อยู่ในทั้งสองนี้และที่อยู่ในระหว่างทั้งสองนี้”            หลักฐานคือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ وَمِنۡ ءَايَٰتِهِ ٱلَّيۡلُ وَٱلنَّهَارُ وَٱلشَّمۡسُ وَٱلۡقَمَرُۚ لَا تَسۡجُدُواْ لِلشَّمۡسِ وَلَا لِلۡقَمَرِ وَٱسۡجُدُواْۤ لِلَّهِۤ ٱلَّذِي خَلَقَهُنَّ إِن كُنتُمۡ إِيَّاهُ تَعۡبُدُونَ ٣٧ ﴾ [فصلت: ٣٧]  ความว่า “และส่วนหนึ่งจากสัญญาณทั้งหลายของพระองค์คือกลางคืนและกลางวัน และดวงตะวันและดวงเดือน จงอย่ากราบดวงตะวันและดวงเดือน แต่จงกราบอัลลอฮฺผู้ทรงสร้างมัน ถ้าพระองค์เท่านั้นที่สูเจ้าเคารพภักดี” (ฟุศศิลัต 41:37)﴿ إِنَّ رَبَّكُمُ ٱللَّهُ ٱلَّذِي خَلَقَ ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضَ فِي سِتَّةِ أَيَّامٖ ثُمَّ ٱسۡتَوَىٰ عَلَى ٱلۡعَرۡشِۖ يُغۡشِي ٱلَّيۡلَ ٱلنَّهَارَ يَطۡلُبُهُۥ حَثِيثٗا وَٱلشَّمۡسَ وَٱلۡقَمَرَ وَٱلنُّجُومَ مُسَخَّرَٰتِۢ بِأَمۡرِهِۦٓۗ أَلَا لَهُ ٱلۡخَلۡقُ وَٱلۡأَمۡرُۗ تَبَارَكَ ٱللَّهُ رَبُّ ٱلۡعَٰلَمِينَ ٥٤ ﴾ [الأعراف: ٥٣]  ความว่า “แท้จริง พระผู้อภิบาลของสูเจ้าคืออัลลอฮฺ ผู้ทรงสร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินนี้ในระยะหกวัน(ตามเกณฑ์ของพระองค์) แล้วพระองค์ทรงมั่น(อิสตะวา)อยู่เหนือบัลลังก์(อัรชฺ) ทรงให้กลางคืนครอบคลุมกลางวันในสภาพที่กลางคืนไล่ตามกลางวันโดยรวดเร็ว ทรงกำหนดดวงเดือนและหมู่ดวงดาวให้อยู่ใต้อำนาจ(เอามาเป็นประโยชน์)ตามพระบัญชาของพระองค์ จงรู้ไว้เถิด เป็น(สิทธิ)ของพระองค์ในการสร้างและการบัญชา ผู้ทรงจำเริญยิ่งคือพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก”  (อัล-อะอฺรอฟ 7:54)พระผู้อภิบาลเท่านั้นที่ต้องได้รับการเคารพภักดีหลักฐานคือพระดำรัสของของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلنَّاسُ ٱعۡبُدُواْ رَبَّكُمُ ٱلَّذِي خَلَقَكُمۡ وَٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِكُمۡ لَعَلَّكُمۡ تَتَّقُونَ ٢١ ٱلَّذِي جَعَلَ لَكُمُ ٱلۡأَرۡضَ فِرَٰشٗا وَٱلسَّمَآءَ بِنَآءٗ وَأَنزَلَ مِنَ ٱلسَّمَآءِ مَآءٗ فَأَخۡرَجَ بِهِۦ مِنَ ٱلثَّمَرَٰتِ رِزۡقٗا لَّكُمۡۖ فَلَا تَجۡعَلُواْ لِلَّهِ أَندَادٗا وَأَنتُمۡ تَعۡلَمُونَ ٢٢ ﴾ [البقرة: ٢١-٢٢]  ความว่า “มนุษย์เอ๋ย จงเคารพภักดีพระผู้อภิบาลของสูเจ้า ผู้ทรงสร้างสูเจ้าและบรรดาคนก่อนหน้าสูเจ้า เพื่อสูเจ้าจะได้สำรวมตน(ยำเกรงต่อพระองค์) ผู้ทรงทำแผ่นดินนี้เป็นพื้นปู และชั้นฟ้าเป็นหลังคา และทรงหลั่งน้ำจากฟากฟ้า และทรงให้ผลไม้ต่างๆ งอกเงยออกมาเป็นเครื่องยังชีพสำหรับสูเจ้า ดังนั้น จงอย่าตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺทั้งๆ ที่สูเจ้ารู้อยู่”  (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 2:21-22)          ท่านอิบนุ กะษีรฺ(ขออัลลอฮฺทรงเมตตาเขา) กล่าวว่า “ผู้ทรงสร้างสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เท่านั้น คือผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิแห่งการได้รับการเคารพภักดี”           แบบต่างๆ ของการเคารพภักดีตามที่อัลลอฮฺทรงบัญชา เช่นการนอบน้อมยอมรับโดยสิ้นเชิง, ความศรัทธา, การบำเพ็ญความดี ซึ่งมีการวิงวอน, ความกลัว(ยำเกรง), ความหวัง, การมอบความไว้วางใจ, ความตระหนก, ความปรารถนา, ความหวาดกลัว, การนอบน้อมถ่อมตน, ความหวาดหวั่น, การลุแก่โทษ, การขอความช่วยเหลือ, การขอความคุ้มครอง, การวิงวอนขอความช่วยเหลือ, การเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่คนยากจน, การบน และอื่นๆอีกตามแบบของการเคารพภักดีนี้ซึ่ง  อัลลอฮฺได้ทรงบัญชาทั้งหมดนี้เพื่อพระองค์ผู้สูงส่ง หลักฐานคือพระดำรัสของพระองค์ว่า﴿ وَأَنَّ ٱلۡمَسَٰجِدَ لِلَّهِ فَلَا تَدۡعُواْ مَعَ ٱللَّهِ أَحَدٗا ١٨ ﴾ [الجن: ١٨]  ความว่า “และแท้จริง มัสยิด(ที่แห่งการกราบไหว้อัลลอฮฺ)ทั้งหลายนั้นเป็นของอัลลอฮฺ ดังนั้นจงอย่าวิงวอนผู้ใดเคียงคู่อัลลอฮฺ” (อัล-ญิน 72:18)          โดยเหตุนี้ ผู้ใดปฏิบัติสิ่งใดมิใช่เพื่ออัลลอฮฺ เขาก็เป็นผู้ตั้งภาคีต่อพระองค์ เป็นผู้ปฏิเสธหลักธรรม หลักฐานคือพระดำรัสของพระองค์ ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ وَمَن يَدۡعُ مَعَ ٱللَّهِ إِلَٰهًا ءَاخَرَ لَا بُرۡهَٰنَ لَهُۥ بِهِۦ فَإِنَّمَا حِسَابُهُۥ عِندَ رَبِّهِۦٓۚ إِنَّهُۥ لَا يُفۡلِحُ ٱلۡكَٰفِرُونَ ١١٧ ﴾ [المؤمنون : ١١٧]  ความว่า “และผู้ใดวิงวอนขอต่อพระเจ้าอื่นเคียงคู่อัลลอฮฺ ซึ่งเขาไม่มีหลักฐานในข้อนั้น ดังนั้น บัญชีสอบสวนของเขาจะอยู่ที่พระผู้อภิบาลของเขา แท้จริง พวกปฏิเสธนั้นจะไม่พบความสำเร็จ” (อัล-มุอ์มินูน 23:117) การดุอฺาอ์          ในหะดีษมีว่า “การขอพรเป็นสมองของการเคารพภักดี” และหลักฐานคือดำรัสของอัลลอฮฺที่มีว่า﴿ وَقَالَ رَبُّكُمُ ٱدۡعُونِيٓ أَسۡتَجِبۡ لَكُمۡۚ إِنَّ ٱلَّذِينَ يَسۡتَكۡبِرُونَ عَنۡ عِبَادَتِي سَيَدۡخُلُونَ جَهَنَّمَ دَاخِرِينَ ٦٠ ﴾ [غافر: ٦٠]  ความว่า “พระผู้อภิบาลของเจ้าตรัสว่า จงวิงวอนต่อฉัน  ฉันจะตอบ(การวิงวอน)แก่สูเจ้า แท้จริง ผู้โอหังต่อการเคารพภักดีแก่ฉันนั้น จะเข้าไปในนรกอย่างต่ำต้อย” (ฆอฟิรฺ 40:60) ความกลัว          หลักฐานในเรื่องความกลัว คือพระดำรัสของพระองค์ ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ فَلَا تَخَافُوهُمۡ وَخَافُونِ إِن كُنتُم مُّؤۡمِنِينَ ١٧٥﴾ [آل عمران: ١٧٥]  ความว่า “ดังนั้น จงอย่ากลัวพวกมัน(พวกของชัยฏอน) แต่จงกลัวฉัน ถ้าสูเจ้าเป็นผู้ศรัทธา (แท้จริง)” (อาล อิมรอน 3:175) ความหวัง          หลักฐานในเรื่องความหวัง คือพระดำรัสของพระองค์ ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿فَمَن كَانَ يَرۡجُواْ لِقَآءَ رَبِّهِۦ فَلۡيَعۡمَلۡ عَمَلٗا صَٰلِحٗا وَلَا يُشۡرِكۡ بِعِبَادَةِ رَبِّهِۦٓ أَحَدَۢا ١١٠﴾ [الكهف: ١١٠]  ความว่า “ดังนั้น ผู้ใดหวังที่จะพบพระผู้อภิบาลของเขา ก็ให้เขาประกอบการงานที่ดี และจงอย่าตั้งผู้ใดเป็นภาคีในการเคารพภักดีพระผู้อภิบาลของเขา” (อัล-กะฮฺฟิ 18:110)  การมอบความไว้วางใจ          หลักฐานของการมอบความไว้วางใจ (ตะวักกัล) คือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿وَعَلَى ٱللَّهِ فَتَوَكَّلُوٓاْ إِن كُنتُم مُّؤۡمِنِينَ ٢٣ ﴾ [المائ‍دة: ٢٣]  ความว่า “และจงมอบความไว้วางใจพึ่งพิงต่ออัลลอฮฺ ถ้าพวกท่านเป็นผู้ศรัทธา” (อัล-มาอิดะฮฺ 5:23)  ﴿وَمَن يَتَوَكَّلۡ عَلَى ٱللَّهِ فَهُوَ حَسۡبُهُۥٓۚ ﴾ [الطلاق : ٣]  ความว่า “และผู้ใดมอบความไว้วางใจ ณ อัลลอฮฺ พระองค์ก็ทรงเพียงพอแล้วสำหรับเขา” (อัฏ-เฏาะลาก 65:3)   ความปรารถนา, ความตระหนก และการนอบน้อมถ่อมตน          หลักฐานของความปรารถนา, ความตระหนก และการนอบน้อมถ่อมตน คือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า ﴿إِنَّهُمۡ كَانُواْ يُسَٰرِعُونَ فِي ٱلۡخَيۡرَٰتِ وَيَدۡعُونَنَا رَغَبٗا وَرَهَبٗاۖ وَكَانُواْ لَنَا خَٰشِعِينَ ٩٠﴾ [الأنبياء: ٩٠]  ความว่า “แท้จริง เขาทั้งหลายแข่งขันกันในความดีทั้งหลาย และวิงวอนต่อเราด้วยความปรารถนาอย่างจริงใจและด้วยความตระหนก และเขาทั้งหลายเป็นผู้ถ่อมตัวต่อเรา” (อัล-อันบิยาอ์ 21:90)  ความหวาดหวั่น          หลักฐานของความหวาดหวั่นคือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿فَلَا تَخۡشَوۡهُمۡ وَٱخۡشَوۡنِي وَلِأُتِمَّ نِعۡمَتِي عَلَيۡكُمۡ وَلَعَلَّكُمۡ تَهۡتَدُونَ ١٥٠ ﴾ [البقرة: ١٥٠]  ความว่า “ดังนั้น จงอย่าหวาดหวั่นพวกเขา แต่จงหวาดหวั่นต่อฉันและเพื่อที่ฉันจะได้ให้ความโปรดปรานของฉันครบถ้วนแก่สูเจ้า และเพื่อที่สูเจ้าจะได้อยู่ในทางนำ” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 2:150)  การขอลุแก่โทษ          อัลลอฮฺได้ตรัสว่า﴿ وَأَنِيبُوٓاْ إِلَىٰ رَبِّكُمۡ وَأَسۡلِمُواْ لَهُۥ مِن قَبۡلِ أَن يَأۡتِيَكُمُ ٱلۡعَذَابُ ثُمَّ لَا تُنصَرُونَ ٥٤ ﴾ [الزمر: ٥٣]  ความว่า “และสูเจ้าจงหันกลับคืนสู่พระผู้อภิบาลของสูเจ้า (เพื่อขออภัยโทษ) และจงนอบน้อมต่อพระองค์ก่อนที่การลงโทษจะมีมายังสูเจ้า แล้วสูเจ้าจะมิถูกช่วยเหลืออีก” (อัซ-ซุมัร 39:54)  การขอความช่วยเหลือ          หลักฐานในเรื่องของการขอความช่วยเหลือคือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า ﴿ إِيَّاكَ نَعۡبُدُ وَإِيَّاكَ نَسۡتَعِينُ ٥ ﴾ [الفاتحة: ٥]  ความว่า “พระองค์เท่านั้นที่เราเคารพภักดี และพระองค์เท่านั้นที่เราขอความช่วยเหลือ” (อัล-ฟาติหะฮฺ 1:5)          และในหะดีษมีว่า «إِذَا اسْتَعَنْتَ فَاسْتَعِنْ بِاللهِ» [أحمد والترمذي]ความว่า “ถ้าพวกท่านต้องการขอความช่วยเหลือ ก็จงขอความช่วยเหลือต่ออัลลอฮฺ” (บันทึกโดยอะห์มัด และอัต-ติรมิซีย์) การขอความคุ้มครอง          หลักฐานในการขอความคุ้มครองคือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า ﴿ قُلۡ أَعُوذُ بِرَبِّ ٱلنَّاسِ ١ مَلِكِ ٱلنَّاسِ ٢ ﴾ [الناس: ١-٢]  ความว่า “จงกล่าวเถิด ฉันแสวงความคุ้มครองต่อพระผู้อภิบาลแห่งมวลมนุษย์ ผู้ทรงครอบครองมวลมนุษย์” (อัน-นาส 114:1-2)  การวิงวอนขอความช่วยเหลือ          หลักฐานของการวิงวอนขอความช่วยเหลือคือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ إِذۡ تَسۡتَغِيثُونَ رَبَّكُمۡ فَٱسۡتَجَابَ لَكُمۡ أَنِّي مُمِدُّكُم بِأَلۡفٖ مِّنَ ٱلۡمَلَٰٓئِكَةِ مُرۡدِفِينَ ٩ ﴾ [الأنفال: ٩]  ความว่า  “เมื่อสูเจ้าวิงวอนขอความช่วยเหลือต่อพระผู้อภิบาลของสูเจ้า ดังนั้นพระองค์ได้ทรงสนองสูเจ้าว่า ฉันจะช่วยสูเจ้าด้วยมลาอิกะฮฺหนึ่งพันตนทยอยกันมา” (อัล-อันฟาล 8:9)   การเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่คนยากจน          หลักฐานของการเชือดสัตว์คือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ قُلۡ إِنَّ صَلَاتِي وَنُسُكِي وَمَحۡيَايَ وَمَمَاتِي لِلَّهِ رَبِّ ٱلۡعَٰلَمِينَ ١٦٢ لَا شَرِيكَ لَهُۥۖ وَبِذَٰلِكَ أُمِرۡتُ وَأَنَا۠ أَوَّلُ ٱلۡمُسۡلِمِينَ ١٦٣ ﴾ [الأنعام: ١٦٢-١٦٣]  ความว่า “จงกล่าวเถิด แท้จริง การนมาซของฉัน การเชือดของฉัน การมีชีวิตของฉัน การตายของฉัน ล้วนแล้วเพื่ออัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ไม่มีภาคีใดๆ แก่พระองค์ และสิ่งเหล่านั้นคือสิ่งที่ฉันได้ถูกบัญชา และฉันจะเป็นผู้แรกในหมู่ผู้นอบน้อมทั้งหลาย” (อัล-อันอาม 6:162-163)            หลักฐานจากหะดีษ คือหะดีษที่ว่า «لَعَنَ اللهُ مَنْ ذَبَحَ لِغَيْرِ اللهِ» [مسلم]ความว่า “อัลลอฮฺจะทรงสาปแช่ง(หมายถึงงดเมตตา)ผู้ที่เชือดสัตว์มิใช่เพื่ออัลลอฮฺ” (บันทึกโดยมุสลิม) การบน          หลักฐานของการบนหรือการสาบานคือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ يُوفُونَ بِٱلنَّذۡرِ وَيَخَافُونَ يَوۡمٗا كَانَ شَرُّهُۥ مُسۡتَطِيرٗا ٧ ﴾ [الإنسان: ٧]  ความว่า “พวกเขาปฏิบัติตามการบน(หรือการสาบาน) และกลัวต่อวันหนึ่ง(ในปรโลก)ซึ่งความโหดร้ายของมันจะกระจายไปทั่ว” (อัล-อินซาน 76:7) หลักที่สอง การรู้จักอิสลามด้วยหลักฐาน            อิสลาม คือ การนอบน้อมต่ออัลลอฮฺและยอมรับในเอกภาพของพระองค์ ยินยอมต่อพระองค์ด้วยการเคารพเชื่อฟัง และการไม่ยอมต่อการตั้งภาคีและคู่เคียงต่างๆ             ซึ่งมีสามอันดับคือ ก.  อัล-อิสลาม   ข.  อัล-อีมาน    ค.  อัล-อิหฺสาน  อันดับที่ 1 อัล-อิสลาม          หลักของอิสลามมีห้าประการ การปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรแก่การเคารพภักดีอย่างแท้จริงนอกจากอัลลอฮฺ และมุหัมมัดเป็นเราะสูลของอัลลอฮฺ การดำรงนมาซ การจ่ายซะกาต การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน การบำเพ็ญหัจญ์ ณ นครมักกะฮฺ            หลักฐานในคำปฏิญาณ “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่แท้จริงนอกจากอัลลอฮฺ”  คือ ดำรัสพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ شَهِدَ ٱللَّهُ أَنَّهُۥ لَآ إِلَٰهَ إِلَّا هُوَ وَٱلۡمَلَٰٓئِكَةُ وَأُوْلُواْ ٱلۡعِلۡمِ قَآئِمَۢا بِٱلۡقِسۡطِۚ لَآ إِلَٰهَ إِلَّا هُوَ ٱلۡعَزِيزُ ٱلۡحَكِيمُ ١٨ ﴾ [آل عمران: ١٨]  ความว่า “อัลลอฮฺทรงเป็นพยานว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่แท้จริงนอกจากพระองค์ อีกทั้งมลาอิกะฮฺและปวงผู้มีความรู้(ก็ล้วนเป็นพยานเช่นเดียวกัน) โดยพระองค์ได้ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่แท้จริงนอกจากพระองค์ ผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงปรีชาญาณ” (อาล อิมรอน 3:18)          ความหมายของข้อนี้ คือ ไม่มีผู้ใดมีสิทธิที่จะได้รับการเคารพภักดีนอกจากอัลลอฮฺองค์เดียว             คำว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใด” เป็นการปฏิเสธทั้งหลายทั้งปวงว่าจะให้การเคารพภักดีแก่ผู้ใดไม่ได้นอกจากแก่อัลลอฮฺเท่านั้น             คำว่า “นอกจากอัลลอฮฺ” เป็นการยืนยันว่าการเคารพภักดีมีเพื่ออัลลอฮฺ ผู้ทรงเอกะ ไม่มีการตั้งภาคีใดๆ ในการเคารพภักดีต่อพระองค์ ดังที่ไม่มีผู้ใดเป็นหุ้นส่วนกับพระองค์ในการปกครองของพระองค์          พระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งต่อไปนี้สามารถอธิบายอายะฮฺข้างต้นได้กระจ่างชัด             พระองค์ได้ตรัสว่า ﴿ وَإِذۡ قَالَ إِبۡرَٰهِيمُ لِأَبِيهِ وَقَوۡمِهِۦٓ إِنَّنِي بَرَآءٞ مِّمَّا تَعۡبُدُونَ ٢٦ إِلَّا ٱلَّذِي فَطَرَنِي فَإِنَّهُۥ سَيَهۡدِينِ ٢٧ وَجَعَلَهَا كَلِمَةَۢ بَاقِيَةٗ فِي عَقِبِهِۦ لَعَلَّهُمۡ يَرۡجِعُونَ ٢٨ ﴾ [الزخرف: ٢٦-٢٨]  ความว่า “และเมื่ออิบรอฮีมได้กล่าวแก่บิดาของเขาและหมู่ชนของเขาว่า แท้จริงฉันไม่ขอเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ท่านเคารพภักดี นอกจากกับ(อัลลอฮฺ)ผู้ได้ทรงบังเกิดฉัน เพราะพระองค์จะทรงนำทางฉัน และอิบรอฮีมได้ทำให้คำกล่าวนี้อยู่ยืนยงในหมู่ลูกหลานรุ่นต่อๆไปของเขา เพื่อพวกเขาจะได้หวนคืนสู่มัน” (อัซ-ซุครุฟ 43:26-28)          พระองค์ยังได้ตรัสอีกว่า﴿ قُلۡ يَٰٓأَهۡلَ ٱلۡكِتَٰبِ تَعَالَوۡاْ إِلَىٰ كَلِمَةٖ سَوَآءِۢ بَيۡنَنَا وَبَيۡنَكُمۡ أَلَّا نَعۡبُدَ إِلَّا ٱللَّهَ وَلَا نُشۡرِكَ بِهِۦ شَيۡ‍ٔٗا وَلَا يَتَّخِذَ بَعۡضُنَا بَعۡضًا أَرۡبَابٗا مِّن دُونِ ٱللَّهِۚ فَإِن تَوَلَّوۡاْ فَقُولُواْ ٱشۡهَدُواْ بِأَنَّا مُسۡلِمُونَ ٦٤ ﴾ [آل عمران: ٦٤]  ความว่า “จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) โอ้ ชนแห่งคัมภีร์ทั้งหลาย! จงมายังถ้อยคำที่เสมอกันระหว่างพวกเราและพวกท่าน (นั่นคือการยอมรับว่า) เราจะไม่เคารพภักดีผู้ใดนอกจากอัลลอฮฺ และเราจะไม่ตั้งภาคีใดๆ ต่อพระองค์ และบางคนในพวกเราจะไม่ยึดเอาบางคนเป็นผู้บริบาลนอกจากอัลลอฮฺ แต่ถ้าพวกเขาหันกลับ ดังนั้น พวกท่านจงกล่าวเถิดว่า ดังนั้น จงเป็นพยานด้วยว่าเราเป็นมุสลิมผู้มอบตนต่ออัลลอฮฺแล้ว” (อาล อิมรอน 3:64)          หลักฐานในการปฏิญาณว่า “มุหัมมัดเป็นเราะสูลของอัลลอฮฺ” คือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ لَقَدۡ جَآءَكُمۡ رَسُولٞ مِّنۡ أَنفُسِكُمۡ عَزِيزٌ عَلَيۡهِ مَا عَنِتُّمۡ حَرِيصٌ عَلَيۡكُم بِٱلۡمُؤۡمِنِينَ رَءُوفٞ رَّحِيمٞ  ١٢٨ ﴾ [التوبة : 128]ความว่า “โดยแน่นอนยิ่ง ได้มีมายังสูเจ้าแล้ว ซึ่งเราะสูล(ศาสนทูต)คนหนึ่ง จากหมู่พวกเจ้าเอง เป็นที่กังวลแก่เขา(ในเรื่อง)ที่ให้ทุกข์แก่สูเจ้า เป็นผู้ที่หวังดีต่อสูเจ้า แก่ผู้ศรัทธานั้นเขาเป็นผู้เอ็นดูผู้เมตตายิ่งเสมอ" (อัต-เตาบะฮฺ 9:128)             ความหมายของการปฏิญาณว่า “มุหัมมัดเป็นเราะสูลของอัลลอฮฺ” ก็คือ เราต้องปฏิบัติตามคำสั่งของท่าน เชื่อตามที่ท่านได้บอกกล่าว หลีกให้พ้นจากสิ่งที่ท่านสั่งห้ามและกล่าวเตือน และจะต้องไม่เคารพภักดีอัลลอฮฺนอกจากด้วยแนวทางที่ท่านได้วางไว้เท่านั้น          หลักฐานในการนมาซ (ละหมาด) การจ่ายซะกาต และการให้ความหมายเอกภาพของอัลลอฮฺ คือ พระดำรัสของพระองค์ผู้สูงส่งว่า﴿ وَمَآ أُمِرُوٓاْ إِلَّا لِيَعۡبُدُواْ ٱللَّهَ مُخۡلِصِينَ لَهُ ٱلدِّينَ حُنَفَآءَ وَيُقِيمُواْ ٱلصَّلَوٰةَ وَيُؤۡتُواْ ٱلزَّكَوٰةَۚ وَذَٰلِكَ دِينُ ٱلۡقَيِّمَةِ ٥ ﴾ [البينة: ٥]  ความว่า “และพวกเขามิได้ถูกบัญชาเป็นอย่างอื่น นอกจากให้เคารพภักดีอัลลอฮฺ เป็นผู้สุจริตมั่นในการภักดีต่อพระองค์ เป็นผู้เที่ยงตรง และดำรงนมาซ และจ่ายซะกาต นั่นแหละคือศาสนาอันเที่ยงธรรม” (อัล-บัยยินะฮฺ 98:5)          หลักฐานในการถือศีลอด คือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ كُتِبَ عَلَيۡكُمُ ٱلصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِكُمۡ لَعَلَّكُمۡ تَتَّقُونَ ١٨٣ ﴾ [البقرة: ١٨٣]  ความว่า “บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย! การศีลอดได้ถูกกำหนดสำหรับสูเจ้าเช่นที่ได้ถูกกำหนดสำหรับบรรดาคนก่อนหน้าสูเจ้า เพื่อสูเจ้าจะได้ยำเกรง” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 2:183)           หลักฐานในการบำเพ็ญหัจญ์ คือพระดำรัสของพระองค์ผู้สูงส่งว่า﴿ فِيهِ ءَايَٰتُۢ بَيِّنَٰتٞ مَّقَامُ إِبۡرَٰهِيمَۖ وَمَن دَخَلَهُۥ كَانَ ءَامِنٗاۗ وَلِلَّهِ عَلَى ٱلنَّاسِ حِجُّ ٱلۡبَيۡتِ مَنِ ٱسۡتَطَاعَ إِلَيۡهِ سَبِيلٗاۚ وَمَن كَفَرَ فَإِنَّ ٱللَّهَ غَنِيٌّ عَنِ ٱلۡعَٰلَمِينَ ٩٧ ﴾ [آل عمران: ٩٧]  ความว่า “และสำหรับอัลลอฮฺคือการทำหัจญ์ ณ บ้านแห่งนี้(หมายถึงนครมักกะฮฺ) เป็นหน้าที่ของผู้ที่สามารถหาทางไปถึงมันได้ และหากผู้ใดปฏิเสธ ดังนั้นแล้วอัลลอฮฺทรงร่ำรวยจากสรรพสิ่งทั้งหลาย(คือไม่จำเป็นต้องพึ่งพาต่อสิ่งใด)” (อาล อิมรอน 3:97)  อันดับที่ 2 อัล-อีมาน          ความศรัทธามีมากกว่าเจ็ดสิบสาขา ที่เลิศที่สุดคือการกล่าวว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่แท้จริงนอกจากอัลลอฮฺ” และที่ต่ำที่สุดคือการเอาสิ่งเป็นอันตรายออกจากหนทาง ความละอายจากการทำบาปก็เป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา          หลักการของศรัทธามีหกประการ คือท่านต้องศรัทธา ต่ออัลลอฮฺ ต่อมลาอิกะฮฺของพระองค์ ต่อพระคัมภีร์ทั้งหลายของพระองค์ ต่อเราะสูล(ศาสนทูต)ทั้งหลายของพระองค์ ต่อวันสุดท้าย ต่อกฎแห่งการกำหนดสภาวะทั้งที่ดีและร้าย          หลักฐานจากอัลกุรอานว่าด้วยหลักทั้งหกประการนี้ คือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ ۞لَّيۡسَ ٱلۡبِرَّ أَن تُوَلُّواْ وُجُوهَكُمۡ قِبَلَ ٱلۡمَشۡرِقِ وَٱلۡمَغۡرِبِ وَلَٰكِنَّ ٱلۡبِرَّ مَنۡ ءَامَنَ بِٱللَّهِ وَٱلۡيَوۡمِ ٱلۡأٓخِرِ وَٱلۡمَلَٰٓئِكَةِ وَٱلۡكِتَٰبِ وَٱلنَّبِيِّ‍ۧنَ﴾ [البقرة: ١٧٧]  ความว่า “ไม่ใช่(ประเด็นของ)คุณธรรมที่สูเจ้าหันหน้าของสูเจ้าทางไปตะวันออกหรือตะวันตก แต่ว่าคุณธรรมนั้น คือ ผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ วันสุดท้าย มลาอิกะฮฺ คัมภีร์และบรรดานบี” (อัล- บะเกาะเราะฮฺ 2:177)          หลักฐานในกฎแห่งการกำหนดสภาวะ คือพระดำรัสของพระองค์ ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ إِنَّا كُلَّ شَيۡءٍ خَلَقۡنَٰهُ بِقَدَرٖ ٤٩ ﴾ [القمر: ٤٩]  ความว่า “แท้จริง ทุกๆ สิ่งนั้น เราได้สร้างมันด้วยกฎสภาวะ” (อัล-เกาะมัรฺ 54:49) อันดับที่ 3 คือ อัล-อิหฺสาน          อัล-อิหฺสาน มีเพียงประการเดียว นั่นคือ«أَنْ تَعْبُدَ اللهَ كَأَنَّكَ تَرَاهُ، فَإِنْ لَّم تَكُنْ تَرَاهُ فَإِنَّهُ يَرَاكَ» [متفق عليه] ความว่า “ท่านต้องเคารพภักดีอัลลอฮฺประหนึ่งท่านเห็นพระองค์ ถ้าท่านไม่เห็นพระองค์ พระองค์ก็ทรงเห็นท่านอยู่ดี” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม)           หลักฐานคือพระดำรัสของอัลลอฮฺผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ إِنَّ ٱللَّهَ مَعَ ٱلَّذِينَ ٱتَّقَواْ وَّٱلَّذِينَ هُم مُّحۡسِنُونَ ١٢٨ ﴾ [النحل: ١٢٨]  ความว่า “แท้จริง อัลลอฮฺทรงอยู่กับบรรดาผู้ยำเกรง และบรรดาผู้มีอิหฺสาน(กระทำการดี)” (อัน-นะหฺลิ 16:128)           และพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ وَتَوَكَّلۡ عَلَى ٱلۡعَزِيزِ ٱلرَّحِيمِ ٢١٧ ٱلَّذِي يَرَىٰكَ حِينَ تَقُومُ ٢١٨ وَتَقَلُّبَكَ فِي ٱلسَّٰجِدِينَ ٢١٩ إِنَّهُۥ هُوَ ٱلسَّمِيعُ ٱلۡعَلِيمُ ٢٢٠ ﴾ [الشعراء : ٢١٧- ٢٢٠]  ความว่า “และจงมอบที่พึ่งยังพระผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงเมตตาเสมอ ผู้ทรงเห็นเจ้าระหว่างที่สูเจ้ายืนอยู่(ในการนมาซ) และการเคลื่อนไหวของเจ้าท่ามกลางปวงผู้กราบสุญูด แท้จริง พระองค์คือผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้เสมอ” (อัช-ชุอะรออ์ 26:217-220)           และพระดำรัสของอัลลอฮฺผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ وَمَا تَكُونُ فِي شَأۡنٖ وَمَا تَتۡلُواْ مِنۡهُ مِن قُرۡءَانٖ وَلَا تَعۡمَلُونَ مِنۡ عَمَلٍ إِلَّا كُنَّا عَلَيۡكُمۡ شُهُودًا إِذۡ تُفِيضُونَ فِيهِۚ ﴾ [يونس : ٦١]  ความว่า “และไม่ว่าเจ้าจะอยู่ในกิจการใด และไม่ว่าเจ้าจะอ่านส่วนใดของอัลกุรอาน และไม่ว่าสูเจ้าทั้งหลายจะทำการใดๆ เราก็ได้เป็นพยานต่อสูเจ้า เมื่อสูเจ้าง่วนอยู่ใน(กิจการ)นั้น” (ยูนุส 10:61)          หลักฐานจากหะดีษคือเรื่องของท่านญิบรีลอันเป็นที่รู้กันแพร่หลาย ซึ่งท่านอุมัรฺ อิบนุ อัล-ค็อฏฏอบ ได้รายงานไว้ โดยกล่าวว่า “ครั้งหนึ่งขณะที่เรากำลังนั่งอยู่กับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็มีชายคนหนึ่งปรากฏขึ้นมาต่อหน้าพวกเรา เสื้อผ้าของเขาขาวมาก ผมของเขาดำขลับ ไม่มีร่องรอยของการเดินทางปรากฏให้เห็น และไม่มีผู้ใดในหมู่พวกเรารู้จักเขาเลย เขานั่งลงตรงหน้าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม หัวเข่าทั้งสองของเขาทาบกับหัวเข่าของท่านนบี และวางมือทั้งสองของเขาบนขาทั้งสองของท่าน และเขาพูดว่า “โอ มุหัมมัด! จงบอกฉันเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม” ท่านนบีตอบว่า “คือการปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าองค์ใดที่แท้จริงนอกจากอัลลอฮฺ และมุหัมมัดเป็นศาสนทูตของพระองค์ ท่านต้องดำรงการนมาซ จ่ายซะกาต ถือศีลอดเดือนเราะมะฎอน และบำเพ็ญหัจญ์ ณ อัล-บัยตฺ(มักกะฮฺ)ถ้ามีความสามารถหาหนทางไปถึงได้” เขา(ญิบรีล) พูดว่า “ท่านพูดจริงแล้ว” พวกเราพากันแปลกใจที่เขาถามท่าน(นบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม) และบอกว่าท่านพูดถูกแล้ว เขาถามต่อไปว่า “จงบอกฉันเกี่ยวกับอัล-อีมาน” ท่านนบีตอบว่า “คือท่านศรัทธาต่ออัลลอฮฺ มลาอิกะฮฺของพระองค์ คัมภีร์ทั้งหลายของพระองค์ เราะสูลทั้งหลายของพระองค์ วันสุดท้ายและกฎแห่งการกำหนดสภาวะ ทั้งที่เป็นเรื่องดีและเรื่องเลวร้ายของมัน” เขาพูดต่อไปว่า “โปรดบอกฉันเกี่ยวกับเรื่องอัล-อิหฺสาน” ท่านนบีตอบว่า “คือท่านเคารพภักดีอัลลอฮฺประหนึ่งท่านเห็นพระองค์ แต่ถ้าท่านไม่เห็นพระองค์พระองค์ก็ทรงเห็นท่าน” เขาพูดอีกว่า “โปรดบอกฉันเกี่ยวกับอัส-สาอะฮฺ(วันแห่งโลกาวสาน)” ท่านนบีบอกว่า “ผู้ถูกถามไม่รู้ดีไปกว่าผู้ถาม” เขาพูดว่า “โปรดบอกฉันเกี่ยวกับเครื่องหมายต่างๆ ของมัน” ท่านนบีตอบว่า “คือการที่ทาสีจะคลอดลูกซึ่งเป็นนายของนาง และท่านจะเห็นคนเลี้ยงแกะที่อนาถาเดินเท้าเปล่าได้แข่งขันกันสร้างตึกสูงๆ” หลังจากชายแปลกหน้าคนนั้นจากไปแล้วหลายวัน ท่านนบีก็ถามฉันว่า “โอ้อุมัรฺ ท่านรู้ไหมผู้ที่มาถามนั้นเป็นใคร?” ฉันตอบว่า  “อัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์รู้ดีกว่า” ท่านบอกว่า “นี่คือญิบรีล เขามาหาพวกท่านเพื่อสอนในกิจการศาสนาของพวกท่าน” (มุสลิม)  หลักที่สาม  การรู้จักท่านนบี          นั่นคือมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านชื่อ มุหัมมัด บุตรของท่านอับดุลลอฮฺ บุตรของท่านอับดุลมุฏเฏาะลิบ บุตรของท่านฮาชิมแห่งตระกูลกุร็อยชฺ และกุร็อยชฺเป็นชาวอาหรับ ชาวอาหรับคือผู้สืบเชื้อสายมาจากท่านนบีอิสมาอีล บุตรของท่าน นบีอิบรอฮีม อัล-เคาะลีล ขอความโปรดปรานและความสันติอันประเสริฐยิ่งจงมีแก่ท่านและนบีของเราด้วย          ท่านเกิดที่นครมักกะฮฺอันมีเกียรติ           ท่านสิ้นชีวิตเมื่ออายุได้หกสิบสามปี คือสี่สิบปีแรกก่อนท่านเป็นนบี และอีกยี่สิบสามปีหลังจากที่ถูกแต่งตั้งให้เป็นนบีและเราะสูล          ท่านเป็นนบีด้วยโองการ อิกเราะอ์(จงอ่าน) (อัล-อะลัก 96:1-5) และเป็นเราะสูลด้วยโองการในซูเราะฮฺ อัล-มุดดัษษิรฺ(ผู้คลุมกายอยู่) (อัล-มุดดัษษิรฺ 74:1-7)            ท่านอยู่ที่นครมักกะฮฺ อัลลอฮฺได้ทรงแต่งตั้งท่านโดยมอบหมายให้ทำหน้าที่เตือนสำทับถึงการตั้งภาคี(กับอัลลอฮฺ)และเชิญชวนไปสู่เอกภาพของพระองค์(เตาฮีด)           หลักฐานคือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلۡمُدَّثِّرُ ١ قُمۡ فَأَنذِرۡ ٢ وَرَبَّكَ فَكَبِّرۡ ٣ وَثِيَابَكَ فَطَهِّرۡ ٤ وَٱلرُّجۡزَ فَٱهۡجُرۡ ٥ وَلَا تَمۡنُن تَسۡتَكۡثِرُ ٦ وَلِرَبِّكَ فَٱصۡبِرۡ ٧ ﴾ [المدثر: ١-٧]  ความว่า “เจ้าผู้คลุมกายอยู่เอ๋ย จงลุกขึ้นและตักเตือน และจงแซ่ซ้องความเกรียงไกรของพระผู้อภิบาลของเจ้า ส่วนอาภรณ์ของเจ้านั้นจงรักษาให้สะอาด และจงหลีกห่างจากสิ่งโสมม และจงอย่าทำคุณเพื่อหวังให้ได้มาก และจงอดทนเพื่อ(ภารกิจในทางของ)พระอภิบาลของเจ้า” (อัล-มุดดัษษิรฺ 74:1-7)           ความหมายของ “จงลุกขึ้นและตักเตือน” คือตักเตือนให้เลิกการตั้งภาคีเทียบเทียมอัลลอฮฺ และเชิญชวนสู่เตาฮีด             “จงแซ่ซ้องความเกรียงไกรของอัลลอฮฺ” คือ ให้สดุดีความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺด้วยการยืนยันเตาฮีดแก่พระองค์           “ส่วนอาภรณ์ของเจ้าก็จงรักษาให้สะอาด” คือทำให้การงานของเจ้าเกลี้ยงเกลาจากการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ(อัช-ชิรฺกุ)           “และจงหลีกห่างจากสิ่งโสมม” สิ่งโสมมคือเจว็ดต่างๆ จงทิ้งมันและผู้บูชามันด้วย อย่าให้มีราคีใดๆ ของมันและผู้กราบไหว้มันมาเกี่ยวข้อง          ท่านนบีได้เชิญชวนสู่เตาฮีดเป็นเวลาสิบปี หลังจากนั้นท่านได้ขึ้นสู่ชั้นฟ้า(ในคืนมิอฺรอจญ์) และการนมาซวันละห้าเวลาก็ได้ถูกกำหนดแก่ท่าน ท่านได้นมาซในนครมักกะฮฺสามปี          หลังจากนั้นก็ได้รับคำสั่งให้อพยพ(ฮิจญ์เราะฮฺ)ไปนครอัล-มะดีนะฮฺ          การอพยพนี้ หมายถึงการไปจากเมืองแห่งการตั้งภาคี (อัช-ชิรฺกุ) สู่เมืองแห่งอัล-อิสลาม           การฮิจญ์เราะฮฺ จึงเป็นหน้าที่ของอุมมะฮฺนี้ (ประชาชาติมุสลิม) จากเมือง อัช-ชิรฺกุ ไปยังเมืองอัล-อิสลาม และจะมีอยู่ตลอดไปจนถึงวันอวสาน           หลักฐานคือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ إِنَّ ٱلَّذِينَ تَوَفَّىٰهُمُ ٱلۡمَلَٰٓئِكَةُ ظَالِمِيٓ أَنفُسِهِمۡ قَالُواْ فِيمَ كُنتُمۡۖ قَالُواْ كُنَّا مُسۡتَضۡعَفِينَ فِي ٱلۡأَرۡضِۚ قَالُوٓاْ أَلَمۡ تَكُنۡ أَرۡضُ ٱللَّهِ وَٰسِعَةٗ فَتُهَاجِرُواْ فِيهَاۚ فَأُوْلَٰٓئِكَ مَأۡوَىٰهُمۡ جَهَنَّمُۖ وَسَآءَتۡ مَصِيرًا ٩٧ إِلَّا ٱلۡمُسۡتَضۡعَفِينَ مِنَ ٱلرِّجَالِ وَٱلنِّسَآءِ وَٱلۡوِلۡدَٰنِ لَا يَسۡتَطِيعُونَ حِيلَةٗ وَلَا يَهۡتَدُونَ سَبِيلٗا ٩٨ فَأُوْلَٰٓئِكَ عَسَى ٱللَّهُ أَن يَعۡفُوَ عَنۡهُمۡۚ وَكَانَ ٱللَّهُ عَفُوًّا غَفُورٗا ٩٩ ﴾ [النساء : ٩٧-٩٩]  ความว่า “แท้จริง บรรดาผู้ที่มลาอิกะฮฺได้ทำให้เขาตายขณะที่พวกเขาไม่เป็นธรรมต่อตัวของพวกเขาเอง เขาทั้งหลาย(มลาอิกะฮฺ)กล่าวว่า พวกเจ้าอยู่ในสภาพใด(จึงไม่อพยพ)? พวกเขากล่าวว่า พวกเราเป็นผู้อ่อนแอ ณ แผ่นดินนี้ เขาทั้งหลายพูดว่า แผ่นดินของอัลลอฮฺไม่กว้างขวางดอกหรือที่พวกเจ้าจะอพยพไปในนั้นได้? ดังนั้น สำหรับพวกเหล่านี้ ที่พำนักของพวกเขาคือนรก และเป็นปลายทางอันชั่วช้า ยกเว้นผู้ชายผู้หญิงและเด็กๆ ผู้อ่อนแอที่ไม่สามารถหาทางแก้ไขได้และพวกเขาไม่พบหนทางที่จะอพยพ พวกเหล่านี้เป็นที่หวังว่าอัลลอฮฺจะทรงยกโทษให้พวกเขา และอัลลอฮฺเป็นผู้ที่ทรงยกโทษ ผู้ทรงอภัยเสมอ” (อัน-นิสาอ์ 4:97-99)           และพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า ﴿ يَٰعِبَادِيَ ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ إِنَّ أَرۡضِي وَٰسِعَةٞ فَإِيَّٰيَ فَٱعۡبُدُونِ ٥٦ ﴾ [العنكبوت: ٥٦]  ความว่า “ปวงบ่าวผู้ศรัทธาของฉันเอ๋ย! แท้จริง แผ่นดินของอัลลอฮฺนั้นกว้างใหญ่ไพศาล ดังนั้น เฉพาะฉันเท่านั้นที่สูเจ้าต้องเคารพภักดี” (อัล-อันกะบูต 29:56)           ท่าน อัล-บะเฆาะวีย์ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตเขา) กล่าวว่า สาเหตุของการประทานอายะฮฺนี้ คือ มีมุสลิมหลายคนอยู่ในนครมักกะฮฺไม่สามารถอพยพไปได้  อัลลอฮฺได้เรียกร้องพวกเขาด้วยชื่อแห่งอีมาน (คือเป็นเครื่องหมายว่าพวกเขายังคงมีความศรัทธาอยู่)           หลักฐานของการอพยพจากหะดีษ คือคำกล่าวของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่ว่า  «لَا تَنْقَطِعُ الْهِجْرَةُ حَتَّى تَنْقَطِعَ التَّوْبَةُ، وَلَا تَنْقَطِعُ التَّوْبَةُ حَتَّى تَطْلُعَ الشَّمْسُ مِنْ مَّغْرِبِهَا» [أحمد وأبو داود والدارمي] ความว่า “การฮิจญ์เราะฮฺจะยังไม่หยุด(สำหรับมุสลิมผู้ถูกกดขี่)จนกว่าการขออภัยโทษ(อัต-เตาบะฮฺ)จะหมด และการขออภัยโทษนั้นจะไม่สิ้นสุดจนกว่าดวงตะวันจะขึ้นจากทางทิศตะวันตก” (บันทึกโดยอะห์มัด, อัต-ติรมิซีย์ และอัด-ดาริมีย์)            เมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ตั้งหลักแหล่งในนครมะดีนะฮฺ อัลลอฮฺก็ได้บัญชาบทบัญญัติอื่นๆ ที่เหลือของศาสนาอิสลาม เช่นเรื่องซะกาต การถือศีลอด การบำเพ็ญหัจญ์ เรื่องอะซาน การญิฮาดต่อสู้ในทางของอัลลอฮฺ การกำชับให้ทำความดีและห้ามจากความชั่ว และบทบัญญัติอื่นๆ ของอิสลามอีก           ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม พำนักอยู่ในนคร       มะดีนะฮฺได้สิบปีก็สิ้นชีวิต แต่ศาสนาของท่านยังคงอยู่ และนี่คือศาสนาของท่าน ไม่มีความดีงามอันใดนอกจากว่าท่านได้สั่งกำชับอุมมะฮฺ(ประชาชาติ)ของท่านไว้แล้ว และไม่มีความชั่วช้าอันใดเว้นแต่ท่านได้เตือนประชาชาติของท่านให้ระมัดระวังจากมันไว้สิ้นแล้ว          ความดีที่ท่านสั่งไว้นั้น คือ อัต-เตาฮีด (การศรัทธาในเอกภาพของอัลลอฮฺ) และรวมทั้งสิ่งอื่นๆ ซึ่งอัลลอฮฺทรงรักและโปรดปราน           ส่วนความชั่วที่ท่านได้เตือนไว้ ก็คือ อัช-ชิรฺกุ (การตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ) และรวมทั้งสิงอื่นๆ ที่อัลอฮฺทรงรังเกียจและห้าม           อัลลอฮฺได้ทรงแต่งตั้งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมสำหรับมนุษย์ทั้งหลายทั้งปวง และได้ทรงกำหนดให้มนุษย์และญินเคารพเชื่อฟังท่าน หลักฐานคือพระดำรัสของพระองค์ ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ قُلۡ يَٰٓأَيُّهَا ٱلنَّاسُ إِنِّي رَسُولُ ٱللَّهِ إِلَيۡكُمۡ جَمِيعًا﴾ [الأعراف: ١٥٧]  ความว่า “จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) มนุษย์เอ๋ย! แท้จริงฉันคือเราะสูลของอัลลอฮฺแด่พวกท่านทั้งมวล” (อัล-อะอฺรอฟ 7:158)           และอัลลอฮฺได้ทรงทำให้ศาสนาของพระองค์สมบูรณ์โดยท่านนบีผู้นี้ หลักฐานคือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า ﴿ٱلۡيَوۡمَ أَكۡمَلۡتُ لَكُمۡ دِينَكُمۡ وَأَتۡمَمۡتُ عَلَيۡكُمۡ نِعۡمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ ٱلۡإِسۡلَٰمَ دِينٗاۚ ﴾ [المائ‍دة: ٣]  ความว่า “วันนี้ ฉันได้ทำให้ศาสนาของสูเจ้าครบครันสำหรับสูเจ้าแล้ว และได้ให้ความโปรดปรานของฉันครบถ้วนแก่สูเจ้า และฉันได้พึงใจอิสลามเป็นศาสนาของสูเจ้าแล้ว” (อัล-มาอิดะฮฺ 5:3)          หลักฐานในการสิ้นชีวิตของท่าน คือ พระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ إِنَّكَ مَيِّتٞ وَإِنَّهُم مَّيِّتُونَ ٣٠ ﴾ [الزمر: ٣٠]  ความว่า “แท้จริง เจ้าต้องตาย และแท้จริงพวกเขาก็ต้องตายเช่นกัน” (อัซ-ซุมัรฺ 39:30)             มนุษย์ทั้งหลายเมื่อตายแล้วก็จะถูกให้ฟื้นขึ้นอีก และหลักฐานคือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ ۞مِنۡهَا خَلَقۡنَٰكُمۡ وَفِيهَا نُعِيدُكُمۡ وَمِنۡهَا نُخۡرِجُكُمۡ تَارَةً أُخۡرَىٰ ٥٥ ﴾ [طه: ٥٥]  ความว่า “จาก(แผ่นดิน)นั้นเราได้บังเกิดสูเจ้า และใน(แผ่นดิน)นั้นเราจะคืนสูเจ้ากลับเข้าไป(เมื่อตาย) และจาก(แผ่นดิน)นั้นเราจะนำสูเจ้าออกมาอีกครั้งหนึ่ง(ในวันฟื้นขึ้นของปรโลก)” (ฏอฮา 20:55)          และพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ وَٱللَّهُ أَنۢبَتَكُم مِّنَ ٱلۡأَرۡضِ نَبَاتٗا ١٧ ثُمَّ يُعِيدُكُمۡ فِيهَا وَيُخۡرِجُكُمۡ إِخۡرَاجٗا ١٨ ﴾ [نوح: ١٧-١٨]  ความว่า “และอัลลอฮฺได้ทรงให้สูเจ้าเติบโตจากแผ่นดินอย่างเติบใหญ่ แล้วพระองค์จะกลับสูเจ้า(เสียชีวิต)ลงไปใน(แผ่นดิน)นั้นอีก และจะทรงนำสูเจ้าออกมาอีก(ในวันฟื้นคืนชีพ)” (นูหฺ 71:17-18)           หลังจากฟื้นคืนชีพ พวกเขาก็ถูกสอบสวน และได้รับการตอบแทนตามการกระทำของพวกเขา หลักฐานคือพระดำรัสของพระองค์ ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿لِيَجۡزِيَ ٱلَّذِينَ أَسَٰٓـُٔواْ بِمَا عَمِلُواْ وَيَجۡزِيَ ٱلَّذِينَ أَحۡسَنُواْ بِٱلۡحُسۡنَى ٣١ ﴾ [النجم : ٣١]  ความว่า “เพื่อพระองค์จะทรงตอบแทน(ลงโทษ)ผู้ประพฤติชั่วตามที่พวกเขาได้กระทำ และจะทรงตอบแทน(ให้รางวัล)บรรดาผู้ประพฤติดีด้วย(รางวัล)ที่ดียิ่ง)” (อัน-นัจญ์มุ 53:31)           ผู้ใดหาว่าการฟื้นคืนชีพสำหรับปรโลกนั้นเป็นเรื่องโกหก ผู้นั้นเป็นกาฟิรฺ หลักฐานตามพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ زَعَمَ ٱلَّذِينَ كَفَرُوٓاْ أَن لَّن يُبۡعَثُواْۚ قُلۡ بَلَىٰ وَرَبِّي لَتُبۡعَثُنَّ ثُمَّ لَتُنَبَّؤُنَّ بِمَا عَمِلۡتُمۡۚ وَذَٰلِكَ عَلَى ٱللَّهِ يَسِيرٞ ٧ ﴾ [التغابن : ٧]   ความว่า “บรรดาผู้ปฏิเสธคิดว่า พวกเขาจะมิถูกให้ฟื้นขึ้นมาอีก จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด) หาเป็นเช่นนั้นไม่ ขอสาบานต่อพระอภิบาลของฉัน พวกท่านจะถูกให้ฟื้นขึ้นมาแน่นอน แล้วพวกท่านจะถูกแจ้งตามที่พวกท่านได้กระทำไว้ และนั่นเป็นเรื่องที่ง่ายดายยิ่งสำหรับอัลลอฮฺ”  (อัต-ตะฆอบุน 64:7)          อัลลอฮฺได้ทรงส่งเราะสูลทั้งมวลเพื่อให้เป็นผู้แจ้งข่าวดีและเป็นผู้เตือนสำทับ(ถึงภัยที่จะเกิดขึ้น) หลักฐานคือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ رُّسُلٗا مُّبَشِّرِينَ وَمُنذِرِينَ لِئَلَّا يَكُونَ لِلنَّاسِ عَلَى ٱللَّهِ حُجَّةُۢ بَعۡدَ ٱلرُّسُلِۚ وَكَانَ ٱللَّهُ عَزِيزًا حَكِيمٗا ١٦٥ ﴾ [النساء : ١٦٥]  ความว่า “บรรดาเราะสูลเป็นผู้แจ้งข่าวดีและผู้เตือนสำทับ เพื่อมนุษย์จะได้ไม่มีข้ออ้างต่ออัลลอฮฺหลังจากเราะสูลเหล่านี้(ได้เทศนาแล้ว) และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงอำนาจผู้ทรงปรีชาญาณเสมอ” (อัน-นิสาอ์ 4:165)           เราะสูลคนแรกคือท่านนบีนูหฺ อะลัยฮิสลาม เราะสูลคนสุดท้ายคือ นบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านเป็นตราประทับ(คือผู้ปิดท้าย)ของบรรดานบี          หลักฐานที่ว่าท่านนบีนูหฺ อะลัยฮิสลาม เป็นเราะสูลคนแรก คือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ ۞إِنَّآ أَوۡحَيۡنَآ إِلَيۡكَ كَمَآ أَوۡحَيۡنَآ إِلَىٰ نُوحٖ وَٱلنَّبِيِّ‍ۧنَ مِنۢ بَعۡدِهِۦۚ ﴾ [النساء : ١٦٣]  ความว่า “แท้จริง เราได้ประทานวะห์ยูแก่เจ้า (มุหัมมัด) เช่นที่เราได้ประทานวะหฺยูแก่นูหฺและบรรดานบีหลังจากเขา” (อัน-นิสาอ์ 4:163)          อัลลอฮฺได้ทรงแต่งตั้งเราะสูลตั้งแต่ท่านนบีนูหฺ อะลัยฮิสลาม จนถึงท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม แก่มนุษย์ทุกชาติเพื่อสั่งสอนให้พวกเขาเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺองค์เดียวเท่านั้น และห้ามพวกเขามิให้เคารพบูชาพวกเจว็ด หลักฐานคือพระดำรัสของพระองค์ ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ وَلَقَدۡ بَعَثۡنَا فِي كُلِّ أُمَّةٖ رَّسُولًا أَنِ ٱعۡبُدُواْ ٱللَّهَ وَٱجۡتَنِبُواْ ٱلطَّٰغُوتَۖ ﴾ [النحل: ٣٦]  ความว่า “และโดยแน่นอนยิ่ง เราได้แต่งตั้งเราะสูลขึ้นในทุกๆ ประชาชาติ (เพื่อให้พวกเขาเชิญชวน)ว่า จงเคารพภักดีอัลลอฮฺและจงหลีกห่างจากอัฏ-ฏอฆูต(สิ่งเคารพอื่นนอกจากอัลลอฮฺ)” (อัน-นะหฺลิ 16:36)              อัลลอฮฺได้ทรงบัญชาปวงบ่าวให้ปฏิเสธการบูชาฏอฆูต และให้ศรัทธาในอัลลอฮฺ          ท่านอิบนุล ก็อยยิม -ขออัลลอฮฺได้ทรงเมตตาท่าน- กล่าวว่า ความหมายของ อัฏ-ฏอฆูต คือสิ่งใดๆ ก็ตามที่บ่าวได้ล่วงล้ำขอบเขตด้วยการยึดติดกับมัน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของสิ่งเคารพบูชา หรือผู้นำที่มีผู้ตาม หรือผู้ที่ได้ที่รับการเคารพเชื่อฟัง ฏอฆูตนั้นมีมากมาย แต่หัวหน้าของมันมีอยู่ห้า คือ อิบลีส ขออัลลอฮฺทรงสาปแช่งมัน ผู้ที่ได้รับการเคารพบูชาและพอใจเช่นนั้น ผู้เชิญชวนมนุษย์ให้เคารพบูชาตัวเขา ผู้อ้างว่ารู้ในสิ่งพ้นญาณวิสัย ผู้ที่ตัดสินความหรือปกครองโดยใช้บัญญัติอื่นที่ไม่ได้มาจากการประทานอัลลอฮฺ           หลักฐานคือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งว่า﴿ لَآ إِكۡرَاهَ فِي ٱلدِّينِۖ قَد تَّبَيَّنَ ٱلرُّشۡدُ مِنَ ٱلۡغَيِّۚ فَمَن يَكۡفُرۡ بِٱلطَّٰغُوتِ وَيُؤۡمِنۢ بِٱللَّهِ فَقَدِ ٱسۡتَمۡسَكَ بِٱلۡعُرۡوَةِ ٱلۡوُثۡقَىٰ لَا ٱنفِصَامَ لَهَاۗ وَٱللَّهُ سَمِيعٌ عَلِيمٌ ٢٥٦ ﴾ [البقرة: ٢٥٦]   ความว่า “ไม่มีการบังคับ(ให้จำใจนับถือ)ในศาสนา(อิสลาม) แน่นอนความเที่ยงธรรมได้เป็นที่เด่นชัดจากความบิดเบือนแล้ว ดังนั้น ผู้ใดปฏิเสธ(การบูชา)ฏอฆูต และเขาศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ฉะนั้นโดยแน่นอน เขาได้ยึดห่วงอันมั่นคงไว้แล้ว ซึ่งมันจะไม่มีวันขาด และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้เสมอ” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 2:256)           และนี่ก็คือความหมายที่แท้จริงของการปฏิญาณ “ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ – ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่แท้จริงนอกจากอัลลอฮฺ”          และในหะดีษมีว่า «رَأْسُ الأمْرِ الإِسْلَامُ، وَعَمُوْدُهُ الصَّلَاةُ، وَذَرْوَةُ سَنَامِهِ الجِهَادُ فِي سَبِيْلِ اللهِ» [أحمد والترمذي وابن ماجه]ความว่า “ประมุขของกิจการคืออัล-อิสลาม เสาทั้งหลายของมันคือการนมาซ และยอดหลังคาของมันคือการญิฮาดต่อสู้ในทางของอัลลอฮฺ”           และอัลลอฮฺนั้นทรงรู้ดียิ่งوصلى الله على محمد وآله وصحبه وسلم.หนังสือว่าด้วยประเด็นสำคัญสามประการที่มุสลิมจำเป็นต้องรู้ คือ 1) การรู้จักอัลลอฮฺ ทั้งในแง่ความรู้และภาคปฏิบัติ 2) การรู้จักพื้นฐานของศาสนาอิสลามทั้งสามอันดับขั้น คือ อัล-อิสลาม อัล-อีมาน และอัล-อิหฺสาน 3) การรู้จักท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และหน้าที่ของบรรดาศาสนทูต

المرفقات

2

หลักการสามข้อและหลักฐาน
หลักการสามข้อและหลักฐาน